เปิดพฤติการณ์คดียักยอกเงิน 41 ล. มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ ก่อน ปปง.อายัด 5.3 ล้าน ‘ชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต’ กก. เหรัญญิก มีอดีตพนักงานแบงก์กรุงไทยร่วมขบวน ยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีบริษัท-บุคคล โดนฟ้อง 7 ราย ศาลจำคุกคนละ 7-15 ปี ชดใช้ 34.9 ล้าน
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคําสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 182/2564 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กรรมการ และเหรัญญิก มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เงินฝาก จํานวน 2 บัญชี รวม 5,385,281.35 บาท ในคดีนายชาญบุณฑ์ นายวิรัตน์ หาดเจียง พนักงานธนาคารกรุงไทย กับพวก ร่วมกันยักยอกเงินถอนออกจากบัญชีเงินฝากของมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ จํานวน 41,045,966.67 บาท แล้วนำไปเข้าบัญชีบริษัท 2 แห่งจากนั้นโอนเข้าบัญชีส่วนตัว เหตุเกิดเมื่อปี 2559 ตามที่รายงานแล้ว
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำละเอียดความเป็นมาของคดีนี้ตามข้อมูลในเอกสารคำสั่ง อายัดทรัพย์สิน มารายงาน
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบังคับการตํารวจนครบาล 3 ตามหนังสือที่ ตช 0015 บก.น.3)01/133 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง ส่งแบบรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก ซึ่งเป็นกรณี มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2559 โดยที่ประชุมมีมติให้ย้ายเงินฝากจากธนาคารทหารไทย จํากัด (มหาชน) ไปยังธนาคาร กรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาถนนร่มเกล้า
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 พระครูปลัดสุชาติ ฐานจาโร ประธานมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กับ นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กรรมการ และเหรัญญิก มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ผู้ต้องหาที่ 1 ขอนําฝากแคชเชียร์เช็ค ของธนาคารทหารไทย จํากัด (มหาชน) ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทเงินฝากประจํา จํานวน 41,045.67 บาท แต่เนื่องจากเป็นวันศุกร์ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ต้องเรียกเก็บเงิน ตามเช็คไปยังธนาคารทหารไทย จํากัด (มหาชน) เพื่อนําเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2559 นายวิรัตน์ หาดเจียง ผู้ต้องหาที่ 2 (พนักงานธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)) จึงให้นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต ผู้ต้องหาที่ 1 และพระครูปลัดสุชาติ ฐานจาโร ลงชื่อในใบนําฝาก เงินและใบถอนเงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความไว้
ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 เมื่อธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อนําเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ ได้แล้ว นายวิรัตน์ หาดเจียง (พนักงานธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)) ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ทําการถอนเงินจํานวน 41,045,966.67 บาท แล้วนําเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทเงินฝากประจํา ของมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และได้ใช้เอกสารสิทธิใบถอนเงินที่มีลายมือชื่อปลอมของพระครูปลัดสุชาติ ฐานจาโร ทํารายการถอนเงินจํานวนเดียวกันจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทฝากประจํา ของมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด มหาชน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 984-9-13131-4 ของบริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด
ต่อมา วันที่ 13 กันยายน 2559 บริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด ได้ถอนเงินจํานวน 6,100,000 บาท จากบัญชี ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 984-9-13131-4 และนําเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ ของมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลตอบแทนร้อยละ 5 ที่ตกลงว่าจะให้กับมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ต่อมาบริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด ถอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 984-9-13131-4 จากนั้นจึงนําเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 985-0-51441-8 ของนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต ผู้ต้องหาที่ 1 รวมเงิน จํานวน 30,000,000 บาท และนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต ได้ถอนเงินจากบัญชีธนาคารของตนนําฝากเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 594-0-17953-3 ของ บริษัท กวิณลักษณ์ จํากัด เป็นจํานวนหลายครั้ง รวมจํานวนเงิน 30,000,000 บาท
มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานตํารวจกองบังคับการตํารวจนครบาล 3 ให้ดําเนินคดีกับนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก พนักงานสอบสวนรับคําร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 308/2560 จากการรวบรวมพยานหลักฐานมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือร่วมกันรับของโจร ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย สนับสนุนพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจใน หน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจํากัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น สนับสนุนพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สนับสนุนพนักงานของสถาบันการเงินซึ่งได้รับมอบหมายให้ จัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินหรือทรัพย์สินที่สถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกระทําผิดหน้าที่ของ ตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงิน และสนับสนุนพนักงานของสถาบันการเงินครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินหรือ ซึ่งสถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ต่อมาพนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 ได้ยื่นฟ้องนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต เป็นจําเลยที่ 1 นายวิรัตน์ หาดเจียง จําเลยที่ 2 บริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด จําเลยที่ 3 นางสาวทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล จําเลยที่ 4 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดําที่ อท 282/2561 และยื่นฟ้องนายยงยุทธ ธิสกุลวงศ์ เป็นจําเลยที่ 1 บริษัท กวินลักษณ์ จํากัด จําเลยที่ 2 และนายชะโลม ปทุมานน์ จําเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขดําที่ อท 23/2562
ต่อมาศาลสั่งรวมพิจารณาเป็นคดี เดียวกัน โดยเรียกจําเลยในสํานวนคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท.282/2561 ว่าจําเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และเรียกจําเลยในสํานวนคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท 23/2562 ว่าจําเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามลําดับ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาว่านายวิรัตน์ หาดเจียง จําเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่เนื่องจากกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจําคุก 15 ปี ส่วนจําเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นการกระทํากรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่เนื่องจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จําเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 จําคุกคนละ 7 ปี จําเลยที่ 3 และที่ 6 เป็นนิติบุคคล ปรับรายละ 20,000 บาท และให้จําเลยทั้ง 7 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน ที่ยังไม่ได้คืนแก่ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เป็นเงิน 34,945,966.67 บาท อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 646/2563 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก และคําสั่งเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 571/2564 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 2 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่ สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าว ไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34(3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ได้แก่
(1) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาพัฒนาการ 65 เลขที่บัญชี 985-0-51441-8 ชื่อบัญชี นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต ยอดเงินคงเหลือจํานวน 173,306.69 บาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสามพันสามร้อยหกบาทหกสิบเก้าสตางค์) ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564
(2) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีสุขาภิบาล 3 เลขที่บัญชี 594-0- 17953-3 ชื่อบัญชี บริษัท กวินลักษณ์ จํากัด ยอดเงินคงเหลือจํานวน 5,212,074.66 บาท (ห้าล้านสองแสนหนึ่งหมื่นสองพันเจ็ดสิบสี่บาทหกสิบหกสตางค์) ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564
รวมจํานวนทั้งสิ้นประมาณ 5,385,281.35 บาท (ห้าล้านสามแสนแปดหมื่นห้าพันสามร้อย แปดสิบเอ็ดบาทสามสิบห้าสตางค์) พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย