“…หากคุณสามารถคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสได้หลากหลายสายพันธุ์ เหมือนกับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถกำหนดเป้าหมายส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของไวรัสได้ แสดงว่าคุณอยู่ในจุดยืนเชิงรุกที่จะเอาตัวแปรเหล่านี้ออกนอกตารางได้…”
โคโรนาไวรัส (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิดที่ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ โดยข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเราสูญเสียประชากรบนโลกจากโรคนี้ไปแล้วกว่า 5.68 ล้านชีวิต และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการระบาดจะจบลงเมื่อใด
สำหรับไวรัสนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคโควิดเพียงเท่านั้น แต่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีอาการได้หลากหลายโรค ตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต และสามารถระบาดได้ทั้งในมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก
โรคในมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย เรียกว่า ไข้หวัด แต่ก็มีไวรัสในกลุ่มนี้บางสายพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดโรครุนแรง เช่น ซาร์ส และ เมอร์ส เป็นต้น
แต่ด้วยความสามารถของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่กลายพันธุ์ได้หลากหลายสายพันธุ์ย่อย หากมนุษย์ต้องการจะหยุดยั้งการระบาดของโควิด และโรคระบาดอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากไวรัสดังกล่าว ความหวังใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะเป็นตัวปิดเกมการระบาดของโควิดได้สำเร็จ คือ วัคซีนที่เรียกว่า แพนโคโรนาไวรัสวัคซีน (Pan-corona Virus Vaccine)
แม้ว่าวัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิด แต่วัคซีนดังกล่าวถูกพัฒนาเพื่อต่อสู้กับเป้าหมายสายพันธุ์ดั้งเดิมในช่วงต้นของการระบาด ส่งผลให้มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์รุ่นถัดมา อย่างเดลต้าลดลงเหลือ 66% ขณะที่สายพันธุ์โอไมครอน จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ถึงจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ
ดังนั้นแพนโคโรนาไวรัสวัคซีน จึงเป็นที่จับตามองของนักวิทยาศาสตร์หลายคนว่าจะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการต่อสู้กับโรคโควิดได้อย่างสิ้นเชิง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงข้อมูลมาดังนี้
เว็บไซต์ CNN ระบุว่า สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) เห็นความสำคัญของการคิดค้นแพนโคโรนาไวรัสวัคซีน และได้ลงทุนไปกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนการวิจัยวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัส
โดยในเดือน ก.ย. 2564 ได้จัดสรรงบประมาณ 36.3 ล้านดอลลาร์ให้สถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน, มหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง และโรงพยาบาลบริกแฮมและสตรี มหาวิทยาลัยดุ๊ก เพื่อศึกษาและพัฒนาวัคซีนต่อสู้กับเชื้อโคโรนาไวรัสต่างๆ ซึ่งปัจจุบันวัคซีนบางส่วนนี้ยังอยู่ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1
เว็บไซต์ CNN
จับตา 2 วัคซีนสู้โคโรนาไวรัสทุกสายพันธุ์
เว็บไซต์ CNN ระบุอีกว่า นักวิทยาศาตร์ในมหาวิทยาลัยดุ๊ก เป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทั่วโลกที่พยายามคิดค้นและพัฒนาวัคซีนต้านโคโรนาไวรัส สิ่งที่พวกเขาพยายามทำ คือ กำหนดเป้าหมายไปที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของไวรัสที่เรารู้ว่าเป็นจุดอ่อนที่มีอยู่ในทุกๆสายพันธุ์ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปไวรัสกลายพันธุ์ ส่วนที่เป็นเป้าหมายของวัคซีนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้วัคซีนสามารถต่อสู้กับไวรัสได้ทุกสายพันธุ์
ทั้งนี้ จุดอ่อนของไวรัสควรเป็นสิ่งที่สำคัญต่อไวรัส ในกรณีของโคโรนาไวรัสอาจเป็นส่วนหนึ่งของตัวไวรัสที่ใช้จับกับเซลล์ของเราเมื่อติดเชื้อ ซึ่งถ้าส่วนหนึ่งของตัวของไวรัสเปลี่ยนไซต์ (site) ไป จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก ท้ายที่สุดจะถูกจำกัดวิวัฒนาการ และจะแพร่เชื้อต่อไปไม่ได้อีก
ดังนั้นเมื่อเรารู้เกี่ยวกับไซต์เหล่านั้นแล้ว จะทำให้เราสามารถเริ่มต้นได้ ว่า จะออกแบบวัคซีนที่เน้นเรื่องนั้นได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยดุ๊กกำลังดำเนินการเพื่อค้นหาแนวทางจัดการกับโควิด
เบาะแสหนึ่งเกี่ยวกับการค้นหาจุดอ่อนดังกล่าว ภายหลังการวิเคราะห์เลือดของบุคคลที่เป็นโรคซาร์สในปี 2546 ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยดุ๊กพบว่ามีแอนติบอดีที่เรียกว่า ‘DH1047’ ที่มีความสามารถในการจับกับทั้ง SAR-CoV-1 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซาร์ส และ SAR-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด
ทำให้มหาวิทยาลัยดุ๊กตั้งเป้าการพัฒนาวัคซีนที่สามารถสร้างแอนติบอดีที่ดูเหมือน ‘DH1047’ ขึ้นมา นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่พยายามพัฒนาวัคซีนแพนโคโรนาไวรัส เพื่อสร้างวัคซีนป้องกันในวงกว้างขึ้นมา
ขณะเดียวกัน แพนโคโรนาไวรัสวัคซีนอีกตัวที่น่าจับตามอง ถูกพัฒนาขึ้นที่สถาบันวิจัยกองทัพวอลเตอร์ รีด ในเมืองซิลเวอร์สปริง รัฐแมริแลนด์ ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่าได้ผลดี สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) และ SAR-CoV-1 ได้ และปัจจุบันกำลังเตรียมศึกษาทดลองกับมนุษย์ในระยะที่ 1 ในเดือน เม.ย. 2565
อย่างไรก็ตาม หากวัคซีนแพนโคโรนาทั้ง 2 ชนิดข้างต้น หรืออาจมีเข้ามาเพิ่มอีก ประสบความสำเร็จในการทดลองในมนุษย์ วัคซีนนี้จะกลายเป็นวัคซีนโควิดที่เราจะได้รับกันในปีต่อๆ ไป เพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งโคโรนาไวรัสที่อาจก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่และแพร่กระจายจากสัตว์สู่มนุษย์
นวัตกรรมเก่านำมาใช้ใหม่
การพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสได้หลายชนิด หรือ แพนวัคซีน (Pan Vaccine) เว็บไซต์ CNN ระบุอีกว่า นี่ไม่ใช่ครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดค้นพัฒนาขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติเคยทำมาแล้วในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาทดลองอยู่
และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ก็กำลังพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัส HIV ได้หลายชนิดเช่นเดียวกัน โดยทีมนักวิจัยได้เปิดเผยชื่อแอนติบอดีที่จะสามารถป้องกันไวรัส HIV แล้ว แต่การศึกษาทดลองยังดำเนินการอยู่
แพนโคโรนาวัคซีน ความหวังใหม่สู้โควิด
ในการสร้างวัคซีนโควิด หน่วยงานกำกับดูแลด้านด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกาจะมีการกำหนดเป้าหมายของวัคซีนเอาไว้ โดยอาจกำหนดเอาไว้ว่า 1) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ 2) เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายโรค
เว็บไซต์ CNN ระบุอีกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ภูมิคุ้มกันที่ลดลง และประสิทธิภาพของวัคซีน เป็นบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคร้ายแรง หากมีการตั้งเป้าหมายให้วัคซีนสามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรง วัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่สามารถทำงานได้ดีในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งเป้าหมายให้วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายโรคได้ ตรงนี้อาจต้องรอวัคซีนรุ่นสอง ที่อาจจะเป็นได้ทั้งวัคซีนที่เฉพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เช่น โอไมครอน หรือวัคซีนที่สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสได้หลากหลายสายพันธุ์ (Pan Vaccine)
Amesh Adalja ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่แห่งศูนย์ Johns Hopkins Center for Health Security ให้ความเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่เราออกแบบวัคซีนแบบเฉพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ต่างๆ เป็นส่ิงที่ทำให้นึกถึงกระบวนการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เราจะอยู่ในท่าทางที่ตอบสนองเสมอ
“หากคุณสามารถคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันโคโรนาไวรัสได้หลากหลายสายพันธุ์ เหมือนกับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดป้องกันได้หลากหลายสายพันธุ์ ที่สามารถกำหนดเป้าหมายส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของไวรัสได้ แสดงว่าคุณอยู่ในจุดยืนเชิงรุกที่จะเอาตัวแปรเหล่านี้ออกนอกตารางได้” Amesh ระบุ
ดังนั้นเป้าหมายที่ควรคิดเกี่ยวกับการรับมือการระบาดของโควิด คือ แพนโคโรนาไวรัสวัคซีนที่สามารถป้องกันโควิดและยังป้องกันโคโรนาไวรัสทั้งสี่ตัว ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดของเราในอัตรา 25% ได้ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลบางอย่างที่บ่งบอกได้ว่าแพนโคโรนาไวรัสวัคซีนเป็นเรื่องเป็นไปได้ และที่สำคัญมีการศึกษาวิจัยทดลองอยู่ชิ้นหนึ่งที่ผ่านการทดลองทางคลินิกในสัตว์แล้ว
เว็บไซต์ Vox
ความสำเร็จต้องใช้เวลาเป็นปี
เว็บไซต์ Vox ระบุว่า การพัฒนาแพนโคโรนาไวรัสวัคซีนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะการพัฒนาวัคซีนมีความแตกต่างจากยารักษาโรคมาก ยาเป็นการรักษาเฉพาะหลังจากที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับการวินิจฉัย แต่ในทางตรงกันข้ามวัคซีนมีเอาไว้เพื่อป้องกันโรคในผู้คนหลายพันล้านคน หน่วยงานกำกับดูแลจะอนุมัติก็ต่อเมื่อความเสี่ยงต่ำมากและมีผลข้างเคียงน้อย ด้วยเหตุนี้การวิจัยวัคซีนจึงช้าและมีราคาแพง ต้นทุนในการพัฒนาสูง
แต่การเกิดโควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความเร่งด่วนของการระบาดใหญ่ทำให้ไทม์ไลน์การพัฒนาวัคซีนสั้นลง โดยอัดฉีดเงินสด สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยจากหลายๆ ทีมเข้าร่วมพัฒนา ที่สำคัญยังให้ทุนวิจัยกับผู้สมัครรับวัคซีน และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองยังให้คำมั่นสัยญาว่าจะซื้อวัคซีนหลายล้านโดส แม้ว่าบางโดสจะไม่ได้ผลก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดใหญ่ของวัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ถูกออกแบบมาสำหรับการป้องกันโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในช่วงการระบาดแรกๆ วัคซีนเหล่านี้จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกยังไม่ได้รับวัคซีน
นอกจากนั้นยังมีปัญหาในการทดสอบวัคซีน เนื่องจากประชากรในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว 249 ล้านคน และมีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติแล้วกว่า 67 ล้านคน ทำให้หาประชากรที่จะเข้ามาทดองทางคลินิกได้ยาก และยังความลึกลับพื้นฐานมากมายที่ยังคงแฝงตัวอยู่ในขอบเขตของภูมิคุ้มกันวิทยานี้
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความท้าทายทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก ที่ทำให้การพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องได้หลากหลายสายพันธุ์ต้องใช้เวลา
โดย Dr.Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวภายหลังการหารือเรื่องการพัฒนาแพนโคโรนาวัคซีนในทำเนียบขาวเอาไว้เช่นเดียวกันว่า “ไม่อยากให้คนเข้าใจว่าวัคซีนดังกล่าวจะสามารถพัฒนาได้สำเร็จภายใน 1-2 เดือน วัคซีนเหล่านี้จะต้องใช้ระยะเวลาการพัฒนาเป็นปีถึงจะสำเร็จ”
วัคซีนรูปแบบใหม่ไม่ใช่สิ่งวิเศษ
การทุ่มเททรัพยากรมากขึ้นเพื่อการวิจัยวัคซีนสากลเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและการค้นพบด้วย ดังนั้นจึงไม่รับประกันว่าจะได้ผล เพราะการสร้างวัคซีนสากลนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่ารูปแบบอื่น
อย่างไรก็ตาม ขณะที่วัคซีนเป็นหนทางที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด แม้จะมีแพนโคโรนาไวรัสออกมา แต่ก็ไม่อาจเพียงพอที่จะยุติการแพร่ระบาดและป้องกันการระบาดครั้งต่อไปได้
เว็บไซต์ Vox ระบุเหตุผลว่า แพนโคโรนาไวรัสวัคซีน ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนบ่งบอกว่าการฉีดวัคซีนชนิดนี้จะอยู่ได้นานเพียงใด ส่วนการจะปรับใช้กับทุกคนหรือเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยงสูงนั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ของระบบสาธารณสุขและระดับการแพร่กระจายเชื้อของโคโรนาไวรัสต่อไป ดังนั้นการจำกัดการแพร่เชื้อด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากอนามัยยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
แพนโคโรนาไวรัสวัคซีนอาจกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของระบบสาธารณสุข แต่จะต้องทำงานควบคู่กับกลยุทธ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งการรับมือกับโควิดทั้งหมดที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การเว้นระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัยยังมีประโยชน์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
อ้างอิงจาก :