คำสั่ง ปปง.ยึดเงินสด 3.7 แสน 3 ดาบตำรวจ กับพวก ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อุ้มกักขังในรีสอร์ท จ.ชัยภูมิ ยัดยาเสพติด เรียกเงิน 2 แสนบาท จากชาย 2 คน หลังถูกสั่งให้เอาเงิน 9,000 บาทไปล่อซื้อยาบ้าแต่ภารกิจล้มเหลว ไม่ได้รับเงินคืน อยู่ระหว่างสอบสวนของ ป.ป.ท.
คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่หน้าที่ราชการเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ
ล่าสุดเป็นกรณีใน จ.ลพบุรี 3 นายดาบตำรวจถูกกล่าวหากักขังหน่วงเหนี่ยว ยัดยาเสพติด เรียกเงิน 200,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มี คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 85/2565 ลง วันที่ 9 มี.ค.2565 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว รายดาบตำรวจธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะ กรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ระบุว่า ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจาก สถานีตํารวจภูธรลําสนธิ จังหวัดลพบุรี ตามหนังสือที่ ตช 0016 (10)(23)/1644 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2556 เรื่อง ตรวจสอบทรัพย์สินผู้กระทําความผิด ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะ กรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 เจ้าพนักงานตํารวจประจําสถานีตํารวจภูธรลําสนธิ ได้จับกุมตัว ดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ ดาบตํารวจ สุรักษ์ สมบัติหลาย นายอดุลย์ คําอ่อน นางสาววิชญาดา จันทะโข และดาบตํารวจ จํารูญ แสงแก้ว ในข้อหาร่วมกันกรรโชก ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทําด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจาก เสรีภาพในร่างกาย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใดหรือยอมจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้ กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือ โดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนต้องกระทําการนั้นไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่มีเหตุ อันสมควร
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2556 ดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก ให้นายแก้ว สร้างนา และนายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ นําเงินสด จํานวน 9,000 บาท ไปทําการล่อซื้อยาบ้า แต่นายแก้ว สร้างนา และ นายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ ไม่สามารถล่อซื้อยาบ้าได้และไม่คืนเงินที่ใช้ในการล่อซื้อคืน
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก ได้ร่วมกันจับกุมนายแก้ว สร้างนา และนายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ โดยนําตัวไปกักขังไว้ที่รีสอร์ท เขตตําบลบ้านไร่ อําเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยเรียกร้องเงิน จากนายแก้ว สร้างนา และนายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ เป็นเงินจํานวน 200,000 บาท โดยหากไม่จ่ายเงินจํานวนดังกล่าวจะจับกุมนายแก้ว สร้างนา และนายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ ในข้อหาร่วมกันจําหน่ายยาเสพติด (ยาบ้า) จนนายแก้ว สร้างนา และนายสมเกียรติ บุญประสิทธิ์ ยินยอมจ่ายเงินจํานวนดังกล่าวให้กับ ดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก และคดีนี้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีมติรับเรื่อง ดังกล่าว ตามเลขรับเรื่อง (คดี) ที่ 1839/2556 แล้ว ปัจจุบันคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการดําเนินการสรุปพยาน ทั้งฝ่ายผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และพยานหลักฐานจากการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (17) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไข เพิ่มเติม และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมมีมติมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบ คําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม.371/2557 ลงวันที่ 15 กันยายน 2557 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก คําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม.214/2558 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.226/2564 ลงวันที่ 26 เมษายน 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของ บุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก มีพฤติการณ์แห่ง การกระทําความผิดกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกรับผลประโยชน์หรือต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใด อันเป็นความผิดตามมาตรา 3 (5) และ (17) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินและจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวม พยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่ง ให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุ อันควรเชื่อได้ว่าดาบตํารวจ ธนกร จุลวิทัศน์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมี การโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2542 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคําสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล คือ เงินสดจํานวน 375,000 บาท (สามแสนเจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง ดาบตํารวจ สุรักษ์ หรือนายสุรักษ์ สมบัติหลายหรือนางสาววนัชชา รอดนิตย์ เดิมชื่อนางสาวสายชล รอดนิตย์ มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สิน ดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์ จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565
ถ้ามีความคืบหน้าของคดี จะนำมารายงานต่อไป