อีกคดี! ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ ก๊วนทุจริตโครงการ ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’ ว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก หลอกเอาบัตรประชาชนไปใช้สิทธิเหตุเกิดที่ จ.ขอนแก่น พื้นที่ใกล้เคียง ทรัพย์สินลอตแรก 41 รายการ เบื้องต้น 11.8 ล.นอกจากคดีทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กรณี โรงแรม จ.ชัยภูมิ ล่าสุดเป็นกรณีทุจริตโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ใน จ.ขอนแก่นแลพื้นที่ใกล้เคียง ถูก ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องอีกคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2565 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.61/2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว ราย ที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก กรณีร่วมกันกระทําการทุจริตโครงการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลในโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยใช้วิธีหลอกลวงนําบัตรประชาชนของราษฎรในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงหลายรายไปดําเนินการเพื่อใช้สิทธิตามโครงการทั้งสองหลายครั้ง โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อนําเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมาเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นเหตุให้รัฐและประชาชน ที่ถูกสวมสิทธิได้รับความเสียหายจํานวนมาก เหตุเกิดระหว่างเดือน ก.ค.2563-เม.ย.2564 ทรัพย์สินที่ยึดและอายัด ประกอบด้วย เงินสด เครื่องประดับ ที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม 41 รายการ ในจำนวนนี้ เฉพาะทรัพย์สินรายการที่ประเมินราคาแล้ว 11,892,280.05 บาท อีก 21 รายการยังไม่ได้ประเมินราคา
@ ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ สอบปากคำ ว่าที่ ร.ต.ดร.ภูผาภูมิ โมรีย์ ครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น จาก https://board.postjung.com/1273329)
ทั้งนี้ คำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินระบุว่า
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตํารวจภูธรภาค 4 ตามหนังสือที่ ตช 0019.271/664 ลงวันที่ 5 เมษายน 2564 เรื่อง รายงานการดําเนินคดีความผิดมูลฐาน และตามหนังสือที่ ตช 0019.271/678 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง ขอให้ดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐาน รายว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
เจ้าพนักงานตํารวจภูธรภาค 4 ได้ทําการสืบสวนพบว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือน เมษายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก ได้ร่วมกันกระทําการทุจริตโครงการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลในโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยใช้วิธีหลอกลวงนําบัตรประชาชนของราษฎรในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงหลายรายไปดําเนินการเพื่อใช้สิทธิตามโครงการทั้งสองหลายครั้ง โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อนําเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมาเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นเหตุให้รัฐและประชาชน ที่ถูกสวมสิทธิได้รับความเสียหายจํานวนมาก จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและดําเนินการตามกฎหมาย เป็นคดีอาญาสถานีตํารวจภูธรบ้านฝาง ที่ 66/2564 และคดีอาญาสถานีตํารวจภูธรหนองเรือ ที่ 102/2564 ต่อมาทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตํารวจภูธรภาค 4 ได้สรุปสํานวนการสอบสวนโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ ผู้ต้องหา กับพวก รวม 13 ราย ในความผิดฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสั่งฟ้องว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ ผู้ต้องหาที่ 1 และนางสาวสุฑามาศ โมรีย์ ผู้ต้องหาที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน อีกฐานหนึ่งด้วย อันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมมีมติ มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.647/2564 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูล เกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทํา ความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด จํานวน 41 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และสลากออมสิน อันเป็นทรัพย์สิน ที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ และเครื่องประดับ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สิน ที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองอาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง ในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมา ศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ว่าที่ร้อยตรี ภูผาภูมิ โมรีย์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34(3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 41 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 25 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 25 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 16 รายการ ได้แก่ รายการที่ 26 ถึงรายการที่ 41 มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วยสำหรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก่อนหน้านี้ ปปง.อายัดทรัพย์สินแล้ว 1 คดี ได้แก่ คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 9 /2565 วันที่ 11 ม.ค.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก รวม 13 รายการ รวมเป็นเงิน 6,611,051.50 บาท ในคดีทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสียหาย เป็นเงิน 13,876,080 บาท และ ททท.ได้ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามดําเนินคดีตามกฎหมาย เป็นคดีอาญาที่ 1/2564