“..พ่อแม่ที่มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อวันประมาณ 300-350 บาท ซึ่งโดยชาวบ้านจะมองว่าสิ่งที่จำเป็นก็คือ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่พอเป็นส่วนเรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น แมสก์ ที่ผ่านมาเคยเห็นผู้ปกครองใส่จนดำมาก เพราะเขาจะตั้งเป้าที่การซื้อของดำรงชีพก่อน..”
เชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่กับเรามาเป็นเวลา 2 ปี แม้ว่าล่าสุดเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ โอไมครอนที่สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น แต่อาการไม่รุนแรงนั้น และมีแนวโน้มว่าจะโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นในอีกไม่นานนี้ก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่ผ่านมาแทบจะทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่เป็นช่วงวัยของการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆ
ครูต้อ หรือ ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เป็นระยะเวลาเกือบ 9 เดือนที่ทางรัฐบาลมีคำสั่งประกาศปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กที่ต้องถดถอยลง แม้ว่าทางมูลนิธิฯ จะมีการปรับวิถีการดำเนินงานช่วยเหลือต่างๆ แล้วก็ตาม
ล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ ผ่อนปรนมาตรการให้สามารถเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้แล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องยื่นเรื่องขออนุญาต โดยจะต้องได้รับการประเมินด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย ทั้งจากองค์กรส่วนปกครอง และหน่วยงานสาธารณสุขที่กำกับดูแล
ซึ่งมูลนิธิฯ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ บ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย) บ้านศรีนครินทร์ (ชุมชนกองขยะหนองแขม) บ้านแห่งความหวัง (ซอยอ่อนนุช 88 แยก 10) และบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ (ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ) ได้ทำเอกสารเพื่อขออนุญาตและได้รับการประเมินให้เปิดได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
ศีลดา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า สืบเนื่องจากที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถูกสั่งปิดมาเป็นเวลานาน การดำเนินการขออนุญาตเปิดอีกครั้ง จึงต้องมีความเข้มงวด ทั้งในเรื่องมาตรการ สถานที่ รวมถึงบุคลากร และผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัยของชีวิตเด็ก
ในเรื่องของการเตรียมความพร้อม ก็จำเป็นจะต้องมีการทำความสะอาดสถานที่ มีการจัดกิจกรรมโดยเว้นระยะห่าง มีจุดล้างมือเป็นต้น ทางด้านของตัวบุคลากร ก็จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนครบตามจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำ และมีการตรวจคัดกรองเป็นประจำ
“ความปลอดภัยของเด็ก เป็นความรับผิดชอบของ 3 ส่วน คือ พ่อแม่ ครูผู้ดูแลเด็ก และศูนย์สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเข้ามาประเมินและเป็นที่ปรึกษา ถ้ามีโอกาสเปิด การที่จะรักษาให้เปิดได้อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ การสื่อสารทั้งกับผู้ปกครองเด็กและบุคลากร ครูผู้ดูแล เพราะถ้าประมาท มีการติดเชื้อ ก็จะกระทบกันหมด” ศีลดา กล่าว
หน้ากาก-ATK ของจำเป็น แต่อาหารสำคัญกว่า
ศีลดา กล่าวถึงปัญหาค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจคัดกรอง ว่า การตรวจคัดกรอง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ เนื่องจากว่า สถานการณ์ประเทศในปัจจุบัน มีคนจนเฉียบพลัน และคนจนหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก จากสภาวะเศรษฐกิจ รายได้น้อย และด้วยเงื่อนไขการตรวจ ATK ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี สามารถคัดกรองหาเชื้อได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ เงินที่จะนำไปซื้อ เพราะผู้ปกครองเด็กเป็นกลุ่มเปราะบาง มีรายได้น้อย ฉะนั้นการลำดับความสำคัญ อันดับแรกคือ อาหาร และของใช้ประจำวันมากกว่า การที่จะซื้อชุดตรวจ ATK จึงถือเป็นค่าใช้ที่เพิ่มขึ้นในครอบครัว ซึ่งรวมไปถึง หน้ากากอนามัย และเจลแอกอฮอล์ด้วย
นอกจากนี้ การซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวและตรวจคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะซื้อสำหรับตัวบุคคลแค่เพียง 1 คนเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องซื้อสำหรับคนทั้งครอบครัว และชุดตรวจ ATK ที่ราคาไม่แพง ก็ค่อนข้างที่จะหาซื้อยาก
“พ่อแม่ที่มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อวันประมาณ 300-350 บาท ซึ่งโดยชาวบ้านจะมองว่าสิ่งที่จำเป็นก็คือ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่พอเป็นส่วนเรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น แมสก์ ที่ผ่านมาเคยเห็นผู้ปกครองใส่จนดำมาก เพราะเขาจะตั้งเป้าที่การซื้อของดำรงชีพก่อน เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีรายชื่อของเด็กอยู่แล้ว ก็อยากจะให้มาช่วยเหลือในส่วนตรงนี้ ก็จะช่วยได้เยอะมาก” ศีลดา กล่าว
รับดูแลได้จำนวนจำกัด เด็กบางส่วนอาจถูกละเลย
ศีลดา กล่าวว่า การกลับมาเปิดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนี้ ก็ตามมาด้วยข้อจำกัดต่างๆ เนื่องจากจำเป็นจะต้องปฏิบัติติตามมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยจากโรค การรับเด็กเข้ามาดูแลจึงทำได้จำนวนจำกัด จากเดิมที่มูลนิธิฯ สามารถรับดูแลเด็กจากกลุ่มเปราะบางได้ประมาณวันละ 350 คน ก็จะเหลือเพียงแค่ 150 คนต่อวันเท่านั้น เพราะจะต้องปรับลดอัตราการดูแล จากครู 1 คน ต่อเด็ก 7-8 คน เป็นครู 1 คน ต่อ เด็กไม่เกิน 5 คน โดยจะต้องแบ่งการดูแลเป็นกลุ่มย่อย ร่วมกับการใช้มาตรการ bubble & seal เพื่อที่หากเกิดการติดติดเชื้อจะไม่กระจายไปยังกลุ่มย่อยอื่นๆ
สำหนรับวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศีลดา กล่าวว่า การประเมินคัดเลือกเด็กนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมูลนิธิฯ ดูแลเด็กกลุ่มเปราะบาง แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องมีการประเมินและคัดเลือกเฉพาะบางส่วนเท่านั้น โดยมีหลักเกณฑ์ คือ การเลือกรับดูแลเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความจำเป็นจะต้องไปทำงาน และความเสี่ยงที่มีผลต่อเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ตกงานแทบจะ 100% เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ จึงสามารถกลับไปทำงานได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการคัดกรองที่เข้มงวด โดยการตรวจ ATK ที่ไม่เพียงการตรวจเฉพาะพ่อแม่เท่านั้น แต่จะต้องเป็นการตรวจทุกคนในบ้าน และทุกคนจะต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มก่อนที่จะส่งเด็กเข้ามาในศูนย์ฯ
“ก่อนหน้านี้เจอกรณีที่พ่อแม่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับรถส่งอาหาร โดยมีลูกอายุ 1 ขวบครึ่ง เมื่อศูนย์เด็กปิด ไม่มีคนดูแล จึงจะต้องนำลูกใส่กระเป๋าข้างหน้ากระเตงไปทำงานด้วย ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง แต่เมื่อศูนย์เด็กเปิด ก็นำลูกมาฝากได้ เด็กก็จะไม่ต้องไปเสี่ยง ฉะนั้นเด็กที่รับเข้าศูนย์ฯ จะต้องประเมินจากความเสี่ยงและความจำเป็นมาก่อน เพราะไม่สามารถรับดูแลเด็กได้ทุกคน” ศีลดา กล่าว
สำหรับเด็กบางส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในการเข้าดูแลที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่ก็ถือว่าเป็นลุ่มเปราะบางอยู่ เช่น พ่อแม่ไปทำงาน แต่มีคนที่สามารถดูแลได้อยู่ที่บ้าน มีพี่เด็กโตที่โรงเรียนปิดเทอมคอยดูแลอยู่ หรือพ่อแม่สลับกันไปทำงาน ในกลุ่มนี้ ก็จะมีการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น มีการเยี่ยมบ้านติดตามเป็นประจำ ให้ความช่วยเหลือตามสมควร รวมถึงการมอบถุงยังชีพ นมผง นมกล่อง เป็นต้น
ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ
เด็กติดโอไมครอนเพิ่มขึ้นจากเดลต้า 1 ใน 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 94,610 คน เสียชีวิต 27 คน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันมากถึง 1,207 คน
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารอบที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อในเด็กอยู่ที่ 10%
ส่วนในการระบาดรอบนี้โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน แนวโน้มการแพร่ระบาดพบว่าเด็กมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 กว่ารอบที่ผ่านมา แต่ไม่มีอาการหนัก ขณะนี้มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลเด็ก 32 ราย
เฉพาะ รพ.เด็ก มีเตียงรักษาเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 70 เตียง ดูแลตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี โดยมีหอผู้ป่วยหนักดูแลเด็กโตติดเชื้อ มีอยู่ 7 เตียง หอผู้ป่วยหนักดูแลเด็กทารกแรกเกิด 6 เตียง ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการสั่งให้สถาบันสุขภาพเด็กฯ เตรียมเตียงไว้ 100 เตียง หากมีสถานการณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งเตียงในการดูแลเด็กติดเชื้อเพิ่มขยาย โดยสามารถปรับเอาเตียงผู้ใหญ่มาเป็นเตียงดูและเด็กโควิดได้
ขณะเดียวกันเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 บางส่วนที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว จะทำการรักษาตัวที่บ้าน ตอนนี้มี 60 ราย โดยมีผู้ปกครองคอยดูแลและมีแพทย์ พยาบาลคอยโทรสอบถามอาการ
นพ.อดิศัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา โรงพยาบาลด็ก เคยรองรับเด็กติดเชื้อโควิคสูงสุด 103 เตียง ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยเด็กโควิด-19 หมุนเวียนเตียงที่ทำการรักษาในโรงพยาบาล 1,350 ราย พร้อมกล่าวย้ำว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาการที่พบในเด็กน้อยมาก ส่วนใหญ่มีไข้ไอ อาการดีขึ้น 3-4 วัน หากเด็กที่เข้ารับการรักษามีอาการก็จะทำการให้ยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ทันที