“…โดยสรุปสถานการณ์ภายในประเทศไทย สายพันธุ์โอไมครอนเป็นเจ้าตลาดแทนเดลต้าเกือบหมดแล้ว และเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว การที่แพร่เร็วและติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ มีโอกาสกลายพันธุ์ได้ สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย สายพันธุ์ย่อย BA.2 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ณ วันที่ 7-13 ก.พ. พบประมาณ 2% แต่จากกการสุ่มตรวจเบื้องต้นในบางพื้นที่ ณ วันที่ 5-11 ก.พ. พบเป็น BA.2ในสัดส่วน 18.5% แปลว่าแนวโน้มเจอ BA.2 มากขึ้น จะมีการเฝ้าระวังต่อไป…”
ผ่านมาแล้ว 3 เดือนที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้ไวและเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง ‘เดลต้า’ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ใหม่ล่าสุด ทำให้เป็นที่จับตามอง ว่าจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักหรือไม่
แต่ด้วยความสามารถโดยธรรมชาติของไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ ทำให้เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2565 นอกจากโอไมครอนจะมีสายพันธุ์หลัก คือ 'B.1.1.529' หรือ 'BA.1' แล้ว ยังเริ่มพบการกลายพันธุ์ของโอไมครอนไปอีก 2 สายพันธุ์ย่อย คือ 'BA.2' และ 'BA.3'
ดังนั้นแล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์พันธุ์โควิดและโอไมครอนล่าสุดเป็นอย่างไรนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดแถลงข่าว โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจหาสายพันธุ์กว่า 2,000 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอนถึง 97.2% ขณะที่พบสายพันธุ์เดลต้า 2.8%
10 จังหวัดที่พบสายพันธุ์โอไมครอนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น
สำหรับสัดส่วนการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน มากที่สุดเจอในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 99.4% ส่วนในประเทศเจอ 96.4% คาดว่าอีกไม่นานจะครบ 100%
อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ ขณะนี้จึงพบการกลายพันธุ์ของโอไมครอนไปอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ประกอบด้วย BA.1, BA1.1, BA.2 และ BA.3
สำหรับสายพันธุ์ BA.1 เป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ ส่วน BA.2 มีตำแหน่งกลายพันธุ์เหมือน BA.1 ใน 32 จุด แตกต่างพัน 28 จุด ปัจจุบันมีรายงานพบใน 57 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีรายงานครั้งแรกเมื่อต้นปี 2564 ล่าสุดเริ่มพบการระบาดเข้าไปแทนที่สายพันธุ์หลักแล้วในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก อินเดีย และสวีเดน
ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2 อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 1-2 เดือน เพราะสามารถแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.1 ซึ่งมีรายงานผลการศึกษาในประเทศเดนมาร์ก พบว่า สายพันธุ์ BA.2 สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1
แต่สายพันธุ์ BA.2 จะมีคุณสมบัติในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันหรือไม่นั้น ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับกรมการแพทย์เพื่อติดตามอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไครอน BA.2 ต่อไป
แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ความรุนแรงของ BA.2 อาจไม่แตกต่างจากสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์หลักและวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสามารถป้องกันอาการป่วยและอาการรุนแรงได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนมารับวัคซีน และสำหรับคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มมานานแล้วให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรใดก็ได้ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตและความรุนแรงโรคได้
“BA.2 ข้อมูลในเรื่องการแพร่เร็วเริ่มเห็นสัญญาณอยู่บ้าง จากการเห็นเริ่มเบียดBA.1ในเดนมาร์กแปลว่าเร็วกว่าเดิม ความรุนแรงและหลบวัคซีนอาจดูจากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ยังไม่มีข้อแตกต่างที่มีนัยสำคัญนักเมื่อเทียบกับBA.1 ส่วนป่วยรุนแรงต้องดูในสนามจริงว่าคนติดเชื้อจะรุนแรงแค่ไหน”นพ.ศุภกิจ กล่าว
พบโอไมครอน BA.2 ในไทยแล้ว 18.5%
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การตรวจแยกสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ตรวจได้ในประเทศไทย โดยวิธีการตรวจเบื้องต้นสามารถตรวจได้ คือ ถ้าตรวจเจอ G3339D จะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ถ้าไม่พบจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า
จากนั้นจะนำไปตรวจการหายไปของตำแหน่ง HV69-70 ถ้าหายไปเป็น BA.1 ถ้าไม่หายไปเป็น BA.2 ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสุ่มตรวจบางพื้นที่ของประเทศไทยและคนเดินทางจากต่างประเทศจำนวน 1,975 คน นำมาแยกสายพันธุ์ย่อย 567 ราย เจอเป็น BA.2 จำนวน 105 คน ประมาณ 18.5% และ BA.1 จำนวน 462 คน หรือ 81.5% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของ BA.2 ในประเทศไทย
แต่สายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่เร็วกว่ากี่เท่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่เราจะตามดูเป็นสัปดาห์ๆ ไป สูงสุดตอนนี้ 18% ถ้าสัปดาห์หน้า 30-40% ก็แสดงว่าเร็ว แต่ในระดับโลกเราเห็นว่าจากเดิม 1-2% ตอนนี้เป็น 8-9% แสดงว่าสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมนิดหน่อย ต้องตามดูใกล้ชิด ถ้าแพร่เร็วแล้วไม่มีอิทธิฤทธิ์ก็ไม่มีความหมาย
“โดยสรุปสถานการณ์ภายในประเทศไทย สายพันธุ์โอไมครอนเป็นเจ้าตลาดแทนเดลต้าเกือบหมดแล้ว และเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว การที่แพร่เร็วและติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ มีโอกาสกลายพันธุ์ได้ สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย สายพันธุ์ย่อย BA.2 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ณ วันที่ 7-13 ก.พ. พบประมาณ 2% แต่จากกการสุ่มตรวจเบื้องต้นในบางพื้นที่ ณ วันที่ 5-11 ก.พ. พบเป็น BA.2ในสัดส่วน 18.5% แปลว่าแนวโน้มเจอ BA.2 มากขึ้น จะมีการเฝ้าระวังต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
จ่องดรายงานยอดโควิดทุกวัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากนี้ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อและการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน ไม่ใช่จะเป็นการปกปิด บิดบือนข้อมูล แต่ในการคิดตามสถานการณ์นั่นมีข้อมูลเพียงพอในการเฝ้าระวังแต่ละวันอยู่แล้ว รวมไปถึงการตรวจแยกสายพันธุ์ ซึ่งถ้าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคลดลงก็ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดแยกสายพันธุ์เช่นเดียวกับในหลายประเทศ ที่มีการลดจำนวนการตรวจคัดกรองลงเนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น หลังจากนี้หากพบมีอาการป่วยจึงจะค่อยตรวจและรักษา เหมือนไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอื่นๆ
ชี้ 'เดลต้าครอน' ที่พบในไซปรัส ไม่มีจริง แค่ปนเปื้อน
ส่วนความคืบหน้ากรณีพบ ‘เดลต้าครอน’ นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไซปรัสมีการรายงานพบเดลต้าครอนนั้น จากข้อมูลเชื่อว่าเป็นการปนเปื้อนสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนและเดลต้า เพราะโอไมครอนเหมือนกัน แต่เดลต้าสายพันธุ์ย่อยแตกต่างกันในแต่ละตัวอย่าง ซึ่ง GISAID ได้ถอดออกไปแล้ว ส่วนกรณีของอังกฤษให้รอข้อมูลจากทาง GISIAD
เดินหน้าทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธุ์ BA.1-BA.2
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เรามีตัวอย่าง BA.1 และ BA.2 ก็จะทำการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน โดยเอาเชื้อจริงมาเพาะเชื้อ และเอาซีรัมอาสาสมัครมาสู้กัน เพื่อดูว่าการฉีดเข็มกระตุ้นสูตรต่างๆ ได้ผลดีกับ BA.1 และ BA.2 หรือไม่