“…ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่โควิดจะสูญเสียสถานะของการระบาดใหญ่ได้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่เพิ่มสูงมากขึ้น ประกอบกับการมีการพัฒนายาต้านโควิดที่แพร่หลายช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนัก…”
ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีที่เราเผชิญกับการระบาดของโควิด ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่าย ๆ หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘โอไมครอน’ (B.1.1.529) ขึ้นมาอีกครั้ง
สำหรับ ‘โอไมครอน’ มีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นับเป็นการกลายพันธุ์ที่พบมากกว่าทุกสายพันธุ์ และมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 2 เท่า
ทำให้หลายคนกังวลว่าโควิดสายพันธุ์นี้อาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น และมีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีนหรือยาต้านโควิด อันเป็นความหวังสำคัญที่ทั่วโลกรอคอยมาตลอดในการยุติการระบาด
แน่นอนว่าแม้หลายประเทศจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้จำนวนมาก แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้นการกลายพันธุ์ของโควิดว่า จะดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือยาต้านโควิดที่มีอยู่มากเพียงใด และความหวังของโลกสำหรับการต่อสู้กับโควิดจะเป็นอย่างไรต่อไปในปี 2565
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ประมวลภาพรวมประสิทธิภาพของวัคซีนและยาต้านโควิดต่อเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
การพัฒนาวัคซีนเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค. 2563 หลังจากโลกตระหนักถึงอัตรายของโควิดจนเรามีวัคซีนหลายตัวที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้นได้รับ จนถึงปัจจุบันทั่วโลกมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 10 ตัว ดังนี้
-
วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)
-
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AztraZeneca)
-
วันซีนโควิชีลด์ (Covishield)
-
วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)
-
วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)
-
วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
-
วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)
-
วัคซีนโคแวกซิน (Covaxin)
-
วัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax)
-
วัคซีนโคโวแวกซ์ (Covovax)
สำหรับวัคซีนโควิดนั้น แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดสารพันธุกรรมหรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA), ชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector), ชนิดเชื้อตาย (Inactivatted Vaccines) และชนิดที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine)
โดยเว็บไซต์ Nature เปิดเผยว่า วัคซีนที่ทั่วโลกต่างจับตามองในการต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ อัลฟ่า แกมม่า เบต้า เดลต้า และมิว คือวัคซีนชนิด mRNA ของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโควิดแบบมีอาการได้สูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นถึง 90% หรือ 95% ตามลำดับ และทั้ง 2 ยี่ห้อ สามารถลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะกับสายพันธุ์อัลฟ่า ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ จะลดหลั่นกันไป
ขณะที่วัคซีนชนิด Viral Vector ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโควิดได้สูงสุดถึงราว 75% วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 78% ทั้ง 2 วัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้ถึง 90% และ 80% ตามลำดับ
ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 51% และในเดือน ก.ค. ผลการศึกษาในประเทศไทยพบอีกว่าแอนติบอดีจากวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วันเมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสู้กับโอไมครอน และวัคซีนซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม 79%
ประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ
ฉีดครบ 2 โดส ไม่เพียงพอป้องกันโอไมครอน
วัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่นั้น สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด mRNA ของวัคซีนไฟเซอร์ และชนิด Viral Vector ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการลดลงมาก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า
โดยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหลังได้รับเข็มสุดท้ายนาน 2 สัปดาห์ที่ 19% และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 0%
ขณะที่ บริษัท โมเดอร์นา อิงค์ ออกมายอมรับด้วยว่าวัคซีนชนิด mRNA ของวัคซีนโมเดอร์นา แม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้นมาอยู่ในระดับที่สามารถตรวจวัดได้ แต่ค่าภูมิคุ้มกันที่มีต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีระดับต่ำกว่าภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
กระตุ้นภูมิวัคซีนเข็ม 3 สู้โควิดสายพันธุ์ใหม่
การฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แม้จะมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนแบบมีอาการลดลงมาก แต่เว็บไซต์ The Conversation เปิดเผยว่า การให้เข็มกระตุ้นครั้งที่ 3 จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโอไมครอนได้ โดยมีประสิทธิผลของวัคซีนประมาณ 70-75% ดังนี้
บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์และไบออนเทค รายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ของวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 โดสจะยังไวต่อการติดเชื้อโอไมครอนอยู่ แต่การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มการทำงานของแอนติบอดีของไวรัสได้ถึง 25 เท่า เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการทดลองในห้องปฏิบัติการด้วย
บริษัท โมเดอร์นา อิงค์ รายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ของวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว 2 โดส แล้วฉีดเข็มกระตุ้น ปริมาณ 100 ไมโครกรัม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ถึง 83 เท่า ส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ปริมาณ 50 ไมโครกรัม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 37 เท่า ซึ่งสามารถลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด รายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด Viral Vector ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 สามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ โดยมีระดับการลบล้างฤทธิ์คล้ายคลึงกับประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส
ทั้งนี้ แม้ว่าวัคซีนโควิดจะมีประสิทธิภาพลดลง แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนใช้ได้ผลและเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสาธารณสุข วัคซีนมีประสิทธิผลหลายระดับและยังมีประโยชน์อยู่ สอดคล้องกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มักจะมีประสิทธิภาพ 40%-60% แต่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยในผู้คนหลายล้านคน และการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 100,000 คนในสหรัฐอเมริกาทุกปี
สุดท้ายนี้ วัคซีนไม่เพียงแต่ปกป้องเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังปกป้องบุคคลที่รักที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้อีกด้วย ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสแพร่เชื้อโควิดน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อใหม่และให้การคุ้มครองสังคมโดยรวม
ผู้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย อาจจำเป็นต้องบูสเข็ม 4
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเผยแพร่ใน Preprint โดยทีมนักวิจัย Yale ชี้ให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม แล้วได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์เป็นบูสเตอร์โดส อาจรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้
โดยพบว่า หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เมื่อนำมาวัดระดับแอนติบอดี ค่าแอนติบอดีของผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบดังกล่าวมีระดับสูงกว่าคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม เพียง 1.4 เท่า และเมื่อทดสอบการรับมือกับสายพันธุ์ต่าง ๆ พบว่ายังรับมือกับสายพันธุ์ดั้งเดิม และเดลต้าได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งโอไมครอน
ที่สำคัญเมื่อทดสอบเปรียบเทียบระหว่างคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อ แล้วได้วัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่าระดับแอนติบอดี แทบไม่ต่างกัน หมายความว่าการได้รับวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ไม่ทำให้เกิด Hybrid Immunity หรือ Super Immune แบบที่เกิดกับการได้รับวัคซีนชนิด mRNA 3 เข็มที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้
ดังนั้นแล้วประชาชนที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม และได้รับวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 3 ไปนานกว่า 4 เดือนแล้ว อาจจำเป็นต้องกระตุ้นเข็มที่ 4 เป็นวัคซีนชนิด mRNA
การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเชื้อตายและmRNAต่อการรับมือโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
ยาต้านโควิดตัวเปลี่ยนเกมสู้โรคระบาด
นอกจากวัคซีนแล้ว อีกหนทางหนึ่งในการรับมือกับการระบาดของโควิด คือ การใช้ยาเม็ดต้านโควิด ที่จะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาผู้ป่วยโควิดไม่ให้เกิดอาการรุนแรง โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวยาดังกล่าวอย่างน้อย 2 ตัวแล้ว จากบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยเว็บไซต์ bbc เปิดเผยถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ดังนี้
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) พัฒนาโดย บริษัท Merck & Co. ร่วมกับ Ridgeback Biotherapeutics มีประสิทธิภาพช่วยลดคความรุนแรงในการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 50%
-
ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) พัฒนาโดย บริษัท ไฟเซอร์ฯ มีผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2/3 พบว่ามีประสิทธิภาพลดความรุนแรงในการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูงได้ 89%
อย่างไรก็ตาม แกล็กโซสมิธไคลน์ พีแอลซี (GSK) บริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายา วัคซีนนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ด้านสุขรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ได้ทำการศึกษาว่ายาต้านไวรัสสามารถต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะในทางทฤษฎีหากโควิดสายพันธุ์ใหม่กลายพันธุ์อย่างหนักอย่างโอไมครอน อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาอ่อนแอลง แต่ผลการทดสอบพบว่ายังคงมีประสิทธิภาพต่อการต้านโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในการศึกษาในห้องปฏิบัติการ
ล่าสุดมีหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ดำเนินการสั่งซื้อยาต้านโควิดทั้ง 2 ตัวแล้ว โดยบริษัท Merck & Co. ได้อนุญาตให้บริษัทยาของประเทศอินเดียผลิตยาโมลนูพิราเวียร์และจำหน่ายได้ในราคาถูกสำหรับ 100 ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงไทย
ส่วน บริษัท ไฟเซอร์ฯ ตั้งเป้าว่าจะผลิตยาแพกซ์โลวิดให้ได้ 80 ล้านคอร์สภายในสินปี 2565 และได้อนุญาตให้ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 95 ประเทศ สามารถผลิตและจำหน่ายยาได้ในราคาต้นทุนด้วย แต่ไม่รวมไทยเช่นกัน
ความหวังยุติการระบาดใหญ่ในปี 2565
สำหรับในปีหน้านั้น เว็บไซต์ cnbc เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่โควิดจะสูญเสียสถานะของการระบาดใหญ่ได้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่เพิ่มสูงมากขึ้น ประกอบกับการมีการพัฒนายาต้านโควิดที่แพร่หลายช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนัก
โดยโควิดอาจกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดตามฤดูกาล ที่ค่อยๆ ลดความรุนแรงและกลายเป็นโรคระบาดที่อยู่ในชีวิตของผู้คน เช่นเดียวกับโรคระบาดใหญ่อื่นๆ ในอดีต อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดสเปน หรือไข้หวัดหมู
สำหรับเทรนด์การฉีดวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า คือเราอาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำทุกปี คล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยตัววัคซีนเองก็น่าจะมีการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับโควิดที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขณะที่คาดว่ากลุ่มเด็กจะได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดมากขึ้น การตรวจโควิดจะมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่าย และหากไวรัสมีฤดูกาล การสวมใส่หน้ากากอนามัยบนระบบขนส่งสาธารณะหรือแม้แต่ภายในบ้านอาจกลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนกลยุทธ์การป้องกันอื่น ๆ ที่คุ้นเคย เช่น การล้างมือเป็นประจำ และการรักษาระยะห่างเมื่อเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป
อ้างอิง :
Omicron largely evades immunity from past infection or two vaccine doses
How COVID vaccines shaped 2021 in eight powerful charts
How effective are vaccines against omicron? An epidemiologist answers 6 questions