"...นอกจากโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน แล้ว มีโทรศัพท์ยี่ห้ออื่น ที่ตรงสเปกนี้ เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ขณะที่ ในทีโออาร์ กำหนดไว้ในข้อ 2.19 ว่า สินค้าที่เสนอต้องเป็นสินค้าจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือเป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือโดยมีเอกสารแสดง ณ วันส่งมอบอุปกรณ์ น่าสนใจในเชิงธุรกิจ ว่า บริษัทผู้ชนะ นำโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน 12 จากที่ไหนมาขายให้ สลน. และได้รับกำไรจากการซื้อขายครั้งนี้ เป็นจำนวนเท่าไร? ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ทำสัญญาซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแอปเปิ้ล รุ่นไอโฟน 12 จำนวน 111 เครื่อง แบ่งเป็นความจุ 128 GB 23 เครื่อง และ ความจุ 64 GB 88 เครื่อง ราคารวม 2,681,355 บาท กับ บริษัท สหธุรกิจ จำกัด ซึ่งเคยปรากฏเป็นข่าวดังในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว ดังนี้
1. การประกวดราคาจัดซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) จำนวน 111 เครื่อง ของ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กำหนดวงเงินจัดหาไว้ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,965,300 บาท
2. มีการระบุในรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ เรื่องความเป็นมาว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการด้านการเมืองด้านวิชาการ ด้านเลขานุการ และทำหน้าที่ศูนย์ประสานการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารฝ่ายการเมือง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มุ่งผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ระบุวัตถุประสงค์การจัดซื้อ เพื่อเป็นการสนับสนุบภารกิจข้างต้น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาโทรศัพท์เครื่องที่ (มือถือ) เพื่อใช้ในราชการเพื่อทดแทนของเดิมซึ่งได้จัดหาเมื่อปีงบประมาณ 2560 ซึ่งปัจจุบันเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน เพื่อให้การปฏิบัติงานราชการของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันเหตุการณ์
3. รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของโทรศัพท์ จำนวน 111 เครื่อง ที่จัดซื้อ แยกเป็น 1. โทรศัพท์ขนาด 128 GB จำนวน 23 เครื่อง 2. โทรศัพท์เคลื่อนที่ ขนาด 64 GB จำนวน 88 เครื่อง
อย่างไรก็ดี ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการจัดซื่้อครั้งนี้ จึงทำให้ยังไม่ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า
1. มีเอกชนรายใดบ้างที่เข้าร่วมการเสนอราคางานโครงการฯ นี้
2. นอกจากโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน แล้ว มีโทรศัพท์ยี่ห้ออื่น ที่ตรงสเปกนี้ เข้าร่วมด้วยหรือไม่
ขณะที่ ในทีโออาร์ กำหนดไว้ในข้อ 2.19 ว่า สินค้าที่เสนอต้องเป็นสินค้าจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือเป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือโดยมีเอกสารแสดง ณ วันส่งมอบอุปกรณ์
น่าสนใจในเชิงธุรกิจ ว่า บริษัทผู้ชนะ นำโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน 12 จากที่ไหนมาขายให้ สลน. และได้รับกำไรจากการซื้อขายครั้งนี้ เป็นจำนวนเท่าไร?
- ที่ปรึกษานายกฯ แจงปมซื้อ 'ไอโฟน 12' 111 เครื่อง ตามวงรอบปกติ-ต่ำกว่าราคากลาง (1)
- โชว์รายได้ 916 ล.! โพรไฟล์ บ.สหธุรกิจ ก่อนขาย 'ไอโฟน 12' 111 เครื่อง สลน. (2)
- เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน! โชว์สเปกมือถือ 111 เครื่อง สลน. ก่อนได้ไอโฟน 12 (3)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลรายละเอียดการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ เป็นทางการแล้ว
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง
สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับจัดสรรงบประมาณ 2,965,300 บาท กำหนดราคากลาง อยู่ที่ 2,964,199.60 บาท
แหล่งที่มาของราคากลาง ใช้ราคาที่สืบจากท้องตลาดจากเอกชน จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ออลโมเดิร์นเทคโนโลยี จำกัด , บริษัท ยูฟิคอน จำกัด (สำนักงานใหญ่) และบริษัท กนกสิน เอ็กซปอร์ต อิมปอร์ต จำกัด (ดูเอกสารประกอบ)
สอง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดราคาโครงการนี้ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564
กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ระหว่างเวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น.
ระยะเวลาห่างกันประมาณ 8 วัน
ส่วนคุณสมบัติผู้เสนอราคา มี 13 ข้อ คือ
1. มีความสามารถตามกฎหมาย
2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
3. ไม่อยู่ระหว่างเลิกกิจการ
4. ไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างถูกระงับการยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดตามที่ประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง
5. ไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานและได้แจ้งเวียนชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานของหน่วยงานของรัฐในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ซึ่งรวมถึงนิติบุคคลที่ผู้ทิ้งงานเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย
6. มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
7. เป็นนิติบุคคล ผู้มีอาชีพให้ขายพัสดุที่ประกวดราคาซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว
8. ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เข้ายื่นข้อเสนอให้แก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ณ วันประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขัน อย่างเป็นธรรมในการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้
9. ไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาลของผู้ยื่น ข้อเสนอได้มีคำสั่งให้สละเอกสิทธิ์ความคุ้มกันเช่นว่านั้น
10. ผู้ยื่นข้อเสนอที่ยื่นข้อเสนอในรูปแบบของ "กิจการร่วมค้า" ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
กรณีที่ข้อตกลงฯ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมค้าหลัก ข้อตกลงฯ จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนหน้าที่ และความรับผิดชอบในปริมาณงาน สิ่งของ หรือมูลค่าตามสัญญาของผู้เข้าร่วมค้าหลักมากกว่าผู้เข้าร่วมค้ารายอื่นทุกราย
กรณีที่ข้อตกลงฯ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมค้าหลักกิจการ ร่วมค้านั้นต้องใช้ผลงานของผู้เข้าร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่ยื่นข้อเสนอ
สำหรับข้อตกลงฯ ที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดเป็นผู้เข้าร่วมค้าหลัก ผู้เข้าร่วมค้า ทุกรายจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน
11. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องลงทะเบียนในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e - GP) ของกรมบัญชีกลาง
12. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องส่งแคตตาล็อก เอกสารหรือหนังสือคู่มือ ที่แสดงให้เห็นรูปแบบและ รายละเอียดคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ยื่นเสนอราคาให้ครบถ้วนเพียงพอที่คณะกรรมการจะพิจารณาได้ โดยให้ยื่น ในวันยื่นข้อเสนอราคา
13. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องจัดทำรายละเอียดข้อเปรียบเทียบระหว่างรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ของพัสดุ และรายละเอียดอื่น ๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอกับรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ทางราชการกำหนด ว่าตรงตามข้อกำหนด หรือแตกต่างไปจากข้อกำหนดอย่างไร และให้ระบุว่าในแต่ละหัวข้อมีรายละเอียดแสดงอยู่ ที่ส่วนใดของเอกสารตามเงื่อนไขการเสนอราคา ซึ่งคณะกรรมการสามารถตรวจสอบได้
(1) เปรียบเทียบรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ผู้เสนอราคาเสนอกับรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ทางราชการกำหนดให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ โดยต้องระบุยี่ห้อ รุ่น ขนาด อย่างละเอียดชัดเจนเป็นรายข้อทุกข้อ (ไม่ควรระบุว่า ไม่น้อยกว่า ไม่ต่ำกว่า มากกว่า สูงกว่า ดีกว่า)
(2) ต้องอ้างอิงถึงรายละเอียดในแคตตาล็อก ว่าได้แสดงอยู่ในหน้าใด และในแคตตาล็อก ต้องแสดงหมายเลขของรายการที่อ้างอิงถึง พร้อมทำแถบสีหรือเน้นข้อความ ที่อ้างถึงให้เห็นอย่างชัดเจน
(3) เอกสารด้านเทคนิคที่เสนอทั้งหมด จะต้องมีเลขหน้ากำกับทุกหน้า
เบื้องต้น มีการระบุหมายเหตุว่า ผู้ประกอบการสามารถจัดเตรียมเอกสารประกอบการเสนอราคา (เอกสารส่วนที่ 1 และเอกสารส่วนที่ 2) ในระบบ e-GP ได้ตั้งแต่วันที่ ขอรับเอกสารจนถึงวันเสนอราคา
สาม
มีเอกชน 20 ราย สนใจเข้ารับ/ซื้อซองเอกสาร
แต่มีเอกชน 4 ราย ยื่นซองเอกสาร (ยื่น 5 ต.ค.65) คือ บริษัท สหธุรกิจ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 2,681,355.80 บาท บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จำกัด เสนอราคา 2,898,630.00 บาท บริษัท มีทัล แฟบริเคเต็ด จำกัด เสนอราคา 2,920,900.00 และบริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 2,735,583.40 บาท
บริษัท สหธุรกิจ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 2,681,355.80 บาท เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ถูกต้องครบถ้วนได้รับงานไป
จากนั้น ประกาศผลให้ บริษัท สหธุรกิจ จำกัด เป็นผู้ชนะได้รับงานเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 (ดูเอกสารประกอบ)
จากข้อมูลทั้งหมดที่ตรวจสอบพบล่าสุด มีข้อสังเกต เพิ่มเติม 4 ประเด็นหลัก คือ
1. การประกวดราคาจัดซื้อจ้างโครงการนี้ กำหนดระยะเวลาในช่วงตั้งแต่ประกาศเชิญชวน ถึงยื่นซอง ประมาณ 8 วัน
2. เอกชน 3 ราย ที่ใช้ในการสืบราคากลางไม่ได้เข้าร่วมซื้อ/ยื่นซองประกวดราคาด้วย
3. บริษัท สหธุรกิจ จำกัด ผู้ชนะเสนอ ราคางานต่ำกว่าคู่เทียบทั้ง 3 ราย เป็นอย่างมาก ห่างจาก บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) ผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 2 อยู่ 54,227.6 บาท
4. ในประกาศผลรายชื่อผู้ชนะการจัดซื้อครั้งนี้เป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระบุข้อมูล ว่า บริษัท สหธุรกิจ จำกัด (ขายปลีก) เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
สำหรับข้อมูลเชิงลึก ๆ อื่น ยังคงต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบล่าสุด ทำให้สามารถตอบคำถาม ข้อ 1. ที่สำนักข่าวอิศรา เคยตั้งไว้ได้แล้วว่า มีเอกชนรายใดบ้างที่เข้าร่วมการเสนอราคางานโครงการฯ นี้
ส่วนคำถาม ข้อ 2. คือ นอกจากโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน แล้ว มีโทรศัพท์ยี่ห้ออื่น ที่ตรงสเปกนี้ เข้าร่วมด้วยหรือไม่
ขณะที่ ในทีโออาร์ กำหนดไว้ในข้อ 2.19 ว่า สินค้าที่เสนอต้องเป็นสินค้าจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือเป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือโดยมีเอกสารแสดง ณ วันส่งมอบอุปกรณ์
กรณีนี้ บริษัทผู้ชนะ นำโทรศัพท์ยี่ห้อ ไอโฟน 12 จากที่ไหนมาขายให้ สลน. และได้รับกำไรจากการซื้อขายครั้งนี้ เป็นจำนวนเท่าไร?
ก็ยังคงเป็นคำถามสำคัญอีกชุด ที่ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไปเช่นกัน
อนึ่ง เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสื่อมวลชนไปแล้วว่า เป็นงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ใช้ในการจัดซื้อ โทรศัพท์มือถือสำหรับผู้บริหาร และ ระดับผู้อำนวยการ ที่มีความจำเป็นในการใช้งาน และเป็นการจัดซื้อตามวงรอบการใช้งานทุก 4 ปี แต่ชุดปัจจุบันได้ใช้งานมานานกว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้มีงบประมาณที่ตั้งไว้ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อมาทดแทนของเก่าที่กำลังจะครบรอบการใช้งานตามสัญญาจ้างเดิม
ขณะที่ ราคาที่ได้มาต่ำกว่าราคากลางที่จะอยู่ราวๆ 2.8 ล้านบาท โดยมีสเปคครบตามแบบที่ต้องการทุกอย่าง ทั้งนี้มีการแบ่งเป็น 2 สเปค คือ 128 GB ผู้บริหารและผู้บริหารสูง สำหรับอธิบดี และข้าราชการระดับซี 10 ส่วนความจุ 64 GB ระดับอำนวยการและอำนวยการสูง ทั้งนี้ยืนยันว่าการใช้โทรศัพท์ จำนวน 111 เครื่องนี้ รวมทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ทั้งตำแหน่งรองนายกฯรัฐมนตรี , รัฐมนตรี , ที่ปรึกษาฯ , เลขาธิการฯ , ทีมโฆษกรัฐบาล ที่มีจำนวนมาก
ส่วน นายกรัฐมนตรี แจ้งว่า ขอไม่รับโทรศัพท์ดังกล่าว