“…ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เขาเหมือนคนตายทั้งเป็น เพราะเขาไม่มีความฝันแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย เขาเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย จนเอาตัวเองหลุดออกจากกรอบของสังคม เพื่อที่จะทำอะไร หรือใครจะว่าอะไรเขาก็ได้ เป็นการยิ่งกดทับตัวเองลงไปอีก การทำโครงการนี้ เพื่อที่จะสร้างพลังให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง และทำให้ชุมชนเห็นว่าเขามีศักยภาพที่ดี เราดึงเขากลับมาอีกครั้ง…”
บ้านคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครหลายๆคน เพราะบ้านมีผนังที่โอบล้อม ช่วยให้เราพ้นจากอันตรายต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้
แต่สำหรับผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ บ้านของเขาอยู่ริมถนน มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ บางคนนอนจุดเดิมบ้าง ขณะที่อีกหลายคนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าการโดนคุกคามในรูปแบบต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่หลายคนตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำตามความฝันหรือเข้ามาทำงานหารายได้ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาส่วนบุคคล ทำให้บางคนกลายมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 4,510 คน และกว่า 60% ล้วนประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ
‘กอล์ฟ’ ชายชาวพิจิตร หนึ่งในผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะมานานกว่า 20 ปีแล้ว เขาเคยมีลูก เคยมีทุกๆ อย่างเหมือนคนทั่วไป แต่เพียงเพราะไม่อยากเป็นภาระใคร ทำให้เขาตัดสินใจเข้ามาในเมือง ใช้สิทธิ์เลือกที่จะออกมาอยู่ข้างทาง ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย
“ผมก็มาใช้ชีวิตเร่ร่อน เรียกว่า หาได้ ลงแรง ไม่ต้องลงทุน มันก็มีชีวิตอยู่ได้” กอล์ฟ เปิดใจ อาชีพเก็บของเก่าขายเป็นอาชีพที่ทำให้เขาหาเงินได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร เมื่อเขาเลือกแล้ว เขาจึงใช้ชีวิตต่อไป แม้รู้ว่าไม่ปลอดภัย ซึ่งเขาเคยถูกล่วงละเมิดด้วยการถูกลูบคลำจากทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เขาไม่รู้จัก และไม่ใช่คนใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
ปัจจุบันกอล์ฟย้ายจุดนอนไปบริเวณที่มีแสงสว่าง ที่มีคนพลุกพล่านมากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเอง ซึ่ง กอล์ฟ เปิดใจอีกว่า “แต่ผมจะป้องกันตัวเองได้ไปอีกนานแค่ไหน ตอนนี้อายุเรายังพอแข็งแรงป้องกันตัวเองได้ แต่ถ้าอายุเรามากกว่านี้ ก็คงจะต้องกลับบ้านหรือไปสถานสงเคราะห์ ซึ่งตัวผมเองก็ยังไม่รู้”
จนได้มาเจอกับมูลนิธิอิสรชน ทำให้ตัวเองได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับเพื่อนอีก 30 คน ผ่าน “โครงการ SPY (สิทธิทางเพศ)” ได้เรียนรู้ว่าสิทธิของเราคืออะไร เราต้องป้องกันตัวอย่างไร และหากพบปัญหาแล้วจะต้องแจ้งใครอย่างไรบ้าง
ท้ายที่สุดพอเรียนรู้จนจบโครงการ ก็ได้มาทำหน้าที่เป็น ‘สายลับ’ ให้กับเพื่อนๆ ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เพราะเราได้มีโอกาสทำความดีเพื่อสังคมบ้าง เราจะคอยช่วยสอดส่องดูแลเพื่อน เตือนเขาว่าควรจะป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ถูกคุกคาม และทำตัวเราให้เป็นตัวอย่าง เช่น จากเดิมที่เราเคยดื่มย้อมใจ เพื่อให้นอนหลับในยามค่ำคืนได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เราถูกล่วงละเมิดโดยไม่รู้ตัวหรือป้องกันตนเองไม่ได้มากเท่าที่ควร ตอนนี้ก็ลดลงแล้ว
กอล์ฟ
‘ใช้ชีวิตริมถนน-ไม่มีปากมีเสียง’ปัจจัยเสี่ยงถูกคุกคาม
ณิชชญาณ์ โตสงวน อาสาสมัครมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ‘กอล์ฟ’ เป็นเสียงสะท้อนจากชายผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะคนหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายคนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ริมถนนเป็นปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับการไม่มีปากไม่มีเสียง หรือต่อให้เขาออกมาเรียกร้องเอง ก็ไม่มีใครเชื่อเขา
“การถูกคุกคามเกิดขึ้นได้จากคนทุกประเภท รวมถึงคนที่ไม่ใช่ผู้ใช้ชีวิตสาธารณะทั้งผู้ชายและผู้หญิง ก็เป็นผู้คุกคามได้ แต่เมื่อผู้ถูกคุกคามเป็นผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เมื่อเขามีปากมีเสียงออกมา สังคมส่วนใหญ่กลับไม่เชื่อเขา เป็นสาเหตุให้มูลนิธิอิสรชนทำโครงการ SPY (สิทธิทางเพศ) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวขึ้นมา เพื่อให้เพื่อนได้ดูแลเพื่อนในพื้นที่ และเพื่อขยายให้เกิดสปายให้คนในพื้นที่ได้สอดส่องดูแลกันเอง” ณิชชญาณ์ กล่าว
ณิชชญาณ์ โตสงวน อาสาสมัครมูลนิธิอิสรชน
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อาศัยในที่สาธารณะ
สำหรับสาเหตุที่มูลนิธิอิสรชนเลือกผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะขึ้นมาเป็นสปาย เพราะเป็นหนึ่งในหลักการสร้างพลังให้กับคนกลุ่มนี้ได้เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่ง อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า เป็นหลักการทำงานของมูลนิธิอยู่แล้ว ที่เราจะไม่ได้ช่วยเหลือเขาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งเน้นให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการ SPY (สิทธิทางเพศ) จะช่วยให้เพื่อนได้ดูแลเพื่อนในพื้นที่แล้ว ยังช่วยสร้างพลังให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนได้เห็น ทำให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวได้อีกครั้ง ไม่ใช่จบที่สถานสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
“ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เขาเหมือนคนตายทั้งเป็น เพราะเขาไม่มีความฝันแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย เขาเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย จนเอาตัวเองหลุดออกจากกรอบของสังคม เพื่อที่จะทำอะไร หรือใครจะว่าอะไรเขาก็ได้ เป็นการยิ่งกดทับตัวเองลงไปอีก การทำโครงการนี้ เพื่อที่จะสร้างพลังให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง และทำให้ชุมชนเห็นว่าเขามีศักยภาพที่ดี เราดึงเขากลับมาอีกครั้ง” อัจฉรา กล่าว
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน
‘สปาย’ จุดเริ่มต้นต่อยอดการดูแลเพื่อนอย่างทั่วถึง
อัจฉรา กล่าวอีกกว่า สิ่งที่เราทำ คือ เราจัดเวิร์กชอป (Workshop) ให้ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะกว่า 30 คน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวในชีวิตที่เผชิญกัน เพื่อให้แต่ละคนสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการป้องกันตัวเองได้ ซึ่งเราไม่เพียงสอนแต่เรื่องสิทธิทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล หรือเมื่อเขาถูกคุกคามทางด้านร่างกาย เขาควรจะทำอย่างไร และควรแจ้งใคร เพราะที่ผ่านมาหลายคนยังไม่รู้ว่าสิทธิของเขาคืออะไร
“โครงการนี้เกิดขึ้นจากการอยากพัฒนาคน อยากให้โอกาส ให้เขาได้เข้าถึงสิทธิที่เขาควรจะได้รับในขั้นพื้นฐาน ให้เขาได้มีโอกาสสักครั้ง แม้แต่กระทั่งการได้ไปเวิร์กชอปที่โรงแรมในต่างจังหวัด เราจัดห้องให้เขา มีเตียงมีแอร์ภายในห้องพัก แต่เขากลับเกรงใจไม่กล้านอนบนเตียงหรือเปิดแอร์ด้วยซ้ำ” อัจฉรา กล่าว
อัจฉรา กล่าวถึงสปายว่า หลังการเวิร์กชอปมากว่า 30 คน แม้ว่าจะมีผู้ไปต่อ หรือไม่ไปต่อก็ตาม แต่การทำงานในการฟื้นฟูคนจะต้องให้โอกาส บางคนอาจจะต้องให้โอกาสแล้วก็ให้อีกก็ตาม ซึ่งเราไม่สามารถบังคับเขาได้ แต่อย่างน้อยก็มีผู้กลับมาทำหน้าที่เป็นสปาย แม้จะเป็นเพียง 10% แต่เดี๋ยวอีกหน่อยเขาก็จะไปบอกต่อๆ กัน ก็จะมีการสอดส่องช่วยดูแลซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง นับเป็นการต่อยอดอีกได้
ความยุติธรรมทางเพศที่เท่าเทียม
อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การถูกคุกคามของคนกลุ่มนี้ เรียกว่า เป็นการถูกล่วงเกินโดยการกดทับ ซึ่งไม่เหมือนเรา เพราะผู้คุกคามมักมองว่าจะทำอะไรกับคนกลุ่มดังกล่าวก็ได้ และเขามักจะถูกตีตราจากสังคม หรือไม่ได้รับความยุติธรรม ด้วยสาเหตุที่ว่าเขาเลือกที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเอง
ยกตัวอย่าง นักโทษพ้นคุก สังคมมักมีภาพจำกับคนกลุ่มนี้ว่าอันตราย เมื่อเขากลับออกมาใช้ชีวิตหลังกำแพง ก็ยังไม่ได้รับโอกาสอย่างแท้จริง ยังคงโดนกดทับ จนท้ายที่สุดต้องเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะก็มี
“จริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากเลือกอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่ด้วยมีปัจจัยหลายๆ อย่าง เขาจึงต้องทำ อาจด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลส่วนตัวก็ตาม แต่เวลาสังคมเอาศีลธรรมหรือวัฒนธรรมมาจับ สังคมมักจะตีตราซ้ำ ทั้งที่จริงแล้วโอกาสหรือทางเลือกในการเข้าถึงสิทธิของเขา อาจไม่ได้มีมากเท่าอย่างที่เราได้รับ” อัจฉรา กล่าว
ดังนั้นจึงอยากสังคมไม่ตีตราซ้ำ เพราะบางคนมีหลากหลายปัญหาที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเช่นนี้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นผู้มีบ้าน หรือผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะก็ตาม หากถูกล่วงละเมิด เขาก็ควรได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน