เปรียบเทียบปรากฏการณ์กองเชียร์‘ทักษิณ’อดีตนายกฯเผชิญคดีซุกหุ้น – แฟนคลับ‘ชัชชาติ’กรณีป้ายหาเสียง นักการเมืองพ็อพพูล่าร์โหวต ต่างยุค ต่างข้อเท็จจริง เหมือน หรือ แตกต่าง ก่อน กกต.รับรองผลเลือกตั้งนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. สมใจ
มีการตั้งข้อสังเกตปรากฏการณ์ ‘ผู้สนับสนุน’นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้แสดงออก อาทิ โทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงาน คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ชนิดสายไหม้ เรียกร้องให้ประกาศรับรองนายชัชชาติซึ่งได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)
หลังจากถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีป้ายหาเสียงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกต้ัง มิหนำซ้ำเคลื่อนไหวตั้งแคมเปญรณรงค์ผ่าน change.org เชิญชวนเข้าร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอนนายศรีสุวรรณ ออกจากการเป็นเลขาธิการ และยกเลิกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยอ้าง อาทิ ร้องเรียนด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ นายชัชชาติยังไม่ได้รับตำแหน่ง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าต่อบ้านเมือง เลือกตรวจสอบเฉพาะบางกลุ่มบางคนบางฝ่าย ไม่ตรวจสอบบุคคลในรัฐบาล ฯลฯ
กระทั่ง ล่าสุด กกต.ประกาศรับรองนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 พ.ค.2565
อาจคล้ายกรณี พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย เผชิญกับคดีซุกหุ้นอันเนื่องมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณจงใจปกปิดการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2544
กระนั้นแม้ปรากฏการณ์กองเชียร์นักการเมืองที่ตนชื่นชอบเกิดขึ้นต่างยุค ต่างสมัย ต่างข้อเท็จจริง
ลองมาเทียบเคียงกันหน่อยว่า เหมือน หรือ ต่างกัน อย่างไร?
@ ทักษิณ ชินวัตร
คดีซุกหุ้น หลังจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้มูล พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 ผู้สนับสนุน เผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง ป.ป.ช. แก้บน ปล่อยนกปล่อยปลา แสดงออกให้กำลังใจ พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณให้รอดพ้นจากบ่วงข้อกล่าวหา และเมื่อคดีขึ้นสู่กระบวนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวน 7 นัด กินเวลายาวนานหลายเดือน ‘ทักษิณ’ แถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่ 18 มิ.ย. 2544 ถนนทุกสายมุ่งสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 05.30 น. เหล่านายทหารกว่า 200 นาย จาก 4 เหล่าทัพ อาทิ พล.อ.อัครเดช ศศิประภา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พล.อ.นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ ผบ.หน่วยบัญชาการฝึกศึกษา พล.ต.ต.อนันต์ ภิรมย์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.อ.ต.ธิบดี เพ็งฉุย ประธานนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 9 พล.ต.ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 พล.ต.อภิชัย ทรงศิลป์ ประธานเตรียมทหารรุ่น 10 พล.ต.พรชัย กรานเลิศ ประธานนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 21 ตื่นเช้า เข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจ ‘ทักษิณ’ ที่บ้านรับรองจันทร์ส่องหล้า ถนนจรัญสนิทวงศ์ 69 ก่อนที่ ‘ทักษิณ’จะเดินทางไปแถลงปิดคดีในช่วงบ่าย
ขณะที่บรรยากาศบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ถ.จักรเพชร สื่อมวลชนรายงานว่า คึกคักตั้งแต่เช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพลาธิการและกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดมาติดตั้งบริเวณประตูด้านในของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจวัตถุระเบิดและอาวุธปืน สำหรับบุคคลที่จะเข้าไปในศาลรัฐธรรมนูญ และยังจัดกำลังรักษาความปลอดภัยทั้งด้านนอกและด้านใน กลุ่มประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งในละแวกใกล้เคียง เริ่มทยอยเดินทางไปให้กำลังใจ
‘ทักษิณ’ ก่อนไปแถลงปิดคดีได้หลบผู้สื่อข่าว ไปแวะกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านเจ้าประจำที่ห้างสรรพสินค้าเพนนินซูล่า ย่านราชประสงค์กับคุณหญิงพจมาน จากนั้นเวลา 12.20 น. จึงเดินทางไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น 3 วัน ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ทั้งสองฝ่าย ส่งคำแถลงปิดคดีเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2544 และประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 เป็นวันลงมติ บรรยากาศที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญมีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังไม่ถึงตีหนึ่ง เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พระราชวัง นับร้อยนายเดินทางมาเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ และเรียกกำลังมาสมทบในช่วง 8 โมงเช้า เวลา 9 โมงเช้ากลุ่มประชาชน เริ่มทยอยเดินทางมาฟังคำตัดสินมากขึ้น เช่นกลุ่มชุมชน 70 ไร่จากคลองเตย ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศนับร้อยชีวิต พร้อมๆกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทะยอยเดินทางมาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
กระทั่ง 16.30 น. นายประเสริฐ นาสกุล ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยเสียง 8 ต่อ 7 เสียงว่า พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณ ไม่มีความผิด อยู่ในตำแหน่งต่อไป
เมื่อทราบผลคำตัดสิน เหล่าฝูงชนที่เคารพศรัทธาในตัวหัวหน้าพรรคไทยรักไทยต่างส่งเสียงไชโยโห่ร้องอย่างกึกก้อง
ประมาณ 17.30 น. พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและกล่าวขอบคุณประชาชน ผู้สนับสนุนที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จะทุ่มเททำงานให้แก่บ้านเมือง
การตัดสินใจทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งอนาคตของชาติ ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของการเมือง
ขณะที่ กรณีป้ายหาเสียง ในช่วงบ่ายวันที่ 31 พ.ค.2565 นายชัชชาติ ภายหลังทราบข่าวมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้การรับรองเป็นผู้ว่าฯ เมืองหลวง กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกๆ คะแนนเสียง ทั้งที่เลือก และไม่ได้เลือก เมื่อ กกต. รับรองตำแหน่งแล้ว ก็พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมเดินไปด้วยกัน ย้ำ จะเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความคิดแตกต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งขอบคุณนายศรีสุวรรณ ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบอย่างเต็มที่ ขอบคุณ กกต. ที่ปฏิบัติตามหน้าที่
พร้อมย้ำว่า การร้องเรียนต่างๆ ไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานในอนาคต เนื่องจากการตรวจสอบเป็นกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีการตรวจสอบออกมาก็ยิ่งทำให้มีความชอบธรรมในการเข้ารับตำแหน่งมากยิ่งขึ้น
@ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
สรุปเบื้องต้น ปรากฏการณ์กองเชียร์กับนักการเมืองพ็อพพูลาร์ กรณีทักษิณซุกหุ้นมี ตัวบุคคล ผู้นำในสังคม นักการเมือง ข้าราชการ เปิดเผยตัว เคลื่อนไหว เรียกร้อง ชัดเจน กลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อให้ทักษิณพ้นข้อกล่าวหา มีจำนวนและอิมแพคกว่าแฟนคลับนายชัชชาติที่ส่วนใหญ่แสดงออกผ่านโลกโซเชียล (เนื่องจากต่างยุคสมัย)
หากสังคมตกผลึกในเรื่องการตรวจสอบบุคคลสาธารณะก่อนเข้าสู่อำนาจรัฐ ไม่ใจร้อนอาจไม่มีปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้หรือไม่?
กรณีนายชัชชาตินับจากนี้ต้องติดตาม จะบริหารจัดการกรุงเทพฯด้วยนโยบายกว่า 200 ข้อ ให้ต้นทุน ผู้สนับสนุน 1,386,215 คน มีจำนวนเพิ่มขึ้น เปลี่ยนกรุงเทพฯให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร? ท่ามกลางสารพัดปัญหาและเสียงเชิงปรามาสบางฝ่าย 100 ชัชชาติก็แก้ไม่ได้ ?
นับจากนี้ในช่วงเวลา 4 ปี มีคำตอบ