“หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ คือการร่วมมือที่เกิดจากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีเป้าหมายเดียวกันในการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้ประเทศไทยผ่านพันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน”
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อมาได้มีการระบาดหลายระลอกและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง
วัคซีน คือความหวังเดียวที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และช่วยให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด รัฐบาลจึงได้มีการจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งประเทศ ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่รับหน้าที่หลักในการฉีดวัคซีนคือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งกระจายอยู่ทุกจังหวัด
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของประเทศ แม้จะมีหลายหน่วยงานจัดตั้งจุดบริการฉีดวัคซีน แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มีจำนวนหลายล้านคน โครงสร้างของระบบบริการตามปกติอาจไม่สามารถระดมฉีดวัคซีนได้ทันต่อสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นในทุกๆ วัน
กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม จึงได้มีดำริในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการให้บริการประชาชนจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยบริการใน กทม. และเป็นทางเลือกช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยใช้พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จัดตั้งเป็น 'ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ' มีกำหนดการเปิดบริการช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเร่งดำเนินการปูพรมฉีดวัคซีนทั้งประเทศ
ผลดำเนินการ
'ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ' เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 15,000 ตารางเมตร สามารถขยายได้ถึง 20,000 ตารางเมตร โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. - 8 พ.ย.2564 รวม 169 วัน มียอดการฉีดวัคซีนสะสม 2,775,064 โดส โดยเฉลี่ยมีการฉีดวัคซีน 16,420 โดสต่อวัน สามารถจำแนกการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,479,300 โดส คิดเป็น 53% เข็มที่ 2 จำนวน 1,074,156 โดส คิดเป็น 39% และเข็มที่ 3 จำนวน 221,608 โดส คิดเป็น 8%
เมื่อพิจารณาตามชนิดของวัคซีน พบว่า มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZenaca) จำนวน 2,285,978 โดส วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 470,104 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในกลุ่มนักเรียน จำนวน 18,982 โดส สามารถแบ่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนตาม กลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ใน 5 กลุ่ม ดังนี้
-
กลุ่มบุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสารารณะ จำนวนมากกว่า 330,000 โดส
-
กลุ่มครู อาจารย์และบุคลากรในสถานศึกษา จำนวนมากกว่า 45,000 โดส
-
กลุ่มพนักงานขนส่งพัสดุ และพนักงานส่งอาหาร จำนวนมากกว่า 25,000 โดส
-
กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวนมากกว่า 300,000 โดส
-
กลุ่มผู้มีโรคอ้วน จำนวนมากกว่า 90,000 โดส
-
กลุ่มสตรีมีครรภ์ จำนวนมากกว่า 2,100 โดส
ปัจจัยความสำเร็จ
สำหรับความสำเร็จของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีปัจจัยมาจากนโยบายและภาวะผู้นำชัดเจนว่า ต้องการให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่สำหรับให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในแต่ละกระทรวงให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ จึงเกิดแรงผลักดันให้ทุกส่วนระดมสรรพกำลังทรัพยากร กำลังสมองเพื่อตอบสนองนโยบายได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนโยบายชัดเจนแล้ว ภาวะผู้นำของผู้บริหารระดับสูงก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ มีหลายครั้งที่คณะผู้บริหารของแต่ละกระทรวงได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการ รวมถึงการตรวจสอบความเรียบร้อยต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้รับบริการได้รับความสะดวกสบายที่สุด
ทุกฝ่ายร่วมมือช่วยผ่านพ้นวิกฤติ
การดำเนินการขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หัวใจสำคัญของงานนี้อยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์จากกรมและสถาบันต่างๆ ของกระทรวงสารารณสุข ฝ่ายอำนวยความสะดวกด้านอาคารสถานที่จากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ฝ่ายสนับสนุนด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ ทั้งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศทั้ง 4 ค่าย กลุ่มจิตอาสาด้านสารารณสุข ทั้งวิทยาลัย พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร โรงพยาบาลเอกชน อาจารย์อาวุโส ตลอดจนจิตอาสาภาคประชาชนที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
การร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีเป้าหมายเดียวกันในการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน เมื่อทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน
ใช้คนให้ถูกกับงาน
ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีการแบ่งบทบาทการทำงานตามความถนัดของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มุ่งในเรื่องการฉีดวัคซีนอย่างเดียว ขณะที่กระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่สิ่งที่นัดคือการจัดระบบประชาชนที่เดินทางมารับบริการ อำนวยความสะดวกให้ Flow ภายในศูนย์ฉีดฯ และระบบการจราจรไหลลื่น อำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยโดยรอบสถานที่ ส่วนเรื่องการจัดคิวผู้มารับการฉีดวัคซีน มอบหมายให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 4 ค่ายมีพื้นที่ในการใช้ความเชี่ยวชาญในการบริการลูกค้า ให้ออกแบบแนวทางการทำงานเอง ด้วยเหตุนี้ การมอบบทบาทให้แต่ละหน่วย งานและแต่ละบุคคลทำในสิ่งที่ถนัด จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานที่ออกมามี ประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างมาก
ระบบไอทีที่มีเสถียรภาพ
เนื่องจากต้องให้บริการประชาชนจำนวนมากได้อย่างราบรื่น และรวดเร็ว จึงต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับทุกจุดที่สามารถเอามาใช้ได้ ตั้งแต่ระบบการจองคิวผ่านค่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะจัดคิวฉีดวัคซีนให้สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้มีคนมารับบริการจำนวนมากในคราวเดียว หรือเมื่อฉีดวัคซีนแล้วสแกนบาร์โค้ดที่ขวดวัคซีนแล้วข้อมูลยี่ห้อ Lot การผลิตต่างๆ จะปรากฎในหน้าจอพร้อมพิมพ์ออกมาในกระดาษเลย รวมทั้งยังมีระบ U Card reader ที่เสียบบัตรประชาชนแล้วดึงข้อมูลเข้าสู่ระบบลงทะเบียนได้เลย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของซอฟต์แวร์ HIS ที่นำมาใช้ ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะกับสภาพการทำงานของศูนย์ฯ โดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกเพื่อลดภาระการกรอกข้อมูล ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งต้องมีระบบเครือข่ายสารสนเทศที่เสถียรไว้ใจได้ ไม่ล่ม สัญญาณไม่ขาดหาย จนกระทบกับการให้บริการ
แรงใจจากประชาชน
การสนับสนุนของประชาชน เป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจสำคัญให้กับบุคลากรที่ทำงานอย่างหนักให้สามารถยืนหยัดทำงานต่อไปได้อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อนี้มีประชาชน ห้างร้าน บริษัทต่างๆ มาให้กำลังใจทุกวัน บริจาคน้ำดื่ม ขนม นมเนย อุปกรณ์ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ผ่อนคลาย เช่น ทีวี เก้าอี้นวด หรือแม้แต่มาเล่นดนตรีให้ฟัง ส่วนเรื่องอาหารไม่ต้องพูดถึงเพราะ มีคนพร้อมนำอาหารมาให้จำนวนมากจนต้องคอยจัดคิวว่าใครจะมาวันไหน กล่าวได้ว่า ไม่ว่าศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อต้องการสิ่งใด ประชาชนหรือบริษัทต่างๆ พร้อมนำสิ่งของมาช่วยสนับสนุนเสมอ
ข้อเสนอแนะ
แม้การการดำเนินงานจะเป็นโครงการเฉพาะกิจแนวทางปฏิบัติต่างๆ อาจไม่สามารถนำมาขับเคลื่อนงานในระบบปกติได้ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อคิดในหลายเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการอื่นๆ ในอนาคตเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานเช่นนี้อีก จากข้อมูลประสบการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถประมวลข้อเสนอแนะได้ดังนี้
-
เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือวิกฤติ ระบบการสั่งการของผู้บริหารระดับสูงมีความสำคัญ อีกทั้งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องเตรียมความพร้อมสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วย ระบบข้อมูล ทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องกำลังคน จะต้องมีทีมงานที่ดี Put the right person on the right job นอกจากนี้ ต้องมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
-
ต้องวางกำลังให้สอดคล้องกับผลที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งกำลังทรัพยากร กำลังบุคคล กำลังสถานที่ งบประมาณต้องสอดคล้องกับผลที่คาดว่าจะได้รับแล้วทุกอย่างจะได้ตามที่คาดหวัง แต่หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ต้องเพิ่มปัจจัยตัวอื่นๆเพื่อให้สมดุลกัน เช่น ถ้าขาดกำลังเงินก็ต้องเพิ่มกำลังคนมาชดเชยกัน โดยอาจเติมเต็มในลักษณะจิตอาสา
-
การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ต้องมีมากกว่า 2 กระทรวง เพราะ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นความสำเร็จ โดยรวมของประเทศ หากมีหน่วยงานรัฐด้านการประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วยในด้านการสื่อสารกับสาธารณะ จะทำให้ประชาชนทราบข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์ได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันข้อความที่ส่งออกไปจะต้องเป็น ‘Single message’ ในประเด็นที่สำคัญ
-
หากต้องมีการก่อสร้าง ออกแบบ หรือพัฒนาระบบต่างๆ ความต้องการ (Requirement) ของผู้ใช้งานต้องสื่อสารให้ตรงกันกับผู้พัฒนา ผู้ปฏิบัติจะได้ทำงานไปพร้อมกัน การคำนวณงบประมาณต่างๆ จึงจะชัดเจน และที่สำคัญคือทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงาน
-
ในอนาคตหากต้องมีการให้บริการประชาชนจำนวนมาก ต้องใช้ระบบจองคิวทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องเปิด On site จะมีการกำหนดจำนวนที่ชัดเจนว่ารับได้วันละกี่คน รวมทั้งต้องมีการสื่อสารกับประชาชนให้กระจายเวลามารับบริการตลอดวันตามเวลาฉีด
-
การทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐอาจให้ความสำคัญโดยนำมาตรการลดหย่อนภาษีมาช่วยภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยงาน เพราะแม้ภาคเอกชนจะยินดีช่วยงานรัฐ แต่การนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้จะยิ่งสร้างแรงจูงใจ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระให้ภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง
-
การทำงานกับเครือข่ายมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม วิชาชีพต่างๆ มีความสำคัญเหมือนกันหมด ทุกอย่างต้องช่วยกันดำเนินงาน ซึ่งการที่จะดึงเครือข่ายมาร่วมทำงานอย่างเต็มที่ และมีเป้าหมายเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ ข้อเท็จจริง (Truth) ต้องสื่อสารเข้าใจตรงกัน และพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน
-
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อครั้งนี้ ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือมีกลไกให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจบางอย่าง ทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของนโยบายและให้ความร่วมมือมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือการถอดบทเรียนการดำเนินงานของ 'ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ' ที่กว่าจะประสบความสำเร็จและดำเนินการผ่านมาได้อย่างราบรื่นเพื่อประโยชน์สูงสุด ต้องมากจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมก็ตาม ซึ่งเกิดจากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีเป้าหมายเดียวกันในการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19