"..การดำเนินงานการป้องกันการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกัน ตลอดจนการแก้ไข โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.."
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า การขับเคลื่อนงานด้านป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับการตอบสนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ในการดำเนินงานการป้องกันการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกัน ตลอดจนการแก้ไข โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 ได้มีการเสนอ มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณธรรม ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการประเมิน Integrity and Transparency. Assessment: ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
-
เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ที่กำหนด
-
ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท
-
ขับเคลื่อนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ ในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ
-
ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA
-
ให้หน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม ความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสริมสร้างการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
-
ดำเนินการส่งเสริมและยกระดับธรรมาภิบาลให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสยังไม่ผ่านเกณฑ์จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,139 หน่วยงาน โดยได้จัดโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เช่น การพัฒนาและสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลและให้คำแนะนำปรึกษาในการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การลงพื้นที่ให้คำปรึกษารายหน่วยงานให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ 4,139 หน่วยงาน การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการยกระดับผลการประเมิน ITA
-
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และกิจกรรมลงพื้นที่ในหน่วยงานรัฐ 4 ครั้ง เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่หน่วยงานภาครัฐที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ประจำปี 2564
-
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนและนิติบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ กิจกรรมสัมมนาการยกระดับบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อน ขยายผลและพัฒนากลไกขับเคลื่อนบรรษัทภิบาลภาคเอกชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐที่มีเอกชนเป็นคู่สัญญา
โดยในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินการประเมิน ITA ให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริต ซึ่งในแง่ของการมีส่วนร่วมต่อการประเมิน ITA จำแนกได้ใน 2 มิติ ดังนี้
-
มิติของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินฯ มี 8,303 หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานธุรการ ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-
มิติของการมีส่วนร่วมในการประเมินฯ ที่มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผ่านการตอบแบบวัดการรับรู้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีถึง 1,331,588 คน
การประเมิน ITA ถูกกำหนดเป็นค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศฯ อีกด้วย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด (6,642 หน่วยงาน)
ในช่วงปีที่ผ่านมา การประเมิน ITA ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ อาทิ การประชุมขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ในงาน 2021 OECD Global Anti-Corruption & Integrity Forum จึงกล่าวได้ว่าการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือและมาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริตที่ได้รับการยอมรับแล้วในระดับสากล
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริตดีขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนี้
-
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวนหน่วยงานภาครัฐ 8,277 โดยมีผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย) 68.78
-
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวนหน่วยงานภาครัฐ 8,058 โดยมีผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย) 66.78
-
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวนหน่วยงานภาครัฐ 8,303 โดยมีผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย) 67.90
-
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวนหน่วยงานภาครัฐ 8,300 โดยมีผลการประเมิน ITA (เฉลี่ย) 81.25
ผลของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและการให้ความยอมรับ ทั้งจากภายในประเทศและจากองค์การระหว่างประเทศ ส่งผลหน่วยงานภาครัฐได้มีการริเริ่มจัดทำโครงการ และขยายผลต่อยอดการประเมิน ITA ลงไปในระดับส่วนงานย่อยต่าง ๆ ภายในองค์กรของตนเอง
สำหรับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มกระบวนการประเมิน ITA ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดเก็บข้อมูลตามเครื่องมือที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 3 เครื่องมือ ดังนี้
-
แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) : บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยแต่ละหน่วยงานได้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการตอบแบบวัด IIT ให้แก่บุคลากรภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT แล้วเป็นจำนวน 368,529 ราย
-
แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) : ประชาชนหรือผู้ที่ เคยติดต่อ/รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในปี 2565 นี้ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการ 2 ช่องทาง ดังนี้
-
ช่องทางที่ 1 สามารถเข้าประเมินหน่วยงานด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือ Application ITAS โดยพิมพ์ค้นหาชื่อหน่วยงานที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการแล้วประเมินได้เลย
-
ช่องทางที่ 2 สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการสัมภาษณ์ประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการ จากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ผ่านทางโทรศัพท์และการลงพื้นที่ภาคสนาม
-
สำหรับจำนวนของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีจำนวนผู้ตอบแบบวัด EIT แล้วเป็นจำนวนถึง 471,654 ราย
-
-
แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (แบบวัด OIT) : หน่วยงานภาครัฐ 8,303 แห่ง โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลแล้วเสร็จ จำนวน 96 หน่วยงาน ส่วนอีก 8,207 หน่วยงาน อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องส่งให้ผู้บริหารของตนเองพิจารณารับรองและให้ความเห็นชอบก่อนเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ทั้งนี้ ต้องเสร็จตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชน รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาคุณธรรม คุณภาพ และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ผ่านการประเมิน ITA โดยสามารถร่วมประเมินได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือทาง Application ITAS ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของท่านไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป