โควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะไม่ใช่โควิดสายพันธุ์สุดท้าย ที่จะได้ยินและความเป็นไปได้ที่จะมีการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นเป็นของจริงและเรายังไม่เข้าใจถึงลักษณะของสายพันธุ์นี้เลย”พญ.ฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว และกล่าวทิ้งท้ายว่า “แน่นอนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็จะมีศักยภาพแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นไปอีก เพราะว่าเงื่อนไขการเกิดของไวรัสนั้นก็คือจะต้องครองส่วนแบ่งตลาดของไวรัสที่กำลังไหลเวียนให้ได้เสียก่อน
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ณ วันที่ 9 ก.พ. ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 1.3 หมื่นรายทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยในรอบ 7 วันนั้นมากกว่าหมื่นรายไปแล้ว ซึ่งจากกรณีดังกล่าวแม้ว่าทางภาครัฐจะบอกว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังควบคุมได้ แต่ทว่าภาคสังคมก็ยังมีความแคลงใจว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แล้วทำไมตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นถึงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆกันแน่ ซึ่งในวันที่ 9 ก.พ.ก็มีผู้เสียชีวิตอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นไปอยู่ที่ 24 ราย
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจบทความจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องก็พบว่าทางเว็บไซต์ของประชาคมเศรษฐกิจโลกได้เขียนบทความที่น่าสนใจไว้ว่า “ถ้าหากโอไมครอนไม่รุนแรงจริง แล้วทำไมจำนวนผู้เสียชีวิตถึงพุ่งสูงขึ้น”
โดยสำนักข่าวอิศราได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
นับตั้งแต่ประเทศรัสเซียถึงบราซิล จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ถูกรายงานว่าติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นยังคงพุ่งสูงขึ้นในทั่วโลก และยอดเสียชีวิตก็เป็นสิ่งที่พุ่งตามมาด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค. มีรายงานว่าประเทศออสเตรเลียนั้นต้องเผชิญกับวันที่มีความสูงเสียสูงสุดเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน
ส่วนในสหรัฐอเมริกา ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนก็ได้คร่าผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 2,200 รายในแต่ละวัน ซึ่งยอดนี้สูงกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดอยู่ที่ 2,078 รายเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ตามข้อมูลการวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์
โดยข้อมูลผู้เสียชีวิตเหล่านั้นถือว่าตรงข้ามกับที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่รุนแรงไปกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้าอย่างสิ้นเชิง อีกทั้ง ณ เวลานี้จำนวนวัคซีนที่ถูกแจกจ่ายไปทั่วโลกนั้นก็มีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านโดสแล้ว
จึงนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าแล้วทำไมผู้คนจึงยังคงเสียชีวิต
จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 1 ล้านคนในแต่ละประเทศ
@โอไมครอนแพร่เชื้อได้มากกว่าเดลต้า
ตามภาพที่เราเห็นตลอดในช่วงการระบาด 2 ปี การเสียชีวิตนั้นมักจะมาช้าและตามหลังจากการพุ่งสูงขึ้นของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นก็มีแนวโน้วว่าเราจะเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังคงระบาดในบางประเทศรวมถึงรัสเซียและบราซิล
โดยไวรัสโควิดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นพบว่าระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้ามาก ซึ่งตามข้อมูลจากการศึกษาแล้วพบว่าไวรัสนั้นมีศักยภาพในการระบาดได้มากกว่า 4 เท่า
ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในสหรัฐอเมริกาโดยส่วนมากแล้วก็ไม่ใช่คนที่ฉีดวัคซีน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังสร้างความแตกต่างได้ในการลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต
“สายพันธุ์ที่ติดเชื้อมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะแทรกผ่านประชากรได้อย่างรวดเร็วมาก” พญ.วาฟา เอล-ซาดร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส และกล่าวต่อว่า “แม้ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่นั้นทำให้เกิดโรคที่รุนแรงน้อยลง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและวัคซีนบูสเตอร์) แต่เราก็มีแนวโน้มว่าจะยังคงเห็นการเพิ่มขึ้นของการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตเนื่องจากช่องโหว่ของการไม่ได้ฉีดวัคซีนนั่นและการยังไม่ได้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั่นเอง”
“มันคงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าเราจะเห็นการลดลงของผู้เสียชีวิต เนื่องจากว่าผู้ป่วยโควิดนั้นยังคงต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลไปอีกนาน” พญ.วาฟากล่าว
จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน
@โอไมครอนนั้นไม่รุนแรงแต่ก็ไม่ได้ป่วยเล็กน้อย
“เราได้ประจักษ์ข้อมูลและเห็นว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าแต่ว่ามันยังคงเป็นไวรัสที่อันตราย” พญ.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟกล่าวอธิบายถึงผลกระทบของไวรัสสายพันธุ์นี้
“เรากำลังศึกษาว่าทำไมผู้ที่มีภาวะพื้นฐาน ผู้ที่มีอายุมาก ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถมีการป่วยที่รุนแรงของโควิด-19 หลังจากการติดเชื้อโอไมครอนได้ เรารู้ด้วยว่ายังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลด้วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรวมไปถึงผู้ที่กำลังเสียชีวิต ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งสำคัญว่าเราจะต้องมีข้อมูลที่มีความแม่นยำ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมันมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเดลต้าแน่ๆ แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีอาการที่ไม่รุนแรงเช่นกัน”
@ภาระอันใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุข
โรงพยาบาลทั่วโลกยังคงต้องต่อสู้กับจำนวนการรับผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.และ ม.ค. ขณะที่ในสหราชอาณาจักรและในสหรัฐอเมริกา ก็มีการส่งกองทัพไปช่วยเหลือโรงพยาบาลรับมือกับภาวการณ์ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์แล้ว
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์สแสดงให้เห็นว่ายอดผู้เข้าโรงพยาบาลจากโควิดนั้นพุ่งสูงสุดในสหรัฐฯในช่วงเดือน ม.ค.ในหลายรัฐรวมไปถึงรัฐอาร์คันซอและนอร์ทแคโรไลนา ทำให้ระบบการดูแลสุขภาพที่ต้องแบกรับจำนวนผู้ป่วยที่มากอยู่แล้วนั้น เป็นเรื่องยากที่จะช่วยชีวิตผู้อื่นได้
“โอไมครอนกำลังแซงหน้าเดลต้าในแง่ของการไหลเวียนของไวรัสและมันมีประสิทธิภาพมากในการแพร่เชื้อระหว่างบุคคล นี่เป็นภาระอย่างยิ่งต่อระบบการดูแลสุขภาพของเราซึ่งมีภาระมากเกินไปจากการเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาด และถ้าผู้คนไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามที่พวกเขาจำเป็นต้องมีแล้ว เราก็จะจบลงตรงที่การมีผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้นไปอีก นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะป้องกัน” พญ.ฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว
@เราทำอย่างไรเพื่อจะปกป้องชีวิตได้บ้าง
การเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ดำเนินมาตรการอื่นๆเพื่อลดการแพร่เชื้อและการเจ็บป่วยนั้นจะยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“เรารู้ว่าการฉีดวัคซีนนั้นสามารถจะปกป้องชีวิตได้อย่างดียิ่งจากการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่นเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อบางประการและการแพร่เชื้อ แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ” พญ.ฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว
“นี่คือเหตุผลที่เราได้ออกคำแนะนำให้ประชาชนนั้นป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ,การสวมหน้ากากที่ติดตั้งอย่างดีเหนือจมูกและปาก,การทำความสะอาดมือ,หลีกเลี่ยงฝูงชน,ทํางานจากที่บ้านถ้าสามารถทำได้ และการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับการดูแลเมื่อจําเป็น โดยมาตรการทั้งหมดเหล่านี้นั้นเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดที่จะป้องกันตัวเองจากการติดไวรัสและส่งต่อไปไวรัสไปยังคนอื่น”
@ลดความเสี่ยงจากสายพันธุ์ในอนาคต
ยิ่งมีการไหลเวียนของไวรัสมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่ไวรัสจะเปลี่ยนแปลงตัวเองมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นหมายความว่าเหตุผลอื่นที่จะนำไปสู่การสวมใส่เครื่องป้องกัน ก็คือเพื่อจะลดความเสี่ยงจากการติดไวรัสอันนำไปสู่การกำเนิดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่จะลากยาวการวิกฤติโรคระบาด และการเสียชีวิตให้นานขึ้นไปอีก
“โควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะไม่ใช่โควิดสายพันธุ์สุดท้าย ที่จะได้ยินและความเป็นไปได้ที่จะมีการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นเป็นของจริงและเรายังไม่เข้าใจถึงลักษณะของสายพันธุ์นี้เลย”พญ.ฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว และกล่าวทิ้งท้ายว่า “แน่นอนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็จะมีศักยภาพแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นไปอีก เพราะว่าเงื่อนไขการเกิดของไวรัสนั้นก็คือจะต้องครองส่วนแบ่งตลาดของไวรัสที่กำลังไหลเวียนให้ได้เสียก่อน ดังนั้นมันอาจจะเป็นไปได้ที่จะรุนแรงกว่าหรือว่ารุนแรงน้อยกว่า ที่สำคัญไวรัสเหล่านี้ยังอาจมีคุณสมบัติของการหลบหนีภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นเราจึงต้องลดความเสี่ยงจากการเกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่อันน่ากังวลในทุกกรณี”
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://www.weforum.org/agenda/2022/01/omicron-covid19-death-toll-severity/