"...สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยวันนี้เทียบกับ 7-10 ปีที่แล้ว ความรุนแรงและร้ายกาจที่สร้างความเสียหายยังไม่ลดน้อยลง บางเรื่องถูกแก้ไขซาลงไป แต่การทุจริตแบบใหม่ก็เกิดขึ้น แต่ในด้านพลังการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งในภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ในอนาคตจะสามารถควบคุมพฤติกรรมและลดความสูญเสียของสังคมได้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการแถลงข่าว "การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในรอบปีที่ผ่านมา" พบว่าภาพรวมอยู่ในเกณฑ์พอใจ แต่รัฐไม่หนุนมากพอ สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยวันนี้เทียบกับ 7-10 ปีที่แล้ว ความรุนแรงและร้ายกาจที่สร้างความเสียหายยังไม่ลดน้อยลง ความหวังตกอยู่ที่คนรุ่นใหม่เป็นพลังต้านคอร์รัปชัน
*****************
นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงว่า จริงๆแล้วแผนปฎิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เริ่มมีการประกาศใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 แต่เนื่องจากความลักลั่นในการทำแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ จำเป็นต้องปรับให้แผนทั้ง 2 สอดคล้องและคู่ขนานกันไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ประกอบกับการที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการปรับปรุงแผนการปฎิรูปประเทศ ดังนั้น แผนที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 จึงถูกปรับปรุง และถูกประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเน้นย้ำไปที่กิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) 5 ประการ โดยใช้เวลาทำแผนนับจากวันที่แผนปฏิรูปฉบับใหม่มีผลเพียง 1 ปีกว่าๆเท่านั้น
ส่วนสิ่งที่ได้ปฏิรูปมี 'อะไร' และ 'อย่างไร' บ้างนั้น ในส่วนของ 'อะไร' จะเน้นขจัดปัญหาเก่า ๆ ก่อน โดยมีมิติในการป้องกันและปราบปราม 3 มิติ ประกอบด้วย
1.การปฏิรูปภาคประชาชน เน้นความสำคัญในการเปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง เปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริตเชิงรุก ไม่ใช่คอยแต่หน่วยงานรัฐชักชวนเข้าร่วม ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่ชาวบ้านประสบพบเจอจริงๆ โดยการปฏิรูปจะให้ประชาชนทำเครือข่ายที่เข้มแข็งและเลือกประเด็นที่เป็นประโยชน์กับแต่ละคนเอง รัฐมีหน้าที่เพียงสนับสนุนเท่านั้น
2.การปฏิรูประบบกฎหมาย แก้ไขกฎหมายเดิมที่ยังไม่เหมาะสม เช่น การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ต้องเข้าถึงให้ง่ายและทั่วถึง แต่กฎหมายเดิมไม่เอื้อ คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ซึ่งล้าสมัยแล้ว ที่อื่นเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 59 ระบุชัดเจนว่า
"รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง ของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้ โดยสะดวก" นายภักดีกล่าว
ดังนั้น กฎหมายลักษณะนี้จึงต้องมีการปฏิรูป และมีกฎหมายที่ต้องเพิ่มใหม่ เพราะมีความสำคัญและจำเป็น เพื่อให้การป้องกันแลัปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์, กฎหมายป้องกันการถูกฟ้องปิดปาก และ พ.ร.ฎ.ที่จะให้แสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกราย ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการป้องปรามการทุจริตมีผลอย่างแท้จริง
ส่วนมิติสุดท้าย การปฏิรูปภาครัฐ-กระบวนการยุติธรรม มีปัญหาสำคัญๆมากมาย และส่งผลให้ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ของไทยปรับตัวลดลง ปัญหาสำคัญที่ว่าอาทิ การให้และรับสินบน, การประพฤติมิชอบ และการตระหนักรู้ในปัญหาการคอร์รัปชัน
ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาพจาก www.nesdc.go.th
นายภักดีกล่าวต่อว่า ส่วน 'อย่างไร' ที่จะทำนั้น ก็มีตัว Big Rock 5 ประการที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ สำหรับ Big Rock ทั้ง 5 ประการ ประกอบด้วย
1.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ปิดปาก
- จัดตั้งคณะทำงานภาคประชาชน (ก่อการดี) 17 จังหวัด 171 ตำบล
- ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทเป็นแกนหลักในการต้านภัยทุจริต ผ่านกลไกเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน และภาคีภาคประชาสังคม
2.การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ
- ผลักดันการออกกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องร้องขอ และให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน
- พัฒนาช่องทางแจ้งเบาะแสที่หลากหลาย และจัดทำระบบปิดบังตัวตน
- บังคับใช้กฎหมายควบคุมพยานและผู้แจ้งเบาะแส
- จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law)
3.การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและเอกชน
- ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ถึงขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ตั้งแต่การออกกฎหมายทุกระดับและการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่
- กำหนดบทลงโทษหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
- สำรวจความเห็นของประชาชนในการได้รับความเป็นธรรม ความพึงพอใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
- ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีตามกรอบเวลาของกฎหมายในมาตรฐานเดียวกันอย่างรวดเร็ว
- บูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต ติดตามผลการดำเนินคดี และยกระดับการทำงานบนฐานดิจิทัล
- วส่งเสริมหน่วยงานของรัฐยึดหลักคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต และบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
4.การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์
- หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยประกาศตนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
- ทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคภาครัฐในระบบคุณธรรม
- ทำร่างกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมต่อรัฐบาล
- จัดทำ ร่าง พ.ร.ฎ. การยื่นทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่สังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ
- หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ บริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงาน และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรม วินัย และอาญาต่อผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
และ 5.การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่
- จัดทำคู่มือประเมินความตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย
- การตรวจ ติดตาม ประเมินผล และทำรายงานสรุปผล
- ขยายผลจัดทำประเมินความตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และกรรมการปฏิรูปฯ ภาพจาก https://www.nesdc.go.th/
'มานะ' ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยวันนี้เทียบกับ 7-10 ปีที่แล้ว ความรุนแรงและร้ายกาจที่สร้างความเสียหายยังไม่ลดน้อยลง บางเรื่องถูกแก้ไขซาลงไป แต่การทุจริตแบบใหม่ก็เกิดขึ้น
แต่ในด้านพลังการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งในภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ในอนาคตจะสามารถควบคุมพฤติกรรมและลดความสูญเสียของสังคมได้
"การปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นพื้นฐานที่สร้างความล้มเหลวและฉุกรั้งการพัฒนาของประเทศ ตั้งแต่วันแรกที่พูดภาคประชาชนและภาคเอกชนคาดหวังกันมากในความสำเร็จของการต่อต้านคอร์รัปชั่นตามแผนปฏิรูป เชื่อว่าทุกท่านก็ทราบดีว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร แต่เราทุกคนก็ยังหวังว่า จะเห็นชัยชนะหรือความสำเร็จบางอย่างให้เห็นความคืบหน้าบ้าง ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ" นายมานะกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ภาครัฐมีมาตรการการแก้ไขปัญหานี้เกิดขึ้นหลายอย่างชัดเจน เช่น โครงการมีดีต้องแชร์ ของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พบว่าในช่วง ปีที่ผ่านมาภาครัฐพยายามสร้างหรือเปลี่ยนแปลงระบบบริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็วไม่เป็นภาระมากขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานมีมาตรการรวมกันแล้ว 1,430 มาตรการ
อีกทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ประกาศว่า ภาครัฐมีงานบริการประเภท E-Service 350 โครงการ และได้เห็นการขับเคลื่อนตามมาตรการต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ส่วนในภาคเอกชนก็ตื่นตัวมากขึ้น ทั้งในภาคธุรกิจมีการรณรงค์ในการควบคุมกันเอง และเสนอแนะภาครัฐในการเปลี่ยนแปลงการบริการมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่สิ่งที่จะเป็นพลังสำคัญในอนาคต คือการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาพูด เรียกร้อง และเปิดโปงพฤติกรรมที่ฉ้อฉล คอร์รัปชั่นมากขึ้น และเป็นพลังที่กล้ามาก กล้าที่จะพูดความจริง ถือเป็นอนาคตที่ดีของประเทศไทย แต่โดยรวมแล้วสังคมไทยยังหวังว่า ในอนาคตจะมีระบบราชการที่โปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐโดยที่ไม่ต้องร้องขอจะเกิดขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา สร้างการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบการใช้งบประมาณของแผ่นดิน
เชื่อแผนปฏิรูปไม่อยู่บนหิ้ง ทำจริง 60-70%
ในช่วงท้าย นายภักดี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า กรอบที่กำหนดให้แผนนี้สิ้นสุดในปี 2565 ทำให้กิจกรรมสำคัญบางเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้การของบประมาณกับสำนักงบประมาณไม่มีข้ออ้างที่จะไปชี้แจง จึงเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขอให้บรรจุแผนนี้สู่แผนยุุทธศาสตร์ชาติในระยะถัดไป (2566-2570) ไม่เช่นนั้นจะขาดตอน และคณะกรรมการชุดนี้จะสิ้นสุดลงตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ฉบับที่ 2) ที่กำหนดให้พ้นหน้าที่ในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 นี้ ส่วนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่มีแนวทางว่าจะมีการจัดตั้งหรือไม่
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอะไรระหว่าวจัดทำแผนปฏิรูปบ้าง นายภักดีตอบว่า ปัญหาหลักๆคือการสนับสนุนไม่หนักแน่นเพียงพอ เมื่อมีแผนออกมาแล้วและมีการขอตั้งงบประมาณ ก็ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ หน่วยงานต่างๆเมื่อได้งบ ก็มองเฉพาะหน่วยใครหน่วยมัน กำหนดความสำคัญเอง ซึ่งประเด็นการปฏิรูปก็จะถูกตัดออกไป ซึ่งแผนส่วนใหญ่ยังไปต่อได้ แต่นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะผลักดันหรือไม่ เพราะเราทำเต็มที่แล้ว เรื่องของการนำไปปฏิบัติเป็นเรื่องของรัฐบาล
ส่วนแผนปฏิรูปจะถูกนำไปวางบนหิ้งเหมือนแผนอื่นๆหรือไม่นั้น นายภักดีระบุว่า น่าจะไม่ ของเรามีการปฏิบัติจริง เพียงแต่จะได้ผลกี่เปอร์เซ็นก็อีกเรื่องหนึ่ง คงไม่ถึง 100% แต่เท่าที่มองน่าจะอยู่ที่ 60-70% ก็น่าพอใจในระดับหนึ่ง (หัวเราะ)