“…ส่วนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ แม้จะเป็นตัวเลขเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ผมมองว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะเขาอยากจะทำตามมาตรฐาน เพียงแต่ตอนที่ไม่มีกฎหมายเขาก็เลยไม่รู้ แต่เมื่อมีกฎหมายเข้ามา เขาเริ่มรู้ เขาก็มาขอขึ้นทะเบียน แต่ที่น่าห่วง คือ เราเคยมีการทำการสำรวจไว้ว่าทั้งประเทศเบื้องต้นจะมีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของเอกชนประมาณ 3,000 แห่ง แต่มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพียง 600 กว่าแห่ง เพราะฉะนั้นยังขาดอยู่…”
‘ผู้สูงอายุ’ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ทุกกลุ่มให้ความสนใจ และเป็นที่เคารพนับถือ กลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 และมีสัดส่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปีนี้ นับเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว คือมีสัดส่วนของผู้สูงอายุราว 20% ของประชากรทั้งหมด
ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นที่น่าจับตา โดยข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเติบโตต่อเนื่อง 3 ปี แม้จะเผชิญกับภาวะวิกฤตโควิดด้วยก็ตาม ในปี 2563 ก็มีการจัดตั้งใกล้เคียงกับปี 2562 รวมถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 มีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 79%
อีกทั้งรายได้ของธุรกิจนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 ทั้งนี้ในปี 2562 มีรายได้ 1,008.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปี 2561
นอกจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงขยายตัวแล้ว ยังสามารถขยายโอกาสไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้อีกด้วย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ
ดังนั้นเพื่อการควบคุมมาตรฐานการให้บริการและสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการได้รับบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุขึ้นมา 3 ฉบับ ประกอบด้วย
-
กฎกระทรวงกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
-
กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
-
กำหนดค่าธรรมเนียมและการชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2563
โดยกฎกระทรวงนี้ได้แบ่งลักษณะของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เป็น 3 ลักษณะ คือ 1.) การให้บริการดูแล จัดกิจการส่งเสริมและฟื้นฟูระหว่างวัน โดยไม่มีการพักค้างคืน (Day Care) 2.) การให้บริการดูแลที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพโดยจัดให้มีที่พำนัก (Restidential Home) และ 3.) การให้บริการดูแลแบบประคับประคอง จัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน (Nursing Home)
ผลของการประกาศกฎกระทรวงทำให้ธุรกิจดังกล่าวต้องปรับปรุงและพัฒนาอาคารสถานที่ และสภาพแวดล้อม เช่น ความกว้างของทางเดินต้องไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร, ห้องน้ำต้องใช้ประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อนขนาดกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และด้านในต้องมีราวจับตั้งแต่ประตูไปจนถึงโถส้วมหรือบริเวณที่อาบน้ำ พร้อมติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินในห้องน้ำ, มีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ มีเครื่องกระตุกหัวใจอย่างน้อย 1 เครื่อง และพนักงานต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ และสถานประกอบการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ
ผ่านมาแล้ว 1 ปีหลังไทยมีกฎหมายการการคุมมาตรฐานธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ก้าวแรกนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไรนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากที่เราประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว เพื่อกำหนดมาตรฐานธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ตรงนี้ช่วยส่งเสริมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศ และส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุให้มีมาตรฐานได้มากขึ้น สะท้อนให้เห็ความสนใจของฝั่งดีมาน (Demand) ที่ชัดเจน
นอกจากนั้นในฝั่งของซัพพลาย (Supply) ก็เห็นความสนใจของสถานประกอบการต่างๆ และความสนใจของผู้ประกอบวิชาชีพด้านกายภาพและการแพทย์ต่างๆ โดยมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแล้ว 4,285 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากเมื่อก่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ตามแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“กฎกระทรวงสาธารณสุขนี้ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ซึ่งแต่เดิมกำหนดมาตรฐานการให้บริการเอาไว้แค่ร้านนวด หรือร้านสปา ต่อมาจึงรวมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเอาไว้ด้วย ทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก หลักๆ จะเข้ามาควบคุมเรื่องความปลอดภัยและการให้บริการ ผู้สูงอายุจะได้รับบริการที่ปลอดภัยและสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
ขอจดทะเบียนแล้ว 687 ได้รับอนุญาต 374 อีก 313 ต้องปรับปรุง
จากการสำรวจธุรกิจจดทะเบียนนิติบุคคลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ปัจจุบันนับตั้งแต่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 ม.ค. 2563 พบว่ามีการจดทะเบียนนิติบุคคล 687 แห่ง ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการแล้ว 374 แห่ง อีก 313 แห่ง ยังต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำในการปรับปรุงและกำหนดระยะเวลาให้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
กรณีที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข โดยส่วนมากจะไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1) สภาพแวดล้อมของสถานที่ให้บริการ เช่น ห้องน้ำ ต้องมีราวจับยาวไปถึงโถส้วม มีระบบการแจ้งเตือนภัย เป็นต้น และ 2) ผู้ให้บริการ ผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงจะต้องผ่านการเรียนหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุฯ อย่างน้อย 420 ชั่วโมง และผู้รับผิดชอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในภาพรวมจะต้องผ่านการเรียนในหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุฯ อย่างน้อย 130 ชั่วโมง
“ส่วนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ แม้จะเป็นตัวเลขเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ผมมองว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะเขาเหมือนกับเป็นเด็กดี อยากจะทำตามมาตรฐาน เพียงแต่ตอนที่ไม่มีกฎหมายเขาก็เลยไม่รู้ว่ามาตรฐานจะต้องเป็นแบบไหน อย่างไร แต่เมื่อมีกฎหมายเข้ามา เขาเริ่มรู้ เขาก็มาขอขึ้นทะเบียน แต่ที่น่าห่วง คือ เราเคยมีการทำการสำรวจไว้ว่าทั้งประเทศเบื้องต้นจะมีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของเอกชนประมาณ 3,000 แห่ง แต่มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพียง 600 กว่าแห่ง เพราะฉะนั้นยังขาดอยู่” นพ.ธเรศ กล่าว
ก้าวต่อไปของการดูแลผู้สูงอายุ
สำหรับก้าวต่อไปที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะทำนั้น เนื่องจากยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ขอจดทะเบียนฯ อยู่ จึงจะทำการประชาสัมพันธ์แจ้งไปยังทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในหน่วยงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพทุกเขตและทุกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขณะเดียวกันก็จะวางแผนพัฒนาผู้ให้บริการ ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นและหลักสูตร Wellness & Health Care Business Opportunity for Executive (WHB) ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ทำโครงการพัฒนาผู้ให้บริการสุขภาพฟรี 5,040 คน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว
ที่สำคัญตอนนี้เรากำลังจะคุยกับหลายภาคส่วนในการ “ส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปตามบ้าน" เพราะเราพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งอยากให้มีการส่งผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุไปที่บ้าน ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน
นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
ห่วงคนขอจดทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริง
ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวถึงจำนวนผู้ขอจดทะเบียนนิติบุคคลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงคือยังมีคนมาขอจดทะเบียนฯไม่มาก ในความเป็นจริงควรจะมีคนมาขอจดทะเบียนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามตรงนี้ถือเป็นก้าวที่ดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ทางมูลนิธิฯก็อยากให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้ประกอบกิจการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเข้ามาขอจดทะเบียนฯให้มากขึ้น
หวังจิ๊กซอว์ไปสู่ภาพใหญ่ ‘สูงวัยในถิ่นเดิม’
“ในปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไปสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุ เช่น เนอร์ซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลผู้สูงอายุ สร้างไปมากเพียงใดก็คงไม่เพียงพอในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาด้วยหลักการสูงวัยในถิ่นเดิม จะตอบโจทย์มากกว่า” นพ.ภูษิต กล่าว
‘สูงวัยในถิ่นเดิม’ หมายถึง การใช้ชีวิตในช่วงสูงอายุโดยไม่มีการย้ายถิ่นฐาน ยังคงอยู่ในบ้านเดิมของตนเองด้วยความผูกพันที่มีกับครอบครัวรวมทั้งความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน เพียงแต่จะมีการปรับปรุงบ้านและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ห้องครัว ทางเดิน ราวบันได รวมถึงมีบริการสนับสนุน ในเรื่องอาหารจัดส่งถึงบ้าน มีผู้ดูแลสุขภาพที่บ้าน มีเทคโนโลยีความช่วยเหลือ พร้อมกับการให้คำแนะนำลูกหลานภายในบ้านเมื่ออยู่ร่วมกับผู้สูงอายุด้วย
สิ่งที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำลังดำเนินการ เรื่อง “ส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปตามบ้าน” นับว่าเป็นเสมือนจิ๊กซอว์หนึ่งที่มูลนิธิฯอยากจะเห็น ที่จะช่วยให้ภาพใหญ่ คือ หลักการสูงวัยในถิ่นเดิม สมบูรณ์แบบ
“สูงวัยในถิ่นเดิม เป็นสิ่งที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยพยายามรณรงค์มาได้ 4-5 ปีแล้ว เพราะเรามองเห็นผู้สูงอายุไทยหลายคนที่ยังตกหล่น หลายคนไม่มีลูกหลาน ต้องอยู่คนเดียว หรือผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเอง เขาไม่สามารถเข้าไปใช้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต่างๆ ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นการปรับปรุงสภาพบ้าน และการมีบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน จะเป็นคำตอบที่ดี ครอบคลุมและยั่งยืนที่สุด และสิ่งนี้ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ควรเริ่มทำทันที เริ่มได้เลยจากการสำรวจผู้สูงอายุตกหล่น” นพ.ภูษิต กล่าว
ภาพจาก : โพสต์ทูเดย์