“..ทั้งนี้สำคัญคือ การติดเชื้อจะไม่นับเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันแทนการฉีดวัคซีน หากฉีดเข็ม 1 แล้ว ก่อนที่จะฉีดเข็ม 2 เผอิญติดเชื้อ ก็จะต้องฉีดเข็มที่ 2 หลังจากหายป่วย 3 เดือน โดยเดินหน้าตามสูตรเดิม..”
สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศไทยพุ่งสูงนิวไฮอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนช่วงสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ บูสเตอร์โดส (เข็ม 3-4) ให้ทั่วถึงมากที่สุด เพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตลง
โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้กลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เพิ่งฉีดวัคซีนได้เพียง 2 เข็ม ให้ต่อด้วยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากฉีดเข็ม 3 แล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
กรณีกระตุ้นด้วย ‘วัคซีนไฟเซอร์’ สามารถฉีดขนาดครึ่งโดสได้ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน ทั้งนี้ มีข้อมูลการศึกษาในผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดีว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเด็ก
สำหรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี ให้เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 ขนาดโดสมาตรฐาน โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลาตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป
ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนในผู้ที่มีประวัติติดโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีด ‘วัคซีนโควิด’ ในผู้ที่มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ได้ตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ โดยให้วัคซีนหลังจากการติดเชื้อ เป็นเวลา 3 เดือน
นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า แนวทางการฉีดวัคซีน ทางคณะกรรมการวิชาการ ได้ระบุชัดเจนว่า การฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ควรเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 จำนวน 3 เดือน ส่วนเข็มที่ 4 ควรเว้นระยะห่าง 4 เดือนจากเข็มที่ 3
แต่ทั้ง หากติดเชื้อ และหายป่วยแล้ว แนวทางการรับวัคซีนก็ยังคงเป็นตามสูตรที่กำหนดไว้ โดยเดินหน้านับระยะเวลาด้วยหลักการเดียวกับการเว้นระยะฉีดวัคซีน คือนับเวลาระยะห่างจากวันที่หายป่วยต่อไปอีก 3-6 เดือน
สำหรับคำถามว่า ผู้ติดเชื้อแล้ว ควรฉีดวัคซีนชนิดไหน นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า ปัจจุบัน สูตรการฉีดวัคซีนจะเริ่มตั้งแต่วัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม) ต่อด้วยไวรัล เวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งจะฉีดติดต่อกันไม่เกิน 2 เข็ม และต่อด้วยชนิด mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) แต่หากเริ่มฉีดด้วยไวรัล เวกเตอร์แล้ว เข็มต่อมาฉีดเป็นชนิด mRNA เข็มต่อไป ก็จะต้องเป็น mRNA โยจะไม่ย้อนกลับมาที่ไวรัล เว็กเตอร์อีก
ตัวอย่างเช่น หากเป็นฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) เข็มที่ 2 ไวรัล เว็กเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) ระหว่างรอรับเข็มที่ 3 ติดเชื้อ จะต้องเว้นระยะนับตั้งแต่วันที่รักษาหายต่ออีก 3 เดือน จึงจะเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งตามสูตรอาจจะเป็นไวรัล เว็กเตอร์ อีกหนึ่งเข็ม หรือข้ามไปเป็นชนิด mRNA ก็ได้
“ทั้งนี้หลักสำคัญคือ การติดเชื้อจะไม่นับเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันแทนการฉีดวัคซีน หากฉีดเข็ม 1 แล้ว ก่อนที่จะฉีดเข็ม 2 เผอิญติดเชื้อ ก็จะต้องฉีดเข็มที่ 2 หลังจากหายป่วย 3 เดือน โดยเดินหน้าตามสูตรเดิม”
ส่วนกรณีหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 แล้ว ควรจะต้องฉีดเข็มที่ 5 หรือไม่ นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า ตามหลักการถ้ารยังไม่มีวัคซีนชนิดใหม่ขึ้นมา ก็ฉีด mRNA ซ้ำๆ ต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ขอให้ดูตามสถานการณ์และข้อแนะนำก่อน อย่าเพิ่งร้อนใจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ยังไม่ถึงรอบที่ต้องฉีดเข็ม 5 และที่สำคัญ เมื่อมองในแง่การฉีดวัคซีน แต่ยังพบการติดเชื้อเป็นเรื่องที่พบเจอได้ เพราะเปอร์เซ็นต์การป้องกันการติดเชื้อนั้นไม่สูง อยู่ที่ 50-60% หรือต่ำกว่านั้น และถ้าเว้นระยะนานไป ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง แต่การป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตยังสูงดีอยู่ ซึ่งถือว่าน่าพอใจอยู่ ฉะนั้น การฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 ขอให้รอในข้อพิจารณาของวิชาการก่อน
ขณะนี้ ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 132.27 ล้านโดส จำแนกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 56.10 ล้านราย คิดเป็น 80.7% เข็มที่ 2 จำนวน 50.88 ล้านราย คิดเป็น 73.2% และเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 ขึ้นไป) จำนวน 25.28 ล้านคน คิดเป็น 36.4%
แนวทางการให้ ‘วัคซีนโควิด เข็มกระตุ้น’ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีรายละเอียด ดังนี้
สูตรวัคซีนโควิด เข็มกระตุ้น (เข็ม 3)
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์
กระตุ้นเข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม เข็ม 1+ แอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 เว้นระยะห่าง 3 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม เข็ม 1 + ไฟเซอร์ เข็ม 2 เว้นระยะห่าง 3 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 ไฟเซอร์
-
แอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 3 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 ไฟเซอร์
-
ไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 6 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 ไฟเซอร์
-
.แอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 + ไฟเซอร์ เข็ม 2 เว้นระยะห่าง 6 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 ไฟเซอร์
-
แอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม (สูตรทริปเปิลเอ) เว้นระยะห่าง 3-6 เดือน
กระตุ้นเข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า (เพื่อเป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติม)
สูตรวัคซีนโควิด เข็มที่ 4
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม + เข็มที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า เว้นระยะห่างตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
กระตุ้นเข็มที่ 4 แอสตร้าเซนเนก้า
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม + เข็มที่ 3 ไฟเซอร์ เว้นระยะห่างตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
กระตุ้นเข็มที่ 4 ไฟเซอร์
-
ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม เข็มที่ 1 + แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เว้นระยะห่างตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
กระตุ้นเข็มที่ 4 ไฟเซอร์
-
แอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม + เข็มที่ 3 ไฟเซอร์ เว้นระยะห่างตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
กระตุ้นเข็มที่ 4 ไฟเซอร์
ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 และ 4) ส่วนกรณีหากเป็นผู้ติดเชื้อแล้ว ยังคงต้องฉีดวัคซีนต่อตามสูตรเดิม เว้นระยะห่างหลังจากวันที่หายป่วยอีก 3-6 เดือน โดยเน้นย้ำว่าการติดเชื้อจะไม่ใช่การเพิ่มภูมิคุ้มกันแทนการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด