“…ความเจ็บทรมานในความจริงแล้วมาจากความพยายามในการรักษา เช่น เป็นมะเร็งแล้ว ห้ามทานอันนี้นะ อันนู้นนะ ซึ่งกว่า 90% รู้ว่าการรักษาแบบเชิงรุกทำไปแล้วก็ไม่หาย หลายรายก็อยากได้รับการรักษาแบบประคับประคองที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ อยากจะทานอะไรก็ทานได้ และจะไม่มีคำว่าเจ็บปวดอีก…”
ความตายเป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายคนเลี่ยงไม่อยากพูดถึง แต่ 'การตายดี' เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนคาดหวัง เพื่อให้คนใกล้ชิดหรือตนเองได้จากไปอย่างไม่เจ็บปวดทรมาน แต่ยังอีกหลายคน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคไตระยะสุดท้าย อาจไม่โชคดีดังหวัง
ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วย ญาติ และแพทย์จะต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะยื้อหรือยุติการรักษา 'การวางแผนดูแลล่วงหน้า' จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะบ่อยครั้งหากผู้ป่วยไม่ได้วางแผนล่วงหน้าและเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมที่จะพบบ่อยคือญาติจะไม่กล้าตัดสินใจ และในที่สุดการตัดสินใจอาจไม่ได้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย
ขณะที่การตัดสินใจบางอย่างบนพื้นฐานของจริยธรรม ก็อาจมาพร้อมกับความเจ็บปวด เช่น การให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อยื้อชีวิตไว้ สุดท้ายผู้ป่วยมีลมหายใจแต่ไร้ซึ่งความสุขสบาย ดังนั้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปี ในการพัฒนารูปแบบการดูแลและออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งในเรื่องนี้ ทั้งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ล่าสุดได้จัดทำแผน 'ดูแลล่วงหน้า' ออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายเดือน พ.ย.2564 เพื่อสร้างองค์ความรู้และมาตรฐานเกี่ยวกับแผนการดูแลล่วงหน้าของไทย และสามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการสื่อสารของบุคลากรด้านสุขภาพในแต่ละวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับบริบทของระบบบริการสุขภาพในด้านการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 องค์ประกอบ ดังนี้
-
ฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้า (Thai Standard advance care plan form) ที่มีด้วยกัน 4 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้วางแผนการดูแลล่วงหน้า, การแสดงเจตจำนงหรือความปรารถนาและแผนการดูแลล่วงหน้าที่ต้องการ, ผู้ตัดสินใจแทน และเมื่อวางแผนการดูแลล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง
-
แนวทางการจัดทำ (Standard operation procedures : SOP) แบบฟอร์มมาตรฐานแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai Standard advance care plan form)
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่คณะกรรมการสุขภาพเห็นความสำคัญของ 'สิทธิการตายดี' เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลและจัดการร่างกายของตนเองได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2543 เริ่มจากการผลิตสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ การเปิดเวทีสาธารณะ และการจัดงานเชิงวิชาการ
กระทั่งกฎหมายของประเทศไทยให้การรับรองเรื่องดังกล่าวแล้ว ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตราที่ 8 ว่าด้วยการให้บุคคลสามารถตัดสินใจไม่รับบริการสาธารณสุขได้ และมาตราที่ 12 บุคคลสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
หลังจากปี 2550 เป็นต้นมา สช.จึงขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านสื่อไปพร้อมกับกฎหมาย นอกจากนั้นยังนำเรื่องการดูแลล่วงหน้าไปเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสถานพยาบาลทั่วประเทศและมีแผนกและผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้คำแนะนำกับผู้ป่วย และญาติในการวางแผนดูแลล่วงหน้า หรือการดูแลแบบประคับประคอง ที่จะนำไปสู่การตายดีตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ที่สำคัญ สช. ได้ร่วมมือกับ สปสช.ด้วยในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในการดูแลแบบประคับประคอง ดังนั้นในเรื่องค่าดูแล ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประชาชนจะได้รับการดูแล
รวมถึงได้ร่วมมือกับภาคีอื่น ๆ ด้วย อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการทางสังคม และยังจัดอบรมให้บุคลากรการแพทย์ทั่วประเทศในเรื่องดังกล่าว เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภาพยาบาล หรือกลุ่ม Peaceful death เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขมีแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ
'แผนดูแลล่วงหน้า'เติมเต็มผู้ป่วยระยะสุดท้ายในทุกมิติ
การวางแผนดูแลรักษาตัวเองล่วงหน้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด เพราะเป็นความสมัครใจ และไม่มีการบังคับ การวางแผนดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการที่จะช่วยให้แพทย์ และญาติได้ทราบความต้องของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจแบบเร่งด่วนได้
“เมื่อมีการวางแผนดูแลล่วงหน้า ในส่วนนี้ทุกคนไม่ต้องกังวลเลย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์และลูกหลานจะสามารถทำตามความต้องการของผู้ป่วยได้ในทุกมิติ ทั้งทางด้านกาย จิตใจ และปัญญา เพียงแค่แสดงเจตจำนงทั้งผ่านทางเอกสาร หรือแบบที่ไม่เป็นทางการก็ได้ ที่สำคัญการดูแลรักษาแบบประคับประคองในช่วงสุดท้ายของชีวิต ก็จะไม่ทำให้เขาทุกข์ทรมาน เช่น กรณีผู้ป่วยเขียนพินัยกรรมชีวิต (Living Wills) เอาไว้ว่าในช่วงสุดท้ายของชีวิตอยากให้สัตว์เลี้ยงมาอยู่ข้าง ๆ เขาก็จะได้รับการดูแลในส่วนนี้” นายสุทธิพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่สนใจวางแผนดูแลล่วงหน้า สามารถปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของท่าน หรือติดต่อผ่านหน่วยงานของ สช.ได้ ขณะเดียวกันก็อาจสอบถามไปยังกลุ่มภาคประชาชน หรือจิตอาสาที่ดูแลเกี่ยวกับการดูแลรักษาแบบประคับประคองได้
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ก้าวต่อไปของ สช. 'การตายดี' เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึง
สำหรับก้าวต่อไปของ สช. นายสุทธิพงศ์ กล่าวว่าเราจะยังทำงานร่วมกับ สธ. สปสช. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพราะถ้าเราแยกส่วนการดูแลแบบประคับประคอง การวางแผนดูแลล่วงหน้า หรือการดูแลเรื่องสิทธิการตายดี ต่างคนต่างทำไป พลังการขับเคลื่อนจะไม่เกิด
“ยังมีเรื่องความเชื่อในสังคมไทยที่ยังเข้าใจในเรื่องสิทธิการตายดีได้บ้างหรือไม่ได้บ้างในบางจุด ซึ่งเราต้องการพลังที่จะฟันฝ่าหรือก้าวข้ามไปให้ได้ ผ่านการบูรณาการกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้เขาเป็นอีกกลไกในการให้ความรู้กับประชาชนให้เข้าใจในบริบทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น” นายสุทธิพงศ์ กล่าว
'การวางแผนดูแลล่วงหน้า' ถูกกฎหมาย-ไม่ผิดศีลธรรม
ด้าน นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล ผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวด้วยว่า ในทางจริยศาสตร์ การช่วยให้คนอื่นตาย เป็นการละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของแพทย์ที่ถ่ายทอดกันมาหลายพันปี
วิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ทำวิจัยและพัฒนาวิธีการดูแลรักษาให้ผู้คนได้รอดชีวิตจากโรคภัยทั้งปวง แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จทุกโรค แต่ก็สามารถเอื้อให้ผู้ป่วยอยู่กับโรคได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บปวดทรมาน ทั้งที่แพทย์เกือบทุกคนจะรู้วิธีทำให้ตายโดยไม่ทรมานได้ แต่ก็ไม่ทำด้วยความเป็นวิชาชีพย่อมมีจริยธรรมกำกับอยู่
การฆ่าแบบใด ๆ ย่อมผิดศีลธรรมของทุกศาสนา แม้ว่าจะอ้างว่าทำด้วยเจตนาดี ในบริบทของพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน 'การการุณยฆาต' นอกจากตัวเองจะทำบาปเองแล้ว แถมยังทำให้หมอช่วยสมรู้ร่วมคิดในการทำบาปอีกด้วย
ดังนั้นแล้วผู้ที่อยากตายดีโดยไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม จะต้องวางแผนการดูแลล่วงหน้า เพื่อให้แพทย์และญาติสามารถดูแลรักษาแบบประคับประคองต่อไปได้
“ทุกวันนี้ถ้าเราอยากอยู่สบาย ตายสงบ ไม่พบกับความทรมานจากโรคใด ๆ ก็มีทางเลือกที่ถูกกฎหมาย ถูกจริยธรรม และไม่ผิดศีลธรรมอยู่แล้ว นั่นคือการดูแลประคับประคอง หรือ Palliative care เพราะบางที ความทรมานทั้งหลายที่เรากลัวนั้น เกิดขึ้นจากความพยายามในการรักษา ซึ่งมีต้นเหตุมาจากความหวังดีของแพทย์ในโรงพยาบาลและคนที่รักรอบตัวเรา” นพ.อิศรางค์ กล่าว
เติมเต็มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ให้ใช้ชีวิตเต็มที่ไร้ความเจ็บปวด
นพ.อิศรางค์ กล่าวอีกว่าการดูแลแบบประคับประคอง ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและไม่ใช่การละเลยชีวิตของผู้อื่น แต่เป็นการดูแลที่ให้ความสำคัญกับชีวิตผู้คน เราจะดูว่าอะไรคือคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยต้องการ แล้วเราจะเติมเต็มคุณภาพชีวิตนั้น หากเขาไม่อยากรู้สึกเจ็บปวด เราจะไม่ทำเพียงแค่บรรเทาอาการ แต่เราจะทำให้ความเจ็บปวดเขาหายไป เพราะเป้าหมายของเราคือการที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างสบาย
“ยุคนี้เราจะให้มอร์ฟีนเพื่อการบำบัดความเจ็บปวด ซึ่งผู้ป่วยสามารถอยู่บ้านได้และไม่จำเป็นต้องพึ่งโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ความเจ็บทรมานในความจริงแล้วมาจากความพยายามในการรักษา เช่น เป็นมะเร็งแล้ว ห้ามทานอันนี้นะ อันนู้นนะ ซึ่งกว่า 90% รู้ว่าการรักษาแบบเชิงรุกทำไปแล้วก็ไม่หาย หลายรายก็อยากได้รับการรักษาแบบประคับประคองที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ อยากจะทานอะไรก็ทานได้ และจะไม่มีคำว่าเจ็บปวดอีก” นพ.อิศรางค์ กล่าว
นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล ผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม
อย่ารีรอเข้าสู่ระบบการรักษาแบบประคับประคอง
อย่างไรก็ตามการพูดถึงการวางแผนการการดูแลล่วงหน้าในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต อาจเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ และหากจะให้แพทย์พูดถึงกระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะยุ่ง จึงไม่เกิดการคุยกัน สุดท้ายเมื่อผู้ป่วยหมดสติสัมปชัญญะก็อาจสายเกินไปที่จะใช้วิธีการดูแลแบบประคับประคองได้ทัน
นพ.อิศรางค์ แนะนำว่า ผู้ที่สนใจการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสามารถติดต่อแผนกประคับประคองของแต่ละโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อสอบถาม สช.หรือบริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
“ทุกคนสามารถเข้าไปร้องขอหรือค้นหาแผนกประคับประคองในแต่ละโรงพยาบาลได้ เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที ไม่ควรรอ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะได้รับการรักษาตามความต้องการเพียง 2 อาทิตย์ก่อนตาย” นพ.อิศรางค์ กล่าว
จะมีสักกี่คนที่จะได้จากไปอย่างไร้ความเจ็บปวด 'การวางแผนดูแลล่วงหน้า' จึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้หลายคนที่ป่วยในระยะสุดท้ายได้ชีวิตอย่างเต็มที่และจากไปอย่างสงบ อันเป็นสิทธิของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง