ดูชัดๆ! เปิดเอกสารคำสั่ง พฤติกรรมรายการทรัพย์สิน ‘เนย-อภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา’ อดีตคนสนิทสมเด็จพระวันรัต ปปง.ตามยึดอายัดลอตแรก 14 รายการ 92 ล. อะไร ที่ไหน คดียักยอกเงินวัดบวรฯ พร้อมสาขา 2 แห่ง จ.พระนครศรีอยุธยา ตราด
สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคําสั่ง ที่ ย.101 /2565 ลงวันที่ 10 พ.ค.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นายอภิรัตน์ หรือ เนย ชยางกูร ณ อยุธยา อดีตเจ้าหน้าที่บริการโครงการพิเศษสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คนสนิท สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ทรัพย์สิน จำนวน 14 รายการ มูลค่า 92,095,219.44 บาท ซึ่งมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ ในคดียักยอกเงินวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดสาขา ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้ว
ที่มาที่ไป พฤติการณ์แห่งคดี ทรัพย์สินที่ถูกยีดและอายัด 14 รายการ ผู้ครอบครอ ใครบ้าง ?
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ในการยึดอและอายัดทรัพย์สิน มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.21/2323 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2565 เรื่อง รายงานความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการปลอม เอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุดาจารย์ (สมชาย) อภิชโย ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ให้ดําเนินคดี กับนายอภิรัตน์ ขยางกูร ณ อยุธยา ผู้ต้องหา ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และฉ้อโกง ซึ่งนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา เป็นลูกศิษย์คนใกล้ชิดและไว้วางใจของสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร อาศัยโอกาสทุจริตกรอกข้อความและยอดเงินลงในใบถอนเงินที่มีลายมือชื่อของสมเด็จพระวันรัต ที่ลงลายมือชื่อไว้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดวชิรธรรมาราม ไปเป็นของตนเองโดยทุจริต รวมเป็นเงินจํานวนประมาณ 80,175,223.80 บาท เป็นเหตุให้วัดวชิรธรรมารามได้รับความเสียหาย
ต่อมาผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เชื่อว่านายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา น่าจะทุจริตเอาเงิน หรือทรัพย์สินของวัดบวรนิเวศวิหารไปด้วย เนื่องจากเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระวันรัตซึ่งมีอํานาจลงนาม เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดบวรนิเวศวิหาร และบัญชีเงินฝากธนาคารของสมเด็จพระวันรัต ที่ถือครองแทนวัด จึงได้มีการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขาบางลําภู โดยใช้ชื่อบัญชี 1. พระพรหมมุนี นามเดิมของสมเด็จพระวันรัต 2. สมเด็จพระวันรัตเพื่อสร้างโรงเรียนวัดคีรีวิหาร และ 3. สมเด็จพระวันรัตเพื่อสร้างวัดราชบุรี ซึ่งพบว่า นายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา ได้โอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของตนเอง โดยทุจริตเข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดําเนินคดีอาญาของกองบังคับการปราบปรามซึ่งเกี่ยวข้องกับนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา จํานวน 3 คดี คือ (1) คดีอาญาที่ 6/2565 กรณีของวัดวชิรธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้เสียหาย (2) คดีอาญา ที่ 7/2565 กรณีของวัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียหาย และ (3) คดีอาญาที่ 9/2565 กรณีของวัดรัตนวนาราม จังหวัดตราด เป็นผู้เสียหาย ซึ่งพบว่านายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก มีพฤติการณ์กระทําความผิดเกี่ยวกับการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกง และลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (14) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ประชุมมีมติมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.242/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิด รายนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงาน การทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (14) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือเป็น ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการ ตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวม พยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 14 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความในคดีนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรม โอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ และทะเบียนรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียน ในการควบคุม การเสียภาษีหรือการเป็น ผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดําเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิ ครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สิน ที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็น ของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควร เชื่อได้ว่านายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 14 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฎ ตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยขน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สิน ที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ ได้รับแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ ดูเอกสาร
เรื่องเกี่ยวข้อง
- ยันไม่มีรายได้เข้า! ตามไปดู บ.ตรีมิตรค้ำจุน ธุรกิจ ‘เนย’ คนสนิทสมเด็จพระวันรัต
- เปิดธุรกิจ ‘เนย’ คนสนิทสมเด็จพระวันรัต กก. 1 บริษัท - หุ้นส่วนอยู่ จ.ตราด
- เรียกโชว์รูมสอบหลักฐานมัดศิษย์คนสนิทสมเด็จพระวันรัต ยักยอกเงินซื้อเบนท์ลี่ย์ทะเบียน ภภ55
- ตามยึดทรัพย์ได้ 100 ล.! ตร.แจ้ง 4 ข้อหาหนัก ศิษย์คนสนิทสมเด็จพระวันรัต โกงเงินวัดบวรฯ
- ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ ‘อภิรัตน์ ชยางกูรฯ’ 92 ล. ในชื่อ 5 คนถือครอง คดียักยอกเงินวัดบวรฯ