พระภิกษุกลับจากสหรัฐฯ ถูกตรวจพบเชื้อโควิด แม้ใช้ ATK ซ้ำผลยังเป็นลบ เผยก่อนเดินทางจากสหรัฐฯ ตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ผลก็เป็นลบ 2 ครั้ง ข้องใจผลตรวจในไทยมีข้อผิดพลาดหรือไม่ ทำเสียค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าตั๋วเพิ่มอีก 3 หมื่นบาท ขณะที่ สธ.แจงผล RT-PCR ในไทยน่าเชื่อถือ ยันไม่มีขบวนการทำผลตรวจปลอมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใคร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เว็บไซค์ ScandAsia ซึ่งเป็นสื่อที่รายงานถึงปัญหาในการดูแลรักษานักท่องเที่ยวที่ถูกตรวจพบว่าติดโควิด ใน 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และเวียดนาม รายงานว่า นักท่องที่ยวชาวต่างชาติหลายคนที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยและถูกตรวจพบเชื้อโควิด ต่างเผชิญกับความยากลำบากหลายประการ เนื่องมาจากกฎเกณฑ์ในการป้องกันโรคของประเทศไทย ที่จะต้องเข้าพักในโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่งโดยส่วนมากโรงพยาบาลเหล่านี้เป็นโรงพยาบาลเอกชน ทำให้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ากักตัว รับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 10,000 บาทโดยเฉลี่ยต่อวัน เป็นเวลา 7-10 วัน
ประกอบกับการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นไม่ใช้ห้องเดี่ยว แต่เป็นห้องที่แชร์กับผู้ป่วยโควิดรายอื่นๆ ดังนั้นผู้ที่ถูกกักตัวจึงมีความเสี่ยงที่สูงมากที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทประกันภัยที่นักท่องเที่ยวจ่ายเงินล่วงหน้าในส่วนค่ารักษาตัวในโรงพยาบาลก่อนเข้าประเทศไทย จะไม่ยอมให้สินไหมคุ้มครองในส่วนนี้
ทั้งนี้ ในระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาเชื้อโควิดในไทย ระบุไว้ด้วยว่า จะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งจะต้องถูกดำเนินการจากโรงพยาบาลคู่สัญญาของโรงแรมนั้นๆ เท่านั้น หมายความว่าโรงพยาบาลคือผู้ที่มีสิทธิ์ขาดในการรับผลตรวจทั้งหมดที่มาจากโรงแรมที่นักท่องเที่ยวพำนักอยู่
จึงมีข้อครหาจากนักท่องเที่ยวบางคนเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ในประเทศไทย เพราะถ้าหากการตรวจ RT-PCR นั้นกระทำด้วยวิธีการเดียวกับที่ประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวจริง ทำไมผู้เดินทางมาถึงประเทศไทยจำนวนมากกลับถูกพบว่าติดเชื้อ ทั้งที่ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงก่อนหน้าพวกเขาจะเดินทางขึ้นเครื่องบินนั้น ยังปรากฏว่าพวกเขายังมีผลตรวจโควิดเป็นลบ หรือ ไม่ติดเชื้ออยู่เลย
กรณีดังกล่าวไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมาชิกของสมาคมการศึกษาทางไกลของสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพระภิกษุรูปหนึ่งที่เพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อมาถึงประเทศไทยและเข้ารับการตรวจ RT-PCR ได้รับแจ้งว่าติดโควิด ทั้งที่ก่อนเดินทาง เพิ่งมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่สหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง และผลเป็นลบหรือไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิดในประเทศไทยว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นหรือไม่
ผู้บริหารรายนี้ เปิดเผยด้วยว่า หลังได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากพระภิกษุ จึงได้นำ ATK ไปถวาย เพื่อให้ตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่าผล ATK ออกมาเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตามเมื่อผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก หรือติดเชื้อ เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะต้องเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ แต่พระภิกษุยังติดใจในผลตรวจของเจ้าหน้าที่ และต้องการพักรักษาห้องเดี่ยว มีห้องน้ำส่วนตัว จึงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการป่วยโควิดเอง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากที่พระภิกษุได้จ่ายค่าโรงแรมที่ต้องกักตัว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิดที่รวมกับค่าตั๋วเดินทางราว 20,000 บาทไปก่อนหน้านี้
ด้าน พระภิกษุ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา) โดยได้เดินทางกลับถึงไทยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย) ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าไทยแบบกักตัว 7 วัน (Quarantine) และในวันเดียวกันนั้นได้ตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านประตูน้ำ และพบว่าผลเป็นบวก ทั้งที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนเองเพิ่งตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่สหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง คือ ที่ศูนย์การแพทย์ Nobility Health และ Curative Labs และผลตรวจเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อ
“ตลอดการพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจะมีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK ทุกสัปดาห์ตามข้อปฏิบัติของรัฐบาลเขา ได้ผลเป็นลบมาโดยตลอด ขณะที่ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบิน มีการต่อเครื่องที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น และตลอดการเดินทาง สวมหน้ากากอนามัยตลอดและไม่ได้นั่งติดกับโยมทั้งหลาย จึงมั่นใจว่าไม่มีโอกาสติดเชื้อโควิดระหว่างการเดินทางแน่นอน” พระภิษณุ กล่าว
ผลตรวจโควิดศูนย์การแพทย์ Nobility Health
ผลตรวจโควิดของ Curative Labs
พระภิกษุ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจ RT-PCR ในไทย แล้วพบว่าผลเป็นบวก หรือติดเชื้อ วันเดียวกันนี้ยังได้ใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ผลปรากฏว่าผลเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการตรวจหาเชื้อโควิดในไทย ด้วยวิธี RT-PCR น่าเชื่อถือได้หรือไม่ หรือจะมีข้อผิดพลาดในการตรวจได้หรือไม่
นอกจากนั้น เมื่อพบผลตรวจ RT-PCR เป็นบวกแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลห้องพักรวม แต่ตนเองยังติดใจในผลตรวจหาเชื้อโควิดอยู่ จึงขอใช้สิทธิ์จำวัดอยู่ที่โรงแรมต่อจนถึงวันที่ 21 ม.ค.2565 เพื่อการตรวจโควิดอีกครั้งตามมาตรการกักตัวของรัฐ ซึ่งก็คือวันที่หกนับตั้งแต่เดินทางถึงไทย
ต่อมาเมื่อตรวจหาเชื้อ ก็พบว่าผลเป็นบวก จึงถูกส่งต่อเข้าสถานพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. และรักษาจนไม่มีเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 โดยตลอดการรักษาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อในวันแรกไม่มีอาการป่วยใดๆ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิดเองคืนละ 2,500 บาท รวมแล้วประมาณ 32,500 บาท ทั้งนี้หากรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศทั้งหมด รวมเป็นเงิน 52,500 บาท
ผลตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR ในไทย
ใบรับรองแพทย์การรักษาตัวในฮอสพิเทล
อาการที่พบระหว่างรักษาโควิด
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงกรณีพระภิกษุตั้วข้อสงสัยในผลตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ของไทยว่า วิธีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีดังกล่าว เป็นวิธีมาตรฐาน มีความแม่นยำกว่าการตรวจด้วย ATK เพราะ ATK นั้นเน้นความเร็ว ทำให้มีความไว มีความจำเพาะน้อยกว่า ประกอบกับการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง หากสวอป (Swab) ไม่ตรงจุด ก็อาจทำให้ผลออกมาคลาดเคลื่อนได้ แต่หากทำโดยนักวิชาชีพโอกาสที่ผิดพลาดจะน้อย
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติสำหรับการสวอป จริงๆแล้วจะต้องแหย่ไม้สวอปเข้าโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงในช่องปากด้วย แต่ในภายหลังเก็บตัวอย่างมากขึ้น การสวอปจมูกเพียงข้างเดียวสำหรับนักวิชาชีพจึงเพียงพอ
“การตรวจพบเชื้อโควิด หลังตรวจ RT-PCR 2-3 วันในกรณีดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่จะตรวจพบเชื้อ เพราะหากมีการไปสัมผัสเชื้อก่อนหน้าการตรวจ RT-PCR 1-2 วัน เชื้ออาจจะเริ่มฟักตัว ทำให้ตรวจหาเชื้อระหว่างนั้นยังหาไม่เจอ แต่การฟักตัวของเชื้อจะต่อเนื่องมา เป็นเหตุให้ตรวจเจอการติดโควิดในภายหลังได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
สำหรับการส่งต่อพระภิกษุเข้ารักษาตัวที่ฮอสพิเทล (Hospitel) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือ โรงแรมมีจุดประสงค์เพื่อเอาไว้เฝ้าระวังการติดเชื้อ ส่วนโรงพยาบาลนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษาอย่างมีศักยภาพ แต่หากมีอาการป่วยน้อยจะถูกส่งต่อเข้าฮอสพิเทล ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแล เป็นสาดหตุเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการส่งต่อไปรักษาตัวที่ฮอสพิเทล
อย่างไรก็ตามในกรณีการเดินทางเข้าประเทศของชาวไทย จะไม่มีการบังคับให้ซื้อประกันที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล เหมือนอย่างชาวต่างชาติที่ต้องซื้อประกันที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลวงเงินคุ้มครองขั้นต่ำ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะจะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายตามข้อกำหนดของหน่วยงาน ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถรับเงินชดเชยได้
“ยืนยันว่า ไม่มีการทำให้ผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นบวก เพื่อเอื้อต่อขบวนการผลประโยชน์ต่างๆ เพราะเราต้องควบคุมโรคระบาดให้ดีที่สุด ดังนั้นความจริงสำคัญมาก เพื่อความน่าเชื่อถือของประเทศ ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลในเรื่องนี้ เราเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขไม่เคยพบข้อผิดพลาดจากการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR มาก่อน” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ
ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ (สบส.) ให้ข้อมูลด้วยว่า ระบบการตรวจ RT-PCR เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เราเคยเจอกรณีตรวจครั้งแรกไม่พบ แล้วมาพบภายหลังในอีก 2-3 วัน เพราะการจะตรวจหาเชื้อโควิดเจอขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อด้วย
แต่หากผู้ป่วยโควิดรายใดสงสัยในผลตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ก็สามารถขอตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องได้ เช่น ตรวจสอบว่า ตรงนี้คือซากเชื้อ หรือเป็นการติดเชื้อใหม่ ซึ่งจะมีเรื่องของการตรวจแอนติบอดีเพิ่มเข้ามา ส่วนจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่นั้น ตรงนี้ตนเองยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าท่านไม่แน่ใจและต้องการตรวจยืนยันจริงๆ ก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
“ระบบตรวจคัดกรองโควิดของไทยที่ทำขึ้น เป็นแนวทางที่จะให้ผู้เดินทางเข้าประเทศ เข้ามาแล้วไม่แพร่กระจายเชื้อ โดยผลที่ออกมาพบว่าติดเชื้อ เชื่อว่าไม่มีใครจอยากให้เกิดขึ้น เพียงแต่ผลแล็บออกมาเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีวิธีตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องได้อีกทีนะ” นพ.ธเรศ กล่าว