"... รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 ดังกล่าว ถูกจอดทิ้งไว้ไร้เจ้าหน้าที่มาเบิกใช้เป็นจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นแทบทุก สน. , สภ. ทั่วประเทศ เพราะแม้จะเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ถึง 286 ซีซี แต่การใช้งานจริงเทอะทะไม่คล่องตัว ทำความเร็วได้เพียงทางตรงเท่านั้น..."
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในโลกออนไลน์!
เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา เพจ “ชมรมตรังต้านโกง” ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความสภาพของรถจักรยานยนต์สายตรวจในราชการตำรวจจอดทิ้งร้างไร้การดูแลซ่อมแซมภายในสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรัง
ระบุ “เครือข่ายชมรมตรังต้านโกง พบรถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 ของ สภ.เมืองตรัง จอดทิ้งไว้ไม่ได้นำมาใช้งานหลังโรงพัก จำนวน35 คัน #ไม่ยอม #ไม่ทน #ไม่เฉย”
ในภาพเป็นรถจักรยานยนต์ถูกจอดเรียงกันเอาไว้ด้านหลังอาคารกองสืบสวนสอบสวน มีสภาพเก่าไม่ได้ใช้งาน มีฝุ่นจับเกรอะกรัง เบื้องต้นมองด้วยตาเปล่าไม่พบความเสียหายของชิ้นส่วนหรืออะไหล่
โดยรถจักรยานยนต์ดังกล่าว เป็นยี่ห้อฮอนด้า CBR 300 ทะเบียนตราโล่ทั้งหมด
(อ่านรายละเอียดในโพสต์ https://www.facebook.com/AntiCorruptionTrang/posts/1144041443047072)
เบื้องต้น มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก มากดไลค์โพสต์ดังกล่าวนับพันคน มีการแชร์หลายร้อยแชร์ และแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
อาทิ “รุ่นใหม่ออกมา ใครมันจะขับรุ่นเก่า” , “ช่วยตรวจสอบงบน้ำมัน งบซ่อมบำรุง ด้วยนะครับ มีด้วยเหรองงบนี้?? งั้นรีบเลยเพราะอยู่มาไม่เคยได้สักบาทค่าซ่อม” , “ถ้าไม่ใช้แล้วก็เอารถออกไปประมูลแล้วนำเงินที่ประมูลได้ไปให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน หรือ ผู้พิการ มันจะได้เกิดประโยชน์” , “เบิกไปน้ำมันก็เติมตังตัวเอง รถพังยางรั่วก็จ่ายเองดอกยางหมดเส้นละ 2500 โซ่พังสเตอร์ไหม้จ่ายเองเป็นพันถ่ายน้ำมันเครื่องก็เกือบ 500 ทั้งที่ตั้งตัวเองซ่อมเติมน้ำมันเอง พอจะใช้ก็จะมี ปปช.บอกเอารถมาใช้นอกเวลาราชการ เอางบหลวงมาใช้ทั้งที่เบิกมาแต่รถสภาพพังๆซ้อมเอง เติมน้ำมันเองแต่ดันเอามาใช้ไม่ได้” , “ปีนี้งบน้ำมัน ตร.ถูกตัดทั่วประเทศ 1,500,000,000 บาท ค่าซ่อมบำรุงก็ไม่มี ก็ดูๆเอา ไม่มีน้ำมันเติม..เลยไม่มีใครเบิก..ผมก็ไม่เบิกปล่อยให้พังไป ขับเอาไปซื้อแกงก็โดนด่า” เป็นต้น
น่าสนใจว่า รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 ของ สภ.เมืองตรัง มีที่มาที่ไปอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดต่อไปยัง พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาว์ดำ ผกก.สภ.เมืองตรัง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
@ พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาว์ดำ
ได้รับคำชี้แจงว่า รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 เป็นรถที่เหลือจากการเบิกใช้ของสายตรวจ ซึ่งต้องนำไปจอดเก็บไว้ในโรงรถที่อยู่ด้านข้าง สภ.เมืองตรัง โดยมีหลังคาอย่างดี และติดกล้องวงจรปิด มีการคล้องโซ่ ล็อคล้อไว้อย่างดี และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการเบิกใช้ ก็สามารถทำเรื่องเสนอมาเพื่อเบิกใช้ตามระเบียบ ไม่ได้ถือว่าเป็นรถปลดระวาง
"แต่การจอดไว้นานก็มีฝุ่นจับบ้าง"
พ.ต.อ.เชื้อชาติ ย้ำว่า รถรถจักรยานยนต์เหล่านี้ เคยใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สายตรวจ สภ. เมืองตรัง โดยได้รับจัดสรรล็อตแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 จำนวน 37 คัน และรับจัดสรร ล็อตที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 จำนวน 38 คัน รวม 75 คัน
“ยืนยันว่าสภ. เมืองตรังได้เก็บรถจักรยานยนต์ดังกล่าว โดยจัดสถานที่ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ มีการต่อเติมหลังคา ติดกล้องวงจรปิด และมีสายคล้องโซ่ล็อครถเพื่อความปลอดภัย และจากทั้งหมด 75 คัน เบิกจ่ายไป 44 คัน ไม่เบิกใช้งานจำนวน 31 คัน เป็นรถ CBR300 รุ่นเก่าทั้งหมด โดยเก็บรักษาไว้ในสถานที่ดังกล่าว 25 คัน และเก็บไว้บริเวณหน้าอาคารพิทักษ์ราษฎร์อีก 6 คัน และได้มีการตรวจสอบบัญชีการใช้รถตามวงรอบทุกเดือน ส่วนการเบิกจ่ายน้ำมัน เบิกจ่ายเฉพาะรถที่มีตำรวจปฏิบัติหน้าที่แต่ละชุดปฏิบัติการ และเป็นรถที่พร้อมใช้งาน รถที่ไม่มีการเบิกใช้ไม่ได้เบิกจ่ายน้ำมันแต่อย่างใด” ผกก.สภ.เมืองตรังระบุ
@ พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาว์ดำ พาสำนักข่าวอิศรา ไปดูจุดจอดรถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับที่มา รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 พบว่า ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2557 คสช.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1.73 พันล้านบาทเศษ ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจจำนวน 14,442 คัน แต่ปรากฏว่าทีมโฆษกคสช.กลับไม่มีการแถลงมติการประชุมดังกล่าว
แหล่งข่าวจาก สตช. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า คสช.ได้เห็นชอบตามที่สตช.โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผบ.ตร. เป็นผู้นำเสนอ ให้สตช.ดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์(ทดแทน) ยี่ห้อฮอนด้า รุ่น ซีบีอาร์ 300 อาร์ (CBR 300R) ขนาด 250 ซีซี (งานสายตรวจ) จำนวน 14,442 คัน วงเงิน 1.7 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี 2557-2559 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ และมีเพียงบริษัท เวิลด์ สปีด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ยื่นเอกสารประกวดราคา จากที่มีเอกชนเข้ามาซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งหมด 5 บริษัท
ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาได้ตรวจสอบการมีศูนย์บริการมาตรฐานและศูนย์บริการย่อยของ บ.เวิลด์สปีดฯ แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับข้อพิจารณาของสำนักงานป.ป.ช.จากการจัดซื้อในครั้งก่อน(ไทเกอร์) มาเป็นบทเรียนในการตรวจสอบ คือ ต้องมีศูนย์ไม่น้อยกว่า 25 จังหวัด หรือครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการแจ้งไปยังกองบัญชาการตรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 - 9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการฯทำการสุ่มตรวจศูนย์บริการแล้วปรากฏว่ามีความครอบคลุมถูกต้อง อีกทั้งยังมีการต่อรองราคากับบริษัทฯถึง 3 ครั้ง จากเดิมราคาที่จำหน่ายในท้องตลาดคันละ 133,000 บาท เหลือคันละ 119,572.50 บาท พร้อมอุปกรณ์พิเศษคือติดตั้งเหล็กกันล้มและหมวกนิรภัย 2 ใบ จึงทำให้ได้ราคาถูกลง 12 % โดยที่บริษัทฯต้องรับผิดชอบการประกันความชำรุดบกพร่องจากการใช้งานตามปกติทุกคันเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่จำกัดระยะทางอีกด้วย อีกทั้งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคางบประมาณที่ตั้งไว้คันละ 120,000 บาทอีกด้วย
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าทำไมถึงจัดซื้อรุ่น CBR300 ที่มีกระบอกสูบ 286 ซีซี นั้นบริษัทฯระบุว่ารุ่นดังกล่าวเป็นรุ่นล่าสุดที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย และรุ่น CBR250 เลิกการผลิตแล้วในปัจจุบัน รวมทั้งมีการเสนอให้จัดซื้อเป็นยี่ห้อคาวาซากิ รุ่นนินจา 300 เอบีเอส(Ninja 300ABS) เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้กับ ฮอนด้า CBR300 แต่ปรากฏว่าถูกตีตกไปเนื่องจากราคาจำหน่ายตามท้องตลาดสูงคือคันละ 182,500 บาท ซึ่งเกินกว่างบประมาณ
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากฝ่ายปราบปรามกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แจ้งว่า รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 ดังกล่าว ถูกจอดทิ้งไว้ไร้เจ้าหน้าที่มาเบิกใช้เป็นจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นแทบทุก สน. , สภ. ทั่วประเทศ เพราะแม้จะเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ถึง 286 ซีซี แต่การใช้งานจริงเทอะทะไม่คล่องตัว ทำความเร็วได้เพียงทางตรงเท่านั้น
ขณะที่งานปราบปรามเมื่อเกิดภาวะคับขับต้องไล่ล่าคนร้ายตามยุทธวิธี เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงคนเดียวไม่สามารถไล่ล่าได้คล่องตัว เพราะเป็นรถมีคลัชต้องใช้ 2 มือขับ จึงไม่สามารถใช้กระบองที่ติดตั้งด้านข้างรถ หรืออาวุธปืนประจำกายเพื่อระงับยับยั้งได้ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงานโดยใช้เจ้าหน้าที่ 2 นายต่อ รถ 1 คัน โดยเจ้าหน้าที่ผู้ซ้อนท้ายจะเป็นผู้ปฏิบัติทางยุทธวิธีด้านปราบปราม อีกทั้งในการปฏิบัติงานจิง คนร้ายมักหลบหลีกเข้าตรอกซอกซอยเพื่อหนีการจับกุม บางครั้งหนีไปในพื้นที่ที่รถไม่สามารถขับขี่ไปได้ อีกทั้งวงเลี้ยวขณะต้องกลับรถฉุกเฉินต้องเลี้ยงเป็นวงกว้าง จึงไม่สะดวก
เมื่อมีรถสายตรวจรุ่นใหม่ออนด้า PCX ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัตและสามารถขับขี่โดยใช้มือเดียวได้ มีความคล่องตัวกว่า ประหยัดน้ำมัน อีกทั้งมีกล่องเก็บสัมภาระท้ายรถ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ขอทำเรื่องขอคืนรถรุ่น CBR300 เป็นจำนวนมาก และหันมาใช้รถรุ่นใหม่แทน
และนั้นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ รถจักรยานยนต์สายตรวจ รุ่น CBR 300 ของ สภ.เมืองตรัง ถูกจอดเก็บไว้ไม่ได้นำมาใช้งานนานแล้ว จนมีฝุ่นจับตามที่เห็น