“…อยากให้เลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมออกไปก่อน เพราะนักท่องเที่ยวที่แท้จริงยังไม่ได้เข้ามา ที่เข้ามาผ่าน Test & Go หรือแซนด์บ็อกซ์ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การกำหนดมาตรการที่สร้างต้นทุนเพิ่ม อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงการเดินทางเข้ามา และตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เปิดประเทศรับชาวต่างชาติ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ตอนนี้จึงไม่น่าจะใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุด…”
‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ หรือ ‘ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว’ กลายเป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก หลังรัฐบาลเตรียมแผนที่จะเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท ซึ่งวางแผนเอาไว้ว่าจะเริ่มเก็บ ดีเดย์ 1 เม.ย. นี้
โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ค่าเหยียบแผ่นดินเป็นการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว เพื่อนำไปใส่ใน ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ’ ตามพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2562
พ.ร.บ.ที่กำหนดไว้ว่าให้รัฐสามารถจัดเก็บค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยได้ ซึ่งมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2562 แล้ว
นับว่าการประกาศจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเวลานี้
แต่ค่าเหยียบแผ่นดินนี้คืออะไร เก็บกับบุคคลใดบ้าง และเมื่อเก็บแล้วเงินจะไปไหน การเก็บในช่วงเวลานี้จะเหมาะสมหรือไม่ และผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวไทยมีความคิดเห็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมีรายละเอียดดังนี้
นายพิพัฒน์ กล่าวให้รายละเอียดเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมให้รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง MCOT HD ว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ ส่วนคนไทยได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศกับคนไทยที่เดินกลับจากต่างประเทศ
"สาเหตุที่ต้องเป็นจำนวนเงิน 300 บาท มาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มหาวิทยาลัยทำการศึกษาเมื่อปี 2562 หลังจากที่สำนักงบประมาณแจ้งว่า จะไม่อุดหนุนเข้ากองทุนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา แล้วมีอาการป่วย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในประเทศ เป็นที่มาให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯหาวิธีจัดเก็บเงินเข้ากองทุน” นายพิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ จะเก็บเงินจากขาเข้า ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งจะนำไปซื้อประกันอุบัติเหตุคุ้มครองนักท่องเที่ยวระยะเวลา 45 วัน และนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
ยกตัวอย่าง เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต นักท่องเที่ยวก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาลที่จะได้รับสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท นำไปสร้างทางขึ้นลงสำหรับคนพิการในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และสร้างห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวให้เหมือนห้องน้ำของประเทศญี่ปุ่นที่สะอาดและดีมาก
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เก็บเงินเข้ากองทุน แบ่ง 3 สัดส่วนช่วยท่องเที่ยวไทย
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า เงิน 300 บาทที่เก็บมาได้จากชาวต่างชาติแต่ละคน จะนำไปเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย 20% จะหักไปเป็นค่าประกันให้นักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือ อีก 30% จะเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ผ่านสายการบินต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ จึงคาดว่าเหลือประมาณ 40-50% ที่สามารถนำเข้ามาในกองทุนได้
ทั้งนี้ในจำนวน 30% ดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่าย แต่จะให้สายการบินที่ช่วยเก็บค่าใช้จ่าย 5% ที่เหลืออีก 20-25% จะนำไปจ้างบริษัทที่มามอนิเตอร์ เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่พอที่จะประสานงานติดตามนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย
โดยหน่วยงานที่จัดเก็บให้กับรัฐ ทางอากาศคงให้สายการบินเป็นผู้ช่วยจัดเก็บ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้เจรจากับสายการบินต่างๆ ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเป็นรายบริษัท และได้เจรจาไปพอสมควรแล้ว
แต่ที่เราไม่ฝากไว้กับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพราะ IATA ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพราะจัดเก็บภาพรวมคนเข้าเมืองไทยทั้งหมด ซึ่งค่าเหยียบแผ่นดินจะถูกรวมเข้ากับค่าตั๋วเครื่องบิน ส่วนผู้เข้าประเทศทางบกและทางน้ำ ยังอยู่ระหว่างหารือ
“อัตราส่วนค่าประกัน 20% เป็นคนละส่วนกับประกันโควิดที่ชาวต่างชาติต้องทำมาแล้ว ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า จากการเก็บข้อมูลปี 2559-2561 นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยและทำการรักษาอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยปี 2559 นั้น เก็บค่าใช้จ่ายไม่ได้ถึง 380 ล้านบาท ปี 2560 เก็บไม่ได้ 346 ล้านบาท ปี 2561 เก็บไม่ได้ 305 ล้านบาท ซึ่งไม่มีผู้รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเข้าไปรับผิดชอบ หากเก็บค่าประกันส่วนนี้แล้ว จะไม่ต้องใช้ภาษีประชาชนไปจ่ายทดแทน” นายพิพัฒน์ กล่าว
ใช้แอปพลิเคชัน เก็บค่าธรรมเนียม 1 เม.ย.นี้
“การเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียม คาดว่าเร็วที่สุดคือ 1 เม.ย. 2565” นี่คือสิ่งที่นายพิพัฒน์กล่าว แต่กระบวนการยังมีอีกหลายขั้นตอน หากไม่ทันคงต้องเลื่อนระยะเวลาต่อไปจนกว่าจะสมบูรณ์ทุกขั้นตอน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับสายการบินแต่ละบริษัท ซึ่งตอนนี้เกิน 50% แล้ว แต่ที่กังวลมากที่สุดคือการเดินทางเข้ามา จะให้ชาวต่างชาติซื้อผ่านช่องทางใด เพราะกลัวว่าจะเกิดการสร้างความแออัด จึงต้องพัฒนาเรื่องแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อเก็บค่าใช้จ่ายตรงนี้
“หากเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนับตามปฏิทินปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะเก็บเงินไตรมาส 3 (เม.ย. – ก.ย. 2565) ได้ไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท” นายพิพัฒน์ กล่าว
สมาคมท่องเที่ยวขอรัฐเลื่อนการเก็บเงินจาก นทท.
ด้าน นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราถึงแนวคิดการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติของภาครัฐว่า แม้มาตรการดังกล่าวจะมีมาอย่างยาวนานแล้ว แต่การระบาดของโควิดทำให้แนวคิดนี้ต้องหยุดไป และมีข่าวว่าจะเริ่มเก็บในเดือน ม.ค. 2565 จนเลื่อนมาอีกในเดือน เม.ย. จนกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงเวลานี้ในวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เบื้องต้นทางสมาคมฯ ขอเสนอให้เลื่อนเวลาและหาเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ท่องเที่ยวที่สุดแล้ว เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
“ทางสมาคมและภาคีเครือข่าย อยากให้เลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมออกไปก่อน เพราะนักท่องเที่ยวที่แท้จริงยังไม่ได้เข้ามา นักท่องเที่ยวที่เข้ามาผ่าน Test & Go หรือแซนด์บ็อกซ์ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เราอยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่านี้ก่อน การกำหนดมาตรการที่สร้างต้นทุนเพิ่ม อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงการเดินทางเข้ามา และตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เปิดประเทศรับชาวต่างชาติ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ตอนนี้จึงไม่น่าจะใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุด” นายศิษฏิวัชร กล่าว
โดยในช่วงที่ผ่านมา ก่อนหน้าการระบาดของโควิดในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 40,000,000 คน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศลดน้อยลงอย่างมาก เหลือประมาณปีละ 400,000 คน แตกต่างกันถึง 100 เท่า
ปัจจุบันผ่านมาแล้วนาน 2 ปี ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยลำบากกันมาก ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ภาครัฐพับแผนเก็บค่าธรรมเนียมออกไปก่อน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาให้ได้มากที่สุด เพราะไทยเองก็ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ
นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)
เสนอรัฐเพิ่มกฎ นำเงินจากกองทุนฯช่วยสมาชิกในภาวะวิกฤต
นอกจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และภาคีเครือข่ายจะขอให้รัฐเลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวออกไปก่อน นายศิษฏิวัชร กล่าวว่า สมาคมฯยังอยากให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ใน พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในส่วนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติด้วย ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติแก่ผู้ประกอบการและแรงงานได้
เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ประสบปัญหาว่ารัฐไม่สามารถนำเงินจากส่วนกลางเข้ามาดูแลผู้ประกอบการหรือสมาชิกที่ลำบากได้ ดังนั้นถ้าเรามีกองทุนส่วนนี้อยู่ นำเงินมาบริกหารจัดการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือนำมาให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกและช่วยให้การดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีความมั่นคงมากขึ้น สามารถเดินหน้าต่อไปได้แม้ในภาวะวิกฤติต่างๆ
ย้ำรัฐกำหนดให้ชัด นทท.รายวันเก็บ 300 ด้วยหรือไม่
ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียม 300 บาทนั้น ตอบโจทย์บริบทของสังคมไทยหรือไม่นั้น นายศิษฏิวัชร กล่าวอีกว่า ตรงนี้มีการศึกษาวิจัยมาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีความกังวลใดๆ แต่ที่กังวลมากกว่าคือการเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวนี้ จะรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศแบบมาเช้าเย็นกลับ หรือรายวันหรือไม่ เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาภายในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่าในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ไม่น่ามีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพราะรัฐยังต้องเตรียมความพร้อมอีกหลายอย่าง แต่การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ.นี้ จะเป็นความหวังให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้งหากรัฐเลื่อนมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวออกไปก่อน
ส่องค่าเหยียบแผ่นดินทั่วโลก
การเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวนี้ ในหลายประเทศก็มีการจัดเก็บเช่นเดียวกัน สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงข้อมูลมาจาเว็บไซต์ euronews.travel มีรายละเอียดดังนี้
เวนิส จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวระหว่าง 3-10 ยูโร หรือคิดเป็นเงินโดยประมาณ 112-373 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงโลว์ซีซั่นหรือไฮซีซัน ซึ่งจะเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2565
สหภาพยุโรป (EU) จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวพลเมืองนอกสหภาพยุโรป ทั้งชาวอเมริกัน ออสเตรเลีย ชาวบริต และนักเดินทางอื่นๆ นอกเขตเชงเก้น 7 ยูโร หรือคิดเป็นเงินโดยประมาณ 261 บาท โดยจะยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้มีอายุมากกว่า 70 ปี
ออสเตรีย จะเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว ผ่านการจ่ายภาษีที่พักค้างคืน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามจังหวัดที่อยู่ อย่างในนเวียนนา (Vienna) หรือซาลซ์บูร์ก (Salzburg) จะต้องจ่ายเพิ่ม 3.02% สำหรับบิลโรงแรมต่อคน
เบลเยียม จะเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว ผ่านการจ่ายภาษีที่พักค้างคืนทุกคืนบางครั้งค่าธรรมเนียมจะรวมอยู่ในราคาห้องพักของโรงแรมแล้ว แต่บางแห่งก็แยกค่าใช้จ่ายออกและทำให้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 7.50 ยูโร หรือคิดเป็นเงินโดยประมาณ 280 บาท
ภูฏาน จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวรายวัน โดยใช่ช่วงไฮซีซั่นจะเก็บ 228 ยูโร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 8,518 บาท และจะเก็ยน้อยกว่าเดิมเล็กน้อยในช่วงโลว์ซีซั่น โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทางในประเทศ มัคคุเทศก์ ค่าอาหาร และค่าธรรมเนียมแรกเข้า
บัลแกเรีย จะเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว ผ่านการจ่ายภาษีที่พักค้างคืน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่และประเภทของโรงแรม สูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 ยูโร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 56 บาท
ฝรั่งเศส จะเก็บจากนักท่องเที่ยว ผ่านการจ่ายภาษีที่พักค้างคืน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามเมืองที่อยู่ โดยจะจัดเก็บประมาณ 0.20 - 4 ยูโรต่อคนต่อคืน คิดเป็นเงินประมาณ 7 - 149 บาท
เยอรมนี จะเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว ผ่านการจ่ายภาษีที่พักค้างคืน โดยจะจัดเก็บประมาณ 5% ของบิลโรงแรม
สหรัฐอเมริกา จะเก็บภาษีการเข้าพัก มีรายงานว่าอัตราสูงสุดคือในเมืองฮิวสตัน โดยจะจัดเก็บประมาณ 17% สำหรับบิลโรงแรม
ขณะที่ในประเทศอาเซียน มาเลเซีย จะเก็บภาษีที่พักไม่เกิน 4 ยูโรต่อคืน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 149 บาท
อินโดนีเซีย จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว 9 ยูโร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 336 บาท เพื่อนำไปรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของปประเทศ
ญี่ปุ่น มีภาษีซาโยนาระ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ค่าธรรมเนียม 1,000 เยน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 300 บาท ที่จ่ายโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะเดินทางออกนอกประเทศ จะถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน เมื่อปี 2563 ที่จัดขึ้นที่โตเกียว
การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาทนั้น จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ คงจะต้องรอดูต่อไป แต่เสียงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสะท้อนให้เห็นว่าการเปิด Test & Go อีกครั้งจะเป็นความหวังใหม่ให้ได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง การจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมในขณะนี้อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุด แต่จะเหมาะเมื่อไทยเรามีนักท่องเที่ยวจำนวนที่แท้จริงกลับมาอีกครั้ง
ภาพจาก : เดลินิวส์
อ้างอิงจาก :
Tourist taxes: All of the countries you will have to pay to enter in 2022