"...การรักษาผู้ป่วยโควิดจะยังดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดโควิด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน จึงเสนอให้มีการเลื่อนการปรับใช้สิทธิ UCEP ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่าจะสามารถดูแล รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดได้..."
จนถึงวันนี้ ‘โควิด’ ยังเป็นโรคฉุกเฉิน ประชาชนทุกคนยังรักษาตามสิทธิ์ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือที่เรียกว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตใช้สิทธิ์รักษาฟรี
UCEP คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเพิ่งมีข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมปลด ‘โควิด’ พ้นจากสิทธิ์ UCEP ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป
แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ได้มีมติเห็นชอบเลื่อนการประกาศดังกล่าวออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
- ส่องผลกระทบ หากปลดโควิดพ้นยูเซ็ป การรักษาจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
- 'อนุทิน'ปรับเกณฑ์โควิด'สีเขียว'รักษาฟรีตามสิทธิ์ ป่วยรุนแรงเข้า UCEP Plus มีผล 1 มี.ค.
ปลดโควิดพ้น UCEP ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดจะยังดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดโควิด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน จึงเสนอให้มีการเลื่อนการปรับใช้สิทธิ UCEP ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่าจะสามารถดูแล รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดได้
“ขอให้ประชาชนมั่นใจในสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการต่างๆ เอาไว้ และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ความเหมาะสม แม้ว่าเดิมคิดปรับมาตรการเป็น UCEP Plus แต่ในเมื่อมีการแพร่ระบาดขณะนี้ สธ.ก็ปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามสถานการณ์ของแต่ละช่วง จึงมีการขยายเวลาการใช้สิทธิ UCEP ออกไปอีก” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ให้มีการนำเรื่องนี้กลับไปทบทวน รวมถึงซักซ้อมทำความเข้าใจในการให้บริการกับประชาชน การรับและส่งต่อผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว รวมถึงปรับปรุงสายด่วน สปสช. 1330 และพัฒนาการบริการให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
โควิดยังอยู่ใน UCEP ห้าม รพ.ปฏิเสธรับผู้ป่วย
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 1 มี.ค.2565 เรามีแผนที่จะปรับระบบริการ โดยให้ผู้ป่วย ‘สีเขียว’ หรือกลุ่มที่มีอาการน้อย ไปใช้การรักษาตามสิทธิ์ของตนเอง เช่น บัตรทอง หรือ ประกันสังคม
รวมถึงจะประกาศแผน UCEP COVID PLUS เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนัก ‘สีเหลือง-สีแดง’ ยังใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตามมติ ครม.ครั้งนี้ได้มอบหมายให้ สธ. ทบทวนเรื่องกระบวนการ และทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสาร รวมถึงความพร้อมเรื่อง UCEP PLUS ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“ขณะนี้เราคงใช้หลักการ UCEP ดูแลประชาชนต่อ ส่วนกรอบเวลาในการทบทวน เราจะนำเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและเสนอกลับไปอีกครั้ง” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ ยังตอบคำถามเกี่ยวกับการรองรับผู้ป่วยใน Hospitel ที่ยืนยันว่า ยังมีเตียงเพียงพอ ซึ่งโดยปกติมีอัตราการเข้าพักเพียง 30% เท่านั้น
ปัจจุบัน สบส.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ออกประกาศให้สถานที่เหล่านี้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว ล่าสุดมี Hostpitel ทั้งของภาครัฐและเอกชน ประมาณ 200 แห่ง รวม 36,000 เตียง ที่สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
“กลไกเรื่อง UCEP COVID ยังมีผลอยู่ ผู้ป่วยโควิดยังเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแลไม่สามารถปฏิเสธได้ หากโรงพยาบาลพบผู้ป่วยแล้วไม่มีศักยภาพในการดูแล ท่านต้องส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำใดๆ จากผู้ป่วยได้ หากพบว่ามีการดำเนินการดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยบาบาลฯ” นพ.ธเรศ กล่าว
สปสช.ยันป่วยโควิดใช้สิทธิ์รักษาได้ทุกที่
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในอนาคตหากมีการปรับระบบบริการฉุกเฉินหรือ UCEP ยังมีคำถามว่า ผู้ป่วยจะต้องกลับไปรับบริการยังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนหรือไม่ ขอย้ำว่า โควิดเป็นโรคติดต่อที่สามารถรับบริการได้ทุกที่ หากป่วยท่านสามารถไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการยกระดับบัตรทองของเราก่อนหน้านี้
“มีข่าวว่าจะต้องกลับไปรักษาที่หน่วยบริการเท่านั้น ไม่ใช่นะครับ UCEP COVID ยังรักษาได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่บ้าน รักษาในชุมชน ในโรงพยาบาล รวมถึงโรงแรม ระบบยังเข้าไปดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้” นพ.จเด็จ กล่าว
ดังนั้นประกาศปลด 'โควิด' พ้น UCEP ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 จึงยังไม่มีผลใดๆ เกิดขึ้น คนไทยที่ป่วยโควิด ยังสามารถใช้สิทธิ์ตามเดิม ตามมาตรการ UCEP ที่ว่า "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตใช้สิทธิ์รักษาฟรี 72 ชั่วโมง"