"...จากการตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายเงินกู้บางโครงการไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นเร่งด่วนตามภาวการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวคือมีบางโครงการไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยตรงกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาทิ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่อง ฉายรังสี สําหรับแก้ปัญหาผลกระทบจาก COVID-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงินงบประมาณ 877.20 ล้านบาท..."
การดําเนินงานแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาสำคัญหลายประการ อาทิ การดําเนินโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันกาล บางโครงการที่ได้รับการอนุมัติไม่สอดคล้องโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินที่มี ความจําเป็นเร่งด่วนตามภาวการณ์โรคติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ยังไม่พบการจัดทําหรือปรับปรุงแผนการ ดําเนินงานการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดําเนินงานแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสํานักตรวจสอบการดําเนินงานที่ 5 ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการดําเนินงานแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไข ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุขเสร็จแล้ว ผลการตรวจสอบ มีข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะ รายละเอียดดังนี้
1. การดําเนินโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันกาล
จากกรณีภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเริ่มพบกับคนไทย ประมาณต้นเดือนมกราคม 2563 ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ด้วยสภาวะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและ วัคซีนป้องกัน รัฐบาลเห็นว่ามีความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในการดําเนินมาตรการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรค ยังไม่เพียงพอในอันที่จะยุติการระบาดของโรค ตามพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ประกอบด้วย 3 แผนงานหรือโครงการ โดยแผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 1 คือแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กําหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ โครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดําเนินกิจกรรมตามแผนงานที่กําหนด
จากการตรวจสอบพบว่า การดําเนินโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันกาลต่อการแก้ไขปัญหา ตามความจําเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ทําให้ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน และเป็นอุปสรรคด้านการบริหาร จัดการของสถานพยาบาล โดยสรุปดังนี้
1.1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่มีความล่าช้า คือ ส่วนใหญ่เริ่มได้รับการอนุมัติ ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 ระยะเวลาที่เริ่มอนุมัติโครงการช่วงการแพร่ระบาดของ ระลอกที่ 2 นับจากการออกพระราชกําหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินฯ ประมาณ 8 เดือน (เมษายน - ธันวาคม 2563) และของระลอกที่ 3 ประมาณ 1 ปี (เมษายน 2563 -เมษายน 2564) โดยตั้งแต่การเกิด ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ระลอกที่ 1 (มกราคม - พฤศจิกายน 2563) ระลอกที่ 2 (ธันวาคม 2563 – มีนาคม 2564) จนถึงระลอกที่ 3 (เมษายน - กันยายน 2564) มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจํานวน 51 โครงการ วงเงินกู้ที่อนุมัติรวมทั้งสิ้น 63,897.99 ล้านบาท (โอนเงินกู้จากแผนงานโครงการกลุ่มที่ 2 และ 3 เพิ่มเติมจํานวน 18,897.99 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 และ 27 กรกฎาคม 2564)
โดย พบว่า การอนุมัติโครงการที่สําคัญและจําเป็นต่อการแก้ไขปัญหาของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ ในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 อาทิ การจัดหาวัคซีน อย่างไรก็ตามหลังจากการอนุมัติหน่วยงานที่รับผิดชอบต้อง ใช้ระยะเวลาในกระบวนการจัดซื้อจัดหา ซึ่งทําให้ผลการดําเนินงานต้องล่าช้าออกไป รายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1) การอนุมัติโครงการในช่วงเริ่มการแพร่ระบาดระลอกที่ 1 จํานวน 5 โครงการ เป็นเงิน 2,555.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.68 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ (45,000 ล้านบาท) ส่วนใหญ่ เป็นโครงการจ่ายค่าตอบแทน เยียวยาฯ สําหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. คิดเป็นร้อยละ 61.65 ของวงเงินที่ อนุมัติในระลอกที่ 1 และโครงการเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือ วัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ จัดซื้อจัดจ้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานได้ประมาณปลายปี พ.ศ. 2564 คิดเป็นร้อยละ 38.35 ของวงเงินที่อนุมัติในระลอกที่ 1
2) การอนุมัติโครงการในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 จํานวน 37 โครงการ เป็นเงิน 23,267.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51.71 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ (45,000 ล้านบาท) เป็นโครงการ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน ค่าบริการสาธารณสุข ค่าตอบแทน เยียวยาฯ สําหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ห้องปฏิบัติการ การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 41.53, 29.02, 13.54, 8.28 และ 7.63 ของวงเงินที่อนุมัติในระลอกที่ 2 ตามลําดับ
3) การอนุมัติโครงการในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 จํานวน 9 โครงการ เป็นเงิน 38,074.87 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ที่คงเหลือจํานวน 19,176.88 ล้านบาท และวงเงินที่อนุมัติเพิ่มเติม เป็นเงิน 18,897.99 ล้านบาท (อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2564) เป็นโครงการเกี่ยวกับค่าบริการสาธารณสุข การจัดหาวัคซีน ค่าตอบแทน เยียวยาฯ สําหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ห้องปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 61.97, 32.80, 4.14 และ 1.09 ของวงเงินที่อนุมัติในระลอกที่ 3 ตามลําดับ
1.2 บางโครงการที่ได้รับอนุมัติยังไม่แล้วเสร็จทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างทันกาล โดยพบว่า เพียง ณ วันที่ 15 กันยายน 2564 ตามแผนการดําเนินงานที่ กําหนดจะมีโครงการแล้วเสร็จ จํานวน 27 โครงการ เป็นเงิน 55,151.12 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดําเนินการ อีกจํานวน 24 โครงการ เป็นเงิน 8,746.86 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการเบิกจ่ายเงินจริง จํานวน 45,790.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71.66 ของกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้นที่อนุมัติ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า
- โครงการที่ดําเนินการแล้วเสร็จและเบิกจ่ายเงินแล้วส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับ ค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวม 4 โครงการ (ระลอกที่ 2 และ 3) จํานวนเงินที่อนุมัติและเบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 30,348.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.28 ของจํานวนเงินทั้งสิ้นที่มีการเบิกจ่ายแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 47.49 ของกรอบวงเงินกู้ ที่อนุมัติทั้งสิ้น รองลงมาเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสียงภัยสําหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร สาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน จํานวน 5 โครงการ รวมเป็นเงิน 6,301.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.76 ของจํานวนเงินทั้งสิ้นที่มีการ เบิกจ่ายแล้ว
-โครงการที่ได้รับการอนุมัติซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง การเตรียม ความพร้อมสถานพยาบาล การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัย พัฒนาห้องปฏิบัติการและระบบสื่อสาร จํานวน 40 โครงการ รวมเป็นเงิน 14,748.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.08 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ ซึ่งตามแผนการปฏิบัติงานส่วนใหญ่คาดว่าจะสามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนทดสอบการใช้งาน และพร้อมใช้งานได้ในช่วงประมาณปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หรือปลายปี พ.ศ. 2564 จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบข้อจํากัดในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ ครุภัณฑ์บางรายการ ต้องสั่งซื้อและนําเข้าจากต่างประเทศ อุปกรณ์หรือห้องปฏิบัติการเป็นลักษณะที่ต้องดําเนินการเฉพาะทางซึ่ง ต้องหาผู้รับจ้างที่มีความชํานาญ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมของสถานที่การ ขนย้ายก่อนการดําเนินการ ประกอบกับการอนุมัติโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า เป็นต้น
2. บางโครงการที่ได้รับการอนุมัติไม่สอดคล้องโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินที่มี ความจําเป็นเร่งด่วนตามภาวการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากข้อมูลสภาพปัญหาสําคัญที่ปรากฏอย่างชัดเจน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนับเป็น 3 ระลอก คือปัญหาด้าน การจัดหาวัคซีนที่มีความล่าช้า ปัญหาความขาดแคลนหรือไม่พร้อมของเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของหน่วยบริการแต่ละแห่งสําหรับรับมือฉุกเฉินเฉพาะหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019
แต่จากการตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายเงินกู้บางโครงการไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นเร่งด่วนตามภาวการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวคือมีบางโครงการไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยตรงกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาทิ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่อง ฉายรังสี สําหรับแก้ปัญหาผลกระทบจาก COVID-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงินงบประมาณ 877.20 ล้านบาท
3. การดําเนินงานตามโครงการเป็นลักษณะกระจายตามความต้องการของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้มีการกําหนดกรอบแผนงานในภาพรวมที่จะมุ่งเน้นต่อการดําเนินกิจกรรมที่จะตอบสนอง ต่อการบรรลุเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์แห่งการออกพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ และครอบคลุมหน่วยบริการได้อย่างทั่วถึง ตามสภาพปัญหาและความจําเป็นที่แท้จริง ซึ่งจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อ ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดําเนินงาน พบว่า มีหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติโครงการและสนับสนุน เงินงบประมาณรวมจํานวน 25 หน่วยงาน และจากการพิจารณาตามข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ กลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ไม่พบข้อมูลที่กล่าวอ้างอิงถึงแผนภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขในการดําเนินงาน เพื่อมุ่งเน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเป็น การดําเนินการภายใต้กรอบแผนงานย่อยตามที่กําหนดในท้ายประกาศพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลัง กู้เงินฯ เป็นหลัก และจากการตรวจสอบพบว่าการจัดทําและเสนอโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ของกระทรวงสาธารณสุข มีระยะเวลาในการจัดทําข้อเสนอโครงการหรือกําหนดแผนการดําเนินงาน ตามโครงการน้อยมาก กล่าวคือหลังจากการประกาศพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เมื่อเดือน เมษายน 2563 ได้กําหนดให้หน่วยงานเสนอโครงการให้กระทรวงสาธารณสุขประมาณเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อรวบรวมนําเสนอตามลําดับขั้นตอนที่กําหนดต่อไป หรือกล่าวได้ว่าการจัดทําโครงการอาจเป็นไปอย่างเร่ง รีบ ประกอบกับปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงระลอกที่ 1 อาจอยู่ในสภาวการณ์ ของโรคอุบัติใหม่
อย่างไรก็ตาม การระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ยังไม่พบการจัดทําหรือปรับปรุงแผนการ ดําเนินงานการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
จากรายละเอียดสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า การดําเนินโครงการภายใต้แผนงาน หรือโครงการกลุ่มที่ 1 ยังไม่ตอบสนองเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ ไม่ทันกาลต่อการแก้ไขปัญหาการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับประชาชน รวมถึงการให้บริการของหน่วยบริการอย่างมีประสิทธิภาพและ เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ ในขณะที่รัฐบาลได้ออกพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยแผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 1 คือแผนงานหรือโครงการที่มี วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกจํานวน 30,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2564 พบว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วจํานวน 3 โครงการ วงเงิน 18,372.04 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วจํานวน 1,828.64 ล้านบาท เป็นแผนงานโครงการเพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการ แพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน การวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ และยังมียอดวงเงินที่ยังคงเหลืออีก จํานวน 11,627.96 ล้านบาท ที่ยังไม่ปรากฏการอนุมัติโครงการ
สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสําคัญของการดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อดําเนินการตาม แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เกิด ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์แห่งพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลัง กู้เงินฯ พ.ศ. 2563 และเพิ่มเติม พ.ศ. 2564
จึงขอทราบความเห็นและเห็นควรให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาดําเนินการ ดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาและอุปสรรคในการดําเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่มี วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไร
2. ให้กําหนดแผนงานหรือแผนแม่บทด้านการจัดการ หรือเตรียมความพร้อมกับสภาวการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วางแผนสนับสนุนการดําเนินโครงการ การจัดสรรงบประมาณ ในระยะต่อไปทั้งเงินกู้และหรือเงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีที่มีความสําคัญเกี่ยวข้องโดยตรงต่อปัจจัยความสําเร็จ ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเหมาะสม ทันกาล โดยให้มี การศึกษาทบทวนปัญหา ข้อมูลปัจจัยที่สําคัญและจําเป็นต่อการดําเนินงานเพื่อเตรียมการสําหรับแก้ไขปัญหาที่ เกิดขึ้น หรือการเตรียมรับมือกับสภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระยะต่อไป
3. ให้สํารวจความต้องการหรือความจําเป็นของหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดและนอก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สภาพปัญหา ข้อจํากัดของหน่วยบริการ ขีดความสามารถหรือเป้าหมายการให้บริการ ตามศักยภาพของหน่วยบริการ และควรพิจารณาเร่งดําเนินการโดยเร็ว
อาศัยอํานาจตามมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน แผ่นดิน พ.ศ. 2561 จึงขอส่งรายงานการตรวจสอบมาเพื่อดําเนินการตามข้อเสนอแนะ แล้วแจ้งให้สํานัก ตรวจสอบการดําเนินงานที่ 5 ทราบภายใน 90 วัน