รัฐบาลของอาเซียนนั้นต้องเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าและคายไม่ออกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่สงครามในยูเครนได้กินเวลามากว่า 6 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีภาพข่าวความโหดร้ายของสงครามที่มีให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การเรียกร้องให้นำตัวนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียมาดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม
จากกรณีที่ปรากฎเป็นกระแสข่าวว่าหลายประเทศทั่วโลกนั้นได้ดำเนินการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียต่อกรณีการส่งทหารเข้ารุกรานประเทศยูเครน
อย่างไรก็ตามสำนักข่าว DW ของเยอรมนีนั้นได้รายงานข่าวว่าหนึ่งในรายได้หลักที่ยังคงหล่อเลี้ยงกองทัพรัสเซียนั้นก็มาจากการขายอาวุธ และหนึ่งในภูมิภาคที่มีการซื้ออาวุธรัสเซียเป็นอัตราที่สูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั่นเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา เหล่าบรรดานายพลของกองทัพเมียนมาร์ได้รวมตัวกันที่กรุงเนปิดอว์เพื่อร่วมงานวันกองทัพเมียนมาร์ ซึ่งงานดังกล่าวนั้นมีการจัดกิจกรรมได้แก่การสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ อาทิรถถัง และขีปนาวุธของกองทัพเมียนมาร์ และที่น่าสนใจก็คือว่าเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่กองทัพเมียนมาร์ได้ก่อเหตุรัฐประหารอันนองเลือดไม่นาน ทางด้านของนายอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ก็ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน
แต่ว่าในปีนี้นายโฟมินไม่ได้เข้าร่วมงาน แม้ว่าทางกองทัพเมียนมาร์จะได้ส่งคำเชิญไปก็ตาม
โดยการร่วมงานดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดประการหนึ่งว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเพียงไม่กี่รายของเผด็จการทหารเมียนมาร์ นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 โดยความร่วมมือที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันนั้นก็รวมไปถึงการส่งมอบอาวุธที่ผลิตโดยประเทศรัสเซียเป็นจำนวนมาก
และเพื่อเป็นการตอบแทน รัฐบาลทหารของเมียนมาร์ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐบาลในเอเชียที่ได้กล่าวยกย่องการรุกรานประเทศยูเครนเช่นกัน โดยกล่าวว่า “เป็นการกระทำที่เหมาะสม”
@บทบาทของรัสเซียกับการเป็นผู้ส่งออกอาวุธชั้นนำในอาเซียน
อนึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าประเทศรัสเซียนั้นมีมูลค่าการขายอาวุธและยุทธภัณฑ์ต่างๆให้กับอาเซียนคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (359,241,800,000 บาท) ในช่วงเวลาระหว่างปี 2543-2562
โดยประเทศที่รัสเซียได้ส่งออกอาวุธไปให้มากที่สุดในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาก็คือประเทศเวียดนามซึ่งคิดเป็นอัตราการส่งออกอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงระหว่างปี 2558-2564 พบข้อมูลว่ารัสเซียยังได้ขายอาวุธให้กับเมียนมาร์คิดเป็นมูลค่า 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,293,025,000) , ประเทศลาวคิดเป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,525,375,000 บาท) และประเทศไทย 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,578,025,000 บาท)
ขณะที่นายฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียได้กล่าวว่าตัวเขาเชื่อว่า ณ เวลานี้ก็ยังคงมีอุปกรณ์ทางการบางอย่างมีกำหนดมาถึงที่เมียนมาร์และก็น่าจะมีมากกว่านี้ตามมาด้วย
“ผมเชื่อว่าในบางจุด กองทัพนั้นมีความต้องการช่างเทคนิคของรัสเซียเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะทำอย่างไร ถ้าหากอุตสาหกรรมของรัสเซีย ณ เวลานี้นั้นมุ่งเน้นไปที่ยูเครนหมด” นายมาร์สตันกล่าว
@การรอคอยและดูท่าทีอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ออกมากล่าวว่าจะดำเนินการตามข้อตกลงในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ขนส่งทางทหารจำนวน 17 ลำ ที่ได้มีการลงนามไปแล้วและมีการจ่ายเงินไปบางส่วนก่อนที่ประเทศรัสเซียจะได้เข้ารุกรานประเทศยูเครน
“ผู้ที่จับตาดูกิจกรรมการจัดซื้อทางการทหารนั้นแสดงความผิดหวังเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการทหารก่อนจะมีการรุกรานก็ตาม”นายโจชัว เบอร์นาร์ด เอสเปนา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากมะนิลากล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของอาเซียนนั้นต้องเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าและคายไม่ออกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่สงครามในยูเครนได้กินเวลามากว่า 6 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีภาพข่าวความโหดร้ายของสงครามที่มีให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การเรียกร้องให้นำตัวนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียมาดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม
“ประเด็นเรื่องการจัดซื้ออาวุธ รวมไปถึงการฝึกทหารในรูปแบบทวิภาคีกับรัสเซียนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง แม้ว่าสงครามในยูเครนจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม” นายคาร์ล เทเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลียกล่าว
โดยบรรยาการทางการเมืองนั้นก็ดูจะมีลักษณะที่เป็นพิษยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากในอนาคตทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปเพื่อพยายามที่จะลงโทษนายปูตินต่อกรณีอาชญากรสงครามดังกล่าว และเรียกร้องอย่างหนักจากทางมอสโกเพื่อให้ฟื้นฟูความเสียหายของประเทศยูเครน
“เรื่องนี้จะส่งผลทำให้รัฐบาลหลายประเทศ และในอาเซียนเองต้องใช้แนวทางรอคอยอย่างระมัดระวัง เพื่อจะเฝ้าดูท่าทีต่อไป ในการที่จะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดหรือว่าทำให้เกิดกรณีการคว่ำบาตรที่มาจากทางฝั่งของสหรัฐฯและจากยุโรป” นายเทเยอร์กล่าว
ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกอาวุธไปยังอาเซียนสูงสุดสิบอันดับแรกในช่วงปี 2540-2562
@ความจำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธรัสเซีย
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเกิดกรณีที่สหภาพยุโรปหรืออียูนั้นจะดำเนินการคว่ำบาตรต่อซัพพลายเออร์อาวุธรัสเซียที่ส่งออกอาวุธไปยังเมียนมา ซึ่งจากกรณีนี้ทางด้านของนางคริสตินา คิรอนสกา นักวิชาการจากกรุงบราติสลาวา ประเทศบัลแกเรีย ที่เชี่ยวชาญด้ายเมียนมากล่าวว่าก็ยังน่าสงสัยอยู่ดีว่าการคว่ำบาตรซัพพลายเออร์อาวุธดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ แต่ตัวเธอก็เชื่อว่าทั้งรัสเซียและเมียนมาก็ยังคงจะหาวิธีที่จะมีความร่วมมือระหว่างกันได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ก็มีความไปได้ว่าสหรัฐฯนั้นจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่หนักขึ้นไปอีกด้วยการใช้กฎหมายที่มีชื่อว่ากฎหมายว่าด้วยการต่อต้านศัตรูของอเมริกาผ่านการคว่ำบาตร (Countering America's Adversaries Through Sanctions Act :CAATSA) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนั้นมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา
แต่ทางประเทศอย่างเช่นอินโดนีเซีย,เวียดนาม รวมไปถึงอินเดียนั้นก็ดูเหมือนว่าจะได้รับการยกเว้นจากการใช้กฎหมายนี้จากกรุงวอชิงตัน ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขากำลังลดการพึ่งพาจากรัสเซียอยู่แล้ว
อนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายสำคัญให้กับอาเซียนนั้น ไม่ได้มาจากเรื่องประเด็นประสิทธิภาพ หรือขีดความสามารถของอาวุธแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่อาเซียนนั้นเป็นหัวใจหลักของการขับเคี่ยวกันระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯด้วยเช่นกัน โดยหลายประเทศรวมไปถึงประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์เองก็มีข้อพิพาทกับกรุงปักกิ่งในเรื่องของทะเลจีนใต้
@กรณีการสร้างสมดุลความเสี่ยงระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ต้องยอมรับว่าการตอบสนองของอาเซียนนั้นยึดหลักอยู่บน “การป้องกันความเสี่ยง” เพื่อที่จะสามารถร่วมมือกับมหาอำนาจทั้งสองได้ภายในเวลาเดียวกัน ร่วมไปกับการกระจายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ
แน่นอนว่าถ้ารัฐบาลใดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ รัฐบาลนั้นก็มีโอกาสทำให้ปักกิ่งขุ่นเคืองได้ และในทางกลับกันถ้ารัฐบาลนั้นซื้ออาวุธจากจีน อย่างเช่นกรณีประเทศไทยและกัมพูชาที่เคยซื้อ ก็มีโอกาสทำให้ทางวอชิงตันขุ่นเคืองได้เช่นกัน แต่ที่ผ่านมา การซื้ออาวุธจากรัสเซียถือเป็นจุดที่ยอมรับได้จากสองมหาอำนาจ
“อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลใดในภูมิภาคหลังจากนี้ต้องซื้ออาวุธจากรัสเซีย หลังจากที่สงครามยูเครนได้สิ้นสุดลง และสหรัฐฯยังคงคว่ำบาตรรัสเซียอยู่ การกระทำดังกล่าวนั้นอาจจะถือว่าเป็นการต่อต้านได้” นายเอสเปนากล่าว
โดยประเทศอย่างอินโดนีเซียนั้นมีรายงานว่าเคยมีการเจรจาเพื่อจะจัดหาเครื่องบินรบรุ่นซู-35 ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ประเทศนี้จะตกเป็นเป้าหมายของกฎหมาย CAATSA ด้วยเช่นกัน แต่โชคดีว่าทางอินโดนีเซียได้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวและไปตัดสินใจจะซื้อเครื่องบินรบจากฝรั่งเศสแทน
อย่างไรก็ตามประเทศอินโดนีเซียไม่ได้ตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียไปโดยสิ้นเชิง เพราะในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานั้นทางกรุงจาการ์ตาก็ยังคงเป็นเจ้าภาพในการฝึกทางทหารร่วมกันครั้งแรกระหว่างรัสเซียและอาเซียน
5 อันดับประเทศในอาเซียนที่เป็นลูกค้าจัดซื้ออาวุธจากประเทศรัสเซียนับตั้งแต่ปี 2543-2564
@การกระจายความสัมพันธ์เพื่อถอยห่างจากรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ประเทศในภูมิภาคอย่างเวียดนาม แม้ว่าจะพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับวอชิงตันมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว รวมไปถึงในด้านความมั่นคง อาทิ การจัดซื้ออาวุธต่างๆ แต่เวียดนามก็เป็นประเทศที่บุคลากรทางทหารนั้นถูกฝึกมาโดยโซเวียตและรัสเซีย จึงทำให้บุคลากรทางการทหารของทั้งสองประเทศนั้นมีความใกล้ชิดกันตามไปด้วย ดังนั้นการที่เวียดนามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของกองทัพเพื่อไปใช้รูปแบบอื่นเพื่อจะถอยห่างจากการใช้ระบบของรัสเซียนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เป็นความท้าทายต่อเวียดนามอย่างยิ่ง
ถ้าหากเวียดนามได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกองทัพเพื่อถอยห่างจากการใช้ระบบของรัสเซียจริง นี่ก็จะส่งผลทำให้เวียดนามเกิดความหย่อนยานทางด้านของกลาโหมเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนผ่าน
และแม้ว่าเวียดนามจะพยายามยกเลิกการพึ่งพารัสเซียอย่างช้าๆ แต่ก็ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เวียดนามจะต้องจัดหาอุปกรณ์รัสเซียไปก่อน ทั้งในแง่ของการรักษายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว และการดำเนินการอัพเกรดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียนั้นถูกกีดกันจากระบบการชำระเงินทั่วโลกของ SWIFT แล้ว ก็ทำให้การชำระเงินของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน
ข่าวความร่วมมือทางการทหารระหว่างเวียดนามและรัสเซียช่วงปลายปี 2564 (อ้างอิงวิดีโอจาก Vietnam News Agency)
@ทางเลือกของภูมิภาคนี้มีอะไรบ้าง
ทางเลือกดังกล่าวนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสงครามยูเครนนั้นจะกินเวลานานแค่ไหน และนานแค่ไหนที่ตะววันตกได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเศรษฐกิจรัสเซีย
โดยนายเทเยอร์กล่าวว่าประเทศที่ต้องใช้อุปกรณ์จากรัสเซียอย่างเวียดนามนั้นมีอยู่ด้วยกันสามทาเลือก คือพวกเขาสามารถใช้อะไหล่จากประเทศอื่นที่มีอาวุธรัสเซีย พวกเขาจะร่วมมือกับรัสเซียต่อไปเพื่อให้สามารถใช้อาวุธและอุปกรณ์บางอย่างได้ หรือไม่ก็พวกเขาอาจจะไปหาประเทศอินเดีย ซึ่งมีแนวโน้มสูงเป็นอย่างยิ่งที่จะกลายเป็นอีกประเทศที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายสำคัญในภูมิภาคนี้