การนำสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ แผงเหล็ก และโดยเฉพาะการนำลวดหีบเพลงแถบหนามซึ่งเป็นวัตถุที่มีความอันตรายอาจทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บ มาปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมในเวลาต่อมา และดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายอื่น ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน ก.ค. - ก.ย.2564
กสม.ได้ประมวลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง และเห็นว่ามีการชุมนุม 4 ครั้ง คือ วันที่ 16 ก.ค.2564 , 18 ก.ค.2564 , 1 ส.ค.2564 และ 7 ส.ค.2564 พบว่าอาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มาจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม จนนำไปสู่การตรวจสอบประเด็นดังกล่าว
โดยตั้งประเด็นการตรวจสอบ 4 เรื่อง ดังนี้
1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
2.ความเห็นต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม
บรรทัดต่อจากนี้ คือ ผลการพิจารณา 4 ประเด็นข้างต้น จากสรุปย่อรายงานการตรวจสอบของ กสม.ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สร้างความหวาดต่อเสรีภาพการชุมนุม
พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐ โดยการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีแนวโน้มที่เป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม และห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมกับความปลอดภัยสาธารณะหรือการป้องกันภัยทางสาธารณสุข
การนำสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ แผงเหล็ก และโดยเฉพาะการนำลวดหีบเพลงแถบหนามซึ่งเป็นวัตถุที่มีความอันตรายอาจทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บ มาปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนั้นยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมในเวลาต่อมา และดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายอื่น ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม
จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องต่อข้อคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment No. 37 on the right of peaceful assembly) เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee)
ใช้เครื่องมือคุมฝูงชนไม่ถูกหลัก-ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ
การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในหลายเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกัน สามารถสรุปการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนแต่ละประเภทในภาพรวมได้ ดังนี้
- การใช้กระบอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนมีการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระบองกับผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงหลายครั้ง
- การใช้รถควบคุมฝูงชนฉีดน้ำแรงดันสูง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการผสมแก๊สน้ำตาและสารเคมีสีม่วงในน้ำหลายครั้ง ส่วนใหญ่ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีการฉีดน้ำ แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อน หรือบางกรณีการประกาศแจ้งเตือนมีเสียงที่เบามากทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ยินการแจ้งเตือน
ในหลายครั้งพบว่าตำรวจได้ฉีดน้ำไปทางสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ก่อความรุนแรง อีกทั้งยังพบว่ามีการฉีดน้ำจากทางยกระดับลงมาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่างด้วย
- การใช้แก๊สน้ำตา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนอย่างชัดเจนว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตา บางกรณีแจ้งเตือนในระยะแรกเริ่มของการใช้ แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการแจ้งเตือนอีก
ในบางสถานการณ์ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง บางกรณีพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชนและอาคารบริษัทเอกชน และพบว่ามีผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบจากกลิ่นควันของแก๊สน้ำตา ซึ่งมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาในระดับขนานกับพื้น โดยไม่ใช่การยิงด้วยมุมสูง
-การใช้กระสุนยาง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบก่อน บางกรณีมีการแจ้งเตือนเพียงแค่ครั้งแรก แต่หลังจากนั้นไม่ได้แจ้งเตือนอีก
ทั้งยังพบว่ามีการยิงกระสุนยางในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ได้แก่ การยิงในแนวสูงระดับศีรษะ การยิงจากบนรถกระบะขณะเคลื่อนที่จับกุม การยิงจากบริเวณที่สูงลงมา การยิงในระยะประชิด การยิงใส่ผู้ชุมนุมที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีอาวุธหรือเป็นผู้ก่อความรุนแรง รวมถึงการระดมยิงโดยไม่แยกแยะและไม่เลือกเป้าหมายว่าผู้ที่อยู่ในแนววิถีการยิงเป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงหรือไม่
ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บ ทั้งการบาดเจ็บเล็กน้อยและการบาดเจ็บที่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณศีรษะและดวงตา นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางเข้าไปในบริเวณอาคารที่พักอาศัยของประชาชนด้วย
โดยสรุปแล้วเห็นว่า การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2558 และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง ไม่สนใจผลลัพธ์ที่ตามมา
จากการตรวจสอบพบว่า ในระยะหลัง เมื่อตำรวจจะเข้าทำการจับกุม ผู้ชุมนุมมักจะใช้ ‘ชุดเคลื่อนที่เร็ว’ เข้ารุกไล่จับกุม หลายกรณีปรากฏว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมักจะได้รับบาดเจ็บจากการถูกตำรวจใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี บางกรณีใช้วิธีการขับรถยนต์ตัดหน้าจนทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลง และใช้กระบองตีไปที่ผู้ชุมนุมพร้อมเข้าจับกุม บางคราวขับรถกระบะเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมก่อนเข้าจับกุม หรือมีการคว้าตัวผู้ชุมนุมที่กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีจนรถล้มและรุมเข้าจับกุม อีกทั้งยังพบว่ามีการผลักรถจักรยานยนต์ให้ล้มก่อนเข้าจับกุม หรือการขว้างโล่และใช้เท้าถีบไปที่รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมที่กำลังขับรวมกลุ่มกันจนล้มระเนระนาด
พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้วิธีการเข้าจับกุมโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา
ทั้งผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชน บางรายมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การใช้กำลังจับกุมดังกล่าวนั้น จึงเป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2.ความเห็นต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
บางม็อบชุมนุมสงบ บางกรณีมีความรุนแรง
จากการตรวจสอบพบว่า การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 อยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัยของผู้ชุมนุม ซึ่งบางส่วนเป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุน้อย มีการแสดงออกถึงความรุนแรงมากขึ้น การตอบโต้จากรัฐเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
โดยรูปแบบการชุมนุมที่สำคัญในห้วงเวลาดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาได้ 3 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ 2.รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ประท้วง ซึ่งเรียกว่ากิจกรรม ‘คาร์ม็อบ’ (Car Mob) และ ‘ไบก์ม็อบ’ (Bike Mob) และ 3.รูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน
เห็นว่า การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม ‘คาร์ม็อบ’ และ ‘ไบก์ม็อบ’ เพื่อมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ลักษณะการชุมนุมนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของผู้จัดการชุมนุมรวมทั้งผู้ชุมนุมในการป้องกันโควิด อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
เนื่องจากเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว หรือการใช้ความรุนแรงเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ในภายใต้เงื่อนไขการชุมนุมซึ่งผู้จัดการชุมนุมได้มีความพยายามในการห้ามปรามแล้ว
ส่วนการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบนั้น การชุมนุมลักษณะนี้โดยทั่วไปยังคงเป็นการชุมนุมที่ไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง เพื่อแสดงออกถึงจุดประสงค์ทางการเมืองในการเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงรัฐบาล แม้ไม่มีการวางมาตรการป้องกันโควิด แต่ผู้ชุมนุมอาจป้องกันตนเอง
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนมีการทุบ เตะ ถีบไปที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุมซึ่งสวมใส่หมวกกันน็อกคนหนึ่งได้ใช้ก้อนอิฐทุบเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ การกระทำลักษณะดังกล่าวถือเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวมิได้สวมใส่เครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่จับกุมจนทำให้เกิดเหตุดังกล่าว
ม็อบไร้แกนนำใช้กำลัง-ไม่ใช่ชุมนุมปราศจากอาวุธ
สำหรับรูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน การชุมนุมภายหลังจากที่มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว รวมทั้งการชุมนุมภายหลังล่วงเลยกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้แนวทางการใช้กำลังและสิ่งเทียมอาวุธ เช่น ระเบิดปิงปอง วัตถุติดไฟ (ระเบิดเพลิง) หรือตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของดังกล่าวไปยังตำรวจนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของตำรวจและประชาชน
รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการและของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุมด้วย การชุมนุมในรูปแบบนี้จึงถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง มิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดูแลการชุมนุมอาจใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการหรือควบคุมการชุมนุมนั้นได้ตามกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากต้องเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและความได้สัดส่วนเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
สื่อสารไม่ทั่วถึง ทำเสียสิทธิได้รับเยียวยาจากรัฐ
จากการตรวจสอบพบว่า ผลกระทบจากการชุมนุมและสลายการชุมนุมก่อให้เกิดการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และการบาดเจ็บทางร่างกายและสภาพจิตใจของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายตำรวจ ผู้พักอาศัยใกล้จุดปะทะ รวมทั้งผู้เดินทางผ่านพื้นที่ชุมนุม จำนวนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนและการใช้สิ่งเทียมอาวุธต่าง ๆ ผลจากแก๊สน้ำตา ความเดือดร้อนจากเสียงรบกวนเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนานหลายวัน รวมทั้งผลกระทบจากการรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ส่วนตัว และความเสียหายต่อทรัพย์สิน
การพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาทุกกรณี ซึ่งรวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่ยังพบปัญหาความไม่สะดวกในการเข้าถึงการเยียวยาทั้งในมิติกฎหมาย มิติการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกลไกการเยียวยาที่มีอยู่ ซึ่งมีผลให้ประชาชนเสียสิทธิในการได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม
กสม.ทำข้อเสนอคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน
ผลจากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลัง และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม
กสม.ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น โดยจัดประชุมเพื่อแสวงหาทางออกและจัดทำข้อเสนอแนะ กรณีสิทธิเด็กในสถานการณ์ชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 และมีข้อเสนอแนะในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งจัดประชุมติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม.ซึ่งปรากฏผลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว
17 ข้อเสนอถึงม็อบ-เจ้าหน้าที่-รัฐบาล
ข้อเสนอที่ขอให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
1.งดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน
2.กำชับตำรวจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเคร่งครัด
3.ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของตำรวจชุดควบคุมฝูงชนในการใช้กำลังและการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายและหลักสากล ควรมีการกำกับดูแลควบคุมและสั่งการตามลำดับชั้นบังคับบัญชา
4.เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกกรณี
5.งดเว้นการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ทั้งขณะจับกุมและระหว่างควบคุมตัว
6.ห้ามนำตัวเด็กไปไว้ในห้องคุมขัง ในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดสถานที่ควบคุมตัวเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ต้องเปิดเผยสถานที่แห่งนั้นให้สาธารณชนทราบ พิจารณาภายใต้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน
7.เจ้าหน้าที่ต้องจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม
8.หลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เว้นแต่การชุมนุมนั้นได้แปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤต หรือการจลาจลที่กระทบต่อความมั่นคง
9.เร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางที่กำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี
10.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกฝ่าย เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ ปราศจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
11.พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ ให้ครอบคลุมเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
12.กำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมและจัดการการชุมนุมควรต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ
13.กำชับให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด
14.กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
15.ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
16.ให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณาปล่อยชั่วคราว โดยยึดหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และหลักการที่ว่า ทุกคนพึงมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย อีกทั้ง ควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)
17.การจัดการชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งสิทธิของบุคคลอื่นและความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายจากการชุมนุมทางการเมือง และการแพร่ระบาดของโควิด และเหตุอื่นใด โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล