"...ที่ดินแปลงนี้ มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทจึงมีขบวนการวิ่งเต้นทุกรูปแบบ และมีการอ้างตัวว่าอยู่ในข้างผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยตัวอย่างในสมัยนี้ ก็มีการอ้างตัวว่าผู้ที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง ผู้บุกรุกเป็น เพื่อนเตรียมทหาร นายกรัฐมนตรี..."
สถานะที่ดินหาดเลพัง-ลายัน จำนวน 178 ไร่ ในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่มีปัญหาการบุกรุกก่อนหน้านี้ ได้รับการยืนยันจากอำเภอถลางเป็นทางการว่า พื้นที่บริเวณนี้ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าปัญหาการบุกรุกหาดเลพัง-ลายัน จำนวน 178 ไร่ ในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึงนายณรงค์ วุ้นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรายงานผลการตรวจสอบกรณีองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ขอสงวนหวงห้ามที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน บริเวณชายหาดเลพัง หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตามนัยมาตรา 20 (4) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 เนื้อที่ประมาณ 198 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่สาธารณสมบัติ ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันอีกครั้ง
อำเภอถลาง ระบุว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่า คดีหมายเลขแดงที่ อ.1190/2558 ระหว่างนายพิทักษ์ บุญพจนสุนทร ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอถลาง ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.477/2553ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ 2 และจังหวัดภูเก็ต ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวม 8-3-56ไร่ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อเนื่องกันมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกประกาศอำเภอถลาง เรื่องที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้าม เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 กับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 แปลง ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริง ตามหนังสือคำสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่6 ธันวาคม 2547 ว่า ที่ดินที่จะขอสงวนเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในเขตประทานบัตรของกลุ่ม บริษัท วิเศษนุกุลกิจ จำกัด จากหลักฐานรายงานไต่สวน เรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกของบริษัท วิเศษนุกุลกิจ จำกัด เลขที่คำขอ44/2506 ลงวันที่ 26มิถุนายน 2506 ระบุว่า ที่ดินรายนี้เป็นที่ราบชายทะเลและทับทะเลอ่าวบางเทา และตามหนังสือของทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515ที่ดินตามคำขอประทานบัตรดังกล่าว ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายทะเล น้ำทะเลขึ้นถึงบางส่วนทำเลไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เนื้อที่ของที่ดินทับที่ดินของผู้ขอเองตลอดแปลง ไม่มีหนังสือสำคัญแต่อย่างใดซึ่งที่ดินประเภทนี้ คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่ถือเป็นที่ว่าง
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประทานบัตรที่2883/10631 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2516 ให้แก่ บริษัท วิเศษนุกุลกิจจำกัด เป็นเวลา 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม2516 และสิ้นอายุวันที่ 11 มีนาคม 2522 เมื่อประทานบัตรสิ้นอายุในปี พ.ศ. 2522 ที่ดินตามประทานบัตรซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่มีหลักฐาน ส.ค.1 หรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จึงกลับคืนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทรกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 1304(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่บุคคลผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองหรือได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด พิพากษาให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่6251/2558 ระหว่าง บริษัท สยามเจ้าพระยาแลนด์ จำกัดโจทก์ จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 2 นายอำเภอถลาง จำเลยที่ 3 สิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โจทก์ฟ้องว่า โจทก็เป็นเจ้าของที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 11837เนื้อที่ 16-1-80 ไร่นายอำเภอถลาง จำเลยที่ 3 ได้ออกประกาศอำเภอถลาง เรื่อง ที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฉบับลงวันที่16 มิถุนายน2546 ทับที่ดินของโจทก์ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้าม เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ยาว2,510 เมตร กว้าง111 ถึง 113 เมตร รวมเนื้อที่ 178 ไร่ ตามประกาศอำเภอถลาง ฉบับลงวันที่ 16มิถุนายน2546 เดิมมีสภาพเป็นทางเกวียน เป็นที่ราบชายทะเล ไม่ได้ทำประโยชน์ เป็นที่รกร้างว่างเปล่า
ต่อมาได้ให้ประทานบัตรแก่บริษัท วิเศษนุกุลกิจ จำกัด ทำเหมืองแร่ดีบุก หลังจากนั้น ก็ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดิน ขณะเกิดเหตุมีที่ราบงอกเพิ่มขึ้นกว้างถึง111 ถึง 113เมตร โจทก์ไม่ได้สิทธิในที่งอกตังกล่าว เพราะเป็นที่งอกจากที่ดินรกร้างว่างเปล่า หาใช่งอกจากที่ดินของโจทก็ไม่ ดังนั้น ที่ดินพิพากษาจึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304
1.) โจทก์จึงไม่อาจดำเนินการขอออก นส.3ก หรือขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทได้ พิพากษาให้ยกฟ้องคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ศาลได้มีคำวินิจฉัย รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติสอดคล้องกันว่า ที่ดินตามประกาศอำเภอถลาง เรื่องที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2556 เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1)
2.) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5537-4543/2560 สิ่งที่ส่งมาด้วย 3 โจทก์ทั้งหก ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินของตนแต่ละแปลงต่อเนื่องกันมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายอำเภอถลางได้ออกประกาศอำเภอถลาง เรื่องที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยรับฟัง
ข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2510 ซึ่งนางสาวรจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ สำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดินเป็นผู้อ่าน แปล และตีความว่าที่ดินพิพาทส่วนใหญ่ปรากฎเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ทางทิศตะวันออกปรากฎเป็นหาดทราย ป่าชายหาดและเหมืองแร่ ทางทิศตะวันตกปรากฏเป็นทะเล ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครอง หรือเป็นที่ดินของรัฐ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเป็นที่ดินของรัฐ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2565 ระหว่างนายประวิตร แช่ตั้นหรือสินเสาวภาคย์ โจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่ 1 กรมที่ดินที่2 จำเลย โจทก์ฟ้องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่224/2523 ให้เพิกถอน น.ส.3 ก เลขที่ 1363 1364 และ 1365 ของโจก์ท โดยมิชอบ กรมที่ดิน จำเลยที่ 2 ให้การว่า ผู้ขอไม่เคยครอบครองที่ดินตามหลักฐาน นส.3 ก ทั้งสามฉบับมาก่อน และไม่ใช่ที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 14ตามที่ผู้ขออ้าง แต่เป็นที่ดินแปลงเดียวกับนายอำเภอถลางออกประกาศ ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 เรื่อง ที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้าม เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เนื้อที่ประมาณ 198 ไร่ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัย รับฟังข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายทางอากาศในปี2510 เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศในปี2557 โดยผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านการอ่าน แปลวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศพบว่าในปี พ.ศ. 2510 บริเวณที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ก ทั้งสามแปลง เดิมเป็นทะเล ต่อมาได้มีที่งอกเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลรวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรเนื้อที่ประมาณ 200ไร่ ที่งอกดังกล่าวรวมทั้งที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ก ทั้งสามแปลงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออก น.ส.3 ก ทั้งสามแปลง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
อัยการ โจทก์ นายณรงค์ อุ่นเสียม ที่ 1 นายสมมิตร สืบสิน ที่ 2 จำเลย สิ่งที่ส่งมาด้วย 5 โจทก์ฟ้องว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 9811/2561ระหว่างพนักงานจำเลยทั้งสองร่วมกันออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 21047 โดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 215 โดยมิชอบเนื่องจากในอดีตที่ดินที่นำมาขอออกโฉนดที่ดินมีสภาพเป็นทะเล เกิดเป็นที่งอกภายหลังอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน และป่ามิได้มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนปี 2498 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 215 กับที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดิน เลขที่ 21047 เป็นที่ดินคนละแปลง โดยจำเลยทั้งสองรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง คดีถึงที่สุด อำเภอถลาง เห็นว่าที่ดินตามประกาศอำเภอถลาง เรื่องที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 นั้น ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 4537-4543/2560 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เป็นที่ดินของรัฐ และคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1189/2565 ก็รับฟังข้อเท็จจริงว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น มิได้มีคำวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงลงไปในรายละเอียดว่าเป็นที่ดินของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใด แตกต่างกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.744/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1190/2558และคำพิพากษาศาลฎีกาที่6251/2558 ในข้อ 2 ศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกา ได้มีคำวินิจฉัยชัดเจนว่าที่ดินตามประกาศของอำเภอถลางดังกล่าว เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1)
อนึ่ง กรณีในส่วนที่เป็นหาดทรายชายทะเลน้ำท่วมถึง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขา ภูเก็ตได้มาระวังชี้แนวเขตในความรับผิดชอบแล้ว ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ ร่วมกันโดยสภาพ ด้านฝั่งตะวันตกของแปลงที่ดินของรัฐ ประเภทรกร้างว่างเปล่า ที่สงวนหวงห้ามเพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แปลงหาดลายัน เนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ ระบุจดทะเล ส่วนด้านทิศตะวันออกจดทางสาธารณประโยชน์ตลอดแนวรังวัดสอบเขต เมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2564, 25 พฤศจิกายน2564 และ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งแนวเขตแยกกันอย่างชัดเจน อำเภอถลางและองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล จึงขอยืนยันให้ดำเนินการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐหรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 20(4) " สงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐ ซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิ ครอบครองเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน " แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยถือปฏิบัติตามระเบียบ คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2529) ว่าด้วยการสงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐเพื่อให้ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประกาศนายอำเภอถลาง เรื่อง ที่สงวนหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 เนื้อที่ประมาณ 178ไร่ ทั้งแปลง ต่อไปจนเสร็จสิ้น
ด้านนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เรื่องที่ดินสาธารณะประโยชน์ชายหาดเลพัง-ลายัน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นที่ดินที่น่าจะเป็นผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต ที่ไม่ใช่ที่อุทยานแห่งชาติที่ป่าไม้ แต่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่คนไทยทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ เป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วโลกสามารถเดินเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้ ได้โดยต้องไม่มีใครกีดขวาง จึงได้สั่งการให้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษภาคพื้นที่ 8 ดำเนินการประสานจัดการให้เป็นสาธารณะเต็มรูปแบบและเกิดความเรียบร้อยโดยเร็ว
“เราเป็นข้าราชการต้องยึดถือว่า ที่ดินสาธารณะต้องมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้วยกัน” นายไตรยฤทธิ์กล่าว
@ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ 8 กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะ ได้เดินทางเพื่อประชุมหารือกับ นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง พันตำรวจเอก จุมพล ธนานุรักษ์ ผกก.สภ.เชิงทะเล นายมาโนช พันธุ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล และนายปวีณ กุมาร บังคับคดีจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้า และรับฟังข้อเท็จจริง กรณี กองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่ 4/2560 มีการบุกรุกหาดเลพัง-ลายัน จำนวน 178 ไร่ ในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และได้ส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนกลับคืนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 23/2562 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
ต่อมาระหว่างการดำเนินการนั้น ได้มีผู้ร้องให้ที่ดินบริเวณดังกล่าว ที่อยู่ในความดูแลของจังหวัดภูเก็ต และ อบต.เชิงทะเล ให้ตกเป็นที่ดินของรัฐ โดยให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่พิพาทดังกล่าว และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ทางด้านเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการให้ตามคำพิพากษาฎีกาและ อบต.เชิงทะเล ร้องให้บังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากพื้นที่พิพาทดังกล่าว แต่มีผู้บุกรุกบางรายยังไม่ปฏิบัติและบางรายแจ้งมีเหตุขัดข้องในการดำเนินการรื้อถอนและไม่ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการตามคำพิพากษาได้ครบถ้วน ประกอบกับการรื้อถอนต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ
ขณะที่ที่ดินแปลงนี้ มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท จึงมีขบวนการวิ่งเต้นทุกรูปแบบ และมีการอ้างตัวว่าอยู่ในข้างผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยตัวอย่างในสมัยนี้ ก็มีการอ้างตัวว่าผู้ที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง ผู้บุกรุกเป็น เพื่อนเตรียมทหาร นายกรัฐมนตรี
ดังนั้น การที่นายอำเภอถลางทำบันทึกรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว จึงเป็นการตอกย้ำว่า พื้นที่ 178 ไร่ เลพัง-ลายัน เป็นพื้นที่สาธารณะ นับเป็นการปิดเกมวิ่งเต้นทุกรูปแบบอย่างเป็นทางการ