“สังคมไทย เข้าใจว่าคุกคามเพศ คือการข่มขืน ทำอนาจารที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่จริงๆ แล้วคุกคามกทางเพศเกิดขึ้นได้ทั้งสายตา วาจา การใช้โซเชียล มีเดียก่อความรำคาญ ฉะนั้นควรมีกฎหมายอาญาที่ทำให้เรื่องการละเมิดคุกคามทางเพศมีความผิดไม่ว่าจะในเชิงนามธรรมหรือรูปรรมก็ตาม หากมีกลไกการเข้าถึงสิทธิก็จะเป็นประโยชน์ในการปกป้องไม่ให้เกิดผู้เสียหายได้..”
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเกิดขึ้น และมีผู้เสียหายจำนวนมากไม่ว่างเว้นจากหน้าสื่อ หลายเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจ บางเหตุการณ์ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจ มีชื่อเสียง เป็นคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย?
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เก็บรวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 333 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน 43.9% ข่าวบังคับค้าประเวณี 11.7% ข่าวพยายามข่มขืน10.2%
สำหรับอายุผู้ถูกกระทำ พบมากที่สุด คือเด็กและเยาวชน11-15 ปี 47.3% รองลงมา อายุ 16-20 ปี 35.7% อายุ 6-10 ปี 4.5% และอายุ 21-25 ปี 4.1%
ผลสำรวจ ยังพบความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อันดับ 1 เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน 45.9% อันดับ 2 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6% อาทิ ครูกระทำกับนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน , เพื่อนร่วมงาน/เพื่อน , คนข้างบ้าน , พระกระทำเด็กที่คุ้นเคยกัน พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง , ลุง-หลาน , พ่อ-ลูก , น้า-หลาน ส่วนอันดับ 3 ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5% และปัจจัยกระตุ้น มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ความต้องการทางเพศ ส่วนพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ขอนแก่น กระบี่ อุดรธานี
ผลสำรวจ ดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิฯ ได้ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปี 2562-2563 พบเข้ารับคำปรึกษาช่วยเหลือ 36 กรณี ส่วนใหญ่ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำอันดับหนึ่ง คือ นักเรียน/นักศึกษา รองลงมา พนักงานของรัฐ/บริษัทเอกชน รับจ้าง
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า จากสถิติที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียหายที่ถูกกระทำไม่ได้ลดลงเลย บางปีคงที แต่บางปีเพิ่มขึ้น และสถิติหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็นเช่นนี้ แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่ผู้เสียหายเป็นเด็กผู้หญิง แต่เด็กผู้ชายก็มี แม้ไม่มากเท่า และที่สำคัญ การล่วงละเมิดมักเกิดในครอบครัวหรือจากคนรู้จักที่คุ้นเคยกันดี
ข้อมูลที่มูลนิธิฯ ได้รวบรวมมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดส่วนใหญ่เป็น เด็กและเยาวชน อยู่ในวัยที่ประสบการณ์น้อย ยังต้องพึ่งพา และอยู่ใต้อำนาจของผู้ใหญ่
หนึ่งในปัจจัยรากเหง้าของปัญหา คือ สังคมปิตาธิปไตยหรือ สังคมชายเป็นใหญ่ คนในสังคมถูกบ่มเพาะมาจากครอบครัว ระบบการศึกษา รวมกระทั่งสื่อต่างๆ ให้เชื่อว่า ผู้ชายเป็นผู้กำหนด และมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง เมื่อมีอารมณ์ทางเพศ ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการได้
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้หญิง ถูกกดทับด้วยมายาคติของสังคม ไม่สามารถแสดงออกเรื่องเพศได้ หากแสดงออกจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี เช่น ผู้หญิงมักจะถูกตีกรอบว่าให้แต่งตัวดีๆ แต่งตัวให้มิดชิด เรียบร้อย อย่าแต่งตัวโป๊หรือเซ็กซี่ และสอนว่า เป็นผู้หญิงต้องระวัง อย่าไปเดินในที่เปลี่ยว อย่าไปกินเหล้า กลับบ้านดึกดื่น ไม่เช่นนั้นจะโดนตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ในขณะที่ผู้ชาย สามารถทำได้ทุกอย่าง เรื่องเพศก็สามารถพูดได้ แสดงออกได้อย่างเต็มที่
การปลูกฝังเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนในสังคม เมื่อผู้ชายมีความต้องการทางเพศ ก็จะใช้อำนาจ ในการข่มขู่และแสดงออกถึงความต้องการ
สังคมปิตาธิไตย เห็นได้ตั้งแต่ในครอบครัว เช่น พ่อ เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือญาติผู้ใหญ่ มีอำนาจในการดูแลครอบครัว ซึ่งลักษณะแบบนี้ ก็จะเอื้อต่อการคุกคาม ฉะนั้นการล่วงละเมิดก็จะทำได้ง่าย และมักจะเกิดในครอบครัวเป็นจุดแรก เพราะเด็กหรือผู้หญิงในครอบครัวอยู่ใต้อำนาจ และไม่มีโอกาสต่อรอง
“แม้กระทั่งละคร เราก็จะเห็นชัด จะมีการแสดงถึงมายาคติแบบผิดๆ สู่สังคม เช่น เมื่อผู้ชายต้องการให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจตนเอง หรือต้องการให้ผู้หญิงรัก ต้องไปฉุดไปปล้ำ และฉากข่มขืนยก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นมายาคติที่เป็นปัญหาในสังคมยังคงดำรงอยู่ และแก้ไม่ได้ สถิติการล่วงละเมิกดก็ยังสูง” นายจะเด็จ กล่าว
อีกหนึ่งปัจจัย คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม สังคมไทยมักสอนให้เด็กเคารพคนมีอำนาจ สอนแบบเหมารวมว่าเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องกตัญญูรู้คุณ ยิ่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ยิ่งต้องเคารพ แต่ไม่สอนให้เด็กรู้จักแยกแยะระหว่างผู้ใหญ่ที่น่าเคารพกับผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิ หรือทำร้ายเด็ก
พอวัฒนธรรมที่กดทับควบคุมเรื่องเพศของเด็กกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันมาเจอกัน ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือโรงเรียน มันก็มีโอกาสที่เด็กจะถูกละเมิดทางเพศได้มาก และเมื่อเกิดเรื่องเด็กก็มักไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกใคร เพราะสิ่งที่เขาเจอมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกสอนมา และคนในสังคมบางกลุ่มจะหันมาประณามเด็กว่าโกหกหรือใจแตก ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ยอมรับให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้โดยปริยาย
การมีอำนาจเหนือกว่านั้น ใช้ได้ 2 ทาง ทั้งการบังคับและการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ แม้ว่าผู้เสียหายจะไม่ได้ยินยอม แต่ก็ถูกบังคับ เช่น หากต้องการเลื่อนขั้น จะต้องมาร่วมหลับนอนด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการข่มขื่น แต่คนในสังคมจะมองว่าผู้เสียหายเป็นผู้สมยอม แต่แท้จริงแล้ว เป็นการถูกใช้อำนาจกดทับ หากไม่สมยอมอาจจะถูกไล่ออกจากงานได้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าที่ปัญหานี้ไม่เคยเปลี่ยน สถิติไม่เคยลดลง เป็นเพราะมายาคติชายเป็นใหญ่และการใช้อำนาจเหนือกว่าเกิดขึ้นทุกที่ทุกจุดในสังคม
นายจะเด็จ กล่าวถึงอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ คือ มายาคติในการกล่าวโทษผู้เสียหาย การตราหน้ากล่าวโทษผู้เสียหายเมื่อเกิดเหตุการคุกคามหรือละเมิด อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ ยังมีทัศนคติว่าการคุกคามทางเพศเกิดจากผู้หญิงหรือผู้เสียหายเป็นต้นเหตุของสาเหตุที่เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากผู้กระทำผิด ส่งผลให้ผู้เสียหายหลายคนที่ถูกคุกคามหรือล่วงละมิดไม่กล้าไปแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือ
หลายกรณีที่เข้ามาหาที่มูลนิธิฯ ผู้เสียหายเปิดเผยว่าเคยแจ้งความไปแล้วเกือบ 7 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งไม่ยอมไปแจ้งความ
นอกจากนี้ จากกรณีล่าสุดของผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศของนักการเมืองท่านหนึ่ง ที่ผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายเกือบ 20 ราย ไม่เข้าไปแจ้งความ เพราะผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่า มีอิทธิพลเหนือกว่าตนเอง กลัวว่าเมื่อเข้าแจ้งความจะมีผลกระทบตามมา เช่น ครอบครัวถูกคุกคาม
ในปัจจุบัน มีการผลักดันบทลงโทษการฉีดยาเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายแก่ผู้กระทำผิดคดีข่มขืนซ้ำ หรือที่เรียกว่า ฉีดไข่ฝ่อ เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ นายจะเด็จ กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นต่อของปัญหาคือมายาคติที่บิดเบี้ยวและผิดในสังคม การแก้ปัญหาการฉีดไข่ฝ่อ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมด แม้ว่าจะอ้างว่าจะใช้สำหรับนักโทษที่กระทำความผิดซ้ำหลายครั้ง เพื่อควบคุมพฤติกรรม แต่หากไม่ได้มีกระบวนการเปลี่ยนความคิดของผู้กระทำผิด การกระทำผิดเช่นนี้ ก็จะเกิดขึ้นในสังคมเรื่อยๆ ต้องมาคอยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการฉีดไข่ฝ่อ และฉีดไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะแลกมากับผู้เสียหายหลายราย
“การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ เปลี่ยนทัศนคติการบ่มเพาะผู้ชาย บ่มเพาะของคนในทุกเพศว่า การใช้อำนาจในการคุกคามหรือข่มขืนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีเท่ากัน ฉะนั้นจะต้องแก้ไขตั้งแต่ในครอบครัว หลักสูตรการศึกษา จนถึงสื่อสารมวลชนในสังคม” นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวเน้นย้ำว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์การคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่สำคัญ คือ ครอบครัวและคนรอบข้างจะต้องเข้าใจ ปกป้อง และช่วยเหลือผู้เสียหาย แม้ว่าผู้กระทำจะเป็นคนในครอบครัวเองก็ตาม อย่ามองว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวผู้เสียหาย เพราะหลายกรณี ผู้กระทำมีบุคลิกที่ดูดี ไม่มีปัญหา แต่ลับหลัง อาจจะมีพฤติกรรมอีกแบบ เพราะเขาคิดว่า ตนมีอำนาจสามารถที่จะปิดปากผู้ถูกกระทำได้ ฉะนั้น จะต้องเชื่อก่อนว่าผู้เสียหายถูกกระทำจริง และพาไปแจ้งความ เพื่อหาหลักฐานในการต่อสู้เรื่องคดี ซึ่งเป็นหลักสำคัญ
สำหรับในกรณีที่ผู้เสียหายไม่กล้าที่จะไปแจ้งความ จำเป็นจะต้องมีการพูดคุยพร้อมทั้งบอกกล่าวถึงเหตุผลของการแจ้งความ ว่า การแจ้งความนั้น จะเป็นการช่วยเหลือและปกป้องเขาจากกฎหมาย ไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ หรือถูกข่มขู่ทำร้ายได้
นายจะเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่า มีกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่เชื่อในกระบวนยุติธรรม ดังนั้น ในอนาคตอาจจะต้องมีกลไก เพื่อเปิดทางสำหรับปกป้องและช่วยเหลือผู้เสียหาย และสามารถเอาผิดผู้กระทำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีหลายส่วนที่ไม่แจ้งความเพราะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและในบางครั้งก็กดทับและต่อว่าผู้เสียหายอีกด้วย
“สังคมและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมีทัศนคติในการโทษผู้เสียหายอยู่ค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้มองว่าตำรวจเป็นปัญหาทั้งประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ เป็นคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ตำรวจเปลี่ยนทัศนคติ ถ้าตำรวจไม่รับแจ้งความโดยอ้างว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ก็ถือว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยในส่วนนี้ประชาชนมีส่วนช่วย ในการที่จะตรวจสอบ” นายจะเด็จ กล่าว
สิ่งที่ต้องแก้ไขในอนาคต ต้องมีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพราะผู้เสียหายผู้หญิงบางรายอาจจะรู้สึกเบาใจ และสะดวกในการพูดคุยด้วยมากกว่า แต่สิ่งสำคัญที่ตำรวจจะต้องมีการปรับค่อนข้างเยอะ คือการปรับทัศนคติของคนที่เป็นพนักงานสอบสวนทั้ง คดีเพศ และคดีความรุนแรงในครอบครัว ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ความผิดของผู้เสียหาย ไม่เช่นนั้นผู้ถูกกระทำก็จะไม่แจ้งความ แต่ทั้งนี้ตนคิดว่า การแจ้งความ เป็นเรื่องสำคัญอยู่ แต่ในกระบวนการอาจจะต้องมีการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
นายจะเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากแก้กระบวนการยุติธรรมแล้ว สิ่งที่จะต้องทำในอนาคต คือ กลไกและกฎระเบียบการป้องกันการคุกคามหรือการละเมิดทางเพศ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังดำเนินการอยู่นั้น จะต้องเร่งทำให้ดีๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีกฎ ก.พ. อยู่แล้ว แต่บทลงโทษไม่ได้รุนแรง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ก็มีจุดอ่อนคือ คณะกรรมการไม่มีคนนอก ฉะนั้นหากมีกฎระเบียบข้อบังคับนี้จะเป็นกฎให้ภาคเอกชนปฏิบัติตาม
“สังคมไทย เข้าใจว่าคุกคามเพศ คือการข่มขืน ทำอนาจารที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่จริงๆ แล้วคุกคามกทางเพศเกิดขึ้นได้ทั้งสายตา วาจา การใช้โซเชียล มีเดียก่อความรำคาญ ฉะนั้นควรมีกฎหมายอาญาที่ทำให้เรื่องการละเมิดคุกคามทางเพศมีความผิดไม่ว่าจะในเชิงนามธรรมหรือรูปรรมก็ตาม หากมีกลไกการเข้าถึงสิทธิก็จะเป็นประโยชน์ในการปกป้องไม่ให้เกิดผู้เสียหายได้ เราคิดว่าเรื่องนี้่ เป็นเรื่องจริงจัง อย่าเสียเวลากับการลงโทษฉีดไข่ฝ่อมาก” นายจะเด็จ กล่าว