"..กรมการแพทย์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดฯ เริ่มดำเนินงานการจัดทำ Home Isolation ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยพบว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 9,802 คน ผู้ป่วยได้รับส่งต่อ จำนวน 886 คน คิดเป็น 9.03% ผู้ป่วยรักษาหาย จำนวน 8,906 คน คิดเป็น 90.86% และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 2 คน คิดเป็น 0.02%.."
ในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอนติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่อาการไม่รุนแรง จึงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล แต่สามารถรักษาฟักฟื้นเองที่บ้านได้
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารสุข จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 มกราคม 2565 เพื่อให้การดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยการแยกกักตัวที่บ้านแบบ Home Isolation เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยนำบทเรียน จากการระบาดในช่วงที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการปรับปรุง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหาย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์แรก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการตนเอง เมื่อไม่แน่ใจสามารถโทรศัพท์ปรึกษาหรือเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล โดยติดต่อไปยังโรงพยาบาลก่อนเพื่อรับการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2 - 3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย
ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่น ขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือ ตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วันแล้วยังมีอาการควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ได้หากไม่มั่นใจระยะเวลาที่เหมาะสมในการหยุดแยกตัว หลังจากนั้น แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยและระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่ (New normal) แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีอาการหนักในช่วงแรก อาจจะแพร่เชื้อได้นานถึง 20 วัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นจนกลับบ้านได้แล้วมักจะพ้นระยะแพร่เชื้อแล้วจึงไม่ต้องแยกตัว
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะรักษารูปแบบ Home Isolation จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในบ้านตามคำแนะนำ
-
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และ แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้
-
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ step down หลังเข้ารับการรักษาที่สถานที่รัฐจัดให้หรือ โรงพยาบาล อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน โดยวิธี Home Isolation
ลักษณะของบ้านพักอาศัยที่เหมาะสม
บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรจะต้องมีลักษณะ ดังนี้
-
ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ให้ออกจากที่พัก
-
มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิดประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี
-
มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง
-
ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้
-
สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก
หากบ้านหรือที่พักไม่เหมาะสม อาจต้องหาสถานที่แห่งอื่นในการแยกตัว
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระหว่างแยกตัว
-
ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัวและงดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว
-
อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ หากยังมีอาการไอจามต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัว โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้า
-
หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือประมาณหนึ่งช่วงแขน หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร และให้หันหน้าไปยังทิศทางตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
-
หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปาก และจมูก
-
ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ (หากมือเปรอะเปื้อนให้ล้างด้วยสบู่และน้ำ) โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ และ ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น ฯลฯ
-
กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร
-
ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ
-
การทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) โดยใช้ 5% โซเดียมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วนหรือ 0.5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน)
-
แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์
-
ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้ แล้วแยกรับประทานคนเดียว ถ้าเป็นอาหารที่สั่งมา และต้องเป็นผู้รับอาหารนั้น ควรให้ผู้ส่งอาหารวางอาหารไว้ ณ จุดที่สะดวก แล้วไปนำอาหารเข้าบ้าน ไม่รับอาหารโดยตรงจากผู้ส่งอาหาร
-
ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ หากใช้เครื่องซักผ้าให้ใช้ผงซักฟอก และ น้ำยาปรับผ้านุ่มได้
-
การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือ น้ำ และสบู่ ทันที
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยในการสังเกตอาการตนเอง
-
ให้สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิ และ oxygen saturation ทุกวัน
-
หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่
-
เมื่อจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
คำแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ที่บ้าน
อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน
-
เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ
-
มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และ สามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
-
อายุน้อยกว่า 75 ปี
-
ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
การดำเนินการของโรงพยาบาล
-
ให้ดำเนินการติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยโทรแจ้ง 1330
-
ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์
-
ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์แยกกักตัวที่บ้าน
-
แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้กับผู้ติดเชื้อ
-
ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้ออย่างน้อยวันละครั้ง หรือ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิ และวัดระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน ผ่านระบบการสื่อสาร
-
เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นให้มีระบบนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
-
ทั้งนี้ระหว่างติดตามอาการของผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะตามข้อมูลและสถานการณ์ สามารถติดตามฉบับปัจจุบันจาก https://covid19.dms.go.th/ (ฉบับปัจจุบัน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564) โดยมีระบบการจัดส่งยา การแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับการรับประทานยา การสังเกตผลข้างเคียงที่เหมาะสม ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล และรับผู้ป่วยมารักษาในโรงพยาบาล
เกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล
-
เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
-
หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที ในผู้ใหญ่
-
Oxygen Saturation < 94%
-
โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
-
สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง
ผลการจัดบริการ Home isolation หน่วยบริการในสังกัดกรมการแพทย์
กรมการแพทย์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ เริ่มดำเนินงานการจัดทำ Home Isolation ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยพบว่า (ข้อมูลการให้บริการ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564) มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 9,802 คน ผู้ป่วยได้รับส่งต่อ จำนวน 886 คน คิดเป็น 9.03% ผู้ป่วยรักษาหาย จำนวน 8,906 คน คิดเป็น 90.86% และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 2 คน คิดเป็น 0.02%
- การจัดบริการ Home isolation ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
หน่วยบริการในสังกัดกรมการแพทย์ที่จัดบริการ Home isolation ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งหมด 11 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการในกรมการแพทย์ 1 แห่ง มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 9,180 คน โดยโรงพยาบาลราชวิถีมียอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสมสูงสุด จำนวน 2,814 คน คิดเป็น 30.65% ผู้ป่วยรักษาหายจำนวน 8,358 คน คิดเป็น 90.99% ได้รับส่งต่อจำนวน 781 คน คิดเป็น 8.50% และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย คิดเป็น 0.02%
- การจัดบริการ Home isolation ในพื้นที่ต่างจังหวัด
หน่วยบริการในสังกัดกรมการแพทย์ที่จัดบริการ Home isolationในพื้นที่จังหวัด มีทั้งหมด 4 แห่ง มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 622 คน โดยโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่นมียอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสมสูงสุด จำนวน 520 คน คิดเป็น 83.60% ผู้ป่วยรักษาหายจำนวน 548 คน คิดเป็น 88.10% ได้รับส่งต่อจำนวน 74 คน คิดเป็น 11.89% และไม่พบผู้ป่วยผู้เสียชีวิต
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุงเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และผลสำเร็จการดำเนินการรักษาแบบ Home Isotaion ภายใต้การดูแลของกรมการแพทย์