รัฐบาลจีนก็ได้พยายามที่จะเว้นระยะห่างจากรัสเซียเล็กน้อยเช่นกันในแถลงการณ์ โดยพูดถึงคำว่าประเทศจีนนั้นมี “การสนับสนุนอธิปไตยของยูเครนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง” และกล่าวเสริมว่าจีนพร้อมที่จะทำให้ “ทุกความพยายามในการยุติสงครามเกิดขึ้นผ่านการทูต” นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเสียใจเกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ทางทหารและความกังวลต่อการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่สำคัญว่าประเทศจีนนั้นอาจจะสามารถรับบทนายหน้าเพื่อทำให้เกิดการหยุดยิงขึ้นมาก็เป็นได้
วิกฤติสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่กินเวลามา 2 สัปดาห์นั้นดูเหมือนว่ายังคงไม่สามารถจะหาข้อยุติได้ ในขณะที่ประชาคมโลก โดยหลายๆประเทศได้เริ่มที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อที่จะยุติความขัดแย้งนี้ อาทิ ประเทศตุรกี,ประเทศอิสราเอล และประเทศฝรั่งเศสเป็นต้น
ทำให้ ณ เวลานี้ประชาคมโลก ต่างเริ่มมองท่าทีของประเทศจีนที่ค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับประเทศรัสเซียว่าจะขยับอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขวิกฤตินี้
ล่าสุดทางสำนักข่าวช่องวิทยุเรดิโอฟรียุโรป/วิทยุเสรีภาพหรือ Radio Free Europe / Radio Liberty ( RFE/RL ) ได้มีการเผยแพร่รายงานในหัวข้อว่าประเทศจีนสามารถจะนำเอาประเทศรัสเซียกลับขึ้นสู่ตะเจรจาได้หรือไม่ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
จากสถานการณ์วิกฤติยูเครนที่ดูเหมือน่าจะยังหาข้อยุติไม่ได้ ณ เวลานี้ ทำให้เดิมพันทางการทูตมีสูงขึ้นมากตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายตะวันตกได้เรียกร้องให้ประเทศจีนได้มีการใช้อิทธิพลเพื่อกดดันประเทศรัสเซียในการยุติสงครามในยูเครน ซึ่งนี่ก็ได้ผลักดันให้ประเทศจีนต้องกลายเป็นคนกลาง ผู้ไกล่เกลี่ยที่ดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพในวิกฤติครั้งนี้
อนึ่งประเด็นเรื่องที่มีการพูดกันว่าประเทศจีนนั้นจะสามารถใช้บริบททางการทูตเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้นเริ่มถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนได้ออกมากล่าวว่าตัวเขาได้รับความเชื่อมั่นว่าประเทศจีนนั้นมีความสนใจที่จะยุติสงครามนี้
“การทูตจีนถือว่ามีเครื่องมือที่เพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างได้ เราหวังว่ามันจะได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว และความพยายามของพวกเขาจะประสบความสำเร็จ” นายคูเลบากล่าว
ทั้งนี้หลังจากแถลงการณ์ของนายคูเลบา ก็มีเสียงสะท้อนออกมาจากทางฟากตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียก็ออกมาเรียกร้องให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในความพยายามจะหยุดความขัดแย้ง และนายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียู ก็ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์เอล มุนโด้ ของสเปนด้วยเช่นกันว่าทางกรุงปักกิ่งนั้นสามารถที่จะมาเป็นสื่อกลางในการหาทางออกทางการทูตได้
“เรา (ยุโรป) ไม่สามารถจะเป็นสื่อกลางได้ นี่เป็นประเด็นที่ชัดเจนอยู่แล้ว และแน่นอนว่าไม่ใช้สหรัฐอเมริกาอีกเช่นกัน ดังนั้นจะเหลือใครอีก ก็คงต้องเป็นประเทศจีน ผมเชื่อเช่นนั้น” นายบอร์เรลล์กล่าวเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
ในขณะที่บทบาทอันมีศักยภาพในการพูดคุยกันเรื่องสันติภาพของประเทศจีนนั้นกำลังเป็นที่จับจ้องด้วยความสนใจ อันเนื่องมาจากว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชัดของประเทศจีนกับทางทำเนียบเครมลิน, ผู้เชี่ยวชาญและนักการทูตบางคนก็ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นทั้งข้อมูลต่างๆ ,แรงจูงใจ และการต่อรองเพื่อสร้างอิทธิพลของประเทศจีนสำหรับการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามในครั้งนี้
“จีนไม่น่าจะเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจังในยูเคน” นายไรอัน แฮสส์ สมาชิกอาวุโสจากสถาบันบรู๊คกิ้งส์ และอดีตผู้อำนวยการด้านประเทศจีน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐอเมริกากล่าวกับสำนักข่าว RFE/RL และได้กล่าวต่อไปด้วยว่าอย่างดีที่สุดประเทศจีนนั้นอาจจะพยายามสวมหน้ากากทางการทูต เพื่อสร้างเครดิตให้ตัวเอง ว่าน่าเชื่อถือ แม้ว่าประเทศจีนจะยังคงเอียงข้างไปทางมอสโก
ความเห็นของประชาชนจีนเกี่ยวกับประเทศรัสเซียและเกี่ยวกับวิกฤติยูเครน (อ้างอิงวิดีโอจาก ASIAN BOSS)
@ระบำทางการทูตสำหรับประเทศจีน
ทั้งนี้แม้มีความสงสัยเกี่ยวกับความเต็มใจของรัฐบาลจีนว่าจะเอียงข้างไปทางมอสโกหรือไม่ ทางอียูก็ได้มุ่งเน้นไปที่การกดดันประเทศจีนว่าต้องใช้อิทธิพลที่ตัวเองมีกับประเทศรัสเซีย ในการเป็นนายหน้าเพื่อดำเนินการในเรื่องการหยุดยิง และนำทางมอสโกกลับขึ้นสู่โต๊ะเจรจา
โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา นายบอร์เรลล์ ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้กับทางนายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศจีนเช่นกัน
“จีนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงมอสโกเนื่องจากความสัมพันธ์ของพวกเขาและเราต้องการให้จีนใช้อิทธิพลของตนเพื่อกดดันให้เกิดการหยุดยิงและทําให้รัสเซียหยุดการกระทำที่โหดร้ายอันเป็นประวัติการณ์ซึ่งรวมไปถึงการฆ่าพลเรือนในยูเครน”นายบอร์เรลล์กล่าวต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.
ที่ผ่านมานั้นทางรัฐบาลจีนได้มีการสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับรัสเซียในตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์นั้นก็ได้รับการยืนยันแล้วผ่านการพบปะระหว่างนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายนั้นต่างร่วมกันประกาศความร่วมมืออันไร้ขีดจำกัด
อนึ่ง ประเทศจีนได้พยายามเว้นระยะห่างให้กับตัวเองมาตลอด หลังจากที่รัสเซียได้เริ่มรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางเครมลินได้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบ ซึ่งเล็งไปที่เป้าหมายในพื้นที่ทางพลเรือนมากขึ้น ทางประเทศจีนก็ยังคงดำเนินการเพื่อเลี่ยงจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆที่มาจากทางกรุงมอสโก
ตัวอย่างที่สำคัญคือว่าประเทศจีนนั้นหลีกเลี่ยงที่จะเรียกสงครามนี้ว่าเป็น “การรุกราน” และเลือกที่จะใช้คำว่า “ความกังวลด้านความมั่นคงที่ถูกต้องชอบธรรม” ของประเทศรัสเซียแทน โดยในแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา นายหวังได้กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นยงคงแข็งแกร่ง และกล่าวในเชิงบวกว่าในอนาคตนั้นทั้ง 2 ประเทศจะมีโอกาสมากขึ้นในด้านของความร่วมมือ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ได้พยายามที่จะเว้นระยะห่างจากรัสเซียเล็กน้อยเช่นกันในแถลงการณ์ โดยพูดถึงคำว่าประเทศจีนนั้นมี “การสนับสนุนอธิปไตยของยูเครนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง” และกล่าวเสริมว่าจีนพร้อมที่จะทำให้ “ทุกความพยายามในการยุติสงครามเกิดขึ้นผ่านการทูต” นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเสียใจเกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ทางทหารและความกังวลต่อการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่สำคัญว่าประเทศจีนนั้นอาจจะสามารถรับบทนายหน้าเพื่อทำให้เกิดการหยุดยิงขึ้นมาก็เป็นได้
“จีนยังคงต้องการที่จะครอบครองพื้นที่สีเทา อันจะช่วยให้สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับทุกฝ่าย” นางฟรานเชสกา กีเรตติ นักวิเคราะห์จากศูนย์ความคิดเมริคส์ ในกรุงเบอร์ลินให้สัมภาษณ์กับ RFE/RL
“แถลงการณ์จากกรุงปักกิ่งค่อนข้างมีความสอดคล้องกันตลอด โดย ณ เวลานี้ ประเทศจีนยังคงได้รับผลประโยชน์ที่ค่อนข้างน้อย จากบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ย” นางกีเรตติกล่าว
โดยเจ้าหน้าที่ตะวันตกบางคนหวังว่าการเพิ่มแรงกดดันจากสาธารณชนต่อกรุงปักกิ่งมากขึ้น และการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นภาพลักษณ์ของประเทศจีนนั้นจะทำให้ประเทศจีนต้องคิดใหม่และเปลี่ยนท่าที
ในช่วงเวลาระหว่างการเยือนประเทศลิทัวเนียเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา นายแอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวหารัฐบาลจีนว่าเสแสร้ง และกล่าวต่อไปว่าแม้ว่าจะมีการใช้ถ้อยคำเช่น “การรักษาความสงบเรียบร้อง เสถียรภาพ และความเคารพอธิปไตยระหว่างประเทศ” แต่ประเทศจีนก็ยังคงยืนอยู่เบื้องหลังกรุงมอสโก และกล่าวต่อไปว่า “การกระทำนั้นกำลังพูดดังกว่าคำพูดของทางรัฐบาลจีนมาก”
โดยล่าสุดแม้ว่าจะมีความพยายามเพื่อผลักดันประเทศจีน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้าออกมาเพียงเล็กน้อยมาก ซึ่งนักการทูตของอียูรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับประเด็นเหล่านี้ได้บอกกับ RFE/RL ว่าขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยอย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนเลย แม้ว่าจะมีแถลงการณ์จากอียูออกมาก็ตาม
“ทุกคนที่เอื้อมมือ เข้าหานายปูตินนั้น ดูเหมือนว่าจะมีความยินดีที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ย แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าเขายังไม่ได้แสดงความพร้อมหรือความสนใจใดๆกับใครเลยในการเข้าสู่กระบวนการเจรจา หรือว่าจะให้คนนั้นทำหน้าที่เป็นตัวกลาง” นักการทูตระบุ
@ถ้าไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย แล้วจะอย่างไรต่อไป
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานั้นทั้งจีนและรัสเซียมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าหาซึ่งกันและกันอันเนื่องมาจากความเป็นปฏิปักษ์ที่มีร่วมกันต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และความปรารถนาว่าจะผลักดันในสิ่งที่เป็นแรงกดดันจากทางประเทศฝั่งตะวันตกกลับไป
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและอดีตเจ้าหน้าที่หลายคนกล่าวว่ารัฐบาลจีนไม่น่าจะทิ้งมอสโกในฐานะพันธมิตรไป โดยพวกเขายอมรับว่าทั้งการรุกรานของประเทศรัสเซีย วิกฤติทางด้านมนุษยธรรมและการเมือง นั้นจะไม่มีทางส่งผลดีกับทางประเทศจีนแน่ นี่จึงทำให้ทางกรุงปักกิ่งต้องหาทางปรับตำแหน่งของตัวเองใหม่
“จีนอาจจะเชื่อว่าความขัดแย้งนี้มีส่วนอยู่ในผลประโยชน์ของตน เพราะว่าประเทศจีนนั้นมีความเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพพอในการหันเหความสนใจของสหรัฐฯ และทำให้เกิดการแบ่งขั้วในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแอตแลนติก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้อียูและสหรัฐฯมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นไปอีก และก่อให้เกิดการทบทวนนโยบายต่างประเทศ ที่อาจจะสะท้อนมายังกรุงปักกิ่งได้” นายโนอาห์ บาร์กิน จากโรเดี่ยม กรุ๊ป กล่าวกับ RFE/RL
ทั้งนี้เมื่ออ้างถึงรายงานข่าวกรองของทางฝั่งตะวันตก ทางด้านของสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ได้รายงานข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่จีนได้เคยบอกกับทางฝั่งของรัสเซียในช่วงต้นเดือน ก.พ.ชัดเจนว่าอย่าเริ่มปฏิบัติการณ์รุกรานประเทศยูเครนก่อนที่จะสิ้นสุดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งในกรณีนี้นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่านายปูตินได้บอกกับนายสีโดยตรงหรือไม่เกี่ยวกับแผนการเปิดสงครามกับประเทศยูเครน
โดยทางเจ้าหน้าที่จีนได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าวแล้วว่าเป็นข่าวปลอมอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีการเน้นย้ำไปด้วยว่าต้องมีการคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านชื่อเสียงและในด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งกรุงปักกิ่งจะต้องเผชิญ ทั้งจากการรักษาหน้าของตัวเองซึ่งโยงไปถึงประเทศรัสเซีย และการพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเสียงแรงกดดันในแง่ลบกลับมา อันเป็นผลเนื่องจากการตัดสินใจรุกรานของกรุงมอสโก และยอดเสียชีวิตทางพลเรือนที่เริ่มจะพุ่งสูงขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นที่กรุงปักกิ่ง ประเมินนายปูตินผิดพลาด และในประเด็นเรื่องผลกระทบของการตัดสินใจรุกรานประเทศยูเครนของนายปูติน อันจะนำไปสู่การติดสินใจแก้ปัญหาของทางฝั่งประเทศตะวันตก หรือการตัดสินใจว่าผลประโยชน์ระยะยาวที่จะได้จากความขัดแย้งนี้ จะมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดในระยะสั้น แต่สิ่งที่ชัดเจน ก็คือว่าประเทศจีนจะต้องเริ่มที่จะปรับท่าทีการแสดงออกในเร็วๆนี้ มิฉะนั้นประเทศจีนอาจมีความเสี่ยงต้องเสียภูมิภาคยุโรปไป ดังนั้นในกรณียูเครนแล้วถือได้ว่าเป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอียูและประเทศจีน” นายบาร์คินกล่าว
ดังนั้นนี่จึงถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากสำหรับกรุงปักกิ่งในการจะดำเนินนโยบายแบบสมดุล
อนึ่งผู้ที่กำหนดนโยบายของประเทศจีนนั้นยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่อาจจะไปขัดขวางการเพิ่มพูนอิทธิพลของประเทศจีนเอง ดังนั้นประเทศจีนจึงมองรัสเซียว่าเป็นเหมือนกันพันธมิตรที่มีความจำเป็นยิ่ง ในการที่ประเทศจีนจะต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการตัดสินใจรุกรานของกรุงมอสโกนั้นต้องยอมรับว่าทำให้ประเทสจีนอยู่ในจุดที่ค่อนข้างจะน่าปวดหัว
นายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้กล่าวเกี่ยวจุดยืนของประเทศจีนกับวิกฤติยูเครน ว่าต้องเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ (อ้างอิงวิดีโอจาก CGTN)
โดยนายแฮสส์ที่เคยดูแลเกี่ยวกับนโยบายทางด้านประเทศจีนภายใต้การดำเนินงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวว่า “ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะยึดติดกับมอสโกอย่างใกล้ชิด” แต่ก็ยังมีบทบาทที่จีนยังไม่ได้ทำในฐานะนายหน้าในการดำเนินการเพื่อสันติภาพ ซึ่งจีนสามารถจะเล่นบทนี้ได้ในการรักษาเสถียรภาพอันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน
“สหรัฐฯและประเทศอื่นๆนั้นจะเป็นผู้ที่มีบทบาทเหมาะสมที่สุดในการเข้าไปมีส่วนร่วมของทางกรุงปักกิ่ง ในประเด็นซึ่งยังไม่มีความต่อเนื่องเกี่ยวพันไปถึงเรื่องอื่นๆ โดยประเทศจีนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในวิกฤตินี้นี้ได้ด้วยแนวทางอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขสถานการณ์ เช่น ประเทศจีนจะสามารถช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศยูเครนได้อย่างไร ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้ประเทศจีนสามารถหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าไม่ยอมร่วมลงโทษประเทศรัสเซีย และไม่ไปขวางทางต่อการที่ประชาคมโลกที่สหประชาชาติจะดำเนินการกดดันเพื่อให้ทางมอสโกแสดงความรับผิดชอบในอนาคตต่อไป” นายแฮสส์กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.rferl.org/a/ukraine-invasion-china-mediation-russia-standish/31743417.html