“…ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว มีเด็กผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย วัย 12-17 ปี 9% หรือ 400,000 คน หากคิดตามสัดส่วนของประชากร ตกเป็นผู้เสียหายร้ายแรงจากการถูกแสวงหาประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ และยังพบอีกว่า ผู้ละเมิด ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ส่วนบุคคลที่ไม่รู้จักมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น…”
ปัจจุบันโลกออนไลน์พัฒนาไปมาก ทำให้เกิดการสื่อสารไร้พรมแดนด้วยอินเทอร์เน็ต แม้จะช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีประโยชน์มากมายมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิดที่เป็นตัวเร่งให้ชีวิตหลายๆ ด้านต้องเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์
แต่ในมุมกลับกันโลกออนไลน์ก็ให้โทษไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับเด็กที่อาจรู้ไม่เท่าทัน อาจตกเป็นเหยื่อของการถูกแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ได้
ข้อมูลจาก ‘Disrupting Harm’ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation and Abuse: OCSEA) ที่จัดทำขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT) องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ โดยสำนักงานวิจัยอินโนเซ็นติ (UNICEF Innocenti)
‘Disrupting Harm’ ได้นำเสนอหลักฐานเกี่ยวกับความเสี่ยงทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก พัฒนาการของความเสี่ยงนั้นๆ และความเกี่ยวพันกับความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลใน 6 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย และ 7 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงข้อมูล มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเทศไทยเป็นอีก 1 ประเทศที่เด็กอายุ 12-17 ปี มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี 2563 ถึง 94% โดยจากการสำรวจ 1,334 ครัวเรือน มี สามารถจำแนกเป็น เด็กวัย 12-13 ปี เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 88% อายุ 14-15 ปี 97% และอายุ 16-17 ปี 98% แสดงให้เห็นได้ว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้นตามช่วงอายุที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กผู้หญิงจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 95% มากกว่ากลุ่มเด็กผู้ชาย 93% และการอาศัยอยู่ในเมืองจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าถึง 96% ขณะที่ชนบทอยู่ที่ 92%
สำหรับจำนวนเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด 967 คน ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ 96% รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ 15% และแท็บแล็บ 5% ตามลำดับ มีความถี่ในการใช้งานวันละครั้งหรือมากกว่า ถึง 99% ส่วนที่เหลือ 0.9% ใช้อย่างน้อยทุกสัปดาห์ และ 0.3% ใช้อย่างน้อยทุกเดือน
เรียกได้ว่ากิจกรรมออนไลน์เป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มเด็ก 12-17 ปี โดยใช้เพื่อส่งข้อความหรือแชท การใช้อินเทอร์เน็ตในการบ้านที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน หรือค้นหาข้อมูลใหม่ๆ แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลใจอย่างมากสำหรับเด็ก รวมถึงผู้ปกครองของพวกเขา คือ การที่เด็กสื่อสารกับบุคคลที่ไม่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต
9% ของเด็ก 12-17 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์
จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของ ‘Disrupting Harm’ พบว่าในปีที่ผ่านมา เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 9% จากทั้งหมด 967 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ อาทิ การถูกขู่ว่าจะเปิดโปงความลับเพื่อให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ การส่งต่อรูปภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาติ หรือบีบบังคับให้ร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือของขวัญเป็นการตอบแทน
และหากเปรียบเทียบกับสัดส่วนต่อประชากร จะประมาณการได้ว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี มีเด็กจำนวน 400,000 คน ตกเป็นเป้าหมายของภัยอัตรายนี้
โดยสื่อสังคมออนไลน์ที่เด็กๆ ระบุว่าถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) อินสตาแกรม (Instagram) และติ๊กต๊อก (Tiktok)
ผู้ละเมิดมักเป็นคนที่เด็กรู้จัก มีแค่ 1 ใน 5 คือคนแปลกหน้า
ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนในประเทศไทยยังพบอีกว่า บุคคลที่เริ่มเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ส่วนบุคคลที่ไม่รู้จักมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น
ขณะเดียวกันการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในคดีเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ระหว่างปี 2560-2562 สนับสนุนข้อค้นพบว่า ผู้ละเมิดต่อเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายของเด็กผู้เสียหาย หรือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเด็กเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้การสำรวจเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ที่เป็นผู้ถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในปีที่ผ่านมา จำนวน 50 คน ต่างก็ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้ละเมิดต่อเด็กคือบุคคลที่มีตำแหน่งหรืออำนาจเหนือเด็ก
ข้อค้นพบนี้มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากหลายครั้งที่เราพยายามเน้นการป้องกันอัตรายจากบุคคลแปลกหน้ามากกว่าบุคคลที่เด็กรู้จัก แต่ผู้ที่ละเมิดหลายคนกลับกลายเป็นคนใกล้ชิด ซึ่งข้อมูลนี้ควรนำไปพิจารณาในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเด็กผู้เสียหาย เนื่องจากเด็กจะประสบความยากลำบากในการขอความช่วยเหลือ หากผู้ละเมิดคือคนที่เด็กต้องพึ่งพาด้านอารมณ์หรือทางเศรษฐกิจ
เด็กเพียง 1-3% เลือกแจ้งตำรวจ
ในส่วนของการเปิดเผยการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ พบว่า เด็กอายุ 8-15 ปี ส่วนใหญ่จะเปิดเผยเรื่องดังกล่าวกับผู้ปกครองที่เป็นผู้หญิง พี่น้อง หรือเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ น้อยมากที่จะแจ้งเหตุกับตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ หรือสายด่วนของทางการ
ขณะที่เด็ก 10-31% ซึ่งถูกแสวงผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ จะไม่เปิดเผยประสบการณ์ลักษณะดังกล่าวของตนเองต่อผู้อื่น และมีเด็กเพียง 1-3% เท่านั้นที่จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อตำรวจ
อุปสรรคสำคัญถึง 47% เด็กไม่รู้ว่าจะแจ้งข้อมูลได้ที่ไหน หรือจะบอกข้อมูลกับใคร ซึ่งข้อมูลนี้บ่งบอกว่าเด็กไม่คุ้นเคยกับกลไกการแจ้งเหตุอย่างเป็นทางการที่มีอยู่หรือไม่รู้สึกสะดวกใจในการเปิดเผยข้อมูลกับผู้ปกครองของพวกเขา และอีกปัจจัยสำคัญรองลงมา คือ เด็กคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไม่ร้ายแรงมากพอที่จะรายงาน
โดยจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ต่อผู้เข้าร่วมการสำรวจ 40-50 คน ระบุว่า การถูกตีตราจากชุมชนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่อยากแจ้งเหตุอาชญากรรมเกี่ยวกับการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ และอีกปัจจัยหลัก คือ 82% ระบุว่า ผู้ปกครองตระหนักถึงความเสี่ยงการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์น้อย
เมื่อถามผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจ ว่า พวกเขาจะทำอย่างไรหากเด็กที่พวกเขาดูแลตกเป็นเป้าหมายถูกคุกคามทางเพศ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตอบว่า จะบอกคู่สมรส 67% บอกสมาชิกครอบครัว 36% และมีเพียง 16% ที่จะแจ้งตำรวจ นอกจากนี้ก็มีบางส่วนที่ตอบว่า พวกเขาจะไม่ทำอะไรเลยหากเด็กตกเป็นเหยื่อของการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ เพราะ เชื่อว่าการแจ้งเหตุจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ รวมทั้งมีความกังวลต่อผลด้านลบที่จะเกิดขึ้น
ถูกตำหนิ-ทำให้อับอาย ปัจจัยสำคัญไม่กล้าบอกใคร
นอกจากนี้ จากการสำรวจเด็กที่เปิดเผยการถูกแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ พบว่า ประสบการณ์ที่เด็กบางคนได้รับกลับมา คือ ความรู้สึกอับอาย ถูกตำหนิ และความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการพูดหรือเปิดเผยเรื่องราวอีก
ขณะที่บางคนก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้เสียหาย แต่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ซึ่งพวกเขาต้องกล้ำกลืนฝืนทน และเด็กๆ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและสาธารณชนมีมุมมองเช่นนั้นต่อพวกเขา
นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังคงต้องเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในศาล โดยเด็กๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเล่าถึงความทุกข์ทรมานใจ ที่ต้องนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีและเผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด
แนะรัฐตั้งหน่วยงานดูแล-สร้างความตระรู้ให้ ปชช.
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ‘Disrupting Harm’ แนะนำให้รัฐบาลไทยควรแต่งตั้งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เน้นเฉพาะกรณีการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยควรจะการดำเนินงานดังนี้
-
เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน
-
จัดให้มีการอบรมด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องแก่พนักงานอัยการ ผู้พิพากษาหรือเจ้าพนักงานตุลาการศาล ทนายความ เจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางสังคม และครู เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละหน่วยงานในกรณีของการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์
นอกจากนี้ ยังแนะนำ ไม่ให้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศว่าเป็นสิ่งที่ควรประณาม และดำเนินงานปรับโครงการด้านการศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศจากเด็ก เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่อาจเอื้ออำนวยให้เกิดการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดดังกล่าว
ภัยคุกคามทางเพศทางออนไลน์ นับเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ผู้ปกครองรวมถึงผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อยุติกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในยุคเทคโนโลยี ที่มีผู้ใช้โอกาสนี้เข้าถึงเด็กได้อย่างง่ายดายหลายรูปแบบ