“…ภายในปีนี้จะมีการซื้อกล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัติเข้ามาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ขับขี่รถ จากเดิมที่จะต้องจอดรถเพื่อให้ตำรวจตรวจวัดเขม่าในท่อไอเสีย กล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัตินี้ จะมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดดูว่ารถคันใดปล่อยไอเสียเกินค่ามาตรฐานบ้าง หากพบว่าเกินมาตรฐาน ก็จะมีใบสั่งส่งไปที่บ้าน…”
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาที่สำคัญระดับชาติที่ยังมีความรุนแรง มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ณ วันที่ 17 ม.ค. 2565 เปิดเผยว่า ตลอดปี 2564 คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) สูดดมฝุ่น PM 2.5 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261.05 มวน แม้ว่าจะลดลง 9 มวน จากปี 2563 แต่ก็ดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น เพราะหากนับจำนวนวันที่คน กทม.จะได้สูดอากาศที่มีคุณภาพดี พบมีเพียง 90 วันเท่านั้น
เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรใน กทม.เกือบ 10,000 ราย จากการสะสมของฝุ่นละอองเล็กภายในร่างกาย ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษบกิจกว่า 104,557 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด
อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิดมาหลายเดือน แต่ปัญหามลพิษใน กทม.กลับไม่ได้ลดน้อยลง ยังคงอยู่ในระดับสีแดง กำลังคุกคามสุขภาพและระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง
ภายใต้สถานการณ์มลพิษที่น่าวิตก หลายหน่วยงานจึงพยายามขับเคลื่อนสร้างต้นแบบการจัดการมลพิษในเมือง โดยเฉพาะในเขตปทุมวัน อันเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองที่ไม่ว่าคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ประกอบกับการมีพื้นที่ทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างศูนย์การค้ามากมาย ซึ่งหลายคนจะต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ระหว่างการเดินทาง
จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตปทุมวัน กรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และผู้ประกอบการศูนย์การค้าย่านปทุมวันที่สมัครใจกอบกู้วิกฤตฝุ่นพิษ ร่วมกันพัฒนา ‘ปทุมวันโมเดล’
นายณัฐพงศ์ โพธิ์วัฒนะชัย นักบริหารแผนงานชำนาญการ สสส.
โดย นายณัฐพงศ์ โพธิ์วัฒนะชัย นักบริหารแผนงานชำนาญการ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เขตปทุมวันเป็นย่านที่ประชาชนใช้พื้นที่กลางแจ้งมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะการเดินทางระหว่างอาคารหรือศูนย์การค้าก็ใช้ทางเดิน (Skywalk) ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม ก็เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าหลายสาย ดังนั้นถ้ามีฝุ่นเกิดขึ้น เขตปทุมวันจะเป็นจุดที่คน กทม.ได้รับผลกระทบมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่เราเริ่มพัฒนา 'ปทุมวันโมเดล' สร้างพื้นที่นี้ให้เป็นต้นแบบการจัดการมลพิษในเมืองเขตแรก
โดยโครงการนี้ เราจะทำการทดลองตั้งแต่ถนนพระราม 1 จากแยกปทุมวันต่อเนื่องมาบรรจบแยกราชประสงค์ เพื่อสร้างถนนอากาศสะอาด โดยไม่มีการปิดถนน ซึ่งเราคาดหวังว่าจะช่วยลดมลพิษได้ 5-10% ภายในปีนี้
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้เราได้ติดตั้งระบบเซนเซอร์วัดฝุ่น PM 2.5 เสร็จแล้ว 4 เครื่อง ตลอดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (ฺBTS) บนถนนดังกล่าว พร้อมกับติดตั้งจอแสดงผล 50 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถดูคุณภาพอากาศได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องเปิดดูในมือถือ แต่หากอยากอยากจะเปิดผ่านมือถือ หรือดูบนเว็บไซต์ของสำนักงานเขตปทุมวันก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งระบบเซนเซอร์ทั้ง 4 จุดนี้ ตั้งอยู่บริเวณ 1.) แยกปทุมวัน 2.) ทางเชื่อมระหว่างศูนย์การค้าพารากอน กับสยามเซ็นเตอร์วัน 3.) แยกอังรีดูนังต์ ส่วนของทางออกศูนย์การค้าพารากอน และ 4.) แยกราชประสงค์
เตรียมใช้กล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัติ ส่งใบสั่งถึงบ้าน
นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากเราจะติดตั้งระบบเซนเซอร์วัดฝุ่น PM 2.5 แล้ว เราจะเน้นการจำกัดรถยนต์มลพิษสูงให้หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่ด้วย เพราะข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษล่าสุด ยืนยันว่า การคมนาคมขนส่งเป็นตัวการใหญ่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5
ด้วยเหตุนี้ เราจะมีการซื้อกล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัติมูลค่ากว่า 3 ล้านบาทเข้ามาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ขับขี่รถ จากเดิมที่จะต้องจอดรถเพื่อให้ตำรวจตรวจวัดเขม่าในท่อไอเสีย ยืนยันว่าจะจัดซื้อและได้ใช้ภายในปี 2565
“กล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัตินี้ จะมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดดูว่ารถคันใดปล่อยไอเสียเกินค่ามาตรฐานบ้าง หากพบว่าเกินมาตรฐาน ก็จะมีใบสั่งส่งไปที่บ้าน ซึ่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ว่าด้วยรถที่มีเครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละออง เคมี เกินเกณฑ์ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด คือ ค่าควันดำไม่เกิน 50% หรือกรณีตรวจวัดด้วยระบบกระดาษกรองและเครื่องมือตรวจวัดควันดำทึบแสงไม่เกิน 45% เอามาใช้ในทางเดินรถ มีโทษปรับ 1,000 บาท สูงสุดคือ 50,000 บาท และหากมีการเตือนหลายครั้งแล้ว ยังพบกระทำผิดเช่นเดิม สามารถยึดรถ หรือทั้งปรับ ทั้งยึดได้” นายณัฐพงศ์ กล่าว
จัดตรวจสภาพรถฟรีทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจกังวลว่าเมื่อมีการประกาศใช้กล้องตรวจจับควันดำอัตโนมัติแล้ว รถของเราจะมีควันดำเกินมาตรฐานหรือไม่นั้น นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้วางแผนรองรับสำหรับประชาชนแล้ว โดยเราจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในเขตปทุมวัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลนีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ตรวจสภาพรถฟรีทุกเดือนให้กับประชาชนผู้ใช้รถทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะเขตปทุมวันเท่านั้น และเมื่อตรวจเสร็จจะมีการให้คำแนะนำในการรักษารถด้วย
“ไม่เพียงแต่จะประกาศพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เรายังจะตรวจสภาพรถฟรีให้กับผู้ใช้รถทุกคน ทุกๆ เดือนด้วย เช่น อาจเป็นทุกวันพุธสัปดาห์ที่องเดือน เป็นต้น เป็นแผนรองรับมาตรการของเรา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่ารถของเขาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และเมื่อเดินทางเข้ามาในเขตปทุมวันเขาจะไม่โดนปรับในอนาคต” นายณัฐพงศ์ กล่าว
จากสำรวจการใช้รถในเขตปทุมวันปัจจุบัน เกือบ 5,000 คัน เป็นของพนักงานใน 19 หน่วยงานที่ร่วมมือกับ สสส.นำร่องเป็นพื้นที่แรกในการจัดการมลพิษในเมือง ดังนั้น สสส.เชื่อว่าอย่างน้อยจะมีรถหลายพันคันที่จะได้รับการตรวจสภาพรถ และได้รับคำแนะนำในการดูแลรักษารถอย่างถูกวิธีให้ปล่อยมลพิษลดลง เป็นไปตามมาตรฐาน
สร้างแรงจูงใจทำดีให้ศูนย์การค้าย่านปทุมวัน
ส่วนโมเดลนี้จะสามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น นายณัฐพงศ์ กล่าวยืนยันว่า สสส.มีแผนที่จะเข้าไปให้คำแนะนำ ให้ความรู้กับ 19 หน่วยงานว่าควรจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างไรให้เหมาะสมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น การให้จัดหาเครื่องกรองฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ผู้ใช้บริการภายในศูนย์การค้าได้สูดอากาศที่ดี
ที่สำคัญจะมีการสร้างแรงจูงใจในการทำดีเพิ่มขึ้นด้วย โดยอาจจะมีการสร้างแคมเปญให้ศูนย์การค้าในเขตปทุมวันทั้งหมดได้แข่งกัน เช่น การสร้างแคมเปญลดใช้รถส่วนตัว ส่งเสริมการหันมาใช้รถสาธารณะแทน เป็นค้น
และจะมีการมอบโล่รางวัล ‘ศูนย์การค้าสีเขียว’ หรือ ‘ศูนย์การค้าปลอดฝุ่น’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการันตี และแสดงถึงการยกระดับการแก้ปัญหามลพิษของศูนย์การค้าในเขตปทุมวัน ให้ประชาชนและชาวต่างชาติรู้สึกเชื่อมั่นและมั่นใจมากขึ้น
“เราเชื่อว่าการสร้างแรงจูงใจนี้จะสร้างแรงขับเคลื่อนต่อศูนย์การค้าได้ดี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายคนทั้งชาวไทยและต่างชาติเริ่มหันมาเลือกใช้บริการศูนย์การค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำลายสิ่งแวดล้อม เหมือนกับพฤติกรรมการลดการใช้ธูป และการเลือกรับประทานอาหารในร้านหมูกระทะที่ใช้ถ่านไร้ควันที่เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน” นายณัฐพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ โมเดลนี้เราทำมาจากแนวคิด ‘Low Emission Zone’ ที่เคยใช้ในบางพื้นที่ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2551 แม้ช่วงแรกจะเผชิญอุปสรรค แต่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ก่อนขยายใช้ทั่วเมืองในทุกวันนี้
ทั้งนี้โมเดลนี้เราจะทดลองก่อน 1 ปี แล้วนำมาวัดผลสำเร็จว่าปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ หากประสบความสำเร็จ หมายความว่าเรามาถูกทางแล้ว และเราจะขยายการใช้โมเดลควบคุมมลพิษนี้ในพื้นที่รอบข้างเขตปทุมวันต่อไป
ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยลดปัญหาฝุ่นพิษ
นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โมเดลนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของประเทศ เชื่อว่าคนไทยจะตระหนักรู้เรื่องผลกระทบของ PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จนนำไปนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยตัวเราเอง ที่จะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยไม่มีการบังคับแต่อย่างใด
“ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนคนเดียว เรื่องจากมลพิษทางอากาศสามารถไหลไปที่อื่นได้ สิ่งที่จะทำให้ปัญหานี้ลดไปอย่างเห็นผล คือ การลดแหล่งกำเนิด เพราะฉะนั้นลดที่ตัวเรา จะช่วยแก้ปัญหาได้ ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น” นายณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่กับเมืองใหญ่อย่าง กทม.มาหลายปี มีคนเสียชีวิตสังเวยอากาศพิษทั้งทางตรงและทางอ้อมเกือบ 10,000 ราย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข ไม่เฉพาะเขตปทุมวัน เพื่อให้เราได้สูดอากาศได้อย่างเต็มปอด
ภาพจาก : จส. 100 และ ผู้จัดการออนไลน์