“..ในทางทฤษฎีที่เราได้ฟัง มันลื่นหูหมด ตอนนี้ให้ผู้ป่วยสีเขียวอยู่บ้าน สีเหลือง-สีแดงติดต่อโรงพยาบาลรัฐทันที แต่ในทางปฏิบัติติมันไม่มี เมื่อพาไปส่งโรงพยาบาลก็ไม่สะดวกรับ ยิ่งในชั่วโมงนี้ โรงพยาบาลจะถามว่าสิทธิการรักษาอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นคนต่างจังหวัด มาทำงานที่กรุงเทพฯ คือจบเลย โยนกันไปก็โยนกันมา ประชาชนตายก่อน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น..”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ทั้งจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) และแบบ RT-PCR (Real Time PCR) และการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ส่งผลให้การติดต่อขอเข้ารับการรักษาเกิดความล้าช้า ประชาชนหลายคนต้องรอเข้าสู่ระบบรักษาหรือรอเตียงนานขึ้น ซึ่งมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ เพื่อเตรียมเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เมื่อโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย และประชาชนก็มีภูมิต้านทานมากเพียงพอ
แนวทางการรักษาใหม่นี้ จะบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้สมัครใจ รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการเสริมจากการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) หรือในชุมชน (Community Isolation: CI)
สำหรับความแตกต่างผู้ป่วยนอกกับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและไม่มีอาหาร หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ
โดยได้กำหนดแนวทาง ‘เจอ แจก จบ’ เป็นการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เหมือนกับการรักษาผู้ป่วยนอกของโรคทั่วไป คือ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งจะมีการให้ความรู้ในการดูแลแยกกักตัวเอง และแจกเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับกรณีมีอาการมากขึ้นหรือมีข้อสงสัยที่ต้องการสอบถาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยระบบดังกล่าวจะเป็นการตรวจผู้ที่สงสัยหรือมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวกจะให้การรักษาด้วยยา 3 สูตร ได้แก่
-
ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ ตามอาการ
-
ฟ้าทะลายโจร
-
ยาฟาวิพิราเวียร์
แม้ว่าภาครัฐจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประชาชนอยู่กับโรคโควิด-19 ในวิถีใหม่ (New Normal) ต่อไปได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนจากสังคมมากมายที่ประสบปัญหาทั้งการไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษา หรือติดต่อขอความช่วยเหลือไม่ได้เลย
นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ตัวแทนทีมจิตอาสา Survive - สายไหมต้องรอด เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาของผู้ป่วยติดเชื้อในฐานะกลุ่มจิตอาสาที่ทำงานมาเกือบ 3 ปี ว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่คิดเป็นประมาณ 90% เป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องยารักษา หรือการเข้าระบบการรักษาอยู่
กลุ่มสายไหมต้องรอดมีสายด่วน 5 สาย โดยทีมจิตอาสารับสายทั้งวัน ถ้าแยกเฉพาะโทรเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องยานับเป็นพันราย โดยทุกคนจะบอกว่าติดต่อลงทะเบียนไม่ได้บ้าง หรือลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับเลย
อีกทั้ง การจะเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล จำเป็นจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR ยืนยันการติดเชื้อ แต่ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีที่ไหนที่ตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ก็ตาม
“ในทางทฤษฎีบอกว่า ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ตรวจ RT ได้เพื่อนำผล ไปยื่นเพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ แต่ในข้อเท็จจริง คือไม่มีที่ไหนตรวจให้ ก็คือรอให้คุณเป็นหนักแล้วค่อยมาตรวจซ้ำ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นหมด” นายเอกภพ กล่าว
นายเอกภพ กล่าวว่า อยากฝากสอบถามไปทางสำนักประกันสังคมให้คุยกับโรงพยาบาลในเครือฯ ให้ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกันตนหลายคนประสบปัญหาว่า โรงพยาบาลตามสิทธิฯ ไม่ยอมตรวจ RT-PCR ให้ ถ้าจะตรวจจำเป็นจะต้องเสียเงินราว 3,000 บาท จึงเป็นคำถามว่า ‘โรงพยาบาลรับผู้ประกันตนตั้งมากมาย เมื่อถึงเวลามีโรคระบาด กลับไม่ให้การรักษา หรือกำหนดการรักษา-รับตรวจหาเชื้อแค่วันละ 30-50 คนเท่านั้น ทั้งที่โรงพยาบาลรับผู้ปะกันตนหลายพันคน บางรายไปรอตั้งหลายวันก็ไม่ได้ตรวจ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเหมาะสมหรือไม่?’
นายเอกภพ กล่าวถึงการเข้าถึงยารักษาว่า ตามที่รัฐออกนโยาบาย 'เจอจ่ายจบ' แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่ได้รับยาเพื่อไม่สารถติดต่อสายด่วนหรือเข้าระบบการรักษาได้ จึงได้ติดต่อมาทางทีมจิตอาสาเพื่อขอความช่วยเหลือ
มีบางกรณีผู้ป่วยยอมที่จะไปโรงพยาบาลโดยเสียค่าบริการ เพื่อขอรับยา โดยค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลรัฐ อยู่ที่หลักหลายร้อยบาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน อยู่ที่หลักพันบาท แต่ในขณะที่ถ้าหากผู้ป่วยไปขอรับยาตามสิทธิรักษาพยาบาล จะได้รับเพียงยาลดไข้ (พาราเซตามอล) และยาละลายเสมหะ แต่ถ้าเสียเงินค่าบริการจะได้รับคำแนะนำและยาที่ดีขึ้น จึงอยากจะฝากถึงรัฐว่าควรจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อควรได้รับยาอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าแต่ละที่ได้ยาไม่เหมือนกัน เมื่อจ่ายเงินได้รับคำแนะนำอย่างดีและการจ่ายยาที่ครบถ้วน ถ้าเป็นยาอย่างดี ทำไมไม่ได้รับตั้งแต่แรก แม้ว่าจะเป็นการรักษาตามสิทธิฯ ก็ตาม
นายเอกภพ กล่าวว่า สิ่งที่เราพยายามเรียกร้อง คือ ให้รัฐกระจายยา ถ้าส่งช้าให้ประสานหน่วยจิตอาสาในพื้นที่ก็ได้ อย่างสายไหมมีจิตอาสาเป็นร้อย เพจใหญ่ๆ ก็เช่นกัน รัฐประสานงานมาได้ กระจายยามาเพื่อให้ส่งต่อบางส่วนก็ได้ แต่ปัจจุบันนี้ จิตอาสาต้องซื้อยาเอง มีบางส่วนที่ได้รับบริจาคมา แต่สัดส่วนที่ได้รับบริจาคกับร้องขอความช่วยเหลือเข้ามานั้น เทียบกันไม่ได้เลย นอกจากนี้ การกระจายยาจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุคคลการทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง เพราะต้องลงพื้นที่ไปช่วยผู้ป่วยเหมือนกัน
“ไม่ใช่เราอยากจะทำ แต่สิ่งที่เราอยากบอกคือ ปัจจุบัน ยาก็ยังส่งช้าอยู่ดี ทำไมคนติดเชื้อต้องรอยา 3-4 วัน ในขณะที่เขาอยากจะได้ยาวันนี้ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขา สุดท้ายก็ต้องโทรมาหาเรา บางครั้งจิตอาสาก็ปฏิเสธเพราะไม่มียา และบอกให้ผู้ติดเชื้อโทรสายด่วน 1130 เพื่อเข้าระบบ แต่คำตอบที่ได้รับคือ เสียงร้องไห้ พร้อมบอกว่ากดมาทั้งวันยังติดต่อไม่ได้เลย” นายเอกภพ กล่าว
นายเอกภพ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ จิตอาสาจะต้องประชาสัมพันธ์ในวงกว้างว่าไม่ต้องรอติดเชื้อ ขอให้เตรียมหาซื้อยาไว้ก่อน เพราะเชื้อในปัจจุบันแพร่กระจายได้เร็วมาก หากติดเชื้อจะได้รักษาตัวเองได้เบื้องต้น ไม่ต้องรอยาจากรัฐแล้ว เพราะถ้าติดเชื้อแล้วต้องรอยา 3-4 วัน อาจจะทำให้อาการทรุดหนักได้
ปัญหาหลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศเปลี่ยนแนวทางการรักษา นายเอกภพ กล่าวว่า การยกเลิก USEP ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการส่งต่อผุ้ป่วยพอสมควร ในปัจจุบันจะได้ยินข่าวมีผู้เสียชีวิตที่บ้านมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ปัญหานั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ป่วยรู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว เพราะต่อให้เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่มีการประเมินว่าอยู่ในอาการกลุ่มไหน
“ในทางทฤษฎีที่เราได้ฟัง มันลื่นหูหมด ตอนนี้ให้ผู้ป่วยสีเขียวอยู่บ้าน สีเหลือง-สีแดงติดต่อโรงพยาบาลรัฐทันที แต่ในทางปฏิบัติติมันไม่มี เมื่อพาไปส่งโรงพยาบาลก็ไม่สะดวกรับ ยิ่งในชั่วโมงนี้ โรงพยาบาลจะถามว่าสิทธิการรักษาอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นคนต่างจังหวัด มาทำงานที่กรุงเทพฯ คือจบเลย โยนกันไปก็โยนกันมา ประชาชนตายก่อน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น” นายเอกภพ กล่าว
นายเอกภพ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนเยอะขึ้น เมื่อติดเชื้อ อาการไม่รุนแรง แต่เรื่องการส่งยาก็ควรต้องส่งให้ไวขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังช้าเหมือนเดิมเช่นเดียวกับการระบาดระลอกแรกๆ
ในส่วนเรื่องการตรวจ ATK ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะในขณะนี้ประชาชนกำลังสับสนว่าจะต้องทำอย่างไร บางคนเข้าใจว่ารัฐจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เลยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เป็นคำถามว่า ‘ในเมื่อยังมีผู้ตายจากโควิดอยู่ เราจะปลอดภัยได้ยังไง?’
นอกจากนี้ นายเอกภพ กล่าวย้ำว่า ภาวะลองโควิด เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ตนพบหลายกรณีที่ก่อนติดเชื้อโควิด มีร่างกายแข็งแรง เดินได้ปกติ เมื่อติด แม้ว่าจะรักษาหายไปแล้ว พอกลับมาอยู่บ้านราว 1-2 อาทิตย์ กลับไม่มีแรง เดินไม่ไหว ต้องรักษาตัวต่อราว 2 เดือน ก็ยังเดินไม่ได้ จึงขอฝากให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนว่า สำหรับใครที่ยังไม่ติดเชื้อ จะต้องระมัดระวังตัวให้มาก ไม่ใช่ประกาศว่า โควิดตอนนี้ไม่รุนแรง ไม่ต้องกลัวแล้ว
“อยากฝากถึงผู้รับผิดชอบให้ลองโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนต่างๆ ที่แจ้งให้กับประชาชนแบบไม่มีการเตรียมว่าจะมีการรับสายหรือไม่ ใช้เวลารอนานแค่ไหน และการที่ตนออกมาพูดนี้ ไม่ได้ต้องการโจมตีการทำงานของใคร แต่ทั้งหมดนี้มีสุขภาพพี่น้องประชาชนเป็นเดิมพัน อีกทั้งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างควรเป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าจิตอาสาจะยังต้องทำงานหัวหมุนเป็นลูกข่าง ไม่มีเวลาพักผ่อนเพราะผู้ป่วยโทรมาขอความช่วยเหลือ” นายเอกภพ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้ คือภาพสะท้อนปัญหาผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวจากกลุ่มจิตอาสาที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย จะต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีนโยบายหรือปรับปรุงแนวทางอย่างไรเพื่อรับมือกับโรคระบาดก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น เพราะสิ่งที่รัฐกำลังเดิมพันอยู่ขณะนี้คือ ชีวิตของประชาชนในประเทศ