"...จําเลยโดยทุจริตได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งโดยจําเลยนําสําเนามรณบัตรปลอมและสําเนาทะเบียนบ้านปลอม อันเป็นเอกสารราชการที่จําเลยทําปลอมขึ้นไปใช้ประกอบคําร้องแจ้งสมาชิกเสียชีวิตขอรับเงินสงเคราะห์ของนางเพียงใจ โดยยื่นคําร้องและสําเนามรณบัตรปลอมพร้อมสําเนาทะเบียนบ้านปลอมต่อนางสาว ต. เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่านางเพียงใจภริยาของจําเลยเสียชีวิต และผู้เสียหายต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่จําเลยตามสิทธิอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วนางเพียงใจยังไม่ได้เสียชีวิต..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ศาฎีกา มีคำพากษาตัดสินยืนโทษ จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมศักดิ์ นงค์เยาว์ สมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำเลย กรณีปลอมใบมรณบัตรและทะเบียนบ้านปลอม นางเพียงใจ นงค์เยาว์ ภรรยา เพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ตามสิทธิเป็นจำนวนเงิน 534,449 บาท
ทั้งที่ ความเป็นจริงแล้ว นางเพียงใจ ยังไม่ได้เสียชีวิต นายสมศักดิ์ ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าว
หลังจากที่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสมศักดิ์ นงค์เยาว์ ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 , 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก 2 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ขอให้ศาลฯ ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
แต่ศาฎีกามีคำพากษายืน ตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี ดังกล่าว
ต่อไปนี้ เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายสมศักดิ์ นงค์เยาว์ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
โจทก์ฟ้องว่า จําเลยกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่าง 1 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2558 จําเลยทําปลอมสําเนามรณบัตร ซึ่งเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ โดยนํากระดาษขนาด เอ 4 ที่มีลักษณะเนื้อกระดาษคล้ายกระดาษมรณบัตรของทางราชการมาทําให้ปรากฏช่องตารางต่าง ๆ
มีสาระสําคัญว่า “ใบมรณบัตร คําร้องที่ 3343/2558 สํานักทะเบียนอําเภอศรีนคร เลขที่ 01-11066338 ชื่อ นางเพียงใจ นงค์เยาว์ เลขประจําตัวประชาชน XXXX (สงวนข้อมูล) เพศหญิง อายุ 46 ปี สัญชาติไทย สถานภาพสมรส ที่อยู่ XXX หมู่ที่ X ตําบลคลองมะพลับ อําเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
"ตาย" เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เวลา 18.30 นาฬิกา
ผู้รักษาก่อนตายไม่มี หนังสือรับรองการตายไม่มี
สาเหตุการตายบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะและทรวงอก
@ ภาพตัวอย่างใบมรณบัตรของทางราชการ
สถานที่ตายระหว่างนําส่งโรงพยาบาลXXX จังหวัดสุโขทัย ผู้แจ้งการตายนาย ธ. เลขประจําตัวประชาชน XXXX ที่อยู่ผู้แจ้ง XXX หมู่ที่ X ตําบลคลองมะพลับ อําเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ความเกี่ยวพันเป็นบุตร
จัดการศพโดยเผา สถานที่วัดบ้านคลองปู ตําบลคลองมะพลับ อําเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
วันที่รับแจ้งการตาย 17 กันยายน 2558 ลงชื่อ นาย ธ. ผู้แจ้งการตาย
ลงชื่อ น.ส. ศ. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ลงชื่อ น.ส. ศ. นายทะเบียน ผู้รับแจ้งการตาย
@ ปลอมทะเบียนบ้านด้วย
นอกจากนั้น จําเลยได้ทําปลอมสําเนาทะเบียนบ้านเลขรหัสประจําบ้าน XXX ซึ่งเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ โดยนําสําเนาทะเบียนบ้านและสําเนารายการบุคคลในบ้านของเลขรหัสประจําบ้าน XXX บ้านเลขที่ XXX หมู่ที่ X ตําบลคลองมะพลับ อําเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เล่มที่ 1 ลําดับที่ 2 มาแก้ไข
เพิ่มเติมข้อความ โดยประทับตราคําว่า “ตาย” ที่ท้ายชื่อนางเพียงใจ นงค์เยาว์ และพิมพ์ข้อความเพิ่มว่า “ตามมรณบัตรเลขที่ 01-11066338 ลว. 17 กันยายน 2558 ลงชื่อ น.ส.ศ. นายทะเบียน”
ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอําเภอศรีนคร สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัทการบินไทย จํากัด และครอบครัว หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด หลงเชื่อว่าเป็นสําเนามรณบัตรและสําเนาทะเบียนบ้านรายการบุคคลในบ้านของเลขรหัสประจําบ้านดังกล่าวของสํานักทะเบียนอําเภอศรีนครที่แท้จริง ออกให้ เพื่อแสดงว่า นางเพียงใจภริยาจําเลยถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เวลา 18.30 นาฬิกา
อันเป็นความเท็จ
โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ที่ว่าการอําเภอศรีนคร สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัทการบินไทยจํากัด และครอบครัว นางเพียงใจ ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไป
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 เวลากลางวัน จําเลยซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จํากัด และครอบครัว ผู้เสียหาย และมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์จากผู้เสียหาย หากนางเพียงใจภริยาของจําเลยเสียชีวิตลง
จําเลยโดยทุจริตได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งโดยจําเลยนําสําเนามรณบัตรปลอมและสําเนาทะเบียนบ้านปลอม อันเป็นเอกสารราชการที่จําเลยทําปลอมขึ้นไปใช้ประกอบคําร้องแจ้งสมาชิกเสียชีวิตขอรับเงินสงเคราะห์ของนางเพียงใจ
โดยยื่นคําร้องและสําเนามรณบัตรปลอมพร้อมสําเนาทะเบียนบ้านปลอมต่อนางสาว ต. เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่านางเพียงใจภริยาของจําเลยเสียชีวิต และผู้เสียหายต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่จําเลยตามสิทธิอันเป็นความเท็จ
ความจริงแล้วนางเพียงใจยังไม่ได้เสียชีวิต
จําเลยจึงยังไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าว และโดยการหลอกลวงโดยใช้สําเนามรณบัตรปลอมและสําเนาทะเบียนบ้านปลอมอันเป็นเอกสารราชการปลอมดังกล่าวทําให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นสําเนามรณบัตรอันเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงและเป็นสําเนาทะเบียนบ้านที่ถ่ายมาจากทะเบียนบ้านฉบับที่แท้จริงของสํานักทะเบียนอําเภอศรีนคร
ผู้เสียหายจึงจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่จําเลยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 จํานวน 120,000 บาท เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 จํานวน 408,130 บาท และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 จํานวน 6,319 บาท รวมเป็นเงินที่จําเลยได้รับไปเป็นประโยชน์ของจําเลยโดยทุจริต 534,449 บาท
เหตุทั้งหมดเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268
จําเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 , 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จําเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว จําคุก 2 ปี
จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 1 ปี
จําเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จําเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคําพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
@ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง
ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จําเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจําคุกนั้น เห็นว่า จําเลยปลอมเอกสารเกี่ยวกับการตายของภริยา แล้วนําเอกสารที่จําเลยทําปลอมขึ้นนั้นไปยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากผู้เสียหาย ทําให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าภริยาของจําเลยถึงแก่ความตายและจ่ายเงินให้แก่จําเลยหลายครั้ง รวมเป็นเงินมากถึง 534,449 บาท
นับเป็นการกระทําที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เคารพยําเกรงต่อกฎหมาย
พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับหลังเกิดเหตุจําเลยมิได้กระทําการใดที่แสดงว่าสํานึกในความผิดหรือได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งคดีแต่อย่างใด
แม้จําเลยไม่เคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน หรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นดังที่จําเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อลงโทษจําเลยให้เบาลงหรือรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลย
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจําเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ทั้งหมดเป็นรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายสมศักดิ์ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินคดีนี้
นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพื่อไม่ให้บุคคลอื่น กระทำผิดซ้ำรอย ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง