เนื่องจากว่าพวกเขานั้นมีความจำเป็นจะต้องกลับไปพบปะกับบุคคลอื่นแบบเห็นตัวกันเป็นๆอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยปรากฏอาการเหล่านี้ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงที่สถานที่สาธารณะนั้นเริ่มจะกลับมาคราคร่ำไปด้วยผู้คนอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับทักษะทางด้านสังคม การชอบหรือว่าความสามารถในการเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝุงชนได้ ซึ่งถ้าหากพวกเขาได้พยายามกลับเข้าไปในสังคมอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาก็น่าจะระลึกได้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีความสามารถเหล่านี้
สถานการณ์การระบาดของโควิด ณ เวลานี้นั้นถือว่าทุเลาลงไปมากแล้ว จนทำให้หลายคนเริ่มพูดถึงการกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ถูกพูดกันถึงน้อยมากก็คือภาวะสุขภาพจิต สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่พบปะกับผู้คนแบบเห็นตัวเป็นระยะเวลานานแล้วกลับมาทำงานในรูปแบบปกติ นี่อาจจะทำให้เกิดปัญหาททางจิตได้
โดยสำนักข่าวสเตรทไทม์ของสิงคโปร์ได้มีการรายงานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้ที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติเอาไว้ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานนี้มานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อ น.ส.เฟธ ฮุน นักศึกษาโพลีเทคนิค รู้ว่าอีกไม่กี่นาที เธอจะต้องประชุมร่วมกับกลุ่มนักศึกษาอีกจำนวน 30 คน ในกลุ่มเวิร์กชอป หัวใจเธอก็เริ่มเต้นแรง และเธอเริ่มรู้สึกว่าหายใจไม่ออก
ทั้งนี้ย้อนไปนับตั้งแต่เหตุการณ์การระบาดของโควิดเริ่มในปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน น.ส.ฮุนไม่เคยต้องเผชิญหน้าหนือว่าพบปะกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนในระยะตัวต่อตัวมาก่อน ซึ่งการลดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของประเทศสิงคโปร์ ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 เม.ย. นั้นทำให้เธอค่อนข้างกังวล
“ฉันมีปัญหากับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จากเดิมที่ว่าไม่มีใครอยู่ในพื้นที่ของฉันเลย แล้วอยู่ดีๆก็มีคนจำนวนมาก คนแปลกหน้าหลายคนเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของฉันนี้ ฉันไม่ค่อยสบายใจเท่าไรนัก กับการเห็นสถานีรถไฟฟ้า ศูนย์อาหารคราคร่ำไปด้วยผู้คน ดังนั้นเมื่อฉันต้องไปอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยนักเรียนคนอื่นๆ ความกังวลก็เข้ามาในหัวฉัน” นักศึกษาวัย 18 ปีกล่าว
ทั้งนี้รายงานจากนักจิตแพทย์พบว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิดที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้วนั้น พบว่าต้องการความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความวิตกกังวล หลังจากที่มีการผ่อนคลายกฎระเบียบป้องกันไวรัสโควิด-19
ขณะที่ศูนย์ให้บริการดูแลเด็กและเยาวชน Shine Children and Youth Services ออกมาระบุว่ามีเด็กที่รับบริการของทางศูนย์ที่มีช่วงอายุ 17-25 ปีจำนวนหลายราย พบว่าเด็กเหล่านี้มีความวิตกกังวลหลังจากที่กลับมาเปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง
โฆษกของศูนย์ Shine กล่าวว่าเด็กบางคนนั้นพบว่าพบว่ามีภาวะวิตกกังวลจากการต้องไปอยู่ในที่ๆแออัดไปด้วยผู้คน แบบเดียวกับในลักษณะก่อนจะเกิดโรคระบาด โดยพวกเขาได้ลืมประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบนี้ไปแล้วหลังจากทำงานที่บ้านมาอย่างยาวนาน
กว่าครึ่งของแรงงานที่ต้องพบปะทางสังคมนั้นมีภาวะวิตกกังวลในช่วงการระบาดของโควิด-19 (อ้างอิงวิดีโอจาก Channel News Asia)
“เนื่องจากว่าพวกเขานั้นมีความจำเป็นจะต้องกลับไปพบปะกับบุคคลอื่นแบบเห็นตัวกันเป็นๆอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยปรากฏอาการเหล่านี้ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงที่สถานที่สาธารณะนั้นเริ่มจะกลับมาคราคร่ำไปด้วยผู้คนอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับทักษะทางด้านสังคม การชอบหรือว่าความสามารถในการเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝุงชนได้ ซึ่งถ้าหากพวกเขาได้พยายามกลับเข้าไปในสังคมอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาก็น่าจะระลึกได้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีความสามารถเหล่านี้” โฆษกศูนย์ Shine กล่าว
โดยอาการเหล่านี้ที่ว่ามานั้นก็รวมไปถึงอาการใจสั่น,ความรู้สึกหวาดกลัว,รู้สึกหายใจไม่ออก และรู้สึกตื่นตระหนก
ทั้งนี้แม้ว่า น.ส.ฮุนจะมีอาการเรื่องความวิตกกังวลทางสังคมเล็กน้อย ในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ แต่อาการของเธอก็ไม่เคยไปถึงขั้นที่ว่ามีอาการตื่นตระหนก
“ตอนนี้ในบางครั้งฉันก็รู้สึกว่างเปล่า เมื่อฉันรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หัวใจของฉันเต้นเร็วขึ้น และฉันรู้สึกเหมือนว่าหายใจไม่ทัน รู้สึกเหมือนว่ากำลังจะปิดตัวลง คนรอบข้างพยายามจะคุยกับฉัน แต่ฉันก็ไม่ได้ยินเขาเลย” น.ส.ฮุนกล่าว
น.ส.ฮุนนั้นได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในเดือน ส.ค. 2564 หลังจากมีอาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรง และหลังจากนั้นเธอก็ได้รับยาเพื่อรักษาความวิตกกังวลมา
โดยเมื่อเธอมีอาการก่อนการเข้าเรียนในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เธอต้องไปหลบที่มุมห้อง และพยายามหายใจเข้าลึกๆเพื่อทำให้ตัวเองใจเย็นลง
“ฉันรู้สึกว่าเหนื่อยมาก หลังจากเวิร์กชอปไปได้สองชั่วโมง แต่มันก็ยังไม่ได้แย่อย่างที่ฉันได้คิดเอาไว้” น.ส.ฮุนกล่าวต่อ
ส่วนทางด้านของนางยัสมิน อับดุลลอฮ์ นักเทคนิคห้องปฏิบัติการ ในวัย 28 ปี กล่าวว่าเธอรู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 เธอได้ให้กำเนิดบุตรชาย 1 คน
“ถ้าฉันต้องไปอยู่ในสถานที่แออัด ฉันจะกลัวมากว่าจะติดโควิด-19 แล้วจะแพร่เชื้อต่อไปยังลูกชายของฉันหรือไม่ ความคิดที่อยู่ในหัวของฉันก็คือว่าอาการฉันจะเลวร้ายขนาดไหน ฉันจะสามารถดูแลลูกของฉันได้หรือไม่” น.ส.อับดุลลอฮ์กล่าว
ทางด้านของ พ.ญ.แอนนาเบล เชา นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่าโดยส่วนมากแล้วสิ่งที่คนไข้ของเธอต้องเผชิญนั้นมากจะเป็นความกังวลอันมาจากการขาดการควบคุมตัวเองเมื่อต้องโต้ตอบกับผู้อื่น
พ.ญ.เชากล่าวต่อไปว่าการทำงานที่บ้านนั้นทำให้หลายคนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงจาการพบปะกับสิ่งที่ทำให้พวกเขานั้นรู้สึกกังวลไปได้ เช่นการเมืองในออฟฟิศ หรือว่าการต้องเจอหน้ากับผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ดังนั้นการกลับไปที่ออฟฟิศทำให้พวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวลได้
ส่วนทางด้านของ น.พ.ไบรอัน ยอ จิตแพทย์ที่ปรึกษาที่มีคลินิกในศูนย์การแพทย์เมาท์เอลิซาเบธ กล่าวว่า “ผมได้ให้คำแนะนำไปว่าให้คนไข้ของผมนั้นค่อยๆกลับไปทำงานเพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านจากการทำงานที่บ้านไปสู่การทำงานออฟฟิศนั้นเป็นไปโดยง่าย แต่นี่ก็ยังเป็นการยากทำหรับผู้ที่เพิ่งจะเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งยังไม่มีอำนาจมากพอจะไปต่อรองชั่วโมงและโครงสร้างการทำงานในออฟฟิศ”
ทั้งนี้มีรายงานจากการสำรวจพบว่า 2 ใน 5 ของชาวสิงคโปร์นั้นต้องพบกับปัญหาสุขภาพจิต ในประเด็นที่ว่าพวกเขาต้องพยายามกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ น.พ.เอเดรียน แวง จิตแพทย์ที่ทำงาน ณ ศูนย์การแพทย์เกลนอีเกิ้ลส์ กล่าวว่าเขาต้องเขียนจดหมายแนะนำไปถึงนายจ้างของคนไข้ของเขาเพื่อแนะนำให้ค่อยๆผ่อนปรนการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศที่ละเล็กละน้อย
และปัญหาความวิตกกังวลที่ว่ามานี้ก็ส่งผลกระทบต่อ น.ส.เกรซ ไช ในวัย 19 ปี ซึ่งเธอมีกำหนดการจะต้องไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ในประเทศสกอตแลนด์ในเดือนสิงหาคมนี้
“ที่ผ่านมา ฉันพบปะกับแค่บุคคลใกล้ชิดเท่านั้น นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และฉันยังคงรู้สึกวิตกกังวลอยู่ ฉันไม่สามารถจะจินตนาการได้เลยถึงการต้องกลับไปมีกิจกรรมทางสังคมอีกครั้ง โดยเฉพาะกับคนอื่นๆ ในประเทศที่ต่างออกไป” น.ส.ไชกล่าว
อนึ่ง สายด่วนสุขภาพของประเทศสิงคโปร์ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ได้มีการให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลทางด้านสุขภาพจิตและการสนับสนุนทางอารมณ์กับคู่สายมากกว่า 50,000 คู่สายในช่วงเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา
การรับมือกับความเครียดหลังเหตุโรคระบาด (อ้างอิงวิดีโอจาก Cleveland Clinic)
ขณะที่การศึกษาในประเทศที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,058 คน ดำเนินการศึกษาโดยสถาบันสุขภาพจิต ในช่วงปี 2563 ซึ่งยังคงมีการระบาดของไวรัส พบข้อมูลว่า 9.4 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวนั้นเข้าข่ายความวิตกกังวลทางการแพทย์ และอีก 8.7 เปอร์เซ็นต์เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ก็มีรายงานว่าประเทศอื่นก็ประสบปัญหาคล้ายกับที่สิงคโปร์เช่นกัน ในประเด็นที่ว่าประชาชนต้องเผชิญกับความวิตกกังวลกับช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากโควิด-19
โดยในสหรัฐอเมริกา สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ได้ออกมากล่าวว่าในเดือน พ.ค. 2564 พบว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจนั้นระบุว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเห็นหน้ากันอีกครั้งหนึ่งหลังจากผ่านการวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้
ส่วนที่สหราชอาณาจักร มีรายงานว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงเดือน มี.ค. 2564 นั้นพบว่ามีความสุขมากกว่าเมื่อต้องอยู่ที่บ้านมากกว่าจะกลับไปทำงาน อีก 37 เปอร์เซ็นต์พบว่ากำลังรอคอยให้กลับไปชีวิตแบบปกติ และอีก 27 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งนี้
ทางด้านของโฆษกศูนย์ Shine กล่าวแนะนำว่าผู้ป่วยควรจะเริ่มปรึกษาขอคำแนะนำทางสุขภาพจิตหลังจากที่พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าภาวะทางจิตที่ว่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน,อารมณ์,ความอยากอาหาร และการนอนหลับ