"..ที่ผ่านมาการปิดประเทศล็อกดาวน์ นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิดออนไซต์ 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็น 53.09%.."
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่สามารถติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นกว่า
เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ผู้ปกครองหลายคนกังวลถึงความปลอดภัย และเกรงว่าการเรียนการสอนของเด็กๆ อาจจะต้องปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์อีกครั้ง แม้ว่าบางพื้นที่จะเพิ่งเปิดเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนไปได้ไม่นานก็ตาม
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวชี้แจงถึงนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา การปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (5 on) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ และการเตรียมความพร้อมที่จะเปิด On Site ของทุกโรงเรียนอย่างปลอดภัย โดยความร่วมมือระหว่าง ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในงานเสวนา ‘โอไมครอนร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน’ ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นความท้าทายของคนทั้งโลก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ ‘โอไมครอน (Omicron)’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก โดย ศธ.ได้มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในพื้นที่
“สำหรับสถานศึกษาที่ตัดสินใจจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ On-Site จะต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด” น.ส.ตรีนุชกล่าว
สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ได้แก่ การประเมิน TSC+ รายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง, การทำSmall Bubble สำหรับกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย, การจัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ, การอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ , การทำ School Isolation โดยมีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม, การทำ Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี
จากข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. ณ วันที่ 9 มกราคม 2565 ระบุว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% เข็ม 2 แล้ว 78.11%
ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% เข็ม 2 แล้ว 69.52% และขณะนี้รัฐบาลก็ได้รณรงค์ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น
“ที่ผ่านมาการปิดประเทศล็อกดาวน์ นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิดออนไซต์ 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็น 53.09% และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง โดยสถานศึกษามีการปรับตัวและกวดขันในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความพร้อม ศธ.ได้มีติดตาม และสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดูแลสถานศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด” น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการแพร่ระบาดของโอไมครอน จึงเป็นอีกวาระสำคัญที่ ศธ. และ สธ.ได้ร่วมมือกันสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวโน้มความรุนแรงของโอไมครอน และกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโอไมครอนในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อให้นักเรียน เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ รวมถึงความพร้อมที่จะเปิด On-Stie ของทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย
ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกแบบมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโอไมครอนในสถานศึกษา จากข้อมูลต่างประเทศ พบว่าหลายประเทศแม้จะมีโรคแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ปิดสถานศึกษา ประเทศไทยจึงได้มีการออกมาตรการ Sandbox Safety Zone in School เพื่อให้สถานศึกษาไปปฏิบัติ หากเปิดเรียนออนไซต์
จากข้อมูลจากต่างประเทศ และประเทศไทยพบว่า อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตยังมีอัตราเท่าเดิม ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลว่าเด็กมีอัตราการติดเชื้อเร็วเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ แต่อัตราการติดเชื้อนั้นไม่มีความรุนแรง ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยงพบว่ามีความรุนแรงของโรค เช่น เป็นโรคอ้วน มีโรคประจำตัวอื่นๆ เป็นต้น
ขณะนี้ ไทยได้ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-18 ปี กว่า 4 ล้านคน เด็กเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกัน เสมือนกับมีเสื้อเกราะแล้ว ดังนั้น ความรุนแรงในการติดจะลดลง ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี กำลังเตรียมความพร้อมให้เด็กได้รับวัคซีนต่อไป หากถามว่าเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงมากหรือไม่ จากข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่าอัตราการป่วยที่รุนแรงยังต่ำอยู่
สำหรับการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สธ.ประชุมหารือร่วมกับ ศธ.เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งจะมีโดสสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ได้มีการวางแผนการฉีดไว้แล้ว โดยจะรูปแบบในการฉีดจะใช้แนวทางเดิมที่ฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี โดยคาดการณ์ว่าวัคซีนจะมาปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี อยู่ประมาณ 3 ล้านคน
นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงการเรียนเปิดเรียนออนไซต์ ว่า ตนมองว่าเราได้มีการหารือร่วมกับทีมนักวิชาการจาก สธ.และศธ.เห็นควรให้เปิดเรียน เพราะสถานศึกษาเป็นที่แห่งสุดท้ายที่ควรจะปิดหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้น เนื่องจากสถานที่อื่นๆ ยังเปิดได้ตามปกติ แต่กลับมานั่งปิดโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่สามารถทำตามมาตรการได้ดีกว่าสถานที่เสี่ยงอื่นๆ ดังนั้นตนหวังว่าหน่วยงานทีเกี่ยวข้องจะพิจารณาการเปิดสถานศึกษาได้
อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ให้ได้ และที่สำคัญต้องสร้างเกราะป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค
“ในความคิดเห็นของผม เห็นควรให้เปิดเรียน เพราะสถานศึกษาควรเป็นแห่งสุดท้าย ที่ควรจะให้ปิดถ้ามีการระบาด จะเห็นว่าขณะนี้มีสถานที่อื่นๆที่ยังเปิดได้อยู่ แต่เรากลับไปปิดโรงเรียนก่อน ทั้งที่สถานศึกษาเป็นสถานที่ ที่จะสามารถทำตามมาตการได้ดีกว่าสถานที่เสี่ยงอื่น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะนำมาพิจารณาเปิดและปิดสถานศึกษา” นพ.สราวุฒิกล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลในต่างประเทศ จะเห็นว่าเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนจะนอนโรงพยาบาลมากกว่าเด็กที่ฉีดวัคซีน ไม่ต่ำกว่า 8-10 เท่า ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะป่วยโควิดระยะยาว คือ ป่วยเรื้อรัง ป่วยนานเป็นเดือน มากกว่าผู้ได้รับวัคซีน และจะเห็นว่าเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้วป่วยเป็นโควิด-19 จะมีโอกาสป่วยมิสซี (MIS-C) คือการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งมีอัตราเสียชีวิต 2-3% ดังนั้นการฉีดวัคซีนมีประโยชน์แน่นอน แต่ถามว่ามีประโยชน์ 100% หรือไม่ ในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% แต่ขอให้เทียบความเสี่ยงและความรุนแรงที่จะเกิดโรคระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนดีกว่า
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดศธ.กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีอยู่ในระบบการศึกษาของศธ. 5.2 ล้านคน โดยตนได้มอบให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในการสำรวจกลุ่มเด็กจำนวนดังกล่าว จากข้อมูลล่าสุดมี 33 จังหวัดที่ผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน ประมาณ 71%
ส่วนที่เหลือยังไม่ให้ความยินยอมในการฉีดวัคซีน แต่ไม่กังวล เพราะเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ปกครองให้ความยินยอมมากขึ้นเรื่อยๆ หลังเด็กที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วเห็นเพื่อนไม่มีอาการข้างเคียง ก็จะลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมภายหลังได้ ทั้งนี้ ศธ.จะเร่งทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองเข้าใจและให้ความยินยอมมากขึ้น
ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนการเรียนออนไลน์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย โดยกำชับ ศธ.ดูแลการเรียนการสอนออนไลน์ให้ดีนั้น โดยนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ ซึ่ง ศธ.จะเข้าไปเติมให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ได้อย่างไร รวมถึงการเรียนออนไลน์อาจทำให้เด็กขาดปฎิสัมพันธ์การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ดังนั้น การเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพคือครูผู้สอนต้องให้เด็กงดการเรียนผ่านจอให้น้อยที่สุด และฝึกปฏิบัติได้มากขึ้น
สำหรับการเปิดเรียนออนไซต์ ขณะนี้พบว่า มีหลายจังหวัดที่เปิดให้สถานศึกษาจัดการสอนรูปแบบออนไซต์ทั้งจังหวัด และมีบางจังหวัดที่อนุญาตให้โรงเรียนสอนออนไซต์เป็นบางแห่ง หรือบางจังหวัดไม่อนุญาตให้โรงเรียนจัดการเรียนรูปแบบออนไซต์เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแพร่ระบาดไม่ได้แพร่ระจายไปทุกพื้นที่ เพราะมีบางจังหวัดมีการระบาดอยู่ที่อำเภอใดอำเภอหนึ่งเท่านั้น แต่อำเภออื่นๆ ไม่มีการระบาดเลย ก็ควรจะให้สถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ในพื้นที่นั้น
“ดังนั้นการพิจารณาเปิดเรียนไม่ควรพิจารณาภาพรวมทั้งจังหวัด แต่ถ้าจังหวัดเอาตำบล และ อำเภอเป็นฐานในการพิจารณา ก็อาจจะพิจารณาเปิดเรียนออนไซต์ในบางพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้เรียน ทั้งนี้ ผมมอบหมายให้ ศธจ. และผู้อำนวยการ สพท.หารือร่วมกันพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) พิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป” นายอัมพร กล่าว