“…สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 พบผู้ต้องขังคดียาเสพติดถึง 83% และมีผู้กระทำความผิดซ้ำสูงมากในปีที่ 3 อยู่ที่ 30% สถิติผู้ต้องขังของเราจึงสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรแล้วจะสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก แสดงให้ว่าที่ผ่านมาเรายังล้มเหลว แม้ว่าปีนี้จำนวนผู้ต้องขังจะลดลงมา 100,000 คน จากปี 2563 ที่เคยสูงถึง 380,000 คนก็ตาม ดังนั้นเราต้องมีมาตรการต่อเนื่อง การเปลี่ยนการลงโทษจำคุกเป็นการบำบัดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะทำให้เขาได้รับสวัสดิภาพทางสังคม ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ…”
‘ยาเสพติด’เป็นหนึ่งในสถิติของนักโทษเด็ดขาดที่พบมากที่สุด มากกว่าการกระทำผิดรูปแบบอื่น อาทิ ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เพศ หรือทรัพย์ รวมถึงภยันตรายต่อประชาชน เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนนักโทษคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจาก 1 ธ.ค. 2561 เจอในอัตรา 77.15% จนถึงปัจจุบัน 83.44%
สำหรับนักโทษคดียาเสพติด แบ่งออกเป็น คดีเสพ คดีครอบครอง คดีครอบครองไว้เพื่อเสพ คดีจำหน่าย คดีครอบครองเพื่อจำหน่าย คดีอื่นๆ (ผลิต/นำเข้า/ส่งออก ฯลฯ) และผู้ต้องขังยาเสพติดที่จัดประเภทไม่ได้
จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันแม้คดีเสพจะมีสัดส่วนน้อยกว่าคดีจำหน่ายยาเสพติด แต่ก็เพิ่มขึ้นมาจาก 2561 อัตรา 5.52% เป็น 8.95%
เป็นที่สังเกตได้ว่าแม้จะมีการลงโทษหนักแก่ผู้เสพยาเสพติด หรือผู้ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพด้วยการจำคุก แต่อัตราคดีเสพยาเสพติดก็ยังคงเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นล้นเรือนจำ
แต่หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับคดียาเสพติดใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อช่วง 9 ธ.ค. และ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามลำดับ
โดยมุ่งเน้นการมอง 'ผู้เสพ' คือ 'ผู้ป่วย' ใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพแก้ไขปัญหา หากผู้เสพมีความสมัครใจเข้ารับการรักษาบำบัด และเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วนจะไม่มีความผิด ไม่เอาผิดทางอาญา เปิดโอกาสให้ผู้เสพสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้โดยไม่เสียประวัติ
กฎหมายยาเสพติดที่ผ่านมามีความแตกต่างจากประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้อย่างไร และการใช้กระบวนสาธารณสุขจะช่วยลดปัญหายาเสพติดไทยได้หรือไม่นั้น นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประมวลกฎหมายลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ที่ได้รวบรวมกฎหมายยาเสพติดที่มีมาหลายฉบับมาก ซึ่งอย่างน้อยก็ 6 ฉบับ จึงต้องมีการบูรณาการให้มาอยู่ภายใต้นโยบายเดียวกัน
เรื่องที่สำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ดังนี้
1.) รูปแบบของประมวลกฎหมายยาเสพติด มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ ส่วนของ พ.ร.บ.ให้ใช้ 24 มาตรา ที่เป็นตัวกำหนดกลไกต่าง ๆ ในช่วงก่อนและหลังจากมีผลบังคับใช้ และส่วนของประมวลกฎหมายยาเสพติด 186 มาตรา
2.) บทสันนิษฐาน แต่เดิมก่อนหน้าปี 2560 ประเทศไทยเคยมีกฎหมายที่เด็ดขาดมากโดย “ให้ถือว่าการครอบครองมีไว้เพื่อจำหน่าย” ต่อมาได้แก้ไขใหม่อีกครั้งในปี 2560 มีบทสันนิษฐานว่าหากมีหน่วยบริโภคเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (หน่วยการใช้) จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หากไม่ใช่สามารถนำสืบได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้เสพจะสู้อำนาจของรัฐไม่ได้ ทำให้อัตราของผู้ต้องขังคดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากกว่า 80% ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จึงปรับบทสันนิษฐานว่าให้ดูพฤติการณ์แทน การดูหน่วยการใช้ ว่าผู้เสพมียาเสพติดไว้จำนวนมากแล้วนำไปจำหน่ายต่อจริงหรือไม่
3.) สัดส่วนการระวางโทษ เมื่อพิจารณาในประมวลกฎหมายยาเสพติดในภาค 3 บทกำหนดโทษที่เกี่ยวกับยาเสพติดและการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด เป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุด จะเห็นว่ามีการกำหนดความผิดตามหลักวิชาการมากขึ้น ส่วนบทลงโทษของผู้จำหน่ายและผลิตยาเสพติด ก็มีการกำหนดความผิดให้ได้สัดส่วนมากขึ้น และศาลสามารถใช้ดุลยพินิจได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมผู้นำเข้ายาเสพติด เรากำหนดความผิดไว้ให้โทษจำคุก 10 ปีไปจนถึงตลอดชีวิต แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้จะให้จำคุกไม่เกิน 15 ปีแล้วก็ปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ส่วนการนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย มีการกำหนดความผิดให้หนักขึ้น คือให้จำคุก 20 ปี ขณะที่การลงโทษถึงประหารชีวิตได้นำออกไปแล้วตามแนวทางของสหประชาชาติ
4.) การบังคับใช้ จะเน้นการหาข้อมูลผู้กระทำความผิดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น ปัจจัยที่ทำให้หันมาเสพยาเสพติด เช่น มีปัญหากับครอบครัวหรือเพื่อน เป็นต้น และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นวิธีการที่ปลอดภัยหรือควบคุมการประพฤติแทน เพราะการลงโทษจำคุกเขาไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ต่อให้พ้นโทษแต่ก็จะกลับมาทำใหม่อีกครั้ง
จากสถิติที่ผ่านมา อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวตามช่วงปีงบประมาณ 2556-2562 พบว่า ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวกระทำผิดซ้ำในปีที่ 1 อยู่ที่ 14-16% กระผิดซ้ำในปีที่ 2 อยู่ที่ 23-26% และกระทำผิดซ้ำในปีที่ 3 อยู่ที่ 24-35%
“สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 พบผู้ต้องขังคดียาเสพติดถึง 83% และมีผู้กระทำความผิดซ้ำสูงมากในปีที่ 3 อยู่ที่ 30% สถิติผู้ต้องขังของเราจึงสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรแล้วจะสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก แสดงให้ว่าที่ผ่านมาเรายังล้มเหลว แม้ว่าปีนี้จำนวนผู้ต้องขังอยู่ที่ 280,000 คน จะลดลงมา 100,000 คน จากปี 2563 ที่เคยสูงถึง 380,000 คนก็ตาม ดังนั้นเราต้องมีมาตรการต่อเนื่อง การเปลี่ยนการลงโทษจำคุกเป็นการบำบัดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะทำให้เขาได้รับสวัสดิภาพทางสังคม ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ” นายสุรศักดิ์ กล่าว
กฎหมายยาเสพติดใหม่มุ่งแก้ปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ยังมีกรรมการกลางระดับชาติในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแบบระยะยาว ซึ่งตนเองคาดว่าจะทำให้มีคนกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดคดียาเสพติดให้เหมาะสมและยั่งยืนมากขึ้น
ที่สำคัญเป้าหมายของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ เน้นการปราบปรามอาชญากรรมไปถึงต้นตอ และเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ เช่น ใช้การบำบัดรักษา หรือการคุมประพฤติแทน ซึ่งจะช่วยลดสาเหตุของนักโทษล้นเรือนจำได้ด้วย
“ประโยชน์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ คือ ประชาชนจะสามารถดูกฎหมายยาเสพติดทั้งหมดได้ภายในเล่มเดียว ทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น ที่สำคัญคือมีการบูรณาการภาครัฐและเอกชนร่วมกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด มุ่งเน้นปราบปรามยาเสพติดแบบเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดทรัพย์ตามมูลค่า ส่วนการลงโทษก็มีความเหมาะสม ไม่ใช่ร้ายแรงจนเกินสัดส่วน” นายสุรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ มีการกำหนดบทลงโทษประการหนึ่งที่ประชาชนควรรับรู้ไว้ คือ การที่บุคคลที่ยอมให้ใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐาน ไปเปิด จด หรือลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้า หรือยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรง มีบทลงโทษจำคุก 3 ปีหรือปรับ 60,000 บาท จึงอยากขอเตือนประชาชนทุกท่านว่าต่อจากนี้ไม่ควรยอมให้ผู้อื่นนำชื่อหรือเอกสารไปใช้เพราะจะเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมายในบทบัญญัตินี้
“ทุกคนต่างมีความหวังในประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ แต่การจะลดผู้กระทำความผิดได้จริง จะต้องลดเรื่อง Abuse Power การคอรัปชันต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้อยากให้วิเคราะห์เรื่อง Cost Benefit เพราะเราลงทุนเยอะมากกับการดูแลผู้ต้องขัง แต่ที่ผ่านมากลับมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นายสุรศักดิ์ กล่าว
นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายอุกฤษฎ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
แก้ไขปัญหายาเสพติดที่‘ต้นน้ำ’แทน‘ปลายน้ำ’
นายอุกฤษฎ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของไทยน่าจะมีปัญหา สถิติทุกอย่างสะท้อนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และยังทำให้มีจำนวนคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ตามมา คือ ภาระงบประมาณ และต้นทุนทางกระบวนการยุติธรรมที่สูงขึ้น โดยกรมราชทัณฑ์ใช้งบประมาณในการจัดการดูแลผู้ต้องขังปี 2564 ไปประมาณ 14,195 ล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ใช้งบประมาณ 3,128 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนงบประมาณที่ไปอยู่ที่ส่วน ‘ปลายน้ำ’ สูงมาก ส่วน ป.ป.ส.ที่มีการกิจโดยตรงในการจัดการปัญหายาเสพติด ที่เป็นส่วน ‘ต้นน้ำ’ กลับมีงบประมาณน้อยกว่า
การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสมข้างต้น ทั้งที่ควรจะให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม อันเป็น ‘ต้นน้ำ’ ของกระบวนการแก้ไขปัญหามากกว่าการนำงบประมาณไปลงทุนกับ ‘ปลายน้ำ’ เมื่อมีผู้กระทำผิดเรื่อยๆ ทำให้ตนเองมองว่าการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ ที่มุ่งเน้นการปราบปรามยาเสพติดอาจมีส่วนช่วยในกระบวนการจัดการผู้กระทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
มุ่งบำบัดรักษาสอดคล้องโมเดล‘โปรตุเกส’
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด นายอุกฤษฎ์ กล่าวว่า ในทั่วโลกมีอยู่ด้วยกันหลายแนวคิด มีทั้งขั้วสุดโต่ง คือ การมองว่ายาเสพติดเป็นอาชญากรรมต้องมีการปราบปรามรุนแรง ซึ่งประเทศไทยก็เคยอยู่ในภาวะนี้ด้วย โดยเราเดินรอยตามสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2540 และหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้โมเดล ‘สงครามยาเสพติด’ นี้เหมือนกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กระทั่งโปรตุเกสเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้นโยบายยาเสพติดอีกขั้วในปี 2543 กล่าวคือ กลับการใช้นโยบายการให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่รุนแรง มาเป็นการใช้แนวทางการลดทอนความเป็นอาชญากรรมแทน ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ได้เขียนเอาไว้สอดคล้องกับโมเดลของโปรตุเกส
โปรตุเกสเน้นใช้มาตรการ ‘Harm Reduction’ คือ จะใช้การจับและคัดกรองผู้เสพก่อน จากนั้นจะมีคณะกรรมการคัดกรองผู้เสพออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ แบ่งเป็น 1.ผู้เสพที่มีภาวะพึ่งพิงยา กลุ่มผู้เสพที่ขาดยาเสพติดแล้วจะมีอาการบางอย่าง และ 2.ผู้เสพที่ใช้เพียงชั่วคราว กลุ่มผู้เสพที่ใช้ยาเสพติดเพื่อสังสรรค์ หรือเพื่อการทำงาน เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะเข้าโปรแกรมบำบัดที่มีวิธีที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละบุคคลมีอาการและความรุนแรงไม่เหมือนกัน แต่มีสาระคัญคือการมุ่งเน้นให้ผู้เสพติดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องพึ่งพายาเสพติดอีก โดยอาจให้สารอื่นทดแทนหรือได้รับสารเสพติดอย่างอ่อน
ทั้งนี้ในการบำบัดรักษาจะไม่มีการใช้โทษทางอาญา อย่างการกักขังเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว แต่จะใช้มาตรการทางการปกครองร่วมกับมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งจะไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้เสพมากนัก กล่าวคือ เขาจะไม่ต้องออกจากโรงเรียนหรือที่ทำงาน จะไม่มีประวัติอาชญากร สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่อาจจะเสียเวลาแค่เพียงช่วงเย็นที่ต้องเข้าไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น ตรงนี้จะช่วยเสริมให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่เป็นภาระของรัฐ
ส่วนมาตรการทางปกครองที่มีการรายงานตัว การจำกัดการติดต่อกับบุคคลที่กำหนด การจำกัดการเดินทาง หรือการยึดใบประกอบวิชาชีพ รวมถึงการอาศัยชุมชนให้ร่วมกันสอดส่องดูแล ก็จะเป็นส่วนช่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากมาตรการบำบัดผ่านพ้นไปแล้ว จะมีมาตรการกำกับติดตามดูแลเป็นระยะ อาทิ การติดตามทุก 3 เดือน เป็นต้น และจะมีการมอบใบรับรอง หรือ Certificate ให้โดยแพทย์ เพื่อให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมั่นใจ
สรุปได้ว่าประมวลกฎหมายใหม่ของไทยที่สอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดลนี้ จะส่งผลเชิงบวกทั้งต่อตัวผู้เสพ ชุมชน และกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมของผู้ต้องขังด้วย
ยกสถิติทั่วโลกมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย ลดผู้เสียชีวิตจากยาเสพติด
นอกจากโปรตุเกสจะหันกลับมาใช้นโยบายยาเสพติดแบบลดทอนความอาชญากรรม ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปด้วย ซึ่งจากสถิติของโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสภายุโรป (Council of Europe) ที่มอง ‘ผู้เสพ’ เป็น ‘ผู้ป่วย’ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากการใช้สารเสพติด อัตราการฆ่าตัวตายจากภาวะหลอนของการเสพยาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“ดังนั้นเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ของประเทศไทยมีผลบังคับใช้ไปแล้ว เชื่อว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากการใช้เข็มยาไม่สะอาด เสพยาเกินขนาด การผสมยาเองจนเกิดผลกระทบไม่คาดคิดจากความสนุกและความสุข เช่น ยาเคนมผง จะลดลง ที่สำคัญอาจทำให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก และช่วยลดภาวะพึ่งพายาเสพติดไปเรื่อย ๆ” นายอุกฤษฎ์ กล่าว
นายอุกฤษฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ของไทยมีความสอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดล แต่ในการปฏับัติจริงจะเหมือนหรือไม่ จะต้องรอดูต่อไป เพราะในมาตรา 111 จะให้คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดไปศึกษาและออกแนวทาง มาตรการ หรือนโยบายทั้งหมด จึงต้องรอดูว่ามาตรการที่คณะกรรมการออกมาจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่หรือไม่
อย่างไรก็ตามไทยยังมีการจัดชั้นประเภทยาเสพติดในโทษ เช่น ยาเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ไว้เป็นสารเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภทที่ 1 ขณะที่หลายประเทศมองว่ายาบ้ามีความรุนแรงน้อยกว่า ฝิ่น และเฮโรอีน จึงอยากฝากเอาไว้ว่าควรจะยกเลิกยาเสพติดบางประเภทด้วยหรือไม่
ดังนั้นแล้วการลดทอนความเป็นอาชญากรรมจากประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ จะลดปัญหายาเสพติดของไทยลงได้เหมือนอย่างโปรตุเกส หรือเนเธอร์แลนด์หรือไม่ จะต้องรอดูมาตรการเชิงนโยบายของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดต่อไป
ภาพจาก : โพสต์ทูเดย์