นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ วัคซีนนั้นทำหน้าที่กันคุณไม่ให้ต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องเข้าไปรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนักหรือว่าเสียชีวิต และมันก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ผ่านมา ที่เรารายงานแล้วบอกว่ามีการติดเชื้อแบบก้าวหน้า ผมคิดว่าตรงนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดมากกว่า เพราะความเป็นจริง ตามมาตรฐานแล้วก็ไม่มีวัคซีนประเภทใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ ณ เวลานี้นั้น มีรายงานการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเข้ามา ทำให้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องของความจำเป็นต่อการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ หรือวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันหลังจากวัคซีนตัวหลักกันแล้วทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
โดยในประเทศไทยนั้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐรวมไปถึงภาคเอกชนที่เสนอวัคซีนทางเลือก ต่างก็มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนั้นได้ไปฉีดวัคซีนในโดสสามและโดสสี่ด้วยเหตุผลสำคัญว่าเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว DW ของประเทศเยอรมนีได้มีการเขียนบทความเตือนว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลดี และอาจจะส่งผลแง่ลบต่อระบบภูมิคุ้มกันของเราได้
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้นจากประเทศอิสราเอลนั้นดูเหมือนว่าการฉีดวัคซีนในโดสที่สี่จะไม่ได้ให้การปกป้องอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หลังจากที่ประเทศอิสราเอลนั้นเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการอนุมัติให้การฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นเข็มที่สองแก่ประชากรของประเทศตัวเอง
ทั้งนี้ผลการศึกษาจากประเทศอิสราเอลนั้นดูเหมือนจะเป็นการยืนยันข้อสงสัยของหน่วยงานด้านการกำกับดูแลการยาของสหภาพยุโรปหรืออียูเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ เวลานั้น นพ.มาร์โก คาวาเลรี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วัคซีน สํานักงานยายุโรป หรือ EMA ได้เคยกล่าวไว้ว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนประสิทธิภาพเป็นวงกว้างเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในโดสที่สี่
ขณะที่บางประเทศ อาทิ เดนมาร์ก ฮังการี และชิลี ก็ได้มีการอนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นโดสที่สองแล้วด้วยเช่นกัน แม้ว่า EMA จะได้ออกมาแสดงความกังวลก็ตาม ซึ่งในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ออกมาเตือนว่านโยบายการเหวี่ยงแหเรื่องการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้โรคระบาดอยู่ได้นานขึ้น มากกว่าจะยุติมัน
ส่วนทางด้านของ นพ.คาวาเลรีได้กล่าวว่านอกเหนือจากประเด็นว่า ณ เวลานี้นั้นยังขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นจำนวนหลายโดสแล้ว ยังมีประเด็นที่ว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ถี่ๆกันนั้นอาจจะส่งผลในแง่ลบกับระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ได้ เพราะจะทำให้เกิด ความอ่อนล้าในภูมิคุ้มกันเนื่องจากต้องรับวัคซีนเป็นจำนวนหลายโดส
รายงานข่าวการฉีดวัคซีนโดสสี่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งผลปรากฎว่าสามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้แค่บางส่วนเท่านั้น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
นักวิจัยคนอื่นๆก็ได้ให้ความเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นจำนวนหลายโดส แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นจำนวนถี่ๆกันนั้นจะทำให้เกิดความอ่อนล้าในระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน เนื่องจากว่าที่ผ่านมานั้นยังไม่เคยมีความพยายามจะศึกษาเรื่องเหล่านี้มีก่อนเลย
@ความอ่อนล้าของทีเซลล์
“สิ่งที่นพ.คาวาเลรีได้กล่าวถึงนั้น อาจจะหมายถึงความกังวลกรณีที่มีแอนติเจนที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจจะนำไปสู่การที่ทีเซลล์นั้นอยู่ในภาวะไร้ภูมิคุ้มกันหรือว่าอ่อนล้า” พญ.ซาราห์ ฟอร์จูน ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยการแพทย์ สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวในอีเมลตอบกลับสำนักข่าว DW
โดยทีเซลล์นั้นก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญเช่นกันในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว
พญ.ฟอร์จูนกล่าวต่อว่าแม้จะมีหลักทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนความกังวลของ นพ.คาวาเลรี ก็ควรจะตีความความกังวลนี้ให้เป็นคำถามสำหรับทางนักวิจัยที่จะต้องเฝ้าจับตาดูว่า นี่จะกลายเป็นความรู้ใหม่ที่จะต้องกลายเป็นนโยบายด้านการฉีดวัคซีนต่อไปหรือไม่ เนื่องจากว่าในกรณีของไวรัสโควิด-19 กับทางวิทยาศาสตร์นั้น ประเด็นเรื่องความอ่อนล้าของทีเซลล์มีความซับซ้อนยิ่งกว่าการรับแอนติเจนซ้ำๆกันเป็นอย่างยิ่ง
“ทีเซลล์นั้นอาจจะทำงานผิดปกติได้ เมื่อเซลล์เหล่านี้เห็นแอนติเจนซ้ำๆกันในบางบริษัท ซึ่งการศึกษาที่ดีที่สุดในเชิงชีววิทยานั้นก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นกับไวรัสเอชไอวีหรือว่ามะเร็ง ซึ่งก็มีสภาพของการมีแอนติเจนอยู่ตลอดเวลาอันไม่ได้มาจากการฉีดวัคซีนซ้ำๆกัน” พญ.ฟอร์จูนกล่าว
@การฉีดวัคซีนในทุก 2-3 เดือน ถือเป็นแนวคิดใหม่
นพ.เรนฮาร์ด ออบสต์ ศาสตราจารย์ที่สถาบันภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยลุดวิกแม็กซิมิเลียน และยังเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความอ่อนล้าของทีเซลล์ในหนูทดลองกล่าวว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีแอนติเจนเป็นระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นแอนติเจนจะหายไป ซึ่งกรณีความอ่อนล้าของทีเซลล์นั้นก็จะสามารถพบได้เช่นกันในกรณีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือว่ารับไวรัสเอชไอวี มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบางอย่าง แต่ทว่ากรณีความอ่อนล้าของทีเซลล์นั้นยังไม่เคยมีการสำรวจกับกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนบ่อยครั้ง
นพ.ออบสต์กล่าวว่าเนื่องจากว่ายังมีข้อมูลในเชิงการแพทย์ที่น้อยมาก ดังนั้นความกังวลของ นพ.คาวาเลรีจึงดูสมเหตุสมผล
“แนวคิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นระยะเวลาทุกๆ สี่เดือนหรือว่ามากกว่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ มันเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนเลยสำหรับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ และแนวคิดที่ว่าความอ่อนล้าของทีเซลล์ ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณจึงควรหยุดการฉีดวัคซีน” นพ.ออบสต์กล่าว
“ถ้าหากมีใครถามผมว่า คุณจะไปฉีดวัคซีนในทุกสี่เดือนหรือไม่ หรือว่าในทุกสองเดือน,หรือฉีดวัคซีนสี่ครั้งติดกัน ผมก็คงต้องบอกว่าให้ระวังตัวไว้ก่อน ให้ร่างกายได้พักก่อนดีกว่า” นพ.ออบสต์กล่าวต่อ
@การฉีดวัคซีนเป็นครั้งคราวน่าจะเป็นประโยชน์
นพ.โฮลเด้น เมคเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยภูมิคุ้มกัน ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็ได้ส่งเมลมายังสำนักข่าว DW เช่นกันโดยกล่าวว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นจำนวนหลายโดสนั้นจะมีประสิทธิภาพเหนือระบบภูมิคุ้มกันไปได้ แต่ว่าข้อมูลจากสหราชอาณาจักรที่แสดงให้เห็นว่าการชะลอการฉีดวัคซีนโดสที่สองหรือว่าชะลอการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ออกไปเป็นระยะเวลาหกเดือนนั้นถือว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่การศึกษาอื่นๆหลายกรณีแสดงให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันนั้นจะเป็นต้องใช้เวลาที่จะสร้างความทรงจำ ดังนั้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในระยะเวลาสั้นๆจึงไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยอะไรได้มากนัก
นพ.โฮลเด้นกล่าวต่อว่าจากการที่เราสามารถจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เป็นระยะเวลาปีละครั้ง ซึ่งไม่ได้มีอันตรายตามมาจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยระยะเวลาเป็นครั้งคราวนั้นน่าจะมีประโยชน์
@มาตรฐานของวัคซีนที่เป็นไปไม่ได้ในการป้องกันอาการป่วยเพียงเล็กน้อย
นพ.พอล ออฟิต ผู้อํานวยการศูนย์การศึกษาวัคซีนและแพทย์ที่เข้าร่วมในกองโรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย ก็ได้แสดงความกังวลในประเด็นอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องความอ่อนล้าของทีเซลล์ ซึ่งก็คือประเด็นในเรื่องของความไม่ยั่งยืนในเรื่องของกลยุทธ์ในด้านการป้องกันการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงจากไวรัสโควิด-19 และได้เน้นย้ำว่าไม่มีทางที่ภูมิคุ้มกันนั้นจะสามารถอยู่ไปได้ตลอด และตัวแอนติบอดีหรือว่าสารภูมิคุ้มกันนั้นก็จะต้องมีการเสื่อมลงเมื่อเวลาผ่านไป
ทั้งนี้ผลที่จะตามมาก็คือว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในที่สุดแล้วก็จะมีอาการป่วยไม่รุนแรงจากไวรัสโควิด-19
“นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ วัคซีนนั้นทำหน้าที่กันคุณไม่ให้ต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องเข้าไปรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนักหรือว่าเสียชีวิต และมันก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ผ่านมา ที่เรารายงานแล้วบอกว่ามีการติดเชื้อแบบก้าวหน้า ผมคิดว่าตรงนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดมากกว่า เพราะความเป็นจริง ตามมาตรฐานแล้วก็ไม่มีวัคซีนประเภทใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์แบบ” นพ.ออฟิต กล่าว
นพ.ออฟิต กล่าวต่อไปว่าวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรตาไวรัสเองก็ไม่ได้เป็นวัคซีนที่จะสามารถปกป้องต่ออาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงแต่อย่างใด แต่ว่าวัคซีนเหล่านี้นั้นสามารถปกป้องเราจากการอาการป่วยปานกลางไปจนถึงรุนแรงได้ และนี่ก็คือประเด็นสำคัญ
โดย ณ เวลานี้นั้น หน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยในระดับเล็กน้อย แต่แท้ที่จริงแล้ว จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือควรที่จะต้องไปมุ่งเน้นในเรื่องของการฉีดวัคซีนโดสที่หนึ่งและโดสที่สองให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเสียก่อน แทนที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนสองเข็มแรกแล้ว
“นี่เป็นการระบาดในระดับโลก เราทุกคนจะต้องทุกข์ทนกับไวรัสนี้ไป จนกระทั่งเราจะสามารถควบคุมไวรัสนี้ในระดับโลกได้” นพ.ออฟิตกล่าวกับสำนักข่าว DW
นพ.มาร์โก คาวาเลรี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วัคซีน สํานักงานยายุโรป หรือ EMA แถลงข่าวว่ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนกับการฉีดวัคซีนในโดสสี่ (อ้างอิงวิดีโอจากRuptly)
@ความมุ่งหมายหลักควรจะเป็นการฉีดวัคซีนให้ได้ทั่วโลก
“ตราบใดที่ไวรัสยังแพร่กระจายไปทั่วโลก คุณก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีประชากรที่มีภูมิคุ้มกันที่สูง ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดก็คือทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าประเทศที่มีความจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนนั้นจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้แบบที่เรา (สหรัฐฯ) สามารถทำได้ ผมคิดว่าการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นทั้งโดสสาม,โดสสี่,หรือว่าโดสห้า ทุกอย่างเป็นการสูญเปล่าครั้งใหญ่ หรือว่าเป็นแค่ทางอ้อมจากการแก้ปัญหาตรงจุดที่เราจำเป็นต้องกระทำเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เราจำเป็นต้องกระทำก็คือว่าทำให้มั่นใจว่าทำให้ประชาชนนั้นได้รับวัคซีนในโดสหลักเพราะว่ามันจะปกป้องพวกเขาจากการป่วยรุนแรงได้เป็นระยะเวลายาวนาน และอาจจะถึงปี” นพ.ออฟิตกล่าว
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีรายงานว่ามีการอนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับชาวอเมริกันไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนซึ่งมาจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯหรือว่าซีดีซี และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือว่าเอฟดีเอ ซึ่ง นพ.ออฟิตก็เป็นหนึ่งในเสียงที่คัดค้านด้วย
ทั้งนี้ซีดีซีได้เคยกล่าวไว้ว่าวัคซีนจำนวนสองโดสจะสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ในกลุ่มประชากรส่วนมาก วัคซีนบูสเตอร์จะสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำอันมีสาเหตุมาจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้
โดยผลการทดลองในประเทศอิสราเอลและประเทศสหรัฐฯก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนบูสเตอร์นั้นสามารถปกป้องผู้สูงอายุได้จริง และทาง นพ.ออฟิตก็เห็นด้วยเช่นกันที่จะให้มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อให้มีการป้องกันจากการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่จะฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับทุกคน
“ผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น หลายคนมีโรคแทรกซ้อนอยู่หลายโรค,มีผู้ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับคนกลุ่มนั้น ผมให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ผมไม่เข้าใจว่ากับการทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสงครามระหว่างคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีที่ต้องสู้รบกับการป่วยที่ไม่รุนแรง” นพ.ออฟิตกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.dw.com/en/covid-do-multiple-boosters-exhaust-our-immune-response/a-60447735