ทบทวนอีกครั้งกับ 214 นโยบายผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' หลังเข้าทำงานวันแรกที่ศาลากลาง กทม. เสาชิงช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 มิ.ย. 2565 หลังจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ และได้เข้าทำงานวันแรกที่ศาลากลางกทม. เสาชิงช้าตามที่รายงานไปแล้วนั้น หากย้อนกลับไปในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง หนึ่งในความโดดเด่นของนายชัชชาติ คือการนำเสนอนโยบาย 214 ข้อ ภายใต้หมวดหมู่ นโยบาย 9 ดี คือ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมนโยบายทั้งหมดมาให้ทบทวนกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกอ้างอิงจากเว็บไซด์ https://www.chadchart.com/policy/ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.กรุงเทพฯ ต้องสว่าง
1.เปิดรับฟังปัญหาจากประชาชน
2.ประสานการไฟฟ้า-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาไฟส่องสว่าง
3.ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่ม
4.พิจารณาติดตั้งไฟส่องสว่างแบบโคมปิดครอบด้านบน
2.กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์)
1.เปิดสวนสาธารณะในกำกับของกทม., สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย, รถไฟฟ้าสายสีทอง, สกายวอล์ก และป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ สามารถจัดแสดงงานศิลปะ
ทุกแขนงได้
2.นำร่องในจุดที่มีผู้ใช้งานสูงก่อน แล้วขยายออกข้างนอก กำหนดให้พื้นที่ชั้นในเป็นของศิลปินหน้าใหม่, มีระบบลงทะเบียนทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ และร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ประชาสัมพันธืกิจกรรมต่างๆ
3.พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map)
1. รวบรวมฐานข้อมูล เช่น ข้อมูลจุดมืด ข้อมูลสถิติอาชญากรรม ข้อมูลอุบัติเหตุ ข้อมูลน้ำท่วม ข้อมูลพื้นที่ต่ำ ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำเป็นแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพฯ (Bkk Risk map)
2. วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมเพื่อแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันเหตุ หรือเพื่อสนับสนุนการเผชิญเหตุ
3. เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงล่าสุด หรือข้อมูลอุบัติเหตุ การระวังภัยแบบเรียลไทม์สู่สาธารณะเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนเดินทาง กิจกรรมประจำวัน ไปจนถึงการเลือกที่อยู่อาศัย หรือการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
4. พัฒนาการเชื่อมต่อระบบส่งข้อความแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงสูง หรือการแจ้งอพยพให้แก่ประชาชนทุกคน ทุกเครือข่าย
5. พิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิด API ให้นำข้อมูลความเสี่ยงบางส่วน ไปประยุกต์ใช้กับแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อกระจายข้อมูลสู่ประชาชนในวงกว้าง
4.เพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรอง ราคาถูกราคาเดียว
1.ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด เพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรอง
2.พัฒนาฟีดเดอร์ต่อระบบสายหลัก เริ่มต้นเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย, รถไฟฟ้าสายสีทอง และ BRT ส่วนเส้นทางที่มีผู้ประกอบการเดิม ก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
3.พัฒนาการเดินรถในเส้นทางหลักในส่วนที่ยังไม่มีการเดินรถ
4.พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในระดับย่านให้ครอบคลุมมากขึ้น
5.พิจารณาเส้นทางปฏิรูปรถเมล์ 269 เส้นทาง
6.พิจารณารถเมล์ Event (รถเมล์เฉพาะกิจให้บริการช่วงมีกิจกรรมใหญ่)
7.ตั้งเป้ารถเมล์ กทม. 10 บาทตลอดสาย เด็กนักเรียน ผู้สูงวัย คนพิการ นักบวชนั่งฟรี
8.พัฒนาระบบ E-Ticket สามารถเปลี่ยนรถเมล์ของกทม.ได้ในเวลากำหนด โดยไม่เสียค่าโดยสารเพิ่ม
9.รถเมล์กทม. ต่อระบบขนส่งของ กทม. ไม่มีค่าแรกเข้า
10.รถเมล์เป็นชานต่ำ ปรับอากาศ และใช้ไฟฟ้า ออกแบบ Universal Design
11.รถต้องเหมาะสมกับพื้นที่และเส้นทาง ถ้าเป็นฟีดเดอร์เข้าตรอกซอกซอยขนาดรถไม่เกิน 6-7 เมตร
12.บนรถมี GPS ทำเป็น Open Data เพื่อให้ประชาชนวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน เบื้องต้นประสาน Google Map นำข้อมูลไปเผยแพร่
13.เปิดระบบประเมินคุณภาพการให้บริการทั้งรถและผู้ขับขี่
14.พัฒนาระบบชำระเงินหลากหลายแบบ
15.โฆษณาบนรถติดที่ตัวถัง ไม่ติดทับกระจก เพื่อบดบังทัศนวิสัยของผู้โดยสาร
5.ทบทวน BRT เพื่อพิจารณาการดำเนินโครงการ
2 แนวทาง 1.ทำต่อ เพิ่มความถี่ในการเดินรถ, เพิ่มรถเพื่อเพิ่มความถี่ เพื่อลดความหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน, เพิ่มสถานีโดยใช้ทุนน้อยกว่าปัจจุบัน ออกแบบให้เหมาะสม ขนาดไม่ใหญ่ เข้าถึงง่าย สามารถเข้าถึงได้จากระดับพื้นบริเวณทางม้าลาย เพื่อให้สถานีถี่ขึ้น , เพิ่มรถ รูปแบบชานต่ำ พลังงานไฟฟ้า และปรับราคาให้ถูกลง จากการลดค่าบริหารจัดการ
2.ไม่เหมาะสม ดำเนินการเดินรถเมล์พลังงานไฟฟ้า (EV) ปรับอากาศ ชานต่ำ เพื่อทดแทนเส้นทางเดิม เพื่อให้ผู้โดยสารกลุ่มเดิมต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดให้บริการ
6.ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย
1. พัฒนาทางเข้า-ออกท่าเรือให้สว่างและปลอดภัย
2. พัฒนาทางเดินให้เรียบ สะดวก ถูกหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (universal design)
3. มีข้อมูลการเดินทางทั้งระบบที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้การเชื่อมต่อการเดินทางเป็นไปได้จริง และส่งเสริมการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ
7.พิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือกเชื่อมต่อการเดินทาง
ทบทวนเส้นทางเดิม เส้นทางเดินเรือตามแผน W-Map หรือเพิ่มเส้นทางใหม่ที่เหมาะสม
8.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด
1.หารือร่วมกับ รฟม.ในฐานะผู้กำกับดูแลรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในการกำกับดูแลทั้งหมดของ กทม.ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดอยู่กับประชาชนและเป็นธรรมกับเอกชน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดค่าแรกเข้าและลดค่าโดยสารลง
2.ศึกษาสัญญาทุกฉบับ สรุปรายละเอียดของปัญหาในทุกมิติในทุกสัญญา เปิดรายละเอียดของสัญญา และหาแนวทางดำเนินการตามกรอบของข้อสัญญา เพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นโปร่งใส ถูกต้อง และหาทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด
9.หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ
1. กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานใน กทม. ให้การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขในสังคมและสนับสนุนความเท่าเทียม
2. อบรมให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของ กทม.ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ
3. สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้
4. สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย โดยไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้
5. มีกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงานกทม.
นโยบาย 9 ดี ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภาพจาก https://www.chadchart.com/policy/
10.จัดทีม 'นักสืบฝุ่น' ศึกษาต้นตอ PM2.5
กทม.จะเป็นเจ้าภาพในการทำบัญชีที่มาของฝุ่นภายในกรุงเทพฯ โดยจะร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการสืบทราบต้นตอของฝุ่น ทั้งการเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์องค์ประกอบ เช่น คุณสมบัติทางเคมี อิออน โลหะหนัก เพื่อเก็บสถิติและระบุถึงต้นตอของฝุ่น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งในแง่การป้องกันการปล่อยมลพิษ และในแง่การเอาผิดจากผู้ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน
11.ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน
1. เข้าไปตรวจสอบการปล่อยมลพิษของโรงงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดหรือไม่ (ส่วนหนึ่งอ้างอิงจากมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมของกรมควบคุมมลพิษ [4])
2. ออกคำแนะนำและคำสั่งให้แก้ไขการปล่อยมลพิษในกรณีที่โรงงานมีการปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝุ่นหนาแน่น
3. ดำเนินการทางกฎหมาย หรือ ประสานงานเพื่อเพิกถอนใบอนุญาต สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีการแก้ไขการปล่อยมลพิษให้ได้ตามมาตรฐาน
4. ประสานงานกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษภายใน กทม.เพื่อติดตามข้อมูลการจัดการมลพิษในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
5. แสดงผลข้อมูลมลพิษของโรงงานเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้วความคืบหน้าในการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศของผู้ประกอบการ
12.ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ
กทม.จะดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนักเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ลดการปล่อยมลพิษให้มาอยู่ในระดับที่มาตรฐานกำหนด เช่น การตักเตือนและกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา (มาตรการเบา) การสั่งให้หยุดประกอบกิจการ การก่อสร้าง หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง (มาตรการหนัก)
13.สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า
1. อนุญาตให้เอกชนติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีรถจักรยานยนต์ในพื้นที่หน่วยงาน กทม. เช่น สำนักงานเขต สวนสาธารณะ จอดแล้วจร ฯลฯ
2. ประสานงานกับเอกชนในการผลักดันให้เกิดสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีมากขึ้น
3. พิจารณาข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้สถานที่ต่างๆ ต้องมีการติดตั้งสถานีชาร์จและสถานีสลับแบตเตอรี่เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้
4. ผลักดันให้เกิดหลักสูตร EV Retrofit (หลักสูตรดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ที่มีศักยภาพและมีการเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์อยู่แล้ว
5. เปิดให้ประชาชนนำรถยนต์มาเข้ารับบริการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาต้นทุน เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนให้เกิดขึ้นจริง
14.สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย
กทม.จะนำร่องพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เชื่อมต่อการเดินทางทั้งระบบ ระหว่างขนส่งสาธารณะสู่ขนส่งสาธารณะ หรือจากรถส่วนตัวสู่ขนส่งสาธารณะ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ได้มาตรฐาน Universal Design ทุกคนใช้งานได้ และลดผลกระทบจากสภาพอากาศ พร้อมมีข้อมูลแนะนำในการเชื่อมต่ออย่างครบถ้วน
15.นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย
เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น บริการจิตวิทยาการปรึกษา การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์
16.ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย
ปรับปรุงป้ายรถเมล์ทั่วกรุง ป้ายต้องบอกข้อมูล ดังนี้ สายรถเมล์ที่ผ่านป้ายนั้น ๆ, เส้นทางเดินรถแต่ละสาย, ข้อมูลจุดเชื่อมต่อ, ข้อมูลรถคันสุดท้าย และพิจารณาการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์พร้อมการคาดการณ์เวลาที่รถเมล์จะมาถึงที่ป้ายรถเมล์ใหม่
2. เพิ่มแสงสว่าง ทั้งที่ตัวป้ายเอง และบริเวณโดยรอบ
3. ติดตั้ง CCTV เพื่อดูแลความปลอดภัย
4. ปรับปรุงพื้นที่โดยรอบป้ายรถเมล์ให้สามารถสังเกตรถเมล์ที่จะเข้าป้ายได้อย่างสะดวก ไร้สิ่งขีดขวาง ไม่บดบังสายตา
5. ออกแบบป้ายรถเมล์ให้มีรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และขนาดทางเท้าที่แตกต่างกัน
6. กำหนดรอบการดูแลและบำรุงรักษาป้ายรถเมล์ให้พร้อมใช้งานเสมอ
7. พิจารณาการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมที่ผลักดันเรื่องรถเมล์และป้ายรถเมล์ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาป้ายรถเมล์นี้ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสในการที่ประชาชนจะเลือกเดินทางด้วยรถเมล์17.
17.จัดตั้ง Command Center บริหารจราจรร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง (Command Center) ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารการจราจรเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จัดการจราจรโดยภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดประสาน เป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อ โดยจัดตัวแทนเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าร่วมทำงานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด
18.ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก
ปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ โดยเริ่มจากเพิ่มการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นสังคมต่างๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อทำความเข้าใจประเด็นอ่อนไหว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังสอนให้เด็กตระหนักถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ พัฒนาทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยี
19.บริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร
นำระบบบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Traffic Management System: ITMS) มาใช้งาน ควบคู่กับ CCTV ซึ่งจะมีระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรทั้งโครงข่ายกรุงเทพฯ, เผยแพร่สภาพการจราจรแบบเรียลไทม์, บังคับใช้กฎระเบียบ และกวดขันวินัยจราจร ด้วย CCTV จับภาพยานพาหนะที่ทำผิดกฎระเบียบ ออกใบสั่งอัตโนมัติ และเทศกิจจราจร ลงไปช่วยกวดขันวินัยจราจร แก้จุดฝืด ให้การจราจรคล่องตัวขึ้น และเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจับ/ปรับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
20.พัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตกับ กทม.
พัฒนาระบบติดตามการขออนุญาต (tracking system) โดยเฉพาะในกระบวนการที่เป็นการบริการประชาชนของ กทม. เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และการขออนุญาตติดป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ เป็นต้น โดยระบบที่พัฒนาจะแสดงสถานะความคืบหน้าในการดำเนินงานแต่ของขั้นตอนของ กทม.เปรียบเทียบกับเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสและผลักดันให้ กทม.สามารถบริการได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
21.เทศกิจผู้ช่วยจราจร
ดำเนินการจัดการอบรมผู้ช่วยเจ้าพนักงานจราจรให้แก่เทศกิจทุกนาย
22.ลดรถ ลดติด ด้วยจอดแล้วจร
ร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มจอดแล้วจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าปลายทางในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ที่สะดวก ปลอดภัย เพื่อลดการนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลเข้าสู่เมืองชั้นใน โดยพิจารณามาตรการจูงใจการจอด เช่น จอดฟรี หรือนำค่าจอดเป็นส่วนลดค่าเดินทาง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการจอด
23.เสริมศักยภาพสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หาความเป็นไปได้เพิ่มสะพานใหม่
1. การเพิ่มความคล่องตัวในการสัญจรสำหรับสะพานเดิม ด้วยการบริหารการจราจรโดยภาพรวม ผ่านศูนย์ควบคุมและสั่งการกลาง (Command Center) และระบบการบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) พร้อมปรับปรุงจุดฝืดต่างๆ ที่ทำให้เกิดการชะลอตัวให้เกิดการไหลเวียนคล่องตัวสูงสุด
2. ศึกษาเส้นทางและพื้นที่ที่เป็นไปได้ในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำใหม่ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย
3. สะพานข้ามแม่น้ำไหนที่ประชาชนสามารถเดินข้ามได้ พิจารณาออกแบบร่องรางให้สามารถจูงจักรยานข้ามได้
24.รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด
1. ปรับปรุงจุดตัด คอขวดต่างๆ บนท้องถนน เช่น เพิ่มการเว้าเกาะกลางในแยกที่มีจุดเลี้ยวรถ เพื่อให้รถที่จะเลี้ยวไปพักหลบตรงที่เว้าได้โดยไม่รบกวนกระแสจราจร
2. ปรับปรุงหัวโค้งหัวมุมให้เกิดการเลี้ยว การตีวงที่ไม่ใช้หลายช่องจราจร
3. ปรับ เพิ่ม/ลด จำนวนช่องทางจราจรเพื่อเพิ่มความจุถนนโดยเฉพาะบริเวณทางแยก
4. การห้ามเลี้ยวในบางกรณี โดยต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้กระแสจราจรไหลเวียนคล่องตัว
5. เทศกิจจราจร ลงพื้นที่แก้ไขจุดฝืด เช่น กวดขันวินัยจราจรรถจอดริมถนน ที่ทำให้เสียช่องจราจรไป
6. ขอคืนพื้นผิวจราจรจากโครงการก่อสร้าง รวมถึงการจัดการจราจรบริเวณการก่อสร้างให้เกิดจุดฝืดน้อยที่สุด
25.ประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในโครงการของ กทม.
นำโครงการขนาดใหญ่ในอดีตมาวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- มิติความคุ้มค่าการลงทุน เช่น อัตราและปริมาณน้ำที่ท่อระบายน้ำยักษ์สามารถระบายได้เพิ่มเติมต่อเงินลงทุน เทียบกับการโครงการเกี่ยวกับการระบายน้ำที่ใกล้เคียง เช่น โครงการขุดลอกคูคลอง โครงการขุดลอกท่อระบายน้ำ
- มิติประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น ประสิทธิภาพในการจัดการการก่อสร้าง ความตรงเวลาในการส่งมอบงาน
นอกจากนั้น กทม. จะนำข้อมูลเหล่านี้รวบรวมและเผยแพร่ให้กับประชาชนและใช้เป็นแนวคิดสำหรับการทำโครงการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
26.กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม.
1.กำหนดแบบก่อสร้างมาตรฐานทางเท้าใหม่ พิจารณาแบบกระเบื้องให้เรียบไม่มีตัดขอบ ให้มีมาตรฐานในการออกแบบ Universal Design มาตรฐานที่ดีในการก่อสร้างเพื่อทางเท้าคงทนแข็งแรง ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่กระทบต่อการเดินของประชาชนให้น้อยที่สุด ทางตัดผ่านใหม่ต้องเรียบเสมอทางเท้า และทางเท้าโล่ง สะอาดเป็นระเบียบ
2.ทางเท้ามีคุณภาพ ให้ความร่มรื่น มีการดูแลต้นไม้ริมทางด้วยรุกขกรประจำเขต ส่วนไม้พุ่มเตี้ยที่เบียดบังทางเดินจะพิจารณาปรับเป็นทางเท้าเพื่อขยายทางเดิน และหากพื้นที่ไหนเหมาะสมอาจพิจารณาพัฒนา Covered Walkway
3. จัดลำดับความสำคัญในแต่ละเขต กำหนดแผนการพัฒนาทางเท้าและเป้าหมายสั้น กลาง ยาว ให้ชัดเจน ตามความสำคัญของการใช้งาน ทางเท้าที่ประชาชนมีการสัญจรสูงและพื้นที่ที่ได้รับรายงานปัญหามาจากประชาชน
4. รายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง และติดตาม กำหนดรอบการดูแลคุณภาพการซ่อมแซม
27.ทุกถนน ซอย มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เชื่อมขนส่งสบาย ลดการใช้รถ
1. ดำเนินการปรับปรุงไหล่ทาง และแนวท่อระบายน้ำให้เรียบ ไม่เป็นร่องสามารถแบ่งเป็น ทางเดินและทางจักรยาน
2. ขีดสีตีเส้นถนน พร้อมทำสัญลักษณ์ลงบนพื้นทาง เพื่อให้ชัดเจนถึงสิทธิแห่งทาง
3. นำกล่อง CCTV ร่วมสอดส่องความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางเดิน ทางปั่น รวมถึงการกวดขันวินัยจราจรและการลุกลำเขตทาง
28.เลียบคลองเดินได้ ปั่นปลอดภัย ทางเลียบคลองคุณภาพ
1.พัฒนาทางเดินเลียบคลอง โดยจะพัฒนาให้ครบถ้วน ทั้งความต่อเนื่อง สิ่งกีดขวาง แสงสว่าง รั้ว การบำรุงรักษา กล้องวงจรปิด
2. แผนที่ทางเดินริมคลอง พัฒนาแผนที่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ประชาสัมพันธ์เส้นทางให้ประชาชนรับทราบ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน
3. ทางเดินเลียบคลองศักยภาพ คลองไหนมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ด้วย เช่น จุดจอดรถจักรยาน จักรยานยนต์ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ
4. กำหนดรอบทำความสะอาดและดูแลรักษาทางเดินเลียบคลองให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
29. อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีสำหรับคนกรุงเทพฯ
พัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้เป็นอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดิจิทัลของประชาชน เช่น
- การช่วยเหลือประชาชน และ ผู้สูงอายุในการลงทะเบียนรักษาสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ
- การช่วยพ่อค้าหาบเร่แผงลอยในการเข้าถึงตลาดออนไลน์
- การช่วยคนขับรถในการเข้าถึงแพลตฟอร์มรับงานขับรถออนไลน์
- การช่วยแรงงานฝีมือในชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มหางาน และการเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ
30.ออกแบบเรื่องราวให้เมือง ผ่าน digital experience economy
กทม.จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและการค้าผ่านการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้า (digital experience economy) เช่น การเพิ่มการสอนเวิร์กช็อปออนไลน์ (เช่น เตรียมอุปกรณ์วัตถุดิบส่งไปให้ลูกค้าก่อน แล้วจัดการสอนออนไลน์)
และการจัดทำดิจิทัลคอนเทนต์ช่วยโปรโมตกิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การโฆษณาออนไลน์ การชูกิจกรรมเหล่านี้ให้กับลูกค้าได้เห็นผ่านเครื่องมือทางซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ละคร ซีรีส์ หนัง ดนตรี โดยการสอนนี้จะเป็นการสร้าง digital experience economy ให้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานฝีมือและงานประดิษฐ์ได้
โดย กทม.จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม ไปจนถึงการประสานงานกับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์และการจัดส่งสินค้า
31.สร้างซ่อมดี เพื่อทางเท้าคุณภาพและคงทน
ควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่
1.ขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อให้ถูกต้องและตรงตามแบบที่สุด
2.ให้ประชาชนช่วยแจ้งปัญหาทางเท้าผ่านฟองดูว์
3.เมื่อเกิดเหตุต้องซ่อมแซมจะต้องซ่อมให้เร็วและมีคุณภาพ ซ่อมถึงต้นตอปัญหา โดย กทม.จะต้องเร่งรัดและติดตามให้ผู้รับเหมามาดำเนินการแก้ไขให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้หากพังในระยะเวลาอันสั้นและไม่ได้เกิดจากปัจจัยอื่นๆ กทม.จะขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมาไม่ให้ประมูลงานอีก
4. การจัดการพื้นที่ก่อสร้างจะต้องติดป้ายเตือนชัดเจน ล้อมกั้นพื้นที่ก่อสร้างให้ชัดและเท่าที่จำเป็น จัดเก็บอุปกรณ์วัสดุก่อสร้างภายในพื้นที่เท่านั้น เบียดบังทางเดินสัญจรให้น้อยที่สุด และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทาง
32.ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด
เพิ่มจุดตรวจวัดมลพิษผ่านการติดตั้งเซนเซอร์ต้นทุนไม่สูง (low cost sensor) โดยจะมีการติดตั้ง 2 รูปแบบ ได้แก่
1. กทม.ดำเนินการติดตั้งเองโดยเน้นไปที่พื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่น เช่น ชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน
2. เปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการติดตั้งเซนเซอร์วัดฝุ่นและส่งข้อมูลกลับมาให้กทม.
ระบบเซนเซอร์ที่ติดตั้งนี้จะเป็นระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลกลับเข้ามารวบรวมเพื่อนำมาแสดงผลได้ เช่น ระบบเซนเซอร์ของโครงการ sensor for all ที่ให้ประชาชนสามารถซื้อเซนเซอร์ได้ในราคาไม่แพง [2]
ข้อมูลฝุ่นทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลผลและปรับเทียบ (calibrate) ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้นก่อนจะนำไปแสดงผลให้ประชาชนได้รับรู้
นอกจากนี้ กทม.จะเพิ่มการแสดงผลแบบเรียลไทม์เพิ่มเติมด้วย จากที่เดิมแสดงผลเพียงค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเพื่อประชาชนสามารถป้องกันและเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งได้ทันทีที่ค่าฝุ่นขึ้นสูง
33.ทางตัดผ่านใหม่ต้องเรียบเสมอทางเท้า
กทม.จะเข้มงวดเรื่องทางตัดผ่านโดยเฉพาะทางตัดใหม่ที่ต้องดำเนินให้ตรงตามระเบียบเพื่อให้ความสำคัญกับการเดินเท้า ในส่วนทางตัดเดิมจะตรวจสอบเก็บข้อมูล ดูองศาเพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงให้เป็นมิตรกับคนสัญจรทางเท้าต่อไป
34.ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone
ผลักดันให้เกิด Low Emission Zone 2 วิธี
1. กทม. ร่วมมือกับเอกชนในย่านธุรกิจเพื่อผลักดันให้เกิดการ work from home หรือเหลื่อมเวลาการทำงาน
2. กทม. หารือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะไซต์งานก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งสินค้าในการเลี่ยงเส้นทางของรถบรรทุกในบริเวณ Low Emission Zone หรือบริเวณที่มีมลพิษสูงอื่นในเขตกรุงเทพมหานคร
35.นำร่อง covered walkway หลังคาทางเดินกันเปียกกันร้อนในจุดเชื่อมต่อ
นำร่องสร้าง covered walkway หลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝนให้กับผู้สัญจรใน 4 วิธีนี้
1. โครงสร้างไม่เกะกะทางเท้า หากมีอาคารหรือรั่วเดิมจะพิจารณาอาศัยโครงสร้างเดิมให้การสร้าง covered walkway
2. ออกแบบให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา
3. ติดตั้งไฟให้สว่างสามารถเดินในยามคำ่คืนอย่างปลอดภัย โดยใช้พลังงานจาก Solar Cell
4. พิจารณานำร่องในเส้นทางที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่น หรือเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ
36.ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ
ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (hard infrastructure) เช่น พัฒนาการเชื่อมต่อของย่านให้เข้าถึงได้ง่าย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมองค์ความรู้ ข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ (soft infrastructure) โดยตั้งต้นจากต้นทุนเดิมที่แต่ละละแวกมี เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของย่าน เช่น การสนับสนุนรวมกลุ่มของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่
การช่วยประสานงานกับสถาบันทางการเงินเพื่อหาสินเชื่อต้นทุนต่ำ ช่วยส่งเสริมการจัดการกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายที่ย่าน (เช่น การจัด one day trip การจัดถนนคนเดิน) และการเสริมกิจกรรมจนกลายเป็น ‘ย่าน’ ที่แข็งแรง ดึงดูดผู้คนเข้ามาและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
แนวทางการพัฒนา ได้แก่
ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy District)
ย่านธุรกิจ-เศรษฐกิจการค้า
ย่านรับจ้างผลิต OEM (Original Equipment Manufacturer)
ย่านสตรีทฟู้ด
ย่านที่เป็น Node สำคัญ
ย่านนวัตกรรม
37.ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ
ร่วมมือกับตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก ในการดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบรถเมล์ รถบัส และรถบรรทุกเชิงรุกจากต้นทางพร้อมกับออกใบรับรองให้กับรถว่าได้ผ่านการตรวจมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ส่วนรถที่ถูกตรวจสอบและไม่ผ่านมาตรฐานจะมีการจำกัดการใช้งานจนกว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ
2. ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างและรถบรรทุกที่เข้ามาในพื้นที่ว่าได้มาตรฐานการปล่อยมลพิษหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบเจอผู้กระทำความผิดจะมีการพิจารณากำหนดโทษในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือน ไปจนถึงการให้หยุดดำเนินการก่อสร้าง
38.ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
สนับสนุนให้ผู้ค้ามีความมั่นคงในการค้า (social mobility) ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
1.ประสานข้อมูลการค้า ข้อมูลการดำเนินการในอดีต และขีดความสามารถในการทำการค้าของผู้ค้าให้กับสถาบันทางการเงินของรัฐและเอกชนเพื่อจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดต้นทุนในการทำธุรกิจ
2.ประสานงานกับ อสท. (อาสาเทคโนโลยี) ประจำชุมชนให้ช่วยเหลือในด้านการบริหารจัดการภายในร้านค้า (เช่น จัดการสินค้าคงคลัง การจัดการรายรับ-รายจ่าย) ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการควบคุม
3.ประสานงานกับเอกชนและภาครัฐในพื้นที่เพื่อจัดหาพื้นที่เช่าราคาประหยัดสำหรับผู้ค้าที่ต้องการพื้นที่ทำการค้าถาวร
39.สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า
1.ปรับเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต ในส่วนผู้แทนการค้าและภาคประชาชน ได้แก่ ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ และตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีอิสระในการกำหนดลักษณะของแผงค้า หรือจำนวนแผงค้าที่เหมาะสมและเป็นระเบียบเรียบร้อยสำหรับย่าน
2. เพิ่มการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในย่านนั้นๆ
3. เพิ่มการเผยแพร่ข้อมูลพื้นที่การค้าให้โปร่งใสตั้งแต่วิธีการกำหนดลักษณะของพื้นที่ค้า ไปจนถึงจำนวนและประเภทการค้าในพื้นที่
4. ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาลักษณะร้านค้า เช่น ลักษณะสีของร้าน ร่ม ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตกำหนด
โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดหลักการที่เหมาะสมสำหรับการทำการค้าในแต่ละพื้นที่ เช่น ขนาดของทางเท้าที่เหมาะสม (แต่ต้องไม่น้อยกว่าหลักการตามมาตรฐานอารยสถาปัตย์ (universal design)) รูปแบบของการค้าและจำนวนแผงค้า หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วม (แต่ต้องมีความเป็นธรรมให้กับทุกคนในพื้นที่)
40.ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ
ขึ้นทะเบียนหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ทั้งหมด ข้อมูลที่จัดเก็บ เช่น พิกัดจุดขาย, ข้อมูลผู้ค้าและผู้ช่วยการค้า, ข้อมูลรายละเอียดสินค้าและบริการที่ทำการจำหน่าย และข้อมูลการร้องเรียนจากประชาชนและปัญหาจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจคุณภาพการให้บริการของหาบเร่แผงลอย สำหรับการประเมินการต่อใบอนุญาตการทำการค้าในพื้นที่
41.เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย
พัฒนาโครงสร้างพื้นที่จำเป็นโดยเฉพาะด้านความสะอาด ได้แก่ การจัดตั้งจุดทิ้งและจุดแยกขยะรวม บ่อดักไขมัน (รูปแบบสามารถเป็นรถเข็นที่มีบ่อดักไขมันและจุดทิ้งขยะได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บสำหรับบางพื้นที่)
พร้อมกับกำหนดแนวทางในการทำความสะอาดพื้นที่ร่วมกันระหว่าง กทม.และผู้ประกอบการในพื้นที่ โดย กทม.และกลุ่มผู้ค้าจะเป็นกำลังหลักในการช่วยกันดูแลพื้นที่สาธารณะให้สะอาดอยู่เสมอ
42.หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (hawker center)
กทม.จะเป็นตัวกลางในการร่วมมือกับรัฐและเอกชนในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร (hawker) เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค ใกล้กับย่านการค้าเดิม ที่ให้ผู้เช่าเดิมสามารถเช่าได้ในราคาประหยัด
สำหรับผู้ค้าแผงลอยที่สนใจ พร้อมกับการบริหารจัดการด้านความสะอาดโดย กทม. ตั้งแต่การทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ การตรวจความสะอาดของสินค้าและอาหารที่ขาย การจัดการจุดซักล้างรวม การจัดการจุดแยกขยะและกำจัดขยะรวม
43.ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ กทม.
กทม.จะพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการการจัดลำดับความสำคัญของโครงการและการใช้งบประมาณทั้งในระดับเขตและระดับ กทม.
2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของผู้ว่าฯ กทม. และ สำนักงานเขต โดยผลการประเมินจะถูกใช้เป็นหนึ่งในมิติการประเมินผลรอบด้าน (360 degree feedback)
44.สร้างการสื่อสารสองทางระหว่าง กทม.และประชาชนผ่านสภาคนเมืองประจำเขต
พัฒนาการประชุมสภาคนเมืองประจำเขตขึ้น โดยขยายขอบเขตการพูดคุยเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ด้วยโครงสร้างประชาคมเขต ซึ่งจะเป็นการรวบรวมตัวแทนประชาชน เช่น กลุ่มบ้านในรั้ว คอนโดฯ ชุมชน และกลุ่มประชาสัมคมที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อยู่ในพื้นที่ การประชุมสภาคนเมืองนี้จะจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด
45.พัฒนาแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบาย
ทีมเพื่อนชัชชาติได้พัฒนาโครงการ ‘ชัชชาติชวนคิด’ ขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายที่มีกระบวนการหลัก ๆ ดังนี้
1) Preparation (เตรียมการ ศึกษา ทำความเข้าใจ) 2) Seeding (พัฒนาและออกแบบแนวความคิด) 3) Public Hearing (รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน) 4) Policy Making (พัฒนานโยบาย)
46.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณ กทม. (participatory budgeting)
จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเกี่ยวกับ participatory budgeting ดังนี้
1. นำเสนอแนวความคิด : เปิดช่องทางในการนำเสนอแนวความคิดและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนโดย กทม. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมและจัดกลุ่มแนวความคิดที่มีความคล้ายคลึงกัน
2. พัฒนาโครงการ : ประสานงานกับกลุ่มประชาชนและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อนำแนวคิดมาเขียนเป็นโครงการพัฒนาเมืองเพื่อให้เนื้อหามีความครบถ้วนขึ้น เช่น รูปแบบของการพัฒนา ระยะเวลาในการดำเนินงาน งบประมาณที่ต้องการใช้ และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
3. ลงความคิดเห็น : จัดเวทีในการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดของประชาชนเพื่อนำไปสู่การลงคะแนนคัดเลือกโครงการจากภาคประชาชน (เลือกจำนวนโครงการให้สอดคล้องกับกรอบงบประมาณที่กำหนดไว้ สามารถเป็นได้หลายโครงการ) โดยการลงความคิดเห็นจะต้องมีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของประชาชนที่จะมาลงคะแนนเพื่อป้องกันปัญหาการในเชิงการดำเนินการที่อาจเกิดขึ้นได้
4. นำไปสู่การปฏิบัติ : กำหนดเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณที่จะถูกนำมาใช้ลงทุนในโครงการที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชนจากนั้น นำกลุ่มโครงการที่ได้รับเลือกจากประชาชนมากที่สุดไปปฏิบัติจริงโดยตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และประชาชนเจ้าของโครงการ พร้อมกับรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติงานให้ประชาชนทั่วไปและผู้ว่า กทม. ได้รับทราบเป็นระยะ
47.สภาเมืองคนรุ่นใหม่
1. สื่อสารให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่รับรู้ถึงโครงสร้างสภาเด็กและเยาวชนเขตและกรุงเทพมหานครผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประกาศตามโรงเรียน รัฐและเอกชน การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อทั้งขยายโครงสร้างของสภาเยาวชนให้ครอบคลุมมากเด็กและเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
2. ส่งเสริมหน้าที่ให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย (ทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ ตัวแทนสภาเยาวชนตามสถาบันการศึกษา การจัดสภาเด็กและเยาวชนสัญจรตามพื้นที่ต่าง ๆ) ในการนำเสนอปัญหาและประเด็นต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษา ปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน
3. เอาใจใส่ในการรับฟังความคิดเห็นของสภาเด็กและเยาวชน โดยสร้างช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับ ผู้ว่าฯ กทม. และ ผอ.เขต เพื่อสร้างเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
4. จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีอิสระ สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ (เพิ่มเติมจากที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน และ กทม. มีให้ในปัจจุบัน) โดยงบประมาณเหล่านี้จะต้องสามารถเบิกและใช้ได้จริงจากเด็กและเยาวชน
5. เพิ่มการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนในโครงการและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของ กทม.
6. อำนวยความสะดวกในการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนโดยจัดเตรียมสถานที่ที่เหมาะสมให้กับการประชุมกันของสภาเด็กและเยาวชนโดยให้มีที่ทำการอย่างน้อยครอบคลุมครบทั้ง 50 เขต
48.พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด
ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุด ผ่านการพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ซึ่งจะต้องดำเนินการสำหรับทั้ง
1. พื้นที่เปิดโดย กทม.จะปลูก (ปลูกเองและสนับสนุนให้เอกชนนำกล้าไปปลูก) และบำรุงรักษาต้นไม้ที่ช่วยดักจับและกรองฝุ่นที่จะเข้ามาในพื้นที่ เช่น ต้นไม้ที่ลักษณะใบมีขนหรือขรุขระ
2. พื้นที่ปิดผ่านการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศโดยเฉพาะในสถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบางและประชาชนหนาแน่น เช่น ห้องเรียน โรงพยาบาล รถสาธารณะ
49.ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
ปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้น โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น / เขต / สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี
50.พยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5
เก็บรวบรวมสถิติข้อมูลต่างๆ ของฝุ่น อย่างน้อยดังนี้
- ข้อมูลปรากฏการณ์ inversion
- ข้อมูลทิศทางการพัดของลม
- ข้อมูลจุดความร้อนจากการเผาในพื้นที่เกษตร
- ข้อมูลทางกายภาพของเมือง
ซึ่งการรายงานและแจ้งเตือนภัยปริมาณฝุ่นในปัจจุบันจะมีการดำเนินการหลักที่ป้ายบนท้องถนนและจากแอพพลิเคชั่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ดังนั้น กทม.จะต้องดำเนินการเรื่องฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่พยากรณ์ แจ้งเตือน และป้องกัน ดังนี้
1. จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ การตรวจเครื่องฟอกอากาศ ให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และประชาชนที่ต้องประกอบอาชีพกลางแจ้งเป็นลำดับความสำคัญแรก
2. ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาเป็นรูปแบบการพยากรณ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชน โดยจะมีการตรวจสอบความแม่นยำของการพยากรณ์ โดยทำผ่านการวัดผลจากเครื่องมือวัดฝุ่นที่กระจายอยู่ตามแขวงและย่าน
3. พัฒนาจุดการแจ้งเตือนฝุ่นในสถานที่ที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่สาธารณะ ป้ายรถเมล์ และสี่แยก
4. ปรับการแจ้งเตือนให้ค่าการแสดงผลเป็นแบบเรียลไทม์เพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ฝุ่นอยู่เสมอและสามารถเลี่ยงการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งได้ในช่วงเวลาที่ฝุ่นหนาแน่น
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
51.เปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. (Open Bangkok)
จัดระบบการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมให้มีคุณภาพ ไม่ซ้ำซ้อน เป็นปัจจุบัน และครอบคลุมข้อมูลศักยภาพสูง (High Value Dataset ของ DGA)
ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดข้อมูลตั้งแต่ การวางแผนโครงการ การยื่นซองเสนอราคา การตัดสินผู้ชนะ การจัดทำสัญญา และการดำเนินโครงการ) โดยมีทีมงานที่รับผิดชอบด้าน Open Bangkok ทำหน้าที่เป็นเจ้าของดูแลข้อมูล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทลายการทำงานแบบแยกส่วนภายใน กทม. และรักษาคุณภาพของข้อมูลให้มีความสอดคล้องกับไม่ว่าทั้งภายในหน่วยงาน กทม. และหน่วยงานของรัฐ (เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
52.พัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง
รวบรวมข้อมูล Digital Twin โดยเฉพาะข้อมูลที่มีในปัจจุบัน เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูล LiDAR และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ไฟฟ้า ประปา และฐานข้อมูลด้าน GEO-spatial (ข้อมูลที่ระบุตำแหน่งที่ตั้งของข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในเมือง ทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม โครงสร้างพื้นฐาน) ของกรุงเทพฯ ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใน กทม.ได้
53.เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของ กทม.และกรุงเทพธนาคม
เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมทั้งข้อมูลของ กทม. และองค์การที่อยู่ในการดูแลของ กทม. เช่น กรุงเทพธนาคม โดยอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลตาม OCDS ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดข้อมูลตั้งแต่ การวางแผนโครงการ การยื่นซองเสนอราคา การตัดสินผู้ชนะ การจัดทำสัญญา และการดำเนินโครงการ
54.วิเคราะห์ข้อมูลเมือง ต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหา
1. พัฒนา BKK Risk Map แผนที่จุดความเสี่ยงประเภทต่างๆ ของเมือง เช่น บริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วม บริเวณที่เกิดอาชญากรรม บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ
2. วิเคราะห์การกักตัวหรือจุดอันตรายฝุ่น PM2.5 หนาแน่น
3. วิเคราะห์การเข้าถึงบริการของภาครัฐ (เช่น สาธารณสุข)
4. ขึ้นทะเบียนต้นไม้บันทึกสินทรัพย์ของ กทม. โดยใช้แอพพลิเคชั่นที่สามารถบันทึกต้นไม้ หรือ green spot ใน กทม.ได้
55.เปรียบเทียบต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้างภายใน กทม.
นำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดของหน่วยงานในสังกัด กทม. มาเปรียบเทียบเพื่อสร้างความโปร่งใส โดยเฉพาะการจัดซื้อจังจ้างสินค้าพื้นฐาน เช่น ถนน ทางเท้า อุปกรณ์สำนักงาน โดยใช้ข้อมูลเหล่านั้นประกอบการกำหนดราคากลาง
นอกเหนือจากการเปรียบเทียบข้อมูลแล้ว กทม. จะดำเนินการเชิงรุกในเข้าร่วมกับโครงการเพื่อสนับสนุนความโปร่งใสของภาครัฐ ได้แก่ การเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact (IP)) สำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างของรัฐ (CoST) สำหรับโครงการก่อสร้างโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของ กทม.
56.ลดเสี่ยงโกงผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน
ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ที่เป็นอิสระจาก กทม.ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินโครงการและจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะในมิติการตรวจสอบ ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการทำงาน ไปจนถึงการร่วมตรวจสอบรายโครงการร่วมกัน (เร่ิมจากการออก TOR ไปจนถึงการส่งมอบงาน)
57.รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม.ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟีฟองดูว์
ต่อยอดระบบการรายงานปัญหาออนไลน์ทราฟฟี่ฟองดูว์ ที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแจ้งปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การแจ้งปัญหา การติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กทม. และการดูสถิติการแจ้งเรื่องร้องเรียน [6] ทั่วกรุงเทพฯ
58.ย้ายระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขึ้นสู่ระบบออนไลน์
พัฒนาระบบราชการออนไลน์ในทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับ กทม. เช่นการขออนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การชำระภาษี เพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินการจากที่บ้านได้ โดยสิ่งที่ กทม.จะทำเพิ่มเติมเพื่อให้กระบวนการออนไลน์มีประสิทธิภาพ ได้แก่
- ปรับปรุงรูปแบบการรับข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ machine readable เพื่อให้ กทม.สามารถนำไปดำเนินการต่อได้ (ไม่ใช่ข้อมูล PDF)
- ปรับปรุงกระบวนการภายในให้มีการบวนการทำงานและอนุมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Workflow, e-approval) ลดการพิมพ์เอกสารที่ไม่จำเป็น เพิ่มขีดความสามารถให้สำนักงานเขตสามารถดำเนินการจากที่ไหนก็ได้ (Work From Anywhere) ลดการหยุดชะงักของการทำงานจากภาวะโรคระบาด
- เชื่อมโยงการแสดงผลความคืบหน้าในการดำเนินงานให้กับประชาชนผู้ยื่นอนุญาตได้รับทราบ (tracking)
- เพิ่มการชำระค่าบริการและภาษีออนไลน์ เช่น ค่าบริการการจัดเก็บขยะ
- ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับเอกสารในรูปแบบกระดาษให้เปิดกว้างสำหรับการยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
59.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนาเมือง
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการกำหนดการพัฒนาเมืองตามแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เมืองมีความหนาแน่นที่เหมาะสม และมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ
60.วางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง
พิจารณาพื้นที่ชานเมืองในการพัฒนาเมืองใหม่ เช่น บริเวณพื้นที่ว่างบริเวณการเคหะร่มเกล้า (มีพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์มากกว่า 700 ไร่) โดยอาศัยแนวคิดการทำเมืองบริวาร (satellite city) เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ
และทำให้เกิดศูนย์กลาง (hub) หลักในจุดต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อกระจายแหล่งงานไปยังพื้นที่ชานเมือง เกิดการนำแหล่งงานไปใกล้ย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองมากขึ้น ลดการเดินทางจากพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่พื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
61.ปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคารให้ทันสมัย
ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองหรือการควบคุมอาคารให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน รวมถึงผลักดันกระบวนการในการจัดทำกฎกระทรวงผังเมืองฉบับ ปรับปรุงครั้งที่ 4 ให้ลุล่วง
โดยให้เนื้อหาต่างๆ มีกรอบการบังคับใช้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของหลักความปลอดภัยสาธารณะ หลักวิศวกรรม ภายใต้กรอบอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562
62.ส่งเสริมแนวคิดการจัดรูปที่ดินในบริเวณที่เหมาะสม
มีความเป็นไปได้ที่จะรวมตัวกันและเจรจาในการจัดรูปที่ดินเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี การจัดรูปที่ดินเป็นไปเพื่อทำให้รูปแปลงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สวนสาธารณะ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการอื่นๆ ให้เหมาะสมต่อการพัฒนาให้เมืองมีความหนาแน่นและโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกันตามที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดไว้
63.เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม
เพิ่มเติมเงินสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเรียน ได้แก่
1. เพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สอดคล้องกับราคาตลาด (ครอบคลุมราคา เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ)
2. เพิ่มจำนวนการอุดหนุนให้สอดคล้องและครอบคลุมกับการใช้งานจริง
64.โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน
1.ผลักดันให้โรงเรียนเป็นตัวกลางในการแจกจ่ายอาหารให้กับนักเรียนและชุมชนในพื้นที่ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระในการดูแลเด็กนักเรียนให้กับผู้ปกครอง
2.กทม.จะร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการออกแบบเมนูอาหารอย่างสร้างสรรค์ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการช่วยเลือกโดยคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และพิจารณาจัดทำอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน เช่น สอดคล้องกับความเชื่อศาสนา เป็นต้น
65.After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน
1.พัฒนาโครงการหลังเลิกเรียน (After School Program) โดยการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน พร้อมกับสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรม บุคลากร และค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับคุณครูที่อยู่ดูแลนักเรียน ทั้งนี้จะประสานและจัดตารางให้เครือข่ายและอาสามาช่วยดูแลนักเรียนและจัดกิจกรรมในโรงเรียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
2.ให้นักเรียนสามารถเลือกที่จะเข้าร่วมระหว่างผู้ปกครองมารับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มการสอนตั้งแต่เวลาเลิกเรียนไปจนถึง 18:00
66.เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน
- เพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของโรงเรียนให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชนและคนในพื้นที่ โดยการพัฒนากิจกรรมในโรงเรียนสำหรับวันหยุดร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน และชุมชน (เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดการแสดงดนตรี การจัดตลาดนัด การจัดกิจกรรมฝึกอาชีพ) ให้สอดคล้องกับความสนใจของประชาชนในพื้นที่
- การเปิดพื้นที่โรงเรียนจะดำเนินควบคู่ไปกับการรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนและการเรียนการสอนในวันปกติ
67.ยกระดับห้องแล็บคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนให้ทันสมัยและเพียงพอ
จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงห้องแล็บคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนให้มีความทันสมัยใช้งานได้จริงทั้งในด้าน Hardware ที่เพียงพอเหมาะสมกับการใช้งานและ Software ที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นปัจจุบัน
68.พัฒนาฟรี Wi-Fi ทุกโรงเรียน รองรับการสอนผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ และการสืบค้นข้อมูล
ผลักดันให้มีการติดตั้ง Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยนอกจากจะให้นักเรียนใช้สำหรับการเรียนและการสืบค้นแล้วยังจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้งานได้ในวันหยุด เพื่อช่วยผลักดันให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน
69.ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ โดยเฉพาะในช่วงการ study from home
ร่วมมือกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตสำรองให้นักเรียนที่ขาดอุปกรณ์สามารถยืมกลับไปบ้านเพื่อใช้งานได้ โดยนอกจากแท็บเล็ตแล้ว กทม.จะจัดเตรียมซิมอินเทอร์เน็ตไว้ให้นักเรียนยืมเพิ่มเติมด้วย
70.คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี
ลดภาระงานเอกสารของคุณครู และคืนคุณครูให้กับนักเรียนผ่านกระบวนการ ดังนี้
1.Digitalization : ยกเครื่องทั้งระบบ เปลี่ยนจากการทำงานบนกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล
2. คืนข้อมูลให้คุณครู : หน่วยงานหรือต้นสังกัดต้องสรุปข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วกลับไปให้โรงเรียนและคุณครูเห็นผลลัพธ์เพื่อพัฒนาต่อยอด หากข้อมูลไหนที่คุณครูได้รับมอบหมายให้เก็บแต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ให้ตัดออกเพื่อลดภาระงาน
71.เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม
เพิ่มสวัสดิการของครูในมิติต่าง ๆ ได้แก่
1. การจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับครูเพิ่มเติมตามความต้องการ (มุ่งเน้นในพื้นที่ที่มีค่าเช่าสูง)
2. ช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อสร้างให้สวัสดิการของครูมีความครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
72.เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ช่วยครู สำหรับวิชาเฉพาะทาง เช่น ภาษา เทคโนโลยี
พัฒนาครูผู้เชี่ยวชาญต้นแบบในประเด็นต่างๆ เช่น วิชาวิทยาการคำนวณ (coding), วิชาภาษาต่างประเทศ ที่มีความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหาวิชาและเทคนิคในการสอน โดยอาศัยโครงการการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา โครงการครูแลกเปลี่ยนระหว่างครูไทยและครูต่างชาติ เพื่อให้ครูผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เวียนไปยังโรงเรียนต่างๆ หรือสอนผ่านออนไลน์ เป็นตัวอย่างให้ครูแต่ละโรงเรียนได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนกันเพื่อให้คุณครูแต่ละโรงเรียนสามารถพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับครูและนักเรียนได้
นอกจากการเพิ่มเติมผู้ช่วยทางด้านวิชาการแล้ว กทม. จะเพิ่มนักจิตวิทยาโรงเรียนเพื่อเวียนให้คำปรึกษาคุณครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เพื่อคอยช่วยเหลือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและความเครียดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19
73.ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอน ลดภาระการทำเอกสาร
ศึกษาแนวทางในการประเมินผลวิทยฐานะใหม่ เช่น ระบบการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรครูร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ระบบการประเมินผลงานตามสมรรถนะ โดยระบบการประเมินใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระงานเพิ่มเติมให้กับครูจนไม่มีเวลาให้กับนักเรียน
74.Digital Talent ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีให้กับคุณครู
สร้างทีม Digital Talent เพื่อช่วยเหลือในด้านความรู้และสร้างความคุ้นเคยสำหรับการใช้เทคโนโลยีให้กับครูกทม. โดยกำหนดให้ Digital Talent หนึ่งคนดูแลโรงเรียนประมาณ 5 โรงเรียนโดยจะมีการจัดกลุ่มให้โรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (เช่น โรงเรียนมัธยมปลายเหมือนกัน อยู่ในพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกัน) เพื่อให้สามารถช่วยดูแลครูได้อย่างทั่วถึงในแต่ละด้านที่กำหนดไว้
(อ้างอิงหลักการจากแนวคิดของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED)
75.ขอดูภาพจากกล้อง CCTV ออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว
1. เพิ่มช่องทางการดำเนินการขอภาพ CCTV ผ่านระบบออนไลน์ กทม.
1.1 หาเลขกล้อง CCTV ได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องลงสำรวจ ณ จุดเกิเดเหตุ
1.2 แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ
1.3 กรอกและส่งเอกสารทั้งหมดผ่านระบบออนไลน์ของ กทม.และรอรับภาพทางออน์ไลน์
2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการประสานงานร่วมกับตำรวจ ในการส่งต่อข้อมูลลดขั้นตอนการขอภาพของประชาชน
2.1 หาเลขกล้อง CCTV ได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องลงสำรวจ ณ จุดเกิดเหตุ
2.2 แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ และตำรวจประสานงานส่งต่อเอกสารกับ กทม.
2.3 กทม.จัดส่งภาพ CCTV ให้ประชาชนผ่านระบบออนไลน์โดยที่ประชาชนไม่ต้องติดต่อ กทม.
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
76.ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมและอุบัติเหตุเชิงรุก
1. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลภาพที่สามารถช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องวงจรปิดในมิติของการป้องกันเหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ
2. ศึกษาความเป็นไปได้ให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลภาพและระบบกล้องวงจรปิดป้องกันอาชญากรรมของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพใบหน้าแบบเรียลไทม์ในการเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรม บุคคลอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ และย่านชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง
77.กำหนดค่ามาตรฐานความสว่างป้ายโฆษณา
1. จัดทำค่ามาตรฐาน และมาตรการระดับต่างๆ ในการควบคุมค่าความสว่างของแหล่งกำเนิดแสง ป้ายโฆษณาของเมืองโดยรวม ให้เป็นมิตรกับประชาชนผู้สัญจรและผู้อยู่อาศัย
2. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ กทม.มีหน้าที่ดำเนินตรวจสอบติดตามให้ความสว่างของป้ายให้ตามมาตรการที่กำหนด
78.ใช้ข้อมูลอาชญากรรมกำหนดพิกัดอันตราย เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย
รวบรวมข้อมูลสถิติอาชญากรรมและข้อมูลการรายงานจุดเสี่ยงที่รวบรวมมาจากฐานข้อมูลในแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพฯ (Bangkok Risk Map) เพื่อให้มีการวิเคราะห์และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาสภาพแวดล้อม การบริหารจัดการต่าง ๆ ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
79.พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน
1. พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ดับเพลิงในระดับย่าน เพื่อให้ทราบถึงประเภท จำนวน และตำแหน่งที่อยู่ของอุปกรณ์
2. ใช้บัญชีดังกล่าวในการสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์ ทำการทบทวนให้รายการอุปกรณ์มีความเที่ยงตรงกับความเป็นจริง ใช้งานได้อยู่เสมอ
3. สนับสนุนการเพิ่มเติม ซ่อมแซม หมุนเวียนอุปกรณ์ที่ขาดตกบกพร่อง
4. เมื่อเกิดเหตุผู้อยู่อาศัยในย่าน อปพร. อาสาสมัครกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ สปภ. ตรวจสอบและเรียกใช้อุปกรณ์ในละแวกใกล้เคียง สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ทันท่วงทีเพื่อลดความสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการระงับเหตุ
80.เพิ่มประปาหัวแดง โดยเฉพาะเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น
1. เพิ่มจำนวนประปาหัวแดง โดยเฉพาะในเขตเมืองขยายในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นกลาง กรุงเทพฯ ชั้นนอก และชุมชนแออัดตรอกซอกซอย ในบริเวณพื้นที่ชั้นในที่ยังขาดการติดตั้ง เพื่อให้มีจำนวนประปาหัวแดงที่สัมพันธ์ต่อการขยายตัว และความหนาแน่นของประชากรและสิ่งปลูกสร้างในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานครให้มีจำนวนครอบคลุมได้มาตรฐานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมาตรฐานสากล ให้สามารถให้บริการน้ำสำหรับดับเพลิงในสภาวะฉุกเฉิน
2. ตรวจสอบสถานะและสภาพความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอ โดยพิจารณาศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น การติดเซนเซอร์เพื่อติดตามตรวจสอบสถานะความพร้อมของประปาหัวแดงจุดต่าง ๆ
81.จัดหายานพาหนะเพื่อดับเพลิงในที่คับแคบ
ศึกษาการจัดหารถดับเพลิงขนาดเล็ก เรือดับเพลิงขนาดเล็ก หรืออุปกรณ์เครื่องลากจูงหาบหาม ที่มีความจุน้ำ ปั๊มน้ำ และอุปกรณ์การระงับเหตุและช่วยเหลือขั้นเบื้องต้นในการเผชิญเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัย ที่สามารถเพิ่มความคล่องตัว และลดระยะเวลาในการเข้าระงับเหตุให้ได้ตามมาตรฐานสากล
82.พัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัย
พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร ให้มีความสามารถในการรับมือสอดคล้องกับบริบทของเมืองครอบคลุมอย่างน้อยในประเด็นต่อไปนี้
- อัคคีภัยอาคารสูง
- โครงสร้างอาคารถล่ม
- เหตุสารเคมี เชื้อเพลิงรั่วไหล
- การกู้ชีพทางน้ำ เป็นต้น
83.พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลแบบก่อสร้างและแปลนอาคารสนับสนุนการเผชิญเหตุให้มีประสิทธิภาพ
ยกระดับฐานข้อมูลอาคารสู่ระบบดิจิทัลเพื่อลดขั้นตอนในการทำสำเนา เพิ่มความคล่องตัวในการเรียกดูข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในยามคับขัน โดย
1. นำข้อมูลแบบอาคารเข้าสู่ระบบออนไลน์
2. ผลักดันให้อาคารใหม่ ๆ ส่งข้อมูลแบบอาคารในรูปแบบออนไลน์
3. เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเผชิญสาธารณภัยสามารถเรียกดูข้อมูลออนไลน์ เพื่อวางแผนการกู้ภัยได้
4. เชื่อมต่อฐานข้อมูลแบบอาคารออนไลน์กับฐานข้อมูลของหน่วยงานเผชิญสาธารณภัยต่าง ๆ
84.ดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบอาคารเก่าและอาคารสาธารณะให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย
สำรวจทบทวนแบบเชิงรุกของอาคารเก่า อาคารอาศัยรวม หรืออาคารสาธารณะขนาดใหญ่ที่ไม่มีการเก็บแผนผังอาคาร หรืออาคารมีอายุมาก และไม่มีการสำรวจการต่อเติมเพิ่มเติม
85.ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุก
1. การจัดหาที่พักพิงชั่วคราว
2. การจัดสรรเงินสงเคราะห์เบื้องต้น การเยียวยาความเสียหายของทรัพย์สินตามกรอบของกฎหมาย
3. ให้บริการด้านการตรวจสุขภาพต่อเนื่องแก่ผู้เสียหาย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-3 เดือนแรก เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้
86.ผลักดันการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัย
1. ผลักดันให้ตัวโครงการก่อสร้างสำเร็จตามแผนการ
2. เตรียมความพร้อมด้านบุคคลากร และทรัพยากรการฝึก ทั้งครูฝึก เจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อม ได้มาตรฐานสากล
3. หลักสูตร และสิ่งแวดล้อมในการฝึกฝนของศูนย์ฝึกต้องควบคุมให้ตอบสนองต่อความหลากหลาย ครอบคลุม สาธารณภัยรูปแบบต่าง ๆ
4. ผลักดันให้ศูนย์ฝึกฯ นั้นพร้อมสำหรับหลักสูตรการฝึกฝนหลากหลายระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่ กทม. ให้ทั้งเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสามารถที่จะได้รับการฝึกฝน ทบทวนทักษะ บ่อยขึ้น เชี่ยวชาญและคุ้นชินกับสถานการณ์ที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น
87.ซ้อมการเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่
1. ฝึกฝนประชาชนในการเผชิญสาธารณภัย เพื่อสร้างความตระหนักถึงข้อปฏิบัติในการระงับเหตุเบื้องต้น การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ความคุ้นชินกับสถานที่
2. ฝึกฝน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรในการเอาตัวรอด ที่เหมาะสมกับกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น นักเรียนประถม-มัธยม ครอบครัวเด็กอ่อน ชุมชนแออัด อาคารชุดสูง หรือผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแล โดยให้มีการฝึกฝนเป็นประจำทุกปี มีการสาธิตเหตุการณ์และฝึกการภาคปฏิบัติ อย่างทั่วถึง
3. จัดให้มีการซักซ้อมระหว่างเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีความคล่องตัว เพิ่มความต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดระหว่างหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติการแข่งกับเวลา
4. ฝึกฝนการบูรณาการระหว่างผู้บัญชาการสถานการณ์ (ผู้อำนวยการเขต หรือผู้ว่าราชการจังหวัด) และทีมงานสนับสนุน (ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ Situation Awareness Team : SAT และ Damage Assessment and Needs Analysis : DANA) ทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัด เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า และประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
88.ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร
1. พัฒนาระบบการเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูลเพื่อจับ / ปรับผู้กระทำผิดอัตโนมัติ
2. เพิ่มประสิทธิภาพกล้อง CCTV การตามจับโดยนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพ
3. ขยายการใช้งานไปยังกล้องวงจรปิดบนทางเท้า
89.ตรวจสอบและปรับปรุงทางข้ามทั้งกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ปรับปรุงทางข้ามให้มีความปลอดภัย ดังนี้
1. ทาสีแถบทางข้ามให้ชัดเจน เห็นได้จากระยะไกล
2. กำหนดเขตชะลอและหยุดรถ
3. ติดตั้งแสงสว่างให้เพียงพอ
4. ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบ
5. ติดตั้งกล้อง CCTV
6. ติดตั้งป้ายสัญญาแสดงความเร็วยานพาหนะ และความเร็วที่กำหนด
7. จุดที่มีคนข้ามจำนวนมากและถนนหลัก ติดตั้งสัญญาณไฟทางข้ามชนิดปุ่มกดพร้อมเสียงเตือน
8. กำหนดรอบการดูแลและบำรุงรักษาองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทางข้ามให้พร้อมอยู่เสมอ
9. พิจารณาเพิ่มทางข้ามบริเวณที่มีปริมาณการข้ามถนนสูงแต่ไม่มีทางม้าลาย เช่น บริเวณสถานศึกษา ตลาด สวนสาธารณะ เป็นต้น
10. ทะลายรั่วหรือเกาะกลางที่ต่อเนื่องกับทางข้าม ปรับให้สามารถเดินข้ามได้อย่างต่อเนื่องไหลลื่น Universal Design
นอกจากนี้ กทม. ยังจะต้องเน้นให้ความสำคัญกับการพิจารณาการทำทางข้ามถนนที่สามารถใช้ได้ทุกคน ทุกสภาพร่างกาย (ยกเว้นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านการจราจร เช่น ถนนที่มีขนาดใหญ่ มีความเร็วรถสูง)
90.ปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด
รณรงค์จิตสำนึกวินัยจราจร กฎหมายจราจร ระเบียบการใช้ยานพาหนะ ประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดคุณลักษณะการขับขี่ที่มีวินัย ปลอดภัย เป็นวงกว้าง โดยเริ่มจาก 4 องค์กร
1. โรงเรียน ให้มีการอบรม ให้ความรู้ ปลูกฝั่งระเบียบวินัยจราจร ตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน
2. เจ้าหน้าที่หน่วยงานและลูกจ้างในสังกัด กทม.
3. ขนส่งมวลชนในการกำกับดูแลของรัฐ รถเมล์ รถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์
4. บริษัทขนส่ง เดินทาง ส่งอาหารต่างๆ
91.ลดความเร็ว ลดความเสี่ยง ในย่านชุมชนและถนนสายรอง
92.พนักงาน กทม.ตรวจสอบความพร้อมใช้สาธารณูปโภคเมืองเชิงรุก
มอบหมายหน้าที่ให้เจ้าพนักงานกำหนดหน้าที่รับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ โดย
1. กำหนดหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานสภาพถนน แสงสว่าง ทางเท้า การจัดการขยะ และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ของ กทม.
2. จัดเตรียมระบบ และอุปกรณ์เครื่องมือในการรายงานปัญหาต่าง ๆ ให้
93.กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
กำหนดและประกาศหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ทางข้าม สะพานลอย สะพานและถนน โดยอาจระบุหน่วยงานไว้ในป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือระบุลงในแผนที่ Dashboard ของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนโดยตรงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
94.รณรงค์สิทธิและระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องจราจร ความสะอาด คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อม
สร้างจิตสำนึกส่วนรวมในการอยู่ร่วมกัน รักษาสิทธิร่วมกัน และวินัยของพลเมือง ทั้งด้านจราจร ความสะอาด ความโปร่งใส และสิ่งแวดล้อม เช่น การรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมเมือง การแยกขยะ การเคารพกฎจราจร ความโปร่งใสและสิทธิในการตรวจสอบ
โดยรณรงค์กับทั้งโรงเรียนในสังกัด กทม. เจ้าหน้าที่และบุคลากร อาสาสมัครของกรุงเทพมหานคร และกลุ่มประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ เช่น
- วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถขนส่ง ในมิติจราจร
- แม่บ้าน นิติบุคคล ในมิติด้านความสะอาด (การแยกขยะ)
- เด็กนักเรียน อบรมในทุก ๆ มิติเพื่อให้เป็นส่วนช่วยสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ
95.พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน
1. พัฒนาหลักสูตร 3 ภาษาโดยเพิ่มการเรียนบางวิชาที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนมีความคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการทำงาน เช่น Microsoft Office
2. ขยายความครอบคลุมของของหลักสูตร 2 และ 3 ภาษาให้ครอบคลุมโรงเรียนของ กทม. ให้ได้มากที่สุด
96.สร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชน โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน
ช่วยสนับสนุนให้โครงการที่พัฒนาการสอนเพิ่มเติมทั้งในและนอกเวลาเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไปที่มีความตั้งใจอยากช่วยเหลือการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมและถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติมกับเด็กๆ
ผ่านการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ทั้งในมิติวิชาการที่จะเป็นการเสริมความรู้เชิงลึกหรือการทดลองเพิ่มเติมนอกห้องเรียน และการเสริมในมิติการใช้ชีวิตและวิชาชีพ (เช่น design thinking, ร้องเพลง, เต้น) ซึ่งจะเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนในสังกัด กทม.ได้ โดยนอกเหนือจากโครงการของเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว กทม.จะร่วมมือกับนิสิตนักศึกษาฝึกสอนตามสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเข้ามาช่วยเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ด้วย
97.โรงเรียนประสิทธิภาพสูงด้วย open data
เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ เช่น การใช้งบประมาณ แผนการดำเนินการ ตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน ขึ้นอยู่บน Cloud พร้อมกับการแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ (เช่น โรงเรียน ภาคประชาสังคม ผู้ปกครอง เอกชน) ให้เข้ามาช่วยกันคิด แก้ไขปัญหา ออกแบบแนวทางการพัฒนาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น
98.พัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยแนวคิด 'โรงเรียนแห่งการเรียนรู้' (Learning School)
1.นักเรียน: ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ (action-oriented) และเรียนรู้ร่วมกันจากเพื่อน ๆ ในระดับชั้นเรียน เพื่อให้เกิดสมรรถนะผู้เรียน (competency) ที่ทันต่อการเรียนรู้และการทำงานแห่งอนาคต
2.ครู: พัฒนาครูจากการทำงานจริง และ จากคำแนะนำของครูท่านอื่น ๆ ‘ครูทุกคนเก่งขึ้นจากห้องเรียนของตนเอง’ ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ ‘ครูช่วยครู’ ทั้งภายในโรงเรียน ระหว่างโรงเรียนและจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันของเครือข่ายคุณครูต่าง ๆ
3.ผู้อำนวยการ: ร่วมออกแบบ สะท้อนแนวคิด แนะนำการเรียนการสอนให้กับครู ไม่ว่าจะครูใหม่ หรือ ครูเก่า สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร
99.พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน
1. เพิ่มปริมาณ – เพิ่มการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อน-เด็กเล็กโดยเฉพาะศูนย์ขนาดเล็กในชุมชน ศูนย์บริการตามแหล่งงานให้มีความครอบคลุมกับความต้องการ
2. เพิ่มการบริการ – ขยายการดูแลให้ครอบคลุมเด็ก เริ่มตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน
3. เพิ่มหนังสือ - จัดหาหนังสือดี มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับเด็ก 3 - 6 เดือน - 3 ปี
4. เพิ่มบุคลากรและค่าตอบแทน - เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก กทม.จะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก เด็กอ่อน และเสริมความเชี่ยวชาญในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมกับปรับค่าตอบแทนบุคลากรตามการฝึกฝนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับค่าตอบแทนของตลาด
5. เพิ่มค่าอาหารสำหรับเด็กอ่อนและเด็กเล็ก - เพิ่มเงินสนับสนุนค่าอาหารแก่ศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก ให้เป็น 40 บาท/วัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับค่าอาหารของระดับอนุบาล-มัธยมของโรงเรียนในสังกัด กทม.
6. ส่งเสริมหลักสูตร - เน้นให้เด็กทำเป็น เล่นเป็น เรียนรู้เป็น
100.ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ
1. ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคเหล่านั้น หากสิ่งใดสามารถรื้อถอนได้จะดำเนินการรื้อออกให้หมด หากสิ่งใดยังต้องมีอยู่จะต้องปรับตำแหน่งให้ตามแบบที่กำหนด
2. ศึกษาข้อกฎหมายแนวกันสาดและแนวใต้ชายคา การใช้พื้นที่สาธารณะนอกตัวอาคาร ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ได้ และหาแนวทางออกร่วมกับประชาชนริมทางเท้า
3. ศึกษาการจัดการแนวระบบสาธารณูปโภคให้เป็นแนวเดียวกันและกำหนดแนวทางการเข้าบำรุงให้ชัดเจน เพื่อทางเท้าที่น่าเดินสำหรับทุกคน
4. รวบป้ายทั้งหมดที่ยังจำเป็นต้องมีอยู่ให้อยู่บนเสาเดียว ให้เหลือเสาน้อยที่สุด
5. ป้ายไหนผิดกฎหมายจะต้องรื้อออกไปทั้งหมด
6. ไม่มีการต่อใบอนุญาตป้ายโฆษณาอีกต่อไป
7. ปรับรูปแบบจุดทิ้งขยะให้เพียงพอต่อปริมาณการทิ้ง โดยปรับรูปแบบให้เป็นภาชนะที่มิดชิด ไม่ให้ความสกปรกแพร่กระจายลงสู่ทางเท้า
8. ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทั้งรื้อขยะและทิ้งไม่ลงถังเพื่อไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอีกซ้ำซาก
9. ทำความสะอาดจุดทิ้งขยะและทางเท้าอย่างสม่ำเสมอเพราะทางเท้าจะเดินดีได้ต้องสะอาดด้วย
10. ดำเนินการให้ห้องแถวริมทางเท้าแก้ไขการทิ้งน้ำ ระบายน้ำจากอาคารลงสู่ทางเท้า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
101.ส่งเสริมหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี
นำแนวทาง คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในการดูแลเด็กทั้งในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็ก อนุบาล ในสังกัด กทม. ในโรงเรียนประถมโดยเฉพาะในช่วง ป.1-2 ควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาวิชาการ
102.จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต
1. จัดการอบรมรุกขกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้เดิมของ กทม.ให้เป็นรุกขกร
2. จัดให้เจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมเป็นรุกขกรประจำเขต มีหน้าที่ในการดูแลต้นไม้เป็นการเฉพาะ
3. จัดทำทะเบียนต้นไม้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพฯ สำรวจและประเมินสุขภาพต้นไม้ อยู่เป็นประจำ
4. กำหนดแนวทางและกำหนดรอบการดูแลรักษาต้นไม้ให้กับแต่ละเขต
5. กำหนดต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพเมือง และสภาพทางเท้า
6. ตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นไปตามหลักการ โดยไม่รบกวนสายไฟ ให้ร่มเงา ปลอดภัย และแข็งแรง
7. หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องย้ายต้นไม้ จะดำเนินการด้วยการล้อม โดยผู้เชี่ยวชาญ
103.พัฒนาห้องสมุดและห้องการเรียนรู้เคลื่อนที่
จัดหน่วยรถห้องสมุดเคลื่อนที่เวียนตามชุมชนและโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำหนังสือไปให้นักเรียน ลดภาระการเดินทางและเพิ่มความสะดวกให้กับเด็กๆ ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
- เพิ่มรถห้องสมุด
- เพิ่มรถห้องสมุดขนาดเล็กให้สามารถเข้าออกได้หลากหลายที่
- ขยายการให้บริการเป็น 7 วัน
- ขยายภารกิจให้บริการหลากหลายพื้นที่เพิ่มเติม เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬา เป็นต้น
- เพิ่มหนังสือนิทาน หนังสือภาพสำหรับเด็ก ให้มากและหลากหลายขึ้น รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน
104.สายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุน ไม่กระทบประชาชน
1. สนับสนุนให้คิดค่าบริการเช่าท่อร้อยสายใต้ดินในราคาที่เหมาะสม
2. กำหนดจุดเชื่อมต่อกับผิวดิน (riser) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการประชาชน และป้องกันการสร้างจุดไรเซอร์ที่ไม่ตรงกับลักษณะการใช้งาน
3. หารือร่วมกับ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทุกภาคส่วนในการลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการบริหารและต้นทุกการจัดการสายสื่อสายลงท่อร้อยสายใต้ดิน
4. สำหรับสายสื่อสารในถนนสายรองที่ไม่สามารถนำลงดินได้ เพราะอาจไม่มีท่อร้อยสายใต้ดินรองรับ กทม.จะผลักดันการดำเนินการร่วมกับ กฟน.เพื่อรวมสายสื่อสารทุกเส้นบนเสาไฟฟ้าเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนสายสื่อสารเดิมจะมีการขอความร่วมมือผู้ให้บริการในการสำรวจและรื้อถอนออก
105.จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่ง
1. พิจารณาออกแบบที่จอดให้มีลักษณะหลากหลาย เช่น จอดจักรยานแนวตั้ง จอดจักรยานแนวนอนขนานถนน จอดจักรยานเฉียง จอดจักรยาน 2 ชั้น โดยยืดหยุ่นตามความเหมาะสมกับพื้นที่
2. โครงสร้างของที่จอดจักรยานต้องยึดติดกับพื้น
3. ออกแบบที่จอดจักรยาน โดย
3.1 ให้ยึดจักรยานติดกับพื้นทางเท้า หรือพื้นที่จอดจักรยาน พื้นต้องมีร่องไม่ให้ขยับล้อได้ และยกจากพื้นไม่ได้
3.2 ให้คล้องโซ่ได้ทั้งล้อและท่อนอนจักรยาน (Top Tube)
3.3 ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับรถจักรยานหลากหลายประเภท จักรยานแม่บ้าน ไปจนจึงจักรยานเพื่อการนันทนาการ
3.4 ให้มีหลังคาคลุม
4. ติดตั้ง CCTV
5. ติดตั้งแสงสว่าง
6. ติดตั้งครอบคลุมทุกจุดเปลี่ยนถ่ายขนส่งสาธารณะ
7. พิจารณาติดตั้งที่สูบลมจักรยาน
106.แจ้งปัญหาวินฯ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์
เพิ่มฟังก์ชั่นการแจ้งปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ในเครื่องมือแจ้งปัญหาเมืองฟองดูว์ เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ที่พบเจอได้ โดย กทม.จะดำเนินการส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาศัยกลไกคณะอนุกรรมการในการผลักดันรายงานวินฯ ที่ได้รับการร้องเรียนเพื่อให้คณะอนุกรรมการออกมาตรการดำเนินการ
107.โปร่งใส ไม่ส่วย
1. จริงจังกับการห้ามเรียกเก็บส่วย
2.พัฒนาระบบติดตามการดำเนินการและขออนุญาต (tracking system)
3.นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน 4.ลดการเจอกันระหว่างผู้ขออนุญาต และ ข้าราชการ ลดความเป็นไปได้ในการทุจริต และ รับใต้โต๊ะ ผ่านการจัดการแบบจุดเดียวจบ (One Stop Service)
108.สวน 15 นาที ทั่วกรุง
3 ขั้นตอนสำคัญ ประกอบด้วย
การเพิ่มพื้นที่ใหม่
- กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที
- หาพื้นที่พัฒนา pocket park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนา
- อาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี
- เปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน สำนักงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน (privately owned public space: POPS) ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น
- ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนสวน กทม.จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลและจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการพักผ่อนและการสันทนาการของประชาชน
การพัฒนาพื้นที่เดิม
- พัฒนาลานกีฬาทั้ง 1,034 แห่งให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการกระจายตัวมากที่สุด และกระจายตัวเข้าไปในแหล่งชุมชนอยู่เดิมแล้ว
- เพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่เดิมเช่นลานกีฬา ด้วยการเพิ่มไม้พุ่ม ไม้ประดับ หรือสวนแนวตั้ง เพื่อเพื่มมิติการใช้งาน และสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น
การพัฒนาฐานข้อมูล
- ปักหมุดทำฐานข้อมูลสวน 15 นาที โดยเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมสวนที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริง และเปิดเป็น open data
109.สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว
ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น การดูแลรักษา ทำความสะอาดโดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น
110. เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ
1. ปรับเวลาเปิด-ปิด
2. ปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว เครื่องออกกำลังกาย (Fitness) แสงสว่าง CCTV ตู้เก็บของ (Locker) ฯลฯ ให้มีคุณภาพ เปิดให้ประชาชนใช้งาน และให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของทุกคนในการใช้งานพื้นที่
3. การจัดสรรพื้นที่ค้าขาย (hawker center) สำหรับหาบเร่แผงลอย ที่กระจายอยู่รอบสวนสาธารณะให้มีการจัดการที่ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบ มีที่ซักล้าง มีบ่อดักไขมัน เป็นต้น
4. ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าใช้งานพื้นที่สาธารณะ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ สภาพทางเดินที่สะดวกและสามารถรองรับจำนวนของผู้คนได้มากพอ และระบบขนส่งสาธารณะพาคนจากชุมชนโดยรอบมายังพื้นที่สาธารณะ
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
111.จัดทำงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ (zero-based budgeting)
ทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting โดยพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการ ไม่ใช่เพียงใช้งบประมาณของปีที่แล้วเป็นฐานเพื่อปรับความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณไปในจุดต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพและความต้องการสูงสุด รวมถึงการทบทวนและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงานของ กทม.
112.พิจารณาให้นำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกาย ในสวน กทม.ได้
พิจารณาเรื่องการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าภายในสวนฯ ได้ โดยเน้นการกระจายตัวของพื้นที่ที่อนุญาต และต้องมีมาตรการในการรักษาความสะอาด และความปลอดภัยต่อผู้อื่นในพื้นที่ที่ชัดเจน เช่น กฎการเก็บและทำความสะอาดมูลสัตว์ ถังขยะแยกเฉพาะสำหรับการทิ้งมูลสัตว์ รวมถึงการประกาศให้ชัดเจนถึงแนวทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน
113.เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้เพื่อประโยชน์คนกรุงเทพฯ
นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสำรวจข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง เช่น การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายสตรีทวิวเข้ามาช่วยในการประเมินและจัดเก็บภาษีป้าย การใช้เทคโนโลยีภาพทางอากาศเข้ามาเป็นตัวช่วยในการประเมินและจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
114.พัฒนา 1,034 ลานกีฬา กับประชาชนและเอกชนในพื้นที่
- พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แห่ง 180 แขวง ทั่วกรุงเทพฯ ภายใน 100 วัน และขยายผลให้ครบ 1,034 ลานทั่วกรุง
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสอดส่องดูแล และร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูลานกีฬาทั้ง 1,034 ลานทั่วกรุง
- จัดทำโครงการการพัฒนาลานกีฬาร่วมกับเอกชนในพื้นที่
115.ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน
ปรับปรุงสภาพ รูปแบบของพื้นที่ให้มีความร่วมสมัย เป็นมิตร น่าใช้งาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยแบบผ่อนคลาย และตอบสนองต่อวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น เช่น การปรับปรุงโครงสร้างอาคาร และสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้เหมาะสม
อัพเดตหนังสือข้างในบ้านหนังสือให้เป็นปัจจุบัน และเพิ่มเติมนิทาน หรือหนังสือภาพสำหรับเด็ก ให้มีความหลากหลายและเพียงพอ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การติดตั้ง Wi-Fi ฟรี เพื่อสร้างให้บ้านหนังสือเป็นแหล่งการเรียนรู้ใหม่ ๆ สำหรับคนในพื้นที่
116. 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ
1. มกราคม - เทศกาลดนตรีในสวน
2. กุมภาพันธ์ - เทศกาลดอกไม้แห่งความรัก
3. มีนาคม - เทศกาลหนังสือกรุงเทพฯ
4. เมษายน - เทศกาลอาหารฮาลาลหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า
5. พฤษภาคม - เทศกาลผลไม้ไทย
6. มิถุนายน - Pride Month
7. กรกฎาคม - เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ
8. สิงหาคม - เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
9. กันยายน - เทศกาลงานคราฟต์
10. ตุลาคม - เทศกาลแข่งเรือกรุงเทพฯ
11. พฤศจิกายน - เทศกาล 11.11 ช้อปปิ้งพาราไดส์เฟสติวัล
12. ธันวาคม - เทศกาลแห่งแสง ของขวัญกรุงเทพฯ (Bangkok Winter Illumination)
117. ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
- เพิ่มเวลาทำการของศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนต่างๆ ให้สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเปิด-ปิด หรือการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน หรือช่วงเสาร์-อาทิตย์
-ยกระดับความพร้อมของอุปกรณ์ สถานที่ เครื่องออกกำลังกาย (Fitness) และหลักสูตรกิจกรรมต่าง ๆ ที่พร้อมตอบสนองต่อความต้องการ รูปแบบการใช้งาน และความสนใจของประชาชนกรุงเทพมหานครมากขึ้น รวมถึงแบ่งพื้นที่สำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย
-เพิ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่กทม. ผู้ดูแลศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนต่างๆ ให้เหมาะสมกับเวลาเปิดทำการและความต้องการของประชาชน
118.กรุงเทพฯ มั่นใจ ปลอดภัยโควิด
สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านศักยภาพในการตรวจ คัดกรอง และติดตามกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ กทม.จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตรวจ ATK ให้กับทั้งพนักงานและลูกค้า พร้อมกับนำผลการตรวจขึ้นแสดงบนแอพพลิเคชั่นและส่งให้กับ กทม.เพื่อเก็บสถิติและควบคุมการระบาดในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ
119.ห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) อ่านอีบุ๊กได้จากทุกที่
- พัฒนาห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) แพลตฟอร์มยืมหนังสือออนไลน์อ่านอีบุ๊กได้ฟรี โดยจะประสานงานสำนักพิมพ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ที่สามารถให้ประชาชนยืมหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
- จัดทำระบบสำรวจความต้องการหนังสือของประชาชนเพื่อพัฒนาคลังห้องสมุดออนไลน์ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
- เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือเอกชนสนับสนุนการบริจาค e-Book ให้ห้องสมุดออนไลน์ของกทม. ได้
120.เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น Co-working Space
เพิ่มฟังก์ชั่นห้องสมุดให้เป็น Co-working Space ประกอบด้วย
- บริการ Wi-Fi ฟรีและเสถียร
- บริการปลั๊กไฟเพียงพอ
- แยกสัดส่วนพื้นที่ห้องเงียบและห้องใช้เสียง
- ปรับวันเวลาทำการให้สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชนโดยให้เปิดบริการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ และ เปิดให้บริการในวันจันทร์ในช่วงปิดภาคเรียน
121. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม. (กรอ. กทม.)
พัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม. (กรอ. กทม.) เพื่อร่วมกันจัดทำแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
122. ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน
เพิ่มทางเลือกให้กับการศึกษาผ่านโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ทั้งการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันเพื่อรองรับการประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม และการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ระบบแรงงานเอกชนโดยการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น e-Commerce
และช่วยสนับสนุนให้แรงงานฝีมือภายในกรุงเทพฯ เข้าถึงแพลตฟอร์มการจ้างงานได้ โดยการช่วยเหลือของอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานที่เหมาะสม
123.ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกรุงเทพฯ
รวบรวมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายร้าน กทม.และร้านชุมชน พร้อมกับวิธีการและแนวทางในการเข้าถึงช่องทางเหล่านี้เป็นแค็ตตาล็อกให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เลือกและใช้งาน ซึ่งจะสามารถช่วยต่อยอดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของธุรกิจและเม็ดเงินระหว่างกันภายในเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ
124.ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต
จัดหาพื้นที่พัฒนาตลาดนัดประจำชุมชนประจำเขต เพื่อให้ประชาชนได้พื้นที่ค้าขายที่ค่าเช่าต่ำ โดยพิจารณาพื้นที่ราชการของ กทม. หรือปิดถนนคนเดินบางเส้นทาง
125.จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง ทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ
-พัฒนาย่านศิลปะให้กระจายตัวทั่วทุกเขต โดยเปิดโอกาสให้ศิลปินใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของ กทม.ได้ เช่น ศาลารอรถเมล์ ป้ายรถเมล์ ทางเท้า ป้ายและจอดิจิทัลประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ในการแสดงผลงานทุกแขนง
-พัฒนาปฏิทินและแผนที่การแสดงงาน รวมถึงคำแนะนำในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเพื่อชมงาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงงานศิลปะได้ยิ่งขึ้น
126.เปลี่ยนศาลาว่าการและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์
-เปลี่ยนศาลาว่าการ 1 เสาชิงช้า ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ที่เล่าเรื่องเมืองกรุงเทพฯ ในทุกมิติ
-จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของศาลาว่าการกรุงเทพฯ เสาชิงช้ารวมถึงลานคนเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ เช่น พื้นที่แสดงความคิดเห็น จัดกิจกรรมการประชุม การหารือสร้างสรรค์นวัตกรรมเมือง การแสดงศิลปะ การแสดงดนตรี ฯลฯ เป็นต้น
127.แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพฯ
ทำแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ ecosystem ของงานศิลปวัฒนธรรมครบวงจร ประกอบไปด้วย
1. แผนที่ออนไลน์ที่รวบรวม
1.1 แหล่งวัตถุดิบ
1.2 แหล่งผลิต (สตูดิโอ) ทั้งระดับอุตสาหกรรมและระดับปัจเจกบุคคล
1.3 สถานที่จัดแสดงผลงาน (รวมถึงงานจากนโยบาย ‘จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง ทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ’ และ นโยบาย ‘กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง (สตรีทโชว์)’)
2. ปักหมุดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่รัฐ-เอกชนให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ รวบรวมพื้นที่สาธารณะทางศิลปะทั้งของ กทม.และที่ประสานมาจากเอกชน พัฒนาขึ้นเป็นฟังชัน BKK space catalog และเปิดให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างอิสระเสรีบนพื้นฐานของประชาธิปไตย และเคารพความเห็นต่าง
3. ปฏิทินศิลปะกรุงเทพฯ รวบรวมทุกความเคลื่อนไหวและเปิดโอกาสให้เครือข่ายและผู้คนในวงการ สามารถลงตารางในปฏิทินได้
4. ประชาสัมพันธ์ กทม.มีสื่อนอกบ้านจำนวนมาก อาทิ ศาลารอรถเมล์ รถไฟฟ้า สำนักงาน มากมายที่พร้อมจะเป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ของ กทม.นอกจากนี้จะต้องรวมมือกับเจ้าของงาน และศิลปินเพื่อวางแผนประชาสัมพันธ์ร่วมกัน
128.วิชาศิลปะนอกห้องเรียน ส่งเสริมความคิด ความสร้างสรรค์ ผ่านแนวร่วมศิลปินทั่วกรุง
1.เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างเครือข่ายศิลปินในกรุงเทพ และหอศิลป์กรุงเทพฯ ในการร่วมกันพัฒนาวิชาศิลปะให้กับนักเรียนในสังกัด กทม.
2.ช่วยประสานระหว่างโรงเรียนและผู้จัดงานกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมที่ถูกจัดขึ้นในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะที่จัดขึ้นจากนโยบาย เช่น นโยบาย ‘จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้งทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ’ ‘กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง’ และการจัดแสดงงานศิลปะอื่น ๆ ในพื้นที่ของ กทม.
3.ประสานงานเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการชมศิลปะและวัฒนธรรม ซึมซับศิลปะใกล้ตัว
129.ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok)
นำเอาผลิตภัณฑ์ Bangkok Band ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok) โดยการรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายของหมวดหมู่สินค้าให้ครบถ้วนทุกมิติความสร้างสรรค์
130.พื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์ทั่วกรุง
ขยายพื้นที่สาธารณะอเนกประสงค์ให้กระจายตัวอยู่ทั่วกรุง เพื่อเปิดให้ประชาชนใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง
1. การชุมนุมและการแสดงออกทางความคิด โดยจัดสรรหาพื้นที่ทางเลือกให้ใช้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ น้ำดื่ม และการดูแลเรื่องความปลอดภัย
2. พัฒนาพื้นที่อเนกประสงค์ (Mixed use) เช่น ห้องหรือลานเอนกประสงค์ โดยพื้นที่เหล่านี้เปิดให้ประชาชนใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ
131. งานศิลป์จากหอศิลป์กรุงเทพฯ สู่พื้นที่สาธารณะทั่วกรุง
นำผลงานที่เคยจัดแสดงในหอศิลป์กรุงเทพฯ เดินทางออกมาจัดแสดงต่อ ณ สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ขนาดเล็กทุกเขต และพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในทุกเขต ขยายโอกาสของศิลปินในการจัดแสดงผลงาน และขยายโอกาสของประชาชนในการชมผลงาน และทำให้กรุงเทพฯ กับศิลปะเป็นเนื้อเดียวกัน
132.ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging)
1. ให้ความรู้เกี่ยวกับชมรมผู้สูงอายุและสิทธิประโยชน์ เช่น การเขียนโครงการจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร
2. ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดจัดตั้งชมรมผ่านการจัดเตรียมข้อมูลและงานเอกสาร
3. จัดหาพื้นที่ในการรวมกลุ่มและห้องของชมรม เช่น พื้นที่ในศูนย์บริการสาธารณสุข พื้นที่ในโรงพยาบาล พื้นที่ในสวนสาธารณะ
4. พื้นที่การรวมกลุ่มควรมีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการใช้งาน และมีบรรยากาศผ่อนคลาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในการเข้าสังคม ทำกิจกรรม พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
5. ช่วยประสานจัดหากิจกรรมให้กับชมรม เช่น ประสานหาครูสอนออกกำลังกาย (สามารถประสานครูที่สอนอยู่ในศูนย์กีฬา กทม.)
133. คลังปัญญาผู้สูงอายุ
หางานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้สูงอายุด้วย เช่น การช่วยดูแลเด็กอ่อน-เด็กเล็กแก่คุณแม่มือใหม่ในศูนย์ หรือการเป็นอาสาสมัครดูแลสังคมในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังปัญหาในระดับบ้านและชุมชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพราะและทำกล้าไม้สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในเมือง
134. สายด่วน 1555 รองรับการใช้งานภาษามือ
พัฒนาสายด่วน กทม. 1555 ให้รองการใช้งานภาษามือด้วยเทคโนโลยี เช่น TTRS (Telecommunication relay service)
135.ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ให้สามารถดูแลและฝึกทักษะคนพิการได้
ผลักดันให้โรงเรียนฝึกอาชีพและศูนย์ฝึกอาชีพ ของ กทม.
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐาน Universal Design ให้รองรับทุกคน
- พัฒนาหลักสูตรที่รองรับและเหมาะสมสำหรับคนพิการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้แก่คนพิการอย่างยั่งยืน
136.จัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาประจำชุมชน ประจำเขต
พัฒนาการแข่งขันกีฬาประจำชุมชน ประจำเขต ประจำจังหวัดขึ้น โดยจะเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถรวมกลุ่มกันและเข้าร่วมได้ การแข่งขันจะมีการแบ่งเป็นลีกตามช่วงอายุและประเภทกีฬา เช่น ฟุตซอล มวยไทย วอลเลย์บอล แบดมินตัน บาสเก็ตบอล ว่ายน้ำ เทควันโด ปิงปอง แบดมินตัน ฟุตบอล และ E-Sport โดยการแข่งขันจะถูกจัดขึ้นตามลานกีฬาต้นแบบประจำแขวงต่าง ๆ
137.ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต
1. ออกตรวจตรา ขึ้นทะเบียน ดูแลกำกับกิจการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มเลี้ยง) และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลขึ้นทะเบียนของ กทม.
2. ร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการฟาร์มและร้านจำหน่าย คลินิกสัตวแพทย์เอกชน โรงพยาบาลสัตว์ ในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ต้นทาง
3.สัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวที่มีเจ้าของดูแลในปัจจุบัน กทม.จะดำเนินการทยอยเปิดขึ้นทะเบียน โดยเริ่มจากการเปิดรอบแสดงความจำนงและขึ้นทะเบียนฝังชิป โดยการขึ้นทะเบียน กทม.จะช่วยสนับสนุนและร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ และดำเนินตามนโยบาย รวมถึงการยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนสำหรับสัตว์เลี้ยงเกิดใหม่ในอนาคต
138.จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ
1. จัดชุดออกปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุกอย่างมียุทธศาสตร์
2. เปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชน
3. ปรับปรุงศูนย์พักพิงของ กทม. และกำกับดูแลศูนย์ของเอกชนให้มีมาตรฐาน
4. ส่งสัตว์จรกลับสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt Not Shop)
139.เปิดบ้านอุ่นใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน
เปิดดำเนินการบ้านอุ่นใจอีกครั้งในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยการดำเนินการจะมีลักษณะการบริการที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในรูปแบบการให้บริการเป็นรายการตามความสมัครใจ เช่น บริการห้องน้ำและห้องอาบน้ำ บริการตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษา การสนับสนุนมื้ออาหาร การพักค้างคืนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนการส่งต่อ ส่งกลับภูมิลำเนา หรือการช่วยหางานสร้างรายได้
140.รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้คนไร้บ้าน ผ่านการตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการ
ดำเนินการเชิงรุกในการพิสูจน์ตัวตนและออกเอกสารสิทธิ์แก่คนไร้บ้านที่มีสัญชาติไทยและอยู่ในทะเบียนอยู่เดิม ดำเนินการร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ควบคู่การออกสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลอย่างประจำ เพื่อให้คนไร้บ้านหรือคนจนเมืองกลุ่มเปราะบางที่กลายเป็นคนไร้บ้านสามารถกลับเข้าสู่ระบบหรือใช้ชีวิตแบบปกติได้เร็วที่สุด
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
141.จัดระบบความช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพ
1. ดำเนินการการแจกสิ่งของและกระจายความช่วยเหลือ
2. มีบริการห้องน้ำ ห้องซักผ้า ตรวจสุขภาพ ให้คำปรึกษา มื้ออาหาร ตลอดจนมุมเก็บของ สัมภาระ
3. มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Medical Unit) ดูแลประชาชนถึงหน้างาน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ และ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล คัดกรองโรค4. เพิ่มจำนวน เพิ่มการเข้าถึง เพิ่มคุณภาพห้องน้ำสาธารณะ
5. ทำฐานข้อมูลและประวัติของผู้เข้ารับการช่วยเหลือ (profiling) เพื่อเชื่อมโยงต่อยอดสู่ความช่วยเหลือรูปแบบอื่นในระยะต่อไป เช่น การรักษาพยาบาล และการอบรมฝึกอาชีพ เป็นต้น
142.ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง
ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม มูลนิธิฯ ต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนผู้ประกอบการในการจัดทำฐานข้อมูลและดูแลเรื่องสวัสดิการ ส่งต่อสู่โครงการฝึกอาชีพ การอบรมระยะสั้น และช่วยหางานให้เหมาะกับช่วงอายุและพื้นฐานรายบุคคล เช่น พนักงานดูแลสวนและตัดต้นไม้ พนักงานคัดแยกขยะ พนักงานทำความสะอาด หรือแรงงานก่อสร้างและช่างทั่วไป
143.จัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก (housing stock)
ออกสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกในเมือง (housing stock) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ระเบียบกฎหมายที่ กทม. ดูแลรับผิดชอบ เช่น การดัดแปลงปรับปรุงอาคาร การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การจัดทำแผนที่ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
144. จัดชุดปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานในเมือง
1. จัดชุดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคมฯ ปฏิบัติการออกตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานเมือง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อบูรณาการการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพหรือการค้ามนุษย์ที่กระทำผิดกฎหมาย
2. เปิดรับข้อมูลเรื่องร้องเรียน ผ่านสายด่วนและช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประชาชนสามารถร่วมแจ้งเบาะแสที่พบเห็น เพื่อให้ กทม.ดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
145. สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร
ต้นน้ำ
- แยกขยะต้นทางด้วย 3 ประเภท 1) อินทรีย์ 2) รีไซเคิล 3) ทั่วไป โดยพิจารณาการควบคุมการแยก โดยการให้ถุงหรือถังแยกสี (นอกจากแยกแล้ว ถุง และ ถัง ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณการทิ้งขยะต่อวันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้ชำระค่าบริการกับ กทม. ไว้) รวมถึงสร้างคู่มือการแยกขยะในการประชาสัมพันธ์
- สร้างแรงจูงใจให้กับผู้แยกขยะ โดย คืนปุ๋ยอินทรีย์ให้กับ ประชาชนที่ช่วยแยกขยะ และ เก็บค่าเก็บขยะเฉพาะขยะทั่วไป (อินทรีย์ และ รีไซเคิล ไม่เก็บ
- ร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามหลักการ EPR หรือหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงชีวิตต่าง ๆ ของบรรจุภัณฑ์ [1]
กลางน้ำ
- กำหนดวันในการเก็บขยะ จำแนกรถในการเก็บขยะอินทรีย์เศษอาหาร และขยะทั่วไป
ปลายน้ำ
- เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการจัดการของ กทม. ให้มีความพร้อมในการรับมือกับปริมาณขยะแต่ละประเภทที่จะเกิดขึ้นใน กทม. เช่น เครื่องจักรและระบบในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยครอบคลุมทั้ง 3 ศูนย์ (หนองแขม สายไหม อ่อนนุช) และการเปลี่ยนขยะทั่วไปปนเปื้อนมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน RDF)
- เพิ่มจุดรับทิ้งขยะ จุด Drop-off ขยะ Recycle ที่ประชาชนสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น สะสมแต้มส่วนลด เพื่อใช้ร่วมกับสินค้าหรือบริการของเอกชน
- จัดกระบวนการนำปุ๋ยไปให้กับสวนสาธารณะและเกษตรในเมือง (Urban farming)
146.สภาพแวดล้อมเมืองดี จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง
1. มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงสำรวจและทำความสะอาดจุดทิ้งขยะที่เป็นปัญหา
2. ร้องเรียนขยะตกค้างผ่านฟองดูว์
3.เพิ่มประเภทขยะถังติดเชื้อในจุดทิ้งขยะ
4.จัดทำแผนงานและประชาสัมพันธ์การเก็บขยะชิ้นใหญ่อย่างชัดเจน
147. มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า
เริ่มดำเนินการคัดแยกประเภทขยะอย่างจริงจังในหน่วยงานองค์กร โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ ขยะเศษอาหาร หรือขยะรีไซเคิล ริเริ่มจากหน่วยงานสังกัด กทม.เอง และสถานที่หรือองค์กรที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผู้ใช้งานจำนวนมาก ประกอบด้วย
1. หน่วยงานภายใต้ กทม. สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงเรียน
2. พื้นที่ตลาดภายใต้สำนักงานตลาด และร่วมมือกับพื้นที่เอกชน
3. ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ศูนย์อาหาร (food court)
148.พัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม
ศึกษา ออกแบบวางแผน และทำงานร่วมกับเครือข่ายในการผลักดันให้เกิด BKK Food Bank เพื่อเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนเมือง (food safety) และสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสอดคล้องแนวคิด SDGs
149. รถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน
ออกแบบ ศึกษา และพัฒนาโมเดลรถจัดเก็บขนาดเล็ก ควบคู่กับอุปกรณ์และรถช่วยลากขยะ เพื่อเข้าถึงตรอกซอกซอยและชุมชนริมคลองที่หลายแห่งมีความกว้างเพียงทางเดินเท้า และทางมอเตอร์ไซค์ผ่าน (กว้างน้อยกว่า 1-1.5 เมตร)
150.ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง
-ส่งเสริมและต่อยอดการดำเนินการของโครงการ BMA Home Ward การดูแลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลหลักร่วมกับการดูแลติดตามโดยศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในชุมชนกว่า 2,000 แห่ง
-ส่งเสริมการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ Care Giver (CG) ใน อสส. รวมถึงการอบรม CG ในสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย ผสมผสานการติดตามและดูแลการรักษาจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัย (remote monitoring)
151.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง
สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวความคิดบ้านมั่นคง ผ่านการร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่าง ชุมชน กทม. และภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งมิติการทำงานออกเป็น 3 ขาแห่งความสำเร็จคือ ที่ดิน การออม และการช่วยเหลือของรัฐ
152.ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร
1. ก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารเดิมให้ทันสมัย เพียงพอกับผู้ใช้งาน
2. จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ และวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็น
3. เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เฉพาะทางให้เพียงพอ เช่น ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาล นักกายภาพบำบัด ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา ด้วยการจ้างประจำในกรอบอัตรากำลังและลูกจ้างชั่วคราวหรือ outsourcing
4. เพิ่มหรือปรับเปลี่ยนคลินิกการให้บริการ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมืองและกลุ่มโรคในปัจจุบัน เช่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกจิตวิทยาปรึกษา สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย คลินิกสุภาพสตรีที่ครอบคลุมบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
5. ขยายบริการของคลินิกนอกเวลาราชการ ตามแบบการประเมินและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
6. ปรับปรุงสวัสดิการ ค่าล่วงเวลา ตลอดจนค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับภาระงานในส่วนเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล ข้าราชการ ตลอดจนการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวหรือโครงการตามอัตรากำลังที่ขาดแคลน
7. เพิ่มบริการให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เกี่ยวกับคนพิการ เช่น รถเข็น (Wheel Chair) เครื่องช่วยเดิน ถังออกซิเจน ฯลฯ
153. ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ
ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินการเครื่องมือหรือกลไกของกรุงเทพฯ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้กับคนกรุงเทพฯ
154. หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine
ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย และโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ แม้จะริเริ่มโครงการ telemedicine ผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอ กทม.” ในกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) ที่มีข้อมูลผู้ป่วยอยู่เดิมภายใต้สถานพยาบาลในสังกัดบ้างแล้ว ในระยะยาว กทม.จะพัฒนาให้การให้บริการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลครอบคลุมครบวงจร
155. Mobile Medical Unit รถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน
รถตรวจเชิงรุกชุมชน สุขภาพดีวิถีใหม่ - ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ (อสส.) และยกระดับการเข้าถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สาธารณสุขชุมชน และหน่วยตรวจเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษา
156. เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม
ศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ในการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานและจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่เติบโตในอัตราสูง แต่สถานพยาบาลของรัฐยังไม่ครอบคลุม เช่น ฝั่งกรุงธนเหนือ
157.คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero)
พัฒนาโครงการ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) เพื่อเป็นแบบอย่างการเอาจริงเรื่องโลกร้อนให้กับองค์กรอื่นๆ โดยใช้หลักการคำนวณ ลด ชดเชย (CRO) ดังนี้
‘คำนวณ’ (C–Calculate) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทรัพย์สิน กทม.
- อาคาร เช่น ศาลาว่าการ 2 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต
- ยานพาหนะ เช่น รถเก็บขยะ รถสังเกตการณ์เทศกิจ รวมถึงรถของผู้บริหาร
‘ลด’ (R–Reduce) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย
- ติดตั้งพลังงานทดแทน
- ทาหลังคาสีขาวสำหรับอาคารเพื่อช่วยสะท้อนความร้อน
- ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน
- ผลักดันและสนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV รวมทั้งปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการเดินทางโดยรถสาธารณะ
‘ชดเชย’ (O–Offset) ส่งเสริมโครงการที่เก็บกักหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออยู่ โดย
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือป่าโกงกาง โดยพื้นที่สีเขียว 1 ไร่ ที่มีต้นไม้ประมาณ 200 ต้น สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3 ตันต่อปี หากสำนักงานเขตแห่งหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก 200 ตันต่อปี เท่ากับจะต้องใช้พื้นที่ 67 ไร่ในการช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น
158.สะพานลอยปลอดภัย มั่งคงแข็งแรง
1. สำรวจสภาพสะพานลอยปัจจุบัน
2. ดำเนินการปรับปรุงกายภาพให้มั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย
3. ปรับปรุงบันได ให้ขั้นบันไดไม่ชันเกินไปและกว้างเพียงพอให้ก้าวได้เต็มเท้า
4. ติดตั้งแสงสว่างและ CCTV
5. พิจารณาออกแบบร่องรางให้สามารถจูงจักรยานข้ามได้
6. ติดตั้งลิฟท์รอกไฟฟ้า บริเวณทางข้ามที่ต้องเป็นสะพานลอย
159. ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ผลักดัน Hi-Tech และ Hi-Touch
ตั้งเป้าหมายให้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค โดย แบ่งรูปแบบของการนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาต่อยอดในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ
1. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (Hi-tech) เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ e-sport อุตสาหกรรมการซื้อขายออนไลน์ อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์
2. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกายภาพ (Hi-touch) เช่น สปา-นวดแผนไทย อาหาร สตรีทฟู้ด ช้อปปิ้งซื้อ-ขายสินค้า (shopping destination) ตลอดจนการแสดง ศิลปวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
โดย กทม. จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น
- การสนับสนุนบุคลากร ผ่านการส่งเสริมหลักสูตรร่วมกับ สถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนฝึกอาชีพ ศูนย์ฝึกอาชีพ
- การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการคิด ไปจนถึงกระบวนการจัดจำหน่ายตามแนวทางของผลิตภัณฑ์ Made in Bangkok (MIB)
- การปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องให้มีความง่ายและสะดวกขึ้นตามแนวคิด Function Base License
160.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย โดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย
สำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยรูปแบบต่าง ๆ กลุ่มเป้าหมายของความต้องการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น และก้าวเข้ามาสู่ช่วงของการทำงานเป็นครั้งแรก (first jobber) กลุ่มคนวัยทำงานและแรงงาน โดยประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) การเคหะแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนกรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น และมีการติดตามผลของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำไว้
161. ส่งขยะคืนสู่ระบบ
ร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนอยู่เดิม ทั้งภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการสร้างการตระหนักรู้และสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ลดกิจกรรมอีเวนต์และเคมเปญชั่วครั้งคราว สนับสนุนงานเครือข่ายที่มุ่งสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว ประกอบด้วย
1. จุด Drop-off นัดรับขยะรีไซเคิลและขยะกำพร้า- ครอบคลุมทั้ง 50 เขต ร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลาด และ ซูเปอร์มาร์เก็ต
2. ตู้รับคืนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จุดรับซื้อหรือสะสมแต้ม - สามารถเปลี่ยนเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือค่าบริการในภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ
3. ธนาคารขยะชุมชน สถานศึกษา และตลาดนัดขยะรีไซเคิล - ผลักดันโมเดลธนาคารขยะ รวมถึงโครงการความร่วมมือในการดูแลผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าหรือซาเล้งในเมือง จัดการอบรม ออกแบบระบบบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ เปิดพื้นที่กิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงบริษัทผู้ผลิตที่ทำ EPR (extended producer responsibility) มาช่วยสร้างแรงจูงใจหรือสนับสนุนการขนส่ง เพื่อให้เกิดวงจรการจัดการในระยะยาวอย่างยั่งยืน
162.เพิ่มสวัสดิการพนักงานเก็บและขนขยะ
ดำเนินการพิจารณาและดูแลสวัสดิการพนักงานเก็บ/ขนและลากจูงขยะให้เหมาะสมกับภาระงาน ด้วยวิธีการทบทวนและแก้ไขระเบียบค่าตอบแทน และระเบียบ กทม. ว่าด้วยค่าตอบแทนแก่บุคคลภายนอกที่ช่วยปฏิบัติงานด้านงานบริการสาธารณะ พ.ศ.2541 ประกอบไปด้วย
1. อุปกรณ์ป้องกัน ตรงการใช้งาน - ชุดปฏิบัติหน้าที่ ผ้าคลุมป้องกัน หน้ากากอนามัย ถุงมือ เข่งขยะที่แข็งแรงทนทาน และรถเข็นเคลื่อนย้ายลากจูงขยะ
2. ค่าตอบแทนและสวัสดิการ - ค่าตอบแทนเงินเดือน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ
163.ห้องพักชั่วคราวนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ (housing incubator)
สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว (housing incubator) สำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ช่วงอายุ 18-25 ปี หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้นและก้าวเข้ามาสู่ช่วงของการทำงานเป็นครั้งแรก (first jobber) เพื่อให้เช่าในราคาต่ำ 2,000 - 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถตั้งตัวและเก็บเงินก้อนแรกได้
164.กำหนดหน้าที่ และเป้าหมายของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและระดับจังหวัด
165.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับเขต
1. สำนักงานเขตต้องจัดการให้มีการศึกษาและวิเคราะห์ 5 ภัยพิบัติความเสี่ยงสูงในระดับย่าน เช่น อัคคีภัย อาคารและโครงสร้างถล่ม ฯลฯ
2. สำนักงานเขตต้องจัดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สอดคล้องกับแผนภัยพิบัติ 5 ด้านที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
3. สำนักงานเขตต้องมีการกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหน้าที่สนับสนุนด้านปฏิบัติการ อำนวยการ บริหารจัดการ การเงินและธุรการ
166.ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที
ทบทวนศึกษา เตรียมแผนรับมือ และจัดสรรงบประมาณเร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักกว่า 48 จุด (ข้อมูลปี 2565) ระยะสั้นลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมระบบระบายน้ำชั่วคราว ระหว่างปรับปรุง-ก่อสร้างระบบถาวรในระยะยาว
167.แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต
หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บ้างก็เป็นพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยเก่าที่สร้างมานานอยู่ต่ำกว่าระดับถนนสายหลักหรือรองที่ยกขึ้นสูง ทำให้ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูมรสุมที่มีปริมาณค่าเฉลี่ยน้ำฝนสูงจากฝนตกหนักและรุนแรงเฉียบพลัน
กทม.จะดำเนินการในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน หรือถนน ตรอกซอกซอย ที่ประสบปัญหาพื้นที่ต่ำ แอ่งกระทะ ด้วยวิธีการยกระดับถนน หรือเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ
168.ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม.
จัดสรรงบประมาณ ให้ความสำคัญกับการระบายน้ำในระดับเส้นเลือดฝอย และตั้งเป้าให้มีการลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำไม่น้อยกว่า 3,000 กม.ต่อปี หรือประมาณร้อยละ 50 จากระยะเส้นทางทั้งหมด (ระยะทางกว่า 6,564 กม.) โดยมีเป้าหมายเพื่อการเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเส้นเลือดฝอยกับเส้นเลือดใหญ่ หรือโครงการขนาดใหญ่ของเมือง เช่น คลองสายหลัก และอุโมงค์ยักษ์ เป็นต้น
169.กวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างจริงจัง
บังคับใช้กฎหมายการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำและการลักลอบปล่อยน้ำเสียอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจเชิงรุก เพิ่มรอบการเก็บขยะริมคลองทั้งทางเรือและทางรถในพื้นที่ที่เกิดปัญหาซ้ำซากหรือจุดที่มีประชาชนร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น กล้อง CCTV ที่มีการติดตั้งอยู่เดิม
170.ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (onsite treatment)
ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวของ ภาคเอกชน และภาควิชาการที่เชี่ยวชาญ ตลอดจนภาคประชาสังคมในการผลักดันโครงการติดตั้งระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (onsite) ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็ก 10-50 หลังคาเรือน โดยในระยะแรกมุ่งเน้นชุมชนริมคลองเป็นสำคัญ
171.มุ่งเป้าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง
ดำเนินการเชิงรุกในการนำร่องปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียในตลาดให้มีความทันสมัยเป็นไปตามค่ามาตรฐาน ด้วยการบำบัด 2 ขั้นตอนรูปแบบ onsite treatment ก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำและท่อระบายน้ำสาธารณะ ในระยะกลางและระยะยาวจะออกแบบกลไกและความร่วมมือให้เกิดการดำเนินการในพื้นที่ตลาดของเอกชน
172.เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันฤดู
1.ให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการขุดลอกคูคลองหลัก คลองสายย่อย ลำราง ลำกระโดง และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ทั้งในส่วนความรับผิดชอบของ สนน. และสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง
2. เสริมประสิทธิภาพโครงข่ายระบบระบายน้ำใน 10 คลองสายหลัก ด้วยวิธีการ 1) ดูแลรักษา กำจัดวัชพืซผักตบหรือสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดทางน้ำไหล และ 2) กดระดับขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
173.ถอดบทเรียนโควิด-19 ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง
กทม.ทั้งในส่วนผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการส่วนหน้า ต้องมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การรับฟังข้อเสนอแนะ ตลอดจนการถอดบทเรียน เพื่อออกแบบ วางแผน จัดทำฐานข้อมูลแบบบูรณาการที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนเตรียมงบประมาณ หรือทรัพยากรที่เหมาะสม เพื่อเตรียมการรับมือรองรับเหตุการณ์วิกฤตหรือสาธารณภัยอื่นๆ ในอนาคต
174.ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ
1.ผลักดันและกระจายอำนาจด้านการดูแลรักษาสุขภาพในตัวบุคคลและชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านการเปิดโอกาสให้จัดทำและเสนอโครงการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (health promotion) และการป้องกันโรค (disease prevention) มากยิ่งขึ้น ด้วยกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ทั้งระดับเมืองและระดับเขต
2.เปิดพื้นที่ให้ประชาชน ชมรม หรือองค์กร สามารถจัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การป้องกันโควิด-19 การป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในชุมชน การประเมินและสังเกตอาการในกลุ่มผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มอบรมให้ความรู้ด้านโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อม หรือปรับปรุงให้ชุมชนมีพื้นที่สุขภาวะดี
175.การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการข้อมูล
1.นำร่องจากการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลหลักภายใต้สังกัด กทม. และเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกับสถานพยาบาลปฐมภูมิประเภทศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุงเทพฯ
2.ส่งเสริมและลงทุนการใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูล ผ่านการกำหนดมาตรฐานชุดข้อมูล (data standard set) เพื่อการบริการข้อมูลผู้ป่วย การรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน (Emergency Medical Services: EMS) และการส่งตัวต้องไร้รอยต่อ (e-Refer)
3.อนาคตจะมีการผลักดันสู่การสร้างระบบข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Record: EHR) รวมถึงการบูรณาการการจัดการระหว่างกันของสถานพยาบาล ทั้งเรื่องการบริหารจัดการเตียง (Load Capacity) และการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เฉพาะทางขั้นสูงที่มีจำนวนจำกัด เป้าหมายเพื่อดูแลรักษา ป้องกันการสูญเสียและเจ็บป่วยรุนแรงในประชาชนชาวกรุงเทพฯ
176.เพิ่มจำนวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง
ผลักดันการเพิ่มจำนวนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ให้ครอบคลุมกลุ่มโรคคนเมืองยุคใหม่ ตลอดจนครอบคลุมพื้นที่บริการให้ครบทั้ง 6 กลุ่มเขตทั่วกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลอื่น ๆ ภายใต้สังกัด นอกจากนี้ต้องมีการบูรณาการทางวิชาการและงานวิจัย ผลักดัน ตลอดจนส่งเสริมให้หน่วยงานศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine Center) คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่อยู่ภายใต้สังกัด กทม.เป็นศูนย์วิจัยการรักษาที่มีความเป็นเลิศทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
177.เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ
จัดหาพื้นที่เอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างบึงและทะเลสาบ เช่น บึงฝรั่งและสวนสาธารณะ กทม. ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำฝนส่วนเกิน ช่วยหน่วงน้ำในช่วงฤดูมรสุมหรือฝนตกหนักเฉียบพลัน ตลอดจนทำหน้าที่สนับสนุนระบบระบายน้ำทั้งโครงข่ายให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบการทำงานคือ เป็นจุดพักน้ำและผ่องถ่ายน้ำในแก้มลิงที่เก็บกักออกจากพื้นที่หลังจากฝนหยุดตก ลดเหตุการณ์น้ำท่วมขังหรือรอการระบายหลายชั่วโมงในเส้นทางสัญจรและพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน
178.ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก
ปรับปรุงแก้ไข และก่อสร้างอุดเขื่อนฟันหลอ เพื่อเสริมระบบป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา (เขื่อนป้องกันน้ำท่วม) และแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลอง
179.ทบทวนแผนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน
ทบทวนแผนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้ครอบคลุมในประเด็นเชิงสิ่งปลูกสร้าง (แนวกันคลื่น แนวปักไม้ไผ่) และในประเด็นการฟื้นฟูนิเวศวิทยา (การฟื้นฟูป่าชายเลนชายฝั่ง) รวมถึงจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณ เพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
180.BKK Trail เส้นทางวิ่งดี ออกกำลังกายดี = เดินได้ดี
พัฒนา Bangkok Trail (BKK Trail) เพื่อสร้างเส้นทางวิ่ง เส้นทางออกกำลังกาย และเส้นทางท่องเที่ยวที่ใหม่ ๆ ในพื้นที่โดยมีโครงสร้าง เช่น
1. รวบรวมเส้นทางวิ่ง Trail ที่มีนักวิ่งใช้งานอยู่
2. สร้างจุดเด่นของเส้นทางด้วย การดึงจุดเด่นของพื้นที่ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนมาวิ่ง เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ และเรื่องราวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
3. ปรับโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เหมาะสมสำหรับการเดินวิ่ง
- ทางเท้า เรียบ โล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง
- เพิ่มเติมแสงสว่าง เพื่อความปลอดภัย
- จุดดื่มน้ำ
- ห้องน้ำสาธารณะ
- พื้นที่ค้าขาย
4. ประชาสัมพันธ์เส้นทาง BKK Trail พร้อมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ท่องเที่ยว
- ติดตั้งแผนที่เส้นทางวิ่งในเส้นทาง
- จัดทำแผนที่เส้นทาง BKK Trail ออนไลน์
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
181.พัฒนาโอกาสและศักยภาพในตลาด กทม.
1.ขยายเวลาในการเปิดปิดตลาดต่าง ๆ หรือแบ่งการเปิดตลาดออกเป็นช่วง ๆ และเปิดพื้นที่ว่างให้ค้าขายได้เพิ่มเติม
2.ปรับรูปแบบการค้าของแผงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคภายในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ผ่านการจับคู่ผู้ค้าและผู้ซื้อโดยตรง
3. ลดค่าเช่าแผงค้าภายในตลาด ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ (ถ้ามี) ในระยะยาว จนกว่าสภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
182.ใบอนุญาตตามประเภทกิจกรรม Function-based License
ศึกษาการพัฒนารูปแบบการขออนุญาตตามประเภทของกิจกรรมของประชาชน เช่น การจัดกิจกรรมกลางแจ้ง (กิจกรรมที่ใช้เสียงและต้องรวมตัวกันของประชาชน) โดยการขออนุญาตในรูปแบบนี้จะมีลักษณะเบื้องต้นดังนี้
1. กทม.จะให้ประชาชนดำเนินการประสานงานกับ กทม.เพียงครั้งเดียว จากนั้น กทม.จะประสานงานขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้
2. กทม.จะช่วยประสานงานกับภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประสานงานกับตำรวจนครบาลเกี่ยวกับใบอนุญาตให้ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง การประสานงานกับกรมสรรพสามิตในการส่งต่อข้อมูลการขออนุญาต
3. กทม. จะช่วยให้คำแนะนำและข้อมูลการติดต่อกับสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ เช่น ลานจอดรถเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง
183.เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ
กทม.จะเป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือขอข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางจากกระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ กทม.จะร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลการเดินทาง
184.น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง
ทบทวนการรื้อถอนตู้กดน้ำทั้งหมดประมาณ 387 จุด
185.สร้างลิฟต์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2 ฝั่งถนนครบทุกสถานี
ดำเนินการประสานความร่วมมือกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อให้ดำเนินการสร้างลิฟต์ใน 6 สถานีที่ไม่มีทั้ง 2 ฝั่งให้แล้วเสร็จ
6 สถานีประกอบด้วย ท่าพระ (ทางออก 2) ลาดพร้าว (ทางออก 1, 2 ) รัชดาภิเษก (ทางออก 1, 2) สุทธิสาร (ทางออก 2, 3 ) หัวยขวาง (ทางออก 3, 4 ) และศูนย์วัฒนธรรมฯ (ทางออก 3, 4 )
186.กำกับดูแลและเร่งคืนผิวจราจรการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อการจราจรที่คล่องตัว
1. ทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจจราจร รฟม. และผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด
2. เข้มงวดเอาจริงเอาจังในการจัดการจราจร จัดรูปแบบปิดเส้นทางการจราจรใหม่ให้การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
3. เปิดสัญญาก่อสร้างและหนังสือขออนุญาตดำเนินการด้านสาธารณูปโภคในเขตทางสาธารณะของโครงการที่ดำเนินการอยู่ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา ทั้งการจัดการจราจร จัดการความปลอดภัย การป้องกันการก่อมลพิษ มาตรฐานการคืนผิวจราจรและพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ เพื่อให้การก่อสร้างส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
4. เปิดแผนการปิดเบี่ยงจราจร และแจ้งให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยจัดแจ้งในหลากหลายรูปแบบและหลายหลากช่องทาง เพื่อการรับรู้เป็นวงกว้าง เข้าถึงทุกกลุ่มคน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจเดินทาง รวมทั้งจัดการจราจรบริเวณที่ก่อสร้างให้มีกระแสจราจรคล่องตัวที่สุด
5. อำนวยความสะดวก จัดการพื้นที่ก่อสร้าง และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนด้วยเทศกิจจราจร
6. เร่งคืนพื้นที่ถนนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน
7. เร่งคืนทางเท้าให้ประชาชนเดิน และดูแลทางเท้า ทางข้าม และให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน
8. เข้มงวดกับสภาพผิวทางที่รับคืนจากผู้รับเหมา จะต้องดีดังเดิม
187.ปรับเงื่อนไขทุนเอราวัณ เพิ่มโอกาสสร้างครู กทม.
สำรวจและทบทวนวิชาที่โรงเรียนในสังกัด กทม.ขาดบุคลากร และกำหนดสาขาการศึกษาที่ขาดเปิดรับทุนให้สอดคล้องกับสาขาวิชานั้น ๆ และหากมีผู้รับทุนไม่ครบเป้าหมาย 100 ทุนในแต่ละปี จะขยายกลุ่มเป้าหมายในการรับทุน โดยอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนไม่จำกัดสังกัดสมัครขอรับทุนได้ หรือพิจารณาให้ทุนที่เหลือกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน
188.ส่งเสริมการออมและเข้าถึงแหล่งเงินทุนตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับชุมชน
ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการออมและเข้าถึงแหล่งเงินทุนตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับชุมชน
- อบรมเรื่องการออมและความรู้ทางการเงินเบื้องต้น
- รวบรวมช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ให้กับชุมชน
- สร้างเครือข่ายชุมชน เชื่อมโยงชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านการออมกับชุมชนอื่น ๆ
189.พิจารณาเพิ่มศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพิ่มกิจกรรมให้คนกรุงเทพฯ
กทม.จะพิจารณาขนาด พื้นที่และความเหมาะสมของสวนที่ยังไม่มีศูนย์สร้างสุขทุกวัย แล้วจึงค่อยดำเนินการเพิ่มศูนย์สร้างสุขทุกวัยในสวนสาธารณะหลักที่เหมาะสม ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างอาคารสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อม และออกแบบกิจกรรมที่ทุกคนสามารถมาทำร่วมกันได้นอกบ้าน
โดยลักษณะกิจกรรม การใช้พื้นที่ หรือการสร้างอาคารให้เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละสวนสาธารณะและต้องตอบสนองพฤติกรรมประชาชนในย่าน โดยสามารถรองรับการเข้ามาใช้งานของผู้คนหลากหลายประเภท ส่งเสริมให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน ระหว่างกัน
190.เซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ
เริ่มติดตั้งระบบควบคุม SCADA เพื่อส่งคำสั่งเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำผ่านการบูรณาการข้อมูลและประเมินจากเซนเซอร์ระดับน้ำที่ติดตั้งอยู่เดิม เพื่อลดการพึ่งพาการสั่งการจากคน โดยจะทยอยเปลี่ยนและริเริ่มในสถานีสูบน้ำทั้ง 191 สถานี และบ่อสูบน้ำทั้ง 306 แห่งก่อน
191.ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ประเมินประสิทธิภาพตลอดจนความคุ้มค่าของโครงการอุโมงค์ระบายน้ำที่ดำเนินการอยู่เดิม และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตลอดจนทบทวนการออกแบบและผลักดันโครงการในอนาคตถึงความเหมาะสมและความสามารถที่จะรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ของกทม.
192.ทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวม และ เชื่อมต่อท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม
ทบทวนศึกษาถึงตำแหน่งที่ตั้ง และความเหมาะสมของโครงการ ขนาดความจุหรือประสิทธิภาพการบำบัด เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาของเมือง ที่อยู่อาศัย ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกรุงเทพหานครในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาวะของเมืองและประชาชน
นอกจากนี้พื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสีย และท่อรวบรวมน้ำเสียอยู่แล้วต้องมีการเชื่อมต่อการรับน้ำเสียจากครัวเรือนและสถานประกอบการเข้าสู่ระบบให้สมบูรณ์ โรงบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการอยู่แล้ว ประกอบด้วย ดินแดง สี่พระยา หนองแขม ทุ่งครุ ช่องนนทรี จตุจักร บางซื่อ และรัตนโกสินทร์ (เขตพระนคร)
193.แจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าแม่นยำ
พัฒนาช่องทางแจ้งเตือนฝนให้กับประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสาร อาทิ การแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย เช่น APP BKK CONNECT ที่มีอยู่เดิมของกทม.
นอกจากนี้จะทำงานร่วมกับเครือข่ายช่องทางการสื่อสาร อาทิ สถานีข่าวโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หรือแม้กระทั้งช่องวิทยุของกรุงเทพมหานครเอง ที่สำนักประชาสัมพันธ์ดูแล (ต้องดำเนินการเปลี่ยนช่องสัญญาณจากระบบ AM เป็น FM) การแสดงผลผ่านป้ายจราจรอัจฉริยะ
โดยข้อมูลที่ส่งออกให้ประชาชนรับรู้จะเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่บริหารจัดการจากศูนย์สั่งการ ที่มีผู้ว่าฯกทม. ผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ เป็นผู้บริหารจัดการพร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตลอด 24 ชม.
194.ห้องน้ำสาธารณะที่ดีในพื้นที่สาธารณะ
1. เพิ่มปริมาณห้องน้ำให้ครอบคลุม
2. เพิ่มการเข้าถึงห้องน้ำให้ประชาชนมีอิสระในการเข้าห้องน้ำ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากพนักงาน โดยเฉพาะบนสถานีรถไฟฟ้า นอกจากนั้น กทม. จะปรับให้ห้องน้ำสาธารณะทุกห้องที่อยู่ในการดูแลของ กทม. สามารถเข้าใช้ได้ฟรีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย
3. เพิ่มคุณภาพห้องน้ำ กทม.จะจัดสรรพนักงานเข้าดูแลความสะอาดห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับตรวจสอบอุปกรณ์ภายในห้องน้ำให้มีพร้อมใช้งาน และเพียงพอกับความต้องการ เช่น สายชำระ กระดาษชำระ สบู่ล้างมือ
4. มีห้องน้ำคนพิการรองรับ และมีปุ่มฉุกเฉินสำหรับแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุ
5. ปักหมุดแผนที่ห้องน้ำสาธารณะ กทม.ลง Google Map เพื่อให้ประชาชนทราบได้ว่า กรุงเทพฯ มีห้องน้ำสาธารณะที่ใดบ้างและยังสามารถให้คะแนนห้องน้ำผ่าน Google Map ได้เลย โดยเจ้าหน้าที่จะคอยติดตามการให้คะแนนอยู่เสมอและพัฒนาห้องน้ำให้พร้อมใช้งาน สะอาดอยู่เสมอ
195.ตัดถนนย่อยตามผังเมือง เพิ่มความคล่องตัวของรถและโอกาสในการมีรถเมล์สายรอง
ดำเนินการพัฒนาถนนทั้งการขยายและตัดเพิ่มให้สอดคล้องกับแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายกฎกระทรวงให้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มดำเนินการกับถนนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดและดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อให้การคมนาคมของเมืองมีความคล่องตัว ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง ทั้งถนนหนทางที่เพิ่มโครงข่ายขึ้นและโอกาสที่จะพัฒนารถเมล์สายรองเข้าสู่พื้นที่ที่ยังขาดเพิ่มเติม
196.พัฒนาป้ายท่องเที่ยวทั่วกรุงเทพฯ ขนาดเหมาะสม ข้อมูลถูกต้อง
ปรับปรุงป้ายท่องเที่ยวให้มีความชัดเจน ถูกต้อง เข้าใจง่าย เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ให้ทุกสถานที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
197.นำร่องผ้าอนามัยฟรี
นำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. โดยจะจัดจุดจัดวางในห้องน้ำของโรงเรียนหรือไว้ที่ห้องพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกและสอดคล้องกับความจำเป็น
198.นำร่องสร้างห้องปั๊มนม-ให้นมในสถานที่ของกทม.
จัดสรรห้องให้นม-ปั๊มนมลูกในสำนักงานและอาคารสถานที่ของกทม. โดยเป็นห้องแยกที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าแม่จะสามารถปั๊มนมหรือให้นมลูกได้อย่างมีคุณภาพ และจะรณรงค์ให้ภาคเอกชนดำเนินการควบคู่ไปด้วย
199.วิชาชีพเลือกเสรีสำหรับนักเรียน
พัฒนาหลักสูตรวิชาชีพเลือกเสรีให้กับนักเรียนระดับมัธยมใน กทม.โดยพัฒนาวิชาเลือกร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สถาบันอุดมศึกษา สถาบันอาชีวะ โรงเรียนฝึกอาชีพ / ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. และองค์กรเอกชนต่าง ๆ
วิชาที่ควรขยายผลเบื้องต้น เช่น
1. วิชาการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) – พัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่การผลิต การจัดการสินค้าและบริการ การขาย การตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษี
2. วิชาการเงินส่วนบุคคลและบัญชีครัวเรือน – ให้ความรู้เกี่ยวความรู้ความเข้าใจทางการเงิน เช่น การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การวางแผนทางการเงินในวัยต่าง ๆ การออมและการลงทุนการสร้างอิสรภาพทางการเงินของตนเองและครอบครัว เช่น
3. สอนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ การประกันชีวิต การลงทุนประเภทต่าง ๆ
4. วิชาชีพอุตสาหกรรม (ช่าง) - สอนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานในการเป็นประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
5. วิชาคหกรรม เช่น การทำอาหาร งานประดิษฐ์ งานฝีมือ งานบริการต่าง ๆ เช่นการทำอาหารไทย อาหารต่างชาติ การอบขนม เป็นต้น
- กำหนดให้วิชาเหล่านี้เป็นวิชาเลือกให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยที่การเรียนวิชาเหล่านี้จะถูกนำไปคิดเกรดของนักเรียนด้วย (โดยจะเน้นพัฒนาที่ระดับชั้นมัธยมปลายก่อนแล้วจึงขยายไปยังมัธยมต้นในวิชาที่เหมาะสม)
- ปรับเพิ่ม – ลดรายวิชาเลือกเพิ่มเติมตามความสนใจของนักเรียนในแต่ละปีเพื่อให้หลักสูตรมีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานอยู่เสมอ
200.หลักสูตรการเรียนรวม คือการศึกษาสำหรับทุกคน
1.พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของเด็กนักเรียน หรือที่เรียกว่าการเรียนรวม (Inclusion)
2.เพิ่มทรัพยากร เพิ่มบุคลากรในโครงการจัดการศึกษาพิเศษ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูล่าม เป็นต้น
3.เพิ่มองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการดูแลเด็กพิเศษให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกแปลกแยก
5.ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงการยอมรับความช่วยเหลือและการรักษาที่ถูกต้อง
6.สนับสนุนเครือข่ายของผู้ปกครองเด็กพิการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความช่วยเหลือ และประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตร
นอกเหนือจากบทบาทของการเรียนในโรงเรียนแล้ว กทม.จะนำร่องประสานกับโรงพยาบาล สังกัด กทม.ในแต่ละกลุ่มเขตเพื่อเชื่อมต่อการทำงานให้ครบวงจร โดยเมื่อเด็กเข้ารับการรักษา ในช่วงปฐมวัยก่อนเข้าโรงเรียนในโรงพยาบาลสังกัดกทม. ทางโรงพยาบาลจะประสานกับโรงเรียนของโครงการฯ เพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และดำเนินการรักษาต่อเนื่องควบคู่กับการเรียนรู้ ให้เป็นความร่วมมือระหว่างบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน
201.กทม.สร้างแนวทางรับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้านและคอนโดเก่า
1. สำรวจและรวบรวมรายชื่อ พร้อมทั้งประสานผู้แทนเพื่อรวบรวมปัญหา
2. ดำเนินการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ การเช่า และการประกาศเพื่อให้สามารถเข้าไปดำเนินการได้ตามกฎหมาย
3. ดำเนินการดูแลปัจจัยพื้นฐานของการอยู่อาศัย เช่น ไฟสว่าง น้ำไหล ถนนสะดวก ระบายน้ำดี ทั้งน้ำท่วมและน้ำเสีย เก็บขยะ ตามความต้องการเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน
202.สนับสนุนศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ
- ด้านบุคลากร: ผสานความร่วมมือกับองค์กรอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ ในการจัดหาบุคลากรที่สมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติในย่านที่มี IBC ตั้งอยู่
- ด้านเทคโนโลยี: ร่วมมือกับบริษัทเอกชนและผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการยกระดับขีดความสามารถของระบบอินเตอร์เน็ตในย่านที่มีมีความต้องการให้สามารถสอดรับการรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เช่น ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเทคโนโลยี 5G
- ด้านการบริการและการติดต่อราชการ: มอบหมายให้ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการคลังและการลงทุนกรุงเทพมหานครเป็นตัวแทนในการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเหล่านี้ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐโดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ กทม.
- ด้านการโปรโมทและสร้างการรับรู้: ร่วมมือกับสถานทูตและหอการต่างประเทศเพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ของเมืองให้กับบริษัทต่างชาติได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิทธิประโยชน์ข้อดีของกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับเมืองอื่น (ค่าครองชีพที่ต่ำกว่า สิทธิประโยชน์ที่มากกว่า) พร้อมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าบริษัทต่างชาติจะสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้อย่างราบรื่นภายใต้การดูแลของ กทม.
203.ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน
กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นผู้ว่าฯ เที่ยงคืนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจกลางคืนผ่านการเป็นพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคกลางคืน และนำมาพัฒนาในมิติต่าง ๆ
204.แจกอาหาร ก้าวผ่านวิกฤต เปิดครัวกลางที่โรงเรียนหรือชุมชนผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชน
ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดครัวกลางชุมชน ให้ครอบคลุมกับความต้องการของทั้ง 6 กลุ่มเขต 50 พื้นที่ โดยเป็นไปตามความสมัครใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ ใช้พื้นที่กลางชุมชน โรงเรียน หรือศาสนสถาน (วัด/มัสยิด/โบสถ์/ศาลเจ้า) ร่วมมือกับภาคเอกชนที่ต้องการส่งสิ่งของช่วยเหลือ
205.เพิ่มเงินสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชนและปรับการให้เป็นรายปี
ปรับรูปแบบการให้เงินจากรายเดือนเป็นรายปีพร้อมกับเพิ่มเงินสนับสนุนโดยแต่ละชุมชนจะสามารถเขียนโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชนที่ 100,000 150,000 และ 200,000 ต่อปีขึ้นกับขนาดของชุมชน
206.ตลาด กทม.ออนไลน์
พัฒนาแพลตฟอร์มตลาด กทม.ออนไลน์ นำร่องรวบรวมสินค้าจากทั้ง 13 ตลาดปัจจุบันและตลาดใหม่ในอนาคตตามนโยบาย ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต ซึ่งมีถึงมากกว่า 20,000 แผงค้าที่จะเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ขณะเดียวกันนโยบายนี้จะส่งเสริมการจ้างงานคนในชุมชนโดยรอบตลาด เพิ่มรายได้ให้วินจักรยานยนต์ และลดการแออัดของตลาดและปัญหาจราจรด้วย
207.สร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor)
-นำร่องพัฒนาย่านจักรยานในพื้นที่ที่มีทางจักรยานเฉพาะที่แยกออกจากระบบถนน ให้ย่านดังกล่าวสามารถใช้จักรยานเดินทางได้โดยทั่ว โดยจะดำเนินการดังนี้
1.จุดตัดระหว่างทางจักรยานและทางรถยนต์ – ปรับปรุงจุดตัดทางจักรยานทั้งหมดให้เป็นทางม้าลาย พิจารณายกระดับเป็นเนินชะลอความเร็วแบบผิวบนแบนราบ (Flat topped speed) เสมอกับทางเท้า ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ปรับปรุงสิ่งขีดขวาง อาทิ ต้นไม้ ป้ายต่าง ๆ ฯลฯ ที่เป็นปัญหาต่อทัศนวิสัยของผู้ขับขี่บนถนนในการสังเกตเห็นจักรยาน ติดตั้งแถบชะลอความเร็วรถยนต์ ป้ายเตือนรถยนต์ที่ชัดเจน ทำสัญลักษณ์บนผิวจราจรแจ้งเตือน และแสงสว่างเพิ่มเติม
2. ทางข้าม - สร้างทางข้ามถนนที่เหมาะสมต่อจักรยานและบริบทพื้นที่ ปรับปรุงสะพานลอยเดิมด้วยการติดตั้งร่องราง ส่วนทางข้ามอื่น ๆ ตรวจสอบปรับปรุงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ทุกคนข้ามได้
3. ผิวทาง - ปรับปรุงผิวทางให้เรียบ อาทิ ฝาท่อน้ำ ร่องรอยต่อถนน ร่องรางตัววีระบายน้ำ หมุดสะท้อนแสง ฯลฯ
4. จุดจอดจักรยาน - จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ โดยการสนับสนุนจาก กทม.
5. เส้นทางจักรยาน – ทุกถนนซอยมีทางปั่น สร้างเส้นทางให้เป็นโครงข่าย เชื่อมโยงกัน
208.เด็กกทม. เล่นน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น
1.จัดให้วิชาว่ายน้ำเป็นหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียนสังกัด กทม.ทุกโรงเรียน โดยให้โรงเรียนที่ไม่มีสระว่ายน้ำจัดการเรียนการสอนว่ายน้ำโดยอาศัยสระและครูของศูนย์กีฬาหรือศูนย์สร้างสุขทุกข์วัย ในช่วงเช้า และเสริมการสอนทักษะการเอาตัวรอดในน้ำให้เด็กใน กทม.ทุกคนเข้าถึงการเรียนว่ายน้ำและว่ายน้ำเป็น โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 15 ปี
2. พิจารณาเพิ่มสระว่ายน้ำใน ศูนย์สร้างสุขทุกวัยใหม่ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ให้สระว่ายน้ำและการสอนว่ายน้ำของ กทม.กระจายตัวทั่วกรุง ประชาชนเข้าถึงการว่ายน้ำได้ง่ายและมากขึ้น
209.ลดฝุ่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการปรับปรุงเครื่องยนต์เก่า
เปิดให้ประชาชนนำรถเข้ารับการตรวจสอบ ปรับปรุง บำรุงรักษา ตามสถานที่ต่อไปนี้
สำหรับรถมอเตอร์ไซค์
- โรงเรียนฝึกอาชีพ ดินแดง 1 ประเวศ หนองจอก หลวงพ่อทวีศักดิ์ ม้วน บำรุงศิลป์ อาทร สังขะวัฒนะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการเปิดสอนวิชาช่างจักรยานยนต์
- กองโรงงานช่างกลของ กทม. ซึ่งปกติมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถยนต์ของ กทม.อยู่แล้ว ให้ช่วยบริการประชาชนในการปรับปรุงรถมอเตอร์ไซค์
สำหรับรถยนต์ดีเซล
- นำเข้ามารับการปรับปรุงเครื่องยนต์ได้ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพฯ หนองจอก และดินแดง 1 ซึ่งเป็น 2 โรงเรียนที่มีวิชางานเครื่องยนต์ดีเซล
210.ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.
ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเฉพาะผู้ประกอบการในชุมชนสามารถเข้าถึงรายได้จากการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.และภาครัฐ (สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากการเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตาม กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ฉบับที่ 2)
211.ปูพรมทำฐานข้อมูลชุมชน เพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานดูแลประชาชน
ทำฐานข้อมูลชุมชนที่อยู่นอกเกณฑ์ชุมชนของ กทม. ในปัจจุบันเพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานให้กับชุมชนดังกล่าวได้แก่ การสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (หากไม่ได้ตามเกณฑ์ กทม. จะช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำเพื่อให้จัดตั้งได้) โครงสร้างพื้นฐานน้ำ ไฟฟ้า ถนน และการช่วยเหลืออื่น ๆ ในสภาวะภัยพิบัติ ให้ประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่เหมาะสมให้กับประชาชนทุกคนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
212.สนับสนุนรถรับส่งคนพิการ
นับสนุนรถบริการให้เพิ่มและหลากหลายขึ้น รวมทั้งเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้พิการกับรถที่รับบริการ ดังนี้
1. ดำเนินโครงการรถตู้รับส่งรถเข็นต่อ และพิจารณาการเพิ่มจำนวนรถให้บริการ และขยายการให้บริการให้ครอบคลุมขึ้น
2. สร้างเครือข่ายแท็กซี่ที่ผ่านการอบรมการให้บริการคนพิการ โดยเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมร่วมกับเครือข่ายผู้พิการ เพื่อเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น
3. ขยายการให้บริการคอลเซ็นเตอร์เรียกรถให้คนพิการครอบคลุมรถทั้ง 2 ประเภท
4. ศูนย์บริการสาธารณสุข มีรถตู้รับส่งให้บริการ โดยเป็นรถตู้ที่รองรับการเดินทางของทุกคน
213.ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ในหน่วยงานของ กทม.
ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกัน โดนจ้างให้เต็มอัตราหรือจ้างให้มากที่สุด ในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างไม่มีการกีดกัน
214.บัตรคนพิการ จุดเดียวจบ ทุก รพ.สังกัด กทม.
ประสานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเพิ่มจุดรับออกบัตรคนพิการแบบ จุดเดียวจบ (One Stop Service) ให้ครบทุกที่โรงพยาบาล กทม.ทั้ง 11 แห่ง สามารถออกใบรับรองความพิการ และทำเรื่องขอออกบัตรได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการเข้าถึงสิทธิและอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในกรุงเทพฯ
ทั้งหมดนี่ เป็น 214 นโยบาย ของ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่ชื่อ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ ส่วนจะทำได้จริงมากแน่แค่ไหน ครบถ้วนหรือไม่ เป็นหน้าที่ประชาชนชาวกทม. ที่จะต้องคอยติดตามตรวจสอบกันต่อไป
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์