"...ที่จําเลยฎีกาขอให้ลดโทษโดยรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยนั้น เห็นว่า ชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลศาลชั้นต้นที่ไม่รอการลงโทษจําคุก ให้แก่จําเลยการที่จําเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 25 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย..."
ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น!
ศาลฎีกา พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นผลให้ "ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" ต้องรับโทษจำคุก รวม 9 ปี 28 เดือน
คือ ความคืบหน้าล่าสุด ใน คดีกล่าวหา ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช). ชี้มูลความผิดกรณีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
น่าสนใจว่า ฎีกาของ ศ.ประกอบ ในคดีนี้ เป็นอย่างไร? ทำไมศาลฎีกา ถึงเห็นว่า ฟังไม่ขึ้น?
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลในคำพิพากษาของ ศาลฎีกา ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้ มานำเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้
จําเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยได้รับแต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้บริหารระดับสูงและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา กับสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบให้จําเลยมีอํานาจใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียนในวงเงิน 5,000,000 บาท
โดยจําเลยนําเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจํานวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาย่อยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อบัญชี นายประกอบ วิโรจนกูฎ
จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทําหรือรักษาเงินสํารองจ่ายหมุนเวียนดังกล่าว
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2549 จําเลยทําสัญญาและอนุมัติให้ตนเองยืมเงินสํารองจ่ายหมุนเวียน 1,000,000 บาท เพื่อบริจาคให้แก่โครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษาประจําปี 2549 ที่วัดหลวง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีของมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 จําเลยนําเงินจํานวน 500,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินทําบุญทอดกฐินดังกล่าวมา คืนเงินสํารองจ่ายหมุนเวียนให้แก่มหาวิทยาลัย
เมื่อระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2550 จําเลยโอนเงินจากบัญชีสํารองจ่ายหมุนเวียน จํานวน 500,000 บาท รวมกับเงินที่จําเลยได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจากบัญชีบริการวิชาการอีก 576,180 เป็นเงิน 1,076,180 บาท จ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่บริษัท Global student services ที่จําเลยตกลงว่าจ้างให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับทักษะการสอนภาษาอังกฤษสําหรับครูโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช หลักสูตร Tesol Certificate ซึ่งจัดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2550 ณ สถาบัน International House Sydney - Teacher Training Centre ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจําปีของมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เมื่อระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 จําเลยโอนเงินสํารองจ่ายหมุนเวียน จํานวน 1,198,000 บาท ให้แก่บริษัทเดอะ กราดูเอ็ด เพื่อเป็นค่าจ้างที่จําเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้จัดทําโครงการยกระดับทักษะการสอนภาษาอังกฤษสำหรับครูโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ศึกษาอบรม ณ สถาบัน Institute of Continuing and tesol education The University of Queensland เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ระหว่าง วันที่ 22 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2551 ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจําปีของมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 จําเลยอนุมัติให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างชั่วคราว 165 ราย กู้ยืมเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาโดยปลอดภาระดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 42,348,468 บาท โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และเมื่อระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2551 จําเลยอนุมัติให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย 13 ราย ที่ได้กู้ยืมเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาและทําสัญญากู้ยืมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งสําเร็จการศึกษาและมีหน้าที่ต้องชําระหนี้เงินกู้ยืมคืนตามสัญญาได้รับการแปลงหนี้เป็นทุนการศึกษาหรือให้ชะลอการชําระหนี้ โดยให้นับเวลาทํางานเป็นการชดใช้เงินกู้ยืมแทนการชําระหนี้ ซึ่งเป็นการระงับหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิ ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนตามสัญญา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยอุบลธาชธานี
ปัญหาต้องวินิจฉับตามฎีกาจำเลย ข้อแรกว่า โจทก์ (มีอํานาจฟ้องคดีนี้และศาลชั้นต้นมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่
โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทําของจําเลยตามฟ้องไม่ใช่การกระทําโดยทุจริต ทําให้ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและชี้มูลความผิด ทั้งการกระทํา ของจําเลยเป็นเรื่องทางแพ่งและทางปกครองไม่ใช่คดีอาญานั้น
เห็นว่า ทางไต่สวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาจําเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินและทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จริงตามมาตรา 43(5)
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ปช. ได้ประชุม ครั้งที่ 381 -39/2555 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 และมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จกรณีความผิดที่กล่าวหาจําเลย ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่ราชการ และเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การกระทําของจําเลยมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบ มาตรา 90 และมาตรา 91 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแก่จําเลยตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552
เมื่อทางไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า การกระทําของจําเลยเป็น ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิด ทางอาญาแก่จําเลยได้
โจทก์ (อัยการ) จึงมีอํานาจฟ้องและเมื่อเป็นความผิดทางอาญา ศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่มีเขต อํานาจจึงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
ฎีกาจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจําเลยข้อต่อไปมีว่า จําเลยกระทําความผิดตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่
โดยจําเลยฎีกาว่า สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอนุมัติให้จําเลยยืมเงินสํารองเพื่อใช้ในการหมุนเวียนแล้วจึงไม่มีความจําเป็นต้องขออนุมัติสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีซ้ำในโครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษาประจําปี 2549 การให้ทุนแก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 1 และโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 2 ทั้งเป็นอํานาจของอธิการบดีตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 กับข้อ 3 และข้อ 4 ของระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินขอมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534
นอกจากนี้การดําเนินการโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้สถาบันการศึกษาสนับสนุนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าในการผลิตบัณฑิตของสถานศึกษา และสอดคล้องกับแนวทางดัชนีชี้วัดของหน่วยงานที่ควบคุมกํากับดูแลมาตรฐานการศึกษาตามกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติตามกรอบวัตถุประสงค์ของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533
จําเลยไม่มีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการ
จําเลยสามารถอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 และอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทําให้การกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ต้อง อาศัยอํานาจสภามหาวิทยาลัยในการออกประกาศแนวปฏิบัติให้กู้ยืมเงินเพื่อสวัสดิการศึกษา เพราะการทําสัญญากู้เงินไม่ใช่การอนุมัติเงิน จึงไม่ต้องเสนอสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดสรรรายได้เป็นงบประมาณประจําปี ตามข้อ 8 ของระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 เพราะเป็นการจัดสวัสดิการภายในของมหาวิทยาลัย
เมื่อสัญญากู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาทําขึ้น โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่เป็นการโอนเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยให้แก่ผู้กู้โดยปลอดภาระดอกเบี้ยอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับผู้อื่น
ส่วนการอนุมัติให้ผู้ที่สําเร็จการศึกษาบางรายได้การแปลงหนี้เป็นทุนหรือให้ชะลอการชําระหนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้กู้เงินยังมิได้จัดทําสัญญาเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากหนี้เงินกู้เป็นให้ทุนผู้กู้อีก 1 เท่าของระยะเวลารับทุน จึงยังไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงต้องบังคับตามสัญญากู้ฉบับเดิม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงไม่ได้รับความเสียหายนั้น
กรณีโครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษากับการให้ทุนแก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 1 และโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 2 นั้น
เห็นว่า แม้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเห็นชอบให้จําเลยมีอํานาจใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียนในวงเงิน 5,000,000 บาทก็ตาม
แต่ตามรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า สภามหาวิทยาลัย มีมติให้อธิการบดีใช้เงินสํารองจ่ายทดแทนเป็นลักษณะเงินสํารองหมุนเวียน จานวน 5,000,000 บาท โดยมีข้อเสนอแนะว่ามหาวิทยาลัยควรจะพิจารณาจัดเก็บค่าหน่วยกิตของนักศึกษาเป็นรายได้ มหาวิทยาลัยควรจะแสดงสถานะการเงินและแผนการดําเนินงานของมหาวิทยาลัยที่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และใช้งบประมาณเงินรายได้ให้สํานักงบประมาณได้ทราบอย่างชัดเจน และให้มหาวิทยาลัย จัดหารายได้โดยให้เอกชนมาลงทุนในที่ดินว่างเปล่าในมหาวิทยาลัย
นาย ธ. คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ให้ถ้อยคําตามบันทึกคําของผู้ให้ถ้อยคําว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จําเลย ขออนุมัติใช้เงินจํานวน 5,000,000 บาท ที่สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อนุมัติไว้เดิมเพื่อใช้เป็นเงินสํารองจ่ายหมุนเวียนทั่วไป ซึ่งสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติโดยให้อธิการบดี ทําบัญชีรายรับ-รายจ่าย
นาง น. ผู้อํานวยการกองกลางสํานักงานอธิการบดี ให้ถ้อยคํา ว่าเนื่องจากสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทักท้วงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียน โดยให้อธิการบดีทําบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจนแยกต่างหาก ซึ่งการทําบัญชีรายรับ - รายจ่าย ต้องมีกําหนดหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายเงิน และจะต้องรายงานการใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียน ต่อสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พยานจึงแจ้งให้ กองคลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและนําเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย
ต่อมากองคลังได้จัดทําร่างระเบียบมหาวิทยาลัยว่าด้วยหลักเกณฑ์การใช้เงินสํารอง แต่จําเลยให้เก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน เนื่องจากไม่จําเป็นต้องออกระเบียบ การใช้จ่ายเงินดังกล่าว จึงไม่ได้นําระเบียบนั้นเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เช่นนี้ เมื่อสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่ได้วางระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียนประกอบกับเงินสํารองหมุนเวียนเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยตามคํานิยามเงินรายได้ ข้อ 3 แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534 แล้ว
การที่จําเลยในฐานะอธิการบดีจะใช้จ่ายเงินสํารองหมุนเวียนจึงต้องปฏิบัติตามข้อ 7 โดยข้อ 7.1 กําหนดให้ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและส่งเสริมวิชาการด้านการเรียนการสอน เพื่อการวิจัย เพื่อการบริการทางวิชาการแก่สังคมเพื่อส่งเสริมศิลปและวัฒนธรรม เพื่อการบริหารงานและสวัสดิการ เพื่อการจัดการทรัพย์สิน ในการบริหารโรงพิมพ์และการดําเนินงานสํานักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และข้อ 7.2 กําหนดให้ ใช้จ่ายในส่วนที่งบประมาณแผ่นดินจัดสรรที่ดีหรือจัดสรรให้ไม่เพียงพอ และรายจ่ายอื่นใด ที่อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยเห็นสมควรด้วยเพื่อประโยชน์ในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย กับข้อ 8 โดยมหาวิทยาลัยต้องจัดสรรเงินรายได้เป็นงบประมาณประจําปีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโครงการดังกล่าวข้างต้นไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจําปีของมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบกับการทอดกฐินสามัคคีและ มอบทุนการศึกษากับการให้ทุนแก์โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชเพื่อส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอน ภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษ มิใช่เป็นการใช้จ่ายเงินรายได้ตาม หลักเกณฑ์ข้อ 7.1 กับข้อ 7.2 และภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยดังกล่าวข้างต้น
เมื่อจําเลยมีอํานาจและหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปต่ามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 21 (1) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 การใช้เงินสํารองหมุนเวียนของจําเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ
เมื่อการกระทําของจําเลยดังกล่าวทําให้วัดหลวง บริษัท Global student services และบริษัทเดอะ กราดูเอ็ด จํากัด ได้ไปซึ่งเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาคทอดกฐินและเงินค่าจ้าง กับครูผู้สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้ไปฝึกอบรมตามโครงการ ถือได้ว่าเป็นการ กระทําเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับผู้อื่น จําเลยมีเจตนาทุจริตแล้ว
จําเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทํา จัดการ รักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
กรณีที่จําเลยอนุมัติให้บุคลากรมหาวิทยาลัย ทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างชั่วคราวกู้ยืมเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาโดยปลอดภาระดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2533 เป็นบทบัญญัติที่กําหนดให้อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ได้ให้อํานาจแก่จําเลยที่จะให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยกู้ยืมเงินรายได้ ของมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาโดยปลอดภาระดอกเบี้ยได้ ทั้งการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวก็มิใช่วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา 6 เมื่อเงินที่ให้บุคลากรกู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยปลอดภาระดอกเบี้ยเป็นเงินรายได้ การใช้จ่ายเงินดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2534
เมื่อระเบียบดังกล่าวมิได้กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินรายได้เพื่อการศึกษาโดยปลอดภาระดอกเบี้ย การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ
การที่จําเลยอนุมัติให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยกู้ยืมโดยปลอดภาระดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นการกระทําเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับผู้อื่น
จําเลยมีเจตนาทุจริตแล้ว
จําเลยจึงมีความเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
กรณีอนุมัติให้ผู้กู้ที่สำเร็จการศึกษาบางรายได้รับการแปลงหนี้เป็นทุนหรือให้ชะลอ การชําระหนี้นั้น ทางไต่สวน พยานให้ ถ้อยคํา ว่า การแปลงหนี้เป็นทุนไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติ ผู้กู้ที่ประสงค์จะขออนุมัติแปลงหนี้เป็นทุนจึงยื่นคําร้องผ่านกองการเจ้าหน้าที่ เมื่อยื่นแล้วพยานจะเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้นว่า การแปลงหนี้เป็นทุนยังไม่มีหลักเกณฑ์จึงเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณา
เมื่ออธิการบดีอนุมัติให้ แปลงหนี้เป็นทุนหรือให้ชะลอการชําระหนี้หรือยกเว้นการชําระหนี้ไปก่อนแล้วจะส่งเรื่องกลับไปยัง กองการเจ้าหน้าที่ กองการเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ยื่นทราบโดยไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาไปยังกองคลัง
สําหรับผู้กู้ที่ไม่ได้ยื่นคําร้องขออนุมัติแปลงหนี้เป็นทุนผ่านกองการเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิการบดีอนุมัติให้แปลงหนี้เป็นทุนหรือสั่งการเป็นอย่างอื่น จะไม่ส่งเรื่องให้กองการเจ้าหน้าที่ สําหรับผู้กู้ที่จําเลยอนุมัติแปลงหนี้เป็นทุนว่าให้ชะลอ การชําระหนี้หรือยกเว้นการชําระหนี้ไปก่อนโดยให้นับระยะเวลาทํางานเป็นการชดใช้ทุน มี 4 ราย ซึ่งเป็นบุคลากรสายอาจารย์ จําเลยมีนโยบายให้ผ่อนปรนการหักเงินเดือน ชำระหนี้ โดยให้นับเวลาทำงานเป็นการชดใช้แทน เช่นเดียวกับผู้กู้สายอาจารย์ที่ได้รับทุนจากรัฐบาล กองการเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้แจ้งให้กองคลังหักเงินเดือนชําระหนี้ตามสัญญา
เมื่อจําเลยอนุมัติให้ผู้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแปลงหนี้เป็นทุนหรือให้ชะลอการชําระหนี้หรือยกเว้นการชำระหนี้ไปก่อนโดยไม่มีกฎหมายหรือระเบียบของมหาวิทยาลัยให้อํานาจจําเลยที่จะกระทําดังกล่าวได้ การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จําเลยอนุมัติให้ผู้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแปลงหนี้เป็นทุน หรือให้ชะลอการชําระหนี้หรือยกเว้นการชำหนี้ไปก่อน ถือได้ว่าเป็นการกระทําเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสอบผู้อื่น
จําเลยมีเจตนาทุจริตแล้ว
จําเลย จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ฎีกาจําเลยข้ออื่น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคําพิพากษานี้จึงไม่จําต้องวินิจฉัย
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วย ฎีกาจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จําเลยฎีกาว่า การไต่สวนของศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
เห็นว่า จําเลยไม่ได้อ้างว่าศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร อ้างแต่เพียงว่าการไต่สวนไม่เป็นธรรมแก่จําเลย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง
และที่จําเลยฎีกาขอให้ลดโทษโดยรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยนั้น เห็นว่า ชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลศาลชั้นต้นที่ไม่รอการลงโทษจําคุก ให้แก่จําเลย
การที่จําเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 25 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน
******************
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 (ศาลชั้นต้น) เกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาจำคุก จากเดิม 11 ปี 4 เดือน เหลือจำคุก 9 ปี 28 เดือน เนื่องจากเห็นว่าการกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 1 ปีรวม 2 กระทง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในแหน่งโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 8 เดือน 2 กระทง รวมเป็นจำคุก 9 ปี 28 เดือน
เป็นผลให้ ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต้องรับโทษจำคุก รวม 9 ปี 28 เดือน
ปิดฉากคดีนี้ ที่ต่อสู้ ยืดเยื้อ มายาวนาน และนับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างสำคัญ ของ เจ้าหน้าที่รัฐประเภทผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการศึกษารัฐทั่วประเทศ
ไม่ให้เดินซ้ำรอย ทำผิดกันอีกในอนาคต