“… Thai Stop COVID 2 Plus คือ ระบบงานที่กรมอนามัยสร้างขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ความรู้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้ามาประเมินด้วยความสมัครใจ โดยจะต้องผ่านการประเมิน 2 ครั้ง นับเป็นการยกระดับความปลอดภัยและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้มีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าการประเมิน Thai Stop COVID Plus ที่ผ่านมา ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในจังหวัดจะต้องประเมินตนเองตามมาตรฐานอยู่แล้ว…”
หนึ่งในมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิดอย่างสมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากการเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดแล้ว รัฐบาลได้เริ่มมาตรการประเมินวัดความปลอดภัยของสถานประกอบการผ่านแพลตฟอร์ม ‘Thai Stop COVID Plus’ เมื่อเดือน ต.ค. 2564
โดยการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ กิจการ และสถานที่สาธารณะ อาทิ ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทำแบบประเมินเพื่อวัดมาตรฐานความปลอดภัยในกิจการของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนหรือผู้มาใช้บริการ หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) มีมติให้ผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายตัวเองได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ได้ลามเข้ามาภายในประเทศไทยเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ทำให้ในช่วงวันหลังปีใหม่พบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 2,000 กว่าราย พุ่งสู่ 7,000-8,000 รายต่อวัน
-
โควิดวันนี้ 8,077 เฉพาะระลอก ม.ค.65 ป่วยทะลุแสน หายดี 4,887 ตาย 9 ราย
-
14 วันโควิดไทยทรงตัว! สธ.จ่อผ่อนคลายหากดีขึ้น เตรียมพร้อมวัคซีน-ยา-เตียงสู้โอไมครอน
เป็นที่มาให้ ศบค.ประกาศยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.), กาญจนบุรี, กระบี่, ชลบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา และภูเก็ต รวมถึงจังหวัดอื่นในบางพื้นที่อีก 18 จังหวัดให้เพิ่มมาตรการสำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. และร้านอาหารนั้นจะต้องผ่านการประเมิน SHA Plus หรือ Thai Stop Covid 2 Plus เท่านั้น
ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะสามารถปรับเป็นร้านอาหารได้ แต่จะต้องผ่านการประเมิน SHA Plus หรือ Thai Stop Covid 2 Plus ภายในวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน
ดังนั้นแล้ว Thai Stop COVID 2 Plus แตกต่างจากเดิมอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรในการเผชิญหน้ากับวิกฤติโอไมครอน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีรายละเอียดดังนี้
‘Thai Stop COVID 2 Plus’ คือ ระบบงานที่กรมอนามัยสร้างขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ความรู้มาตรฐานความปลอดภัยและแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคสำหรับกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้ามาประเมินด้วยความสมัครใจ
โดยจะต้องผ่านการประเมิน 2 ครั้ง คือ 1.) การประเมินตนเองตามมาตรการพื้นฐาน Thai Stop COVID Plus และ 2.) การประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ทั้งนี้หากผ่านการประเมินจะได้รับทั้งประกาศนียบัตรออนไลน์ (E-Certificate) และสติ๊กเกอร์ COVID-Free Setting เพื่อรับรองว่ามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรการสถานประกอบการในระบบเข้ามาตรวจสอบแล้ว
นับเป็นการยกระดับความปลอดภัยและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด ให้มีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าการประเมิน ‘Thai Stop COVID Plus’ ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในจังหวัดจะต้องประเมินตนเองตามมาตรฐานอยู่แล้ว
เนื่องจากในแพลตฟอร์มใหม่ได้กำหนดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์หรือพื้นผิวสัมผัสร่วมหลังมีการใช้ ทุก 1-2 ชั่วโมง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด มีการส่งเสริมให้พนักงงานผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง (ATK) ทุก 3-7 วัน หรือเมื่อมีความเสี่ยง และมีการขอให้ผู้รับบริการแสดงผลการฉีดวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK ก่อนเข้ารับบริการ พร้อมกำชับให้ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการปฏิบัติมาตรการป้องกันและควบคุมโรคส่วนบุคคล ‘UP-DMHTA’ คือ ป้องกันตนเองอย่างสูงสุด ด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนแอปพลิเคชันจากเดิมที่ไม่ยังไม่เคยมีการกำหนดอย่างเข้มข้นมาก่อน
สำหรับกิจการที่สามารถประเมิน ‘Thai Stop COVID 2 Plus’ ได้ ได้แก่ ร้านอาหาร, รถเร่จำหน่ายอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, ร้านตัดผม, สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ, คลินิกทันตกรรม, กิจการประเภทนวด สปา นวดเพื่อสุขภาพเพื่อเสริมความงาม เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องเข้าไปประเมินภายในแพลตฟอร์มทุก 14 วัน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
‘Thai Stop COVID 2 Plus’ ยกระดับการประเมินเปิดกิจการ
การทำงานของแพลตฟอร์ม ‘Thai Stop COVID 2 Plus’ จะเริ่มจากสถานประกอบการเข้าเว็บไซต์ https://stopcovid.anamai.moph.go.th/webapp/ เพื่อลงทะเบียน ศึกษาแนวปฏิบัติตามมาตรการ และประเมินตนเองผ่านระบบ โดยต้องประเมินตนเอง 2 ครั้ง คือ 1.) ประเมินตนเองตามมาตรการพื้นฐาน Thai Stop COVID Plus (TSC+) และ 2.) การประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting (CFS)
หากผลออกมาผ่านการประเมินจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์ 2 ใบ คือ ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus และใบรับรอง COVID Free Setting เอาไว้ติดในสถานที่ให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจนและสามารถสแกน QR Code ตรวจสอบได้
หลังจากนั้นข้อมูลสถานประกอบการจะถูกส่งเข้าระบบของกรมอนามัย จะมีเจ้าหน้าที่ภาคีเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายจังหวัด ทำหน้าที่สุ่มประเมิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่ตรวจประเมินออกใบรับรอง ขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่กลไกส่วนกลาง คือ หน่วยงานของรัฐและศูนย์อนามัย ทำหน้าที่สุ่มประเมินตรวจสอบ และให้ข้อมูลกลับ (Feedback) ไปยังพื้นที่
หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว ผ่านการประเมินผู้ประกอบการจะได้รับสติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ซึ่งประชาชนจะสามารถตรวจสอบมาตรการ และร้องเรียนผ่าน QR Code ได้
เกณฑ์การประเมิน 9 กิจการพื้นที่สีแดงเข้ม-สีฟ้า
ส่วนเกณฑ์การประเมินตนเองของสถานประกอบการทั้ง 9 กิจการ/กิจกรรมในพื้นที่สีแดงเข้มและสีฟ้า ผ่านแพลตฟอร์ม ‘Thai Stop COVID 2 Plus’ จะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชาชนในแต่ละกิจการ แต่แตกต่างกันอย่างไรนั้น มีข้อมูลที่สำคัญดังนี้
1.ร้านอาหาร จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ต้องมีการทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่งทันทีหลังใช้บริการ และจะต้องจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร มีการทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จัดอุปกรณ์รับประทานอาหารเฉพาะบุคคล มีบริการเจลแอลกอฮอล์ให้ทุกโต๊ะ มีการเปิดประตู หน้าต่างหรือระบบจ่ายอากาศให้ปลอดโปร่ง
ทั้งนี้กรณีร้านมีการแสดงดนตรีสด จะต้องมีการเฝ้าระวังเพิ่มเติม คือ มีการทำความสะอาดเครื่องดนตรี ไมโครโฟนทันทีหลังให้บริการ แยกโซนและมีฉากกั้นระหว่างนักร้อง นักดนตรีอย่างน้อย 1 เมตร และผู้รับบริการอย่างน้อย 2 เมตร ซึ่งนักร้องและนักดนตรีจะต้องมีจำนวนไม่เกิน 5 คนต่อการแสดง 1 ครั้ง และจะต้องรับงานได้ไม่เกิน 1-3 ร้านประจำ
ส่วนกรณีร้านมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีการจัดอุปกรณ์การบริโภคเฉพาะบุคคล ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น ให้ชิม การเชียร์แขก เร่ขายสินค้า และกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการคือการนั่งดริ๊งค์ การร้องเร่ตามโต๊ะ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด การเต้นรำ การตะโกนเสียงดัง และจะต้องมีการจำกัดระยะเวลาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรการที่กำหนด
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ พนักงานทุกคนจะต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือเคยมีประวัติการป่วยโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือไม่พบเชื้อโดยการคัดกรอง โดยจะต้องจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK) ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน หรือเมื่อมีผลการประเมิน Thai Save Thai (TST) ความเสี่ยงสูง มีการกำกับให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA
และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ จะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย Thai Sve Thai หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ราชการกำหนด และมีการกำกับให้ผู้รับบริการทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA ทั้งนี้กรณีร้านมีเครื่องปรับอากาศ จะมีการตรวจเอกสารฉีดวัคซีน หรือตรวจประวัติการป่วยโควิดของผู้รับบริการด้วยที่ต้องมีผลตรวจ ATK เป็นลบไม่เกิน 7 วัน
2.รถเร่จำหน่ายอาหาร จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จะต้องทำความสะอาดพอุปกรณ์การขายทันทีหลังให้บริการ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง มีการปกปิดอาหารปรุงสำเร็จด้วยวิธีที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ มีการจุดการมูลฝอยอย่างถูกต้องเป็นประจำทุกวัน จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ในบริเวณที่ใช้งานได้สะดวก ใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามจับหรือสวมถุงมือในการหยิบจับอาหาร งดจัดให้มีถังน้ำหรือผ้าเช็ดมือที่ใช่ร่วมกัน มีระบบจัดคิวและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และกำหนดเส้นทางเร่และขายในจุดที่อนุญาตให้จอด โดยจะต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่พบผู้ป่วยและมีการระบาดของโควิด
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ ผู้ค้าขายทุกคนจะต้องฉีดวัคซีน หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือไม่พบเชื้อโดยการคัดกรอง โดยจะต้องจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK) ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน หรือเมื่อมีผลการประเมิน Thai Save Thai (TST) ความเสี่ยงสูง และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ จะต้องงดรวมกลุ่มซื้อสินค้า มีการกำกับติดตามผู้รับบริการให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA
3.ห้างสรรพสินค้า จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ต้องทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัวร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง จัดให้มีการระบาดอากาศที่ดี ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน จัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยอย่างเพียงพอ มีฝาปิดมิดชิด และรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ จัดให้มีจุดบริการล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และแนะนำให้ใช้การชำระเงินออนไลน์ กรณีมีศูนย์อาหาร (Food Court) ต้องจัดภาชนะ เครื่องปรุงเป็นชุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน และทำความสะอาดถาดรองทุกครั้ง และกรณีมีแผนกจำหน่ายอาหารสด ให้จัดถุงมือหรือพนักงานบริการ
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ จัดให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน คัดกรองความเสี่ยงทุกวันผ่าน Thai Save Thai และจัดหาชุดตรวจ ATK ให้พนักงานทุกคนได้ตรวจคัดกรองทุก 7 วันหรือผู้มีผลการประเมิน Thai Save Thai เสี่ยงสูง พร้อมกำชับให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ ต้องให้ผู้รับบริการลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ด้วยแอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด หรือจัดให้มีสมุดสำหรับลงทะเบียน พร้อมกำกับติดตามให้ผู้รับบริการทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และเช็คอินผ่านแอปพลิเคชัน (DMHTA) อย่างเคร่งครัด
4.ร้านตัดผม จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดอุปกรณ์หลังใช้ทันทีทุกครั้ง จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้สำหรับผู้ใช้บริการ กรณีเกิดการชำรุดเสียหายขณะใช้บริการ แนะนำให้ใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ งดนั่งรอรับบริการภายในร้าน โดยมีระบบจองคิวล่วงหน้า และจัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะบริการและจุดพักรอ 1-2 เมตร หรือจัดให้มีฉากกั้น รวมถึงการจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ จัดให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน คัดกรองความเสี่ยงทุกวันผ่าน Thai Save Thai และจัดหาชุดตรวจ ATK ให้พนักงานทุกคนได้ตรวจคัดกรองทุก 7 วันหรือผู้มีผลการประเมิน Thai Save Thai เสี่ยงสูง โดยพนักงานจะต้องมีผลตรวจ ATK เป็นลบระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน พร้อมกำชับให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ กรณีสถานประกอบการอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ หรือมีระบบปรับอากาศ ผู้เข้ารับบริการจะต้องแสดงปลการฉีดวัคซีน หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และมีการคัดกรองความเสี่ยงโดยการประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai หรือแอปพลิเคชันที่ราชการกำหนด พร้อมกำชับติดตามให้มีการปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
5.สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด คือ มีการจำหน่าย การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่ม และการแสดงดนตรีอย่างเหมาะสม ไม่มีปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด โดยจัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง จัดให้มีบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกออล์ จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยอย่างเพียงพอและมิดชิด แนะนำให้ชำระค่าใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ และไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในสถานประกอบการ งดให้บริการคาราโอเกะ งดจัดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง งดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการให้บริการสัมผัสใกล้ชิด และงดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วเดียวกัน
ทั้งนี้จะต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตรในทุกจุด กรณีมีการแสดงให้มีระยะห่างระหว่างเวทีอย่างน้อย 5 เมตร มีฉากกั้น และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ ซึ่งจะต้องทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก โดยเปิดพัดลมระบายอากาศหรืออาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศตามความเหมาะสม และจำกัดผู้ใช้บริการไม่เกิน 75%
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ นักร้อง นักดนตรี พนักงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และต้องตรวจคัดกรองด้วย ATK ทุก 3 วัน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่าง หรือรับประทานอาหารร่วมกัน และต้องปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ ผู้เข้ารับบริการจะต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วย ATK ทุกครั้งก่อนเข้าใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
6.คลินิกทันตกรรม จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมภายหลังมีผู้ใช้บริการทุก 1-2 ชั่วโมง มีการจัดการเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ตามแนวทางควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด มีการจัดเก็บ กำจัดขยะทั่วไป ขยะติดเชื้ออย่างถูกต้อง จัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนั่งรออย่างน้อย 1 เมตรหรือมีฉากกั้น จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี และจำกัดจำนวนผู้รับบริการไม่ให้แออัด 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร โดยใช้ระบบนัดหมายล่วงหน้า
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ แนะนำพนักงานตรวจ ATK ทุก 7 วัน และกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ จะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน และปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด กรณีทำหัตถหารที่ฟุ้งกระจาย และอยู่ในพื้นที่ระบาดสูงแนะนำให้ใช้ ATK คัดกรองผู้รับบริการด้วย
7.กิจการประเภทนวด สปา นวดเพื่อสุขภาพเพื่อเสริมความงาม เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จะต้องทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัมร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยอย่างมิดชิด งดการรวมกลุ่มขณะพักหรือรับประทานอาหารร่วมกัน ห้ามผู้ใช้บริการรับประทานอาหารภายในร้าน และแนะนำให้ผู้ใช้บริการชำระค่าใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้จะต้องจัดร้านให้มีอาการถ่ายเทสะดวกและให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร มีระบบจองคิวล่วงหน้าและงดนั่งรอรับบริการภายในร้าน
กรณีมีห้องบริการนวด ให้นวด 1 คน ต่อห้อง กรณีที่เป็นห้องรวมจะต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่างของเก้าอี้นวดหรือเตียงนวดอย่างน้อย 1.5 เมตร หรือจัดให้มีม่านกั้นระหว่างเก้าอี้นวด เตียงนวด ส่วนกรณีมีบริการใช้น้ำเพื่อสุขภาพในสปาและออนเซ็น ให้จัดบริการในลักษณะส่วนตัวเท่านั้น
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ กรณีเป็นร้านในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ หรือมีการใช้ระบบปรับอากาศ พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน มีประวัติการติดเชื้อมาก่อน 1-3 เดือน หรือมีผลการตรวจ ATK เป็นลบใน 7 วัน พร้อมกำกับติดตามให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตาม UP-DMHTA และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ ต้องให้ผู้เข้ารับบริการแสดงผลการฉีดวัคซีน หรือมีผลการตรวจ ATK เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง และมีการกำกับติดตามให้ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
8.โรงพยาบาล จะมีหลักเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย 1.) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวจุดสัมผัสร่วม อาทิ รถเข็นผู้ป่วย ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับ จุดรับยา ด้วยน้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว) 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร ควบคุมคนไม่ให้แออัด และกำหนดระยะเวลารับบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงในแต่ละแผนก มีฉากกั้นระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ มีระบบคิวนัดหมายผู้ป่วยเป็นช่วงเวลา และมีการแยกโซนภายในหอผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อ พร้อมจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี ห้องควบคุมการติดเชื้อทางอากาศหลีกเลี่ยงระบบนำอากาศหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
2.) มาตรการด้านผู้ให้บริการ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ ตรวจ ATK ทุก 7 วัน และปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA ซึ่งต้องมีการสวมใส่ชุด PPE สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันฉบับปรับปรุงวันที่ 4 ต.ค. 2564 กรณีมีจัดประชุมหรือการเรียนการสอย ให้เว้นระยะห่าง 1 เมตรและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
และ 3.) มาตรการด้านผู้รับบริการ จะต้องตรวจหาเชื้อผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK ก่อนเข้ารับการรักษา ส่วนผู้เข้ารับบริการทั่วไปให้มีการคัดกรองประวัติการรับวัคซีน อาการเสี่ยง ณ จุดทางเข้าสถานพยาบาล พร้อมให้มีการกำชัดติดตามผู้เข้ารับปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด
9.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมีหลักเกณฑ์การประเมินเหมือนกับโรงพยาบาล
จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงมาตรการในการควบคุมโรคโควิดในแต่ละกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเข้มข้นขึ้นอย่างมากในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อย่างพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ดังนั้นการประเมินการป้องกันโรคดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม ‘Thai Stop COVID 2 Plus’ อาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยการันตีได้ว่าหากสถานประกอบการใดที่ผ่านการประเมินแล้วจะมีความปลอดภัยสูง ทำให้ประชาชนมั่นใจ สร้างสมดุลระหว่างการป้องกันโรคและความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างไรก็ตาม ก็ควรป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดต่อไป เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและบุคคลที่เรารัก
อ่านเอกสารฉบับเต็ม :
https://stopcovid.anamai.moph.go.th/webapp/tsctype2.php?group=11