ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ห้ามขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภคแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี , สตรีมีครรภ์ , สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดตามที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ร่วมกันลงชื่อ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ..... ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณานำเข้าสู่กระบวนการตราเป็นพระราชบัญญัติให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกำหนดยื่นชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญทำให้ ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ทั้งนี้หลังจากร่างกฎหมายประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จากนั้น 120 วัน กัญชา กัญชง ที่ผลิตในไทยจะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดย นายอนุทิน และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แบ่งออกเป็น 11 หมวด 44 มาตรา ระบุหลักการและเหตุผล ว่า เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนเองและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรสนับสนุนการนำมาใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมี่ไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ
และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีการบริโภคกัญชา กัญชงอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภค เพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ..... แบ่งออกเป็น 11 หมวด 44 มาตรา มีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นำเข้า ส่งออก ขาย โฆษณา ต้องขออนุญาต อย.
กระบวนการพิจารณาอนุญาต หมายความว่า การพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย หรือการตรวจสอบ เพื่อออกใบอนุญาต หรือ ใบรับจดแจ้ง ตลอดจนการพิจารณาใดๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง
โดยผู้อนุญาต คือ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาฯ อย. มอบหมาย สำหรับการอนุญาตให้ผลิต และการนำเข้าหรือส่งออก ขาย หรือการโฆษณา
ใช้ในครัวเรือน ขอจดแจ้งกับผู้ว่าฯ กทม.-นายก อบจ.
กำหนดให้การใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงในครัวเรือน หมายความว่า การเพาะ ปลูก เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกัน ทั้งนี้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง
สำหรับพื้นที่ กทม. ต้องขอจดแจ้งกับผู้ว่าฯ กทม. ส่วนในภูมิภาคต้องขอจดแจ้งกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ปลูกกัญชง กัญชาในครัวเรือน ไม่มีค่าจดแจ้ง
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า สำหรับการปลูกกัญชาในครัวเรือน ที่ต้องทำการจดแจ้ง ไม่ใช่การขออนุญาต ซึ่งเท่ากับว่า การปลูกภายในครัวเรือนนับว่าไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด (อ้างอิงข่าว : "ศุภชัย"ยันปลูกกัญชาในครัวเรือนไม่มีค่าจดแจ้ง)
ทั้งนี้ กำหนดให้ใบรับรองจดแจ้งมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รับจดแจ้ง ส่วนใบอนุญาตปลูก , ใบอนุญาตผลิต (สกัด) , ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก และใบอนุญาตจำหน่าย มีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีรายละเอียด ดังนี้
- ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) ฉบับ 50,000 บาท
- ใบอนุญาตผลิต (สกัด) ฉบับละ 50,000 บาท
- ใบอนุญาตนำเข้า ฉบับละ 100,000 บาท
- ใบอนุญาตส่งออก 10,000 บาท
- ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 20,000 บาท
- ใบอนุญาตจำหน่าย ฉบับละ 5,000 บาท
- การต่ออายุใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรีบใบอนุญาต
- ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่นๆ คำขอละ 7,000 บาท
- ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รายละ 100,000 บาท
- ค่าตรวจสถานประกอบการ ครั้งละ 50,000 บาท
สำหรับการจัดเก็บข้อ 8-10 ให้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ปลัด สธ.นั่งประธานกรรมการกัญชา กัญชง
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง
กำหนดให้มี คณะกรรมการกัญชา กัญชง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณศุข เป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 7 คนโดยให้แต่งตั้งจากเอกชนไม่น้อยกว่า 3 คน
โดยมีมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย และมาตรการส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม ให้ความเห็น คำแนะนำ และข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตีร หรือผู้อนุญาตในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ และประกาศกำหนดสารเตตราไฮโดรนแคนนาบิบอล (tetrahydrocannabinal) ในกัญชง
ทำผิดสั่งพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 180 วัน
สำหรับการการพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง
หากพบว่าผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ให้ผู้อนุญาตว่ากล่าวตักเตือน หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ สั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามสมควรแก่กรณี โดยกำหนดครั้งละไม่เกิน 180 วัน หรือกรณีที่มีการฟ้องผุ้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดกฎหมาย จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้จนกว่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้
กำหนดให้ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใดๆ ระหว่างถูกสั่งพักใช้อีกไม่ได้
กำหนดให้ผู้จดแจ้งผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ผู้รับจดแจ้งว่ากล่าวตักเตือน สั่งให้ทำลาย หรือเพิกถอนใบรับจดแจ้งตามสมควรแก่กรณี
ต้องขออนุญาตก่อนทำการโฆษณา
สำหรับการโฆษณา ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
กรณีเห็นว่าฝ่าฝืนการโฆษณา สามารถสั่งแก้ไขข้อความ ห้ามใช้ข้อความ ระงับการโฆษณา เป็นต้น
ห้ามขายเด็กต่ำกว่า 20 ปี – สตรีมีครรภ์ ฝ่าฝืนปรับ 3 หมื่น
สำหรับการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
ระบุข้อห้าม ผู้รับอนุญาตขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภคแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี , สตรีมีครรภ์ , สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดตามที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ยกเว้นการขายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้ของตน เพื่อประโยชน์ในการบำบัดโรค
ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ผลิตหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาต คุก 3 ปี ปรับ 3 แสน
ขณะที่การกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากนี้ยังระบุบทเฉพาะกาลด้วยว่า ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ร่างกฎหมายใช้บังคับ การนำเข้ากัญชา กัญชง ทำได้เฉพาะ 1.กรณีศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และ 2.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อประโยชน์ราชการ
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ยังคงมีสถานะเป็นร่างกฎหมาย ที่ต้องรอให้ผ่านการพิจารณาในสภา และประกาศให้มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดยังสามารถูกปรับเปลี่ยนได้ระหว่างการพิจารณา