ยังคงมีภาระและหน้าที่อันละเอียดอ่อนในด้านของการควบคุมไวรัสที่จะต้องปฏิบัติตามต่อไป ควบคู่ไปกับความพยายามที่จะฟื้นคืนการเดินทางและการทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง ซึ่งจากกรณีที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดสายพันุ์โอไมครอนไม่นานมานี้นั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลทำให้แผนการเดินทางระหว่างประเทศชะงักลงและอาจต้องกลับมามีการใช้มาตรการอันเข้มงวดกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ที่มียอดผู้ป่วยรายวันรวมไปถึงยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนั้นต่างก็เดินหน้าเกี่ยวกับนโยบายผ่อนปรนมาตรการป้องกันไวรัส โดยเฉพาะมาตรการด้านการกักตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
จากกรณีดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้ ทางด้านของดาตุ๊ก เสรี วิคเตอร์ วี เลขาธิการสมาคมวิจัยการท่องเที่ยวอาเซียน (ATRA) ต้องออกแถลงการณ์ระบุว่าแต่ละประเทศควรจะมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะเปิดรับการท่องเที่ยวในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาแถลงการณ์ดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
เราเข้าสู่ปีที่ 3 กับการใช้ชีวิตกับไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อประมาณ 1 เดือนก่อน หลายคนคาดกันว่าการมีไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะส่งสัญญาณไปถึงการสิ้นสุดการระบาดใหญ่และเร่งให้ทั่วโลกเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้
แต่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ออกมาเตือนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นยังคงอันตรายสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและทำให้เกิดการเสียชีวิตทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้นกว่า 90 ประเทศทั่วโลกนั้นยังคงฉีดวัคซีนไปไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ขณะที่อีกประมาณ 36 ประเทศมีอัตราของประชากรแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
ดังนั้นขอบเขตของการกลายพันธุ์ของไวรัสก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่าจะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีทั้งศักยภาพในการแพร่เชื้อและความอันตรายมากกว่าเดิมเกิดขึ้นมาอีก
ดาตุ๊ก เสรี วิคเตอร์ วี เลขาธิการสมาคมวิจัยการท่องเที่ยวอาเซียน (ATRA)
นี่ถือว่าเป็นข่าวที่ไม่สามารถจะทำให้เกิดความมั่นใจในสถานการณ์ได้เลย โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว
สำหรับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นต้องยอมรับว่าสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงและทำให้ธุรกิจการเดินทางด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจและการเดินทางภายในประเทศสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
แต่ทว่ายังคงมีภาระและหน้าที่อันละเอียดอ่อนในด้านของการควบคุมไวรัสที่จะต้องปฏิบัติตามต่อไป ควบคู่ไปกับความพยายามที่จะฟื้นคืนการเดินทางและการทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง ซึ่งจากกรณีที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดสายพันุ์โอไมครอนไม่นานมานี้นั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลทำให้แผนการเดินทางระหว่างประเทศชะงักลงและอาจต้องกลับมามีการใช้มาตรการอันเข้มงวดกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนต่างก็นำแนวทางในเรื่องของโรคประจำถิ่นมาใช้บ้างแล้ว เพื่อที่จะพยายามเรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรกับไวรัส และยอมรับว่าไวรัสนั้นคงจะไม่หายไปในเร็วๆนี้แน่นอน
ดังนั้นประเทศในอาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นการเดินทางอีกครึ้งหนึ่ง และมาตรการดังต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่จะเอื้อต่อทั้งการเปิดและการอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาค
โดยมาตรการที่ว่ามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ควรจะมีกฎ กระบวนการ และมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งมาตรการที่ว่านั้นก็จะต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะใช้เหมือนๆกันในภูมิภาค
2.สร้างรูปแบบการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและสามารถคาดการณ์ได้ โดยการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จะต้องมีการประสานงานกันสำหรับการข้ามพรมแดนและการรวมภูมิภาคในอาเซียนเพื่อจะเริ่มต้นการเดินทางและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนอันเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง
3.การให้ความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในข้อตกลงการเดินทาง ซึ่งหมายความว่าการจองตั๋วการเดินทางนั้นจะต้องถูกคุ้มครองจากความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของนโยบายการเดินทาง และมาตรการป้องกันต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียงสั้นๆเท่านั้น
โดยข้อจำกัดด้านชายแดนระหว่างประเทศนั้นอาจมีความซับซ้อนและผู้เดินทางก็ไม่ต้องการที่จะตกไปอยู่ในสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์อันนำไปสู่ความยุ่งยากและการมีค่าใช้จ่ายโดยไม่คาดคิด
4.ต้องมีการใช้แนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศในอาเซียนเพื่อให้ประชาชนสามารถจัดทำเอกสารการรับรองสถานะโควิด-19 ของตัวเองที่จะได้รับการยอมรับข้ามประเทศ
5.ผู้เดินทางที่ได้รับการตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการณ์ที่ได้รับการรับรองแล้วสามารถจะจัดทำเอกสารรับรองสถานะโควิด-19 อันเป็นที่ยอมรับข้ามประเทศได้
6.ต้องมีการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่เกินขอบเขต โดยข้อกังวลในด้านข้อมูลความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลนั้นสามารถจะเกิดขึ้นได้จากข้อกำหนดในด้านการติดตามตัว ที่ระบุว่านักเดินทางนั้นจะต้องมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในด้านสุขภาพที่มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เมื่อนักเดินทางเหล่านั้นเดินทางเข้าประเทศผ่านทางสนามบิน
7.พยายามบรรลุข้อกำหนดเรื่องการกักตัว เพราะแม้ว่าพรมแดนจะเปิดนักเดินทางก็ยังคงมีความลังเลในการเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อกำหนดเรื่องการกักตัว
8.สนับสนุนการเปิดจุดหมายปลายทางไม่ว่าจะทั้งใหญ่หรือเล็ก โดยรัฐบาล ภาคส่วนเอกชนและชุมชนท้องถิ่นควรจะมีความร่วมมือด้วยกันในการจัดตั้งสายการดำเนินงานและดำเนินนโยบายใหม่ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เดินทางและให้ความสนใจเป็นพิเศษกับระเบียบปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น
9.การสนับสนุนของรัฐบาลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหนึ่ง อาทิ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสิ่งจูงใจสำหรับการเดินทาง โดยความอยู่รอดของธุรกิจท่องเที่ยวนั้นจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน อันเป็นแหล่งพึ่งพิงของปากท้องประชาชนจำนวนมากได้อีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบการตรวจพีซีอาร์ก่อนเข้าประเทศฟิลิปปินส์อย่างน้อย 48 ชั่วโมง (อ้างอิงวิดีโอจาก VFAM TV)
ทั้งนี้สาระสำคัญที่สุดคือรัฐบาลอาเซียนควรค้องมีการประสานงานเพื่อลดระดับเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนอีกครั้งหนึ่ง
โดยมาตรการสำคัญบางประการรวมไปถึงระเบียบการมาตรฐานนั้น จะต้องมีการนำเอาขั้นตอนที่ยุ่งยากบางอย่างออกไป และปรับใช้ระบบการยืนยันตัวด้านสุขภาพในเชิงดิจิทัลให้สอดคล้องกันในระดับสากล ซึ่ง ณ เวลานี้สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดขึ้นภายใต้รูปแบบของการบูรณาการที่เพียงพอต่อการกลับมาของการเดินทางข้ามประเทศ
อนึ่งภาวะโรคระบาดนั้นถือเป็นปัจจัยเร่งทำให้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้กับชีวิตและการทำงานของเรา ดังนั้นจึงทำให้เกิดช่องว่างของทักษะในตลาดแรงงานท้องถิ่นอันเป็นอุปสรรคต่อการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้
สำหรับภาคแรงงานการท่องเที่ยวแล้ว เพื่อให้มีความพร้อมต่ออนาคตนั้น หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวควรใช้ช่วงเวลาในภาวะโรคระบาดนี้ดำเนินการจัดการสัมนาออนไลน์ ฝึกฝนผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะทางดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติ
เรียบเรียงจาก:https://www.nst.com.my/opinion/columnists/2022/02/771441/reopening-asean-region-tourism