อินโดนีเซียนั้นควรที่จะเชิญชวนประเทศยูเครนเข้ามาร่วมในการประชุมG-20 นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้าการเชิญชวนดังกล่าวนั้นน่าจะแก้ได้ทั้งปัญหาทั้งในเรื่องข้อกังวลว่าประเทศอื่นๆจะคว่ำบาตรการประชุมG-20 และยังเป็นโอกาสอันมีค่าอย่างยิ่งที่จะทำให้เวทีการประชุมG-20 นั้นสามารถเป็นเวทีที่แก้ได้ทั้งปัญหาความขัดแย้งและปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน
ปัญหาวิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นนำมาซึ่งวิกฤติในหลายด้าน แต่ว่าหนึ่งผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยมากที่สุดและทำให้ประเทศอินโดนีเซียที่ต้องเผชิญผลกระทบคล้ายๆกัน ก็คือว่าทั้งสองประเทศนั้นจะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนานาชาติครั้งใหญ่และทั้งสองประเทศจะต้องตัดสินใจว่าจะเชิญประเทศรัสเซียที่กำลังถูกคว่ำบาตรอย่างหนักมาร่วมประชุมดีหรือไม่
โดยประเทศอินโดนีเซียนั้นจะเป็นประเทศที่จัดการประชุมสุดยอดกลุ่มG-20 (กลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่) ณ เกาะบาหลี ในวันที่ 15-16 พ.ย. นี้ ขณะที่ประเทศไทยจะมีการจัดประชุมเอเปค (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18-19 พ.ย. หรือก็คือแค่สองวันหลังจากการประชุมG-20 ประเทศไทยก็ต้องจัดการประชุมเอเปคต่อทันที
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวนั้น ทางสำนักข่าวอัลจาซีราของการ์ตา ได้จัดทำบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจระบุว่าทำไมประเทศอินโดนีเซียนั้นจึงไม่ยกเลิกหรือห้ามการเชิญชวนรัสเซียมาประชุมG-20 ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศอินโดนีเซีย ณ เวลานี้นั้นกำลังอยู่ในระหว่างปรึกษาหารือในประเด็นสำคัญกับกลุ่มประเทศG-20 อื่นๆ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องว่าประเทศอินโดนีเซียต้องแบนไม่ให้รัสเซียเข้าร่วมการประชุมG-20 ที่เกาะบาหลีในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้
โดยบางประเทศที่เป็นทั้งสมาชิกของกลุ่มG-20 และสหภาพยุโรปนั้นได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะบอยคอตการประชุมถ้าหากว่านายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และตัวแทนจากกรุงมอสโกนั้นได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมG-20 ซึ่งท่าทีดังกล่าวนั้นทำให้นายโจโก วิโดโด้ หรือโจโควี่ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประธานกลุ่มG-20 ในปีนี้ด้วยต้องตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
“เป็นเรื่องที่เศร้าเพราะเรื่องนี้นั้นถือว่าเป็นชะตากรรมของตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจโกวี่ด้วย เพราะแน่นอน สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซียนั้นมีตัวเลือกสองทางก็คือ 1.ขับไล่รัสเซียออกจากการประชุม หรือ 2. เสี่ยงต่อการที่ประเทศสมาชิกนั้นจะคว่ำบาตรการประชุม อันนำไปสู่ความล้มเหลวของการประชุมได้” นายคอสมาน ซาโมซีร์ ศาสตราจารย์ประจําสาขากฎหมายระหว่างประเทศและรองคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยคาทอลิกซานโตโธมัส ในเมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซียกล่าว
บทวิเคราะห์ความเป็นไปได้เรื่องการแบนประเทศรัสเซียจากการประชุมG-20 (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีรา)
ส่วนนายแองเจโล อาบิล วิจายา หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการและการวิจัยที่ Y20 อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเครือข่ายการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างเป็นทางการกับกลุ่มG-20 ได้กล่าวว่านี่ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจเดิมพันขั้นสูงสุด
“ประเทศอินโดนีเซียได้ลงทุนไปเยอะมากในตำแหน่งประธานG-20 และยังเตรียมตัวสำหรับตำแหน่งประธานนี้มานานนับปี” นายจิวายากล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา และกล่าวต่อไปว่าอินโดนีเซียนั้นต้องการให้การทำหน้าที่ประธานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการจะประสบความสำเร็จได้จริง ทั้ง 20 ประเทศในสมาชิกกลุ่มG-20 ก็ต้องเข้าร่วมการประชุมนี้ แน่นอนว่าทางเราก็ต้องการที่จะเห็นการประชุมG-20 ไม่ใช่แค่จี-19
ทั้งนี้ประเทศในกลุ่มG-20 นั้นไม่ได้รวมไปถึงแค่ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา,สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นที่มีจุดยืนในการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อกรณีที่รัสเซียบุกยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศเช่นจีนที่ยังมีแนวทางที่ไม่แน่ชัดต่อกรณีรุกรานดังกล่าว
“เป็นข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่ได้เลยว่าการปรากฏตัวของนายปูติน ณ ที่ประชุมG-20 นั้นจะส่งผลทำให้หลายประเทศคว่ำบาตรต่อการประชุมนี้ไปด้วย มันเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการได้ว่าความสัมพันธ์ทางการทูตจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใดบ้าง ในช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นๆแต่ทว่ารุนแรงในสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน” นายเอียน วิลสัน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความมั่นคงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค ณ นครเพิร์ท ประเทศออสเตรเลียกล่าวกับอัลจาซีร่า
โดยการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในกลุ่มประเทศG-20 ในสัปดาห์นี้นั้นได้บ่งชี้ถึงความน่าจะเป็นบางอย่างที่อาจเกิดได้ในอนาคต เมื่อผู้แทนจาก สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดาได้พากันเดินออกจากที่ประชุม เมื่อตัวแทนจากรัสเซียได้เริ่มพูดในที่ประชุมดังกล่าว
ทางด้านของนายศรีมูลยานี อินทรวาที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในการประชุมดังกล่าวก็ได้กล่าวถึงการวอล์กเอาต์ด้วยเช่นกันว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด และการวอล์กเอาต์ที่ว่าก็ไม่ได้ทำให้การหารือนั้นหยุดลง
ส่วนประเทศจีนนั้นก็ไม่ได้มีการกล่าวประณามรัสเซียแต่อย่างใด แม้ว่าประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีความสัมพันธุ์กับทางยูเครนด้วยก็ตาม อีกทั้งประเทศจีนก็ไม่ได้เข้าร่วมการแบนต่อประเทศรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนก็ดูเหมือนจะพัฒนาความใกล้ชิดกับนายปูตินมากขึ้นไปอีกด้วยการกล่าวประณามต่อกรณีที่ประเทศซึ่งพัฒนาแล้วได้คว่ำบาตรต่อรัสเซีย
“ต้องเข้าใจก่อนในบริบทของG-20 ก่อนว่าองค์กรนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหารือในประเด็นเศรษฐกิจและธุรกิจ ดังนั้นถ้าคุณต้องการพูดคุยเรื่องการเมืองและความมั่นคงของชาติ คุณต้องไปที่สหประชาชาติ” นายซาโมซีร์กล่าว
@จิตวิญญาณของคำว่าความเป็นอิสระ
ทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับประเทอียิปต์และประเทศอินเดียก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศชื่อว่า ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement :NAM) ซึ่งองค์การนี้ประกอบไปด้วย 120 ประเทศที่มีจุดยืนไม่ฝักไฝ่ขั้วอำนาจใดเลยในช่วงสงครามเย็น (ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การนี้ในปี 2537)
และด้วยจิตวิญญาณของการเป็นผู้ที่ก่อตั้ง NAM นั้นก็กลายเป็นสิ่งย้ำเตือนแนวนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียว่าจะต้องอยู่ในสิ่งที่เรียกกันว่าแนวทาง bebas-aktif หรือก็คือแนวทางการเป็นอิสระควบคู่ไปกับความกระตือรือร้นในด้านการกำกับและดูแลโลก
โดยกรุงจากาตาร์ก็หวังว่าจะจะยึดโยงแนวนโยบายความเป็นอิสระเอาไว้ต่อไปด้วยการเชิญผู้นำทั้ง 20 ประเทศมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งในวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น นายมาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Age ของประเทศออสเตรเลียเอาไว้ว่าเขาเชื่อว่าอินโดนีเซียนั้นควรที่จะเชิญชวนประเทศยูเครนเข้ามาร่วมในการประชุมG-20 นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้าการเชิญชวนดังกล่าวนั้นน่าจะแก้ได้ทั้งปัญหาทั้งในเรื่องข้อกังวลว่าประเทศอื่นๆจะคว่ำบาตรการประชุมG-20 และยังเป็นโอกาสอันมีค่าอย่างยิ่งที่จะทำให้เวทีการประชุมG-20 นั้นสามารถเป็นเวทีที่แก้ได้ทั้งปัญหาความขัดแย้งและปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน
อนึ่ง ณ เวลานี้นั้น ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงมีการหารือกับประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกของประเทศในกลุ่มG-20 อย่างใกล้ชิด ซึ่งการหารือนั้นก็รวมไปถึงส่วนได้และส่วนเสียที่จะเกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ขณะที่ทางด้านของนายเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียก็ได้มีการร่างรายงานให้กับประธานาธิบดีวิโดโด้แล้วเช่นกัน โดยระบุถึงคำแนะนำว่าประเทศอินโดนีเซียจะทำอย่างไรต่อไป
สำหรับวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศอินโดนีเซียมีท่าทีออกมาค่อนข้างช้า แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่ม 141 ประเทศที่สนับสนุนสหประชาชาติหรือว่ายูเอ็นในการประณามการรุกราน
แต่ทว่าในภายหลังอินโดนีเซียก็ได้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งการกลับลำดังกล่าวนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ค่อนข้างจะซับซ้อนระหว่างจาการ์ตาและมอสโก ควบคู่ไปกับการที่จาการ์ตาได้กลับมาทบทวนบทบาทใหม่ของตัวเองในภูมิภาคนี้
“อินโดนีเซียได้ตัดสินใจจะซื้อเครื่องบินรบสมรรถนะสูงจากรัสเซีย อันได้แก่ซู-30 และซู-27 และมีการเจรจาเพื่อจะซื้อเครื่องบินรบซู-35 ก่อนที่แผนทั้งหมดนั้นจะถูกยกเลิกเนื่องจากกลัวจะได้รับผลพวงของมาตรการคว่ำบาตรไปด้วย” นายโยฮาเนส สุไลมาน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเจนเดอรัล อัคมัด ยานี ในเมืองบันดุงให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา และกล่าวว่า “อินโดนีเซียนั้นต้องการรัสเซียในฐานะผู้จัดหาอาวุธรายอื่นๆเพื่อที่จะได้ไม่พึ่งพาสหรัฐฯไปเสียทั้งหมด”
โดยประเทศอินโดนีเซียนั้นถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และ ณ เวลานี้มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนและสหรัฐฯที่แข่งขันกันในพื้นที่ซึ่งเป็นเสมือนหลังบ้านของตัวเอง
“สืบเนื่องจากขนาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค อินโดนีเซียนั้นมองตัวเองว่าเป็นผู้นำตามธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว,อินโดนีเซียนั้นไม่เชื่อทั้งในสหรัฐฯและจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีประวัติอันยาวนานในการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของอินโดนีเซีย” นายสุไลมานกล่าว
“อินโดนีเซียนั้นไม่ต้องการให้โดดเดี่ยวรัสเซียไปโดยสมบูรณ์ เพราะนั่นจะผลักให้รัสเซียมีความใกล้ชิดกับจีนมากจนเกินไป”
รายงานข่าวอินโดนีเซียยกเลิกการจัดหาเครื่องบินรบซู-35 (อ้างอิงวิดีโอจาก Agas Channel)
@เรียนรู้จากอดีต
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีความตึงเครียดระหว่างระหว่างรัสเซียกับประเทศG-20 อื่นๆ เพราะในช่วงปี 2557 ประเทศออสเตรเลียที่เป็นประเทศประธานG-20 ณ เวลานั้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่นายปูตินได้ตัดสินใจยกเลิกการไปประชุมสุดยอดเพียงสองวันก่อนจะประชุมในเดือน พ.ย. เพราะว่านายปูตินนั้นถูกตำหนิจากประเทศสมาชิกอื่นๆด้วยข้อกล่าวหาว่าเขามีบทบาทสนับสนุนฝ่ายแบ่งแยกในประเทศยูเครน
และในครั้งนั้นนายปูตินยังถูกกล่าวโทษที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้โดยสารจำนวน 298 รายบนเที่ยวบินมาเลเซียแอร์ไลน์ MH17 ที่ถูกยิงตกเมื่อเดือน ก.ค. 2557 เหนือน่านฟ้าในภูมิภาคตะวันออกของประเทศยูเครนซึ่งถูกควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักไฝ่ไปทางรัสเซีย
โดยในช่วงเวลาที่นายปูตินได้วอล์กเอาต์ออไปเขาได้กล่าวว่าเขาต้องการการนอนหลับและกล่าวโทษตะวันตกว่าไม่ใช้สมองในการตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซีย
แน่นอนว่าการรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานั้นนำมาซึ่งมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่รุนแรงกว่าเมื่อปี 2557 มาก
“ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบันมีผลกระทบมากและมีความเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งที่วิกฤตินี้จะกลายเป็นวิกฤติที่กินเวลายาวนาน” นายแดนดี้ ราฟิทรานดี นักวิจัยจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศูนย์ความคิด ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ กล่าวกับอัลจาซีรา
นายราฟิทรานดีได้เน้นย้ำด้วยว่าอินโดนีเซียควรเรียนรู้บทเรียนจากความล้มเหลวในปี 2557 แต่ก็ควรจะมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญสำหรับเวทีประชุมในการที่จะให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากการคว่ำบาตรการประชุม
“การสื่อสารเพื่อเกริ่นนำความสำคัญของการประชุมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อาทิ การพูดถึงประโยชน์ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางและมีรายได้น้อย ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเป็นเรื่องที่เสียสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากวาระการประชุมG-20 นั้นถูกขัดขวาง ทั้งในเรื่องของสิทธิพิเศษต่างๆเช่นการระงับหนี้และการจัดตั้งแผนกองทุนสุขภาพระดับโลก ประเด็นเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรที่จำเป็น” นายนาฟิทรานดีกล่าว