ถ้าผมไปที่ประเทศไทย ซื้ออัญมณีมาเต็มกระเป๋าถือ และผู้ขายบอกว่ามันไม่ได้มาจากประเทศเมียนมา 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่แท้จริงแล้วมันมาจากเมียนมา ผมก็จะยังมีปัญหาแน่นอน แต่ประเด็นนี้นั้นมันก็จะต้องมีเรื่องที่ชั่งน้ำหนักอีกในแง่ของว่าจะใช้กลไกใด นับตั้งแต่การเขียนจดหมายเตือนไปจนถึงการสืบสวนทางคดีอาญา ถ้าหากมีการละเมิดโดยเจตนา
จากประเด็นเรื่องของการรัฐประหารในประเทศเมียนมานับตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ในประเทศนั้นก็ดูจะยังไม่มีท่าทีว่าจะกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือนในเร็ว ๆ นี้
ส่งผลทำให้นานาชาติได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศเมียนมาเพื่อที่จะตัดเส้นทางการสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมา
ขณะที่ ทรัพยากรอัญมณีของเมียนมา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการยากที่จะดำเนินการคว่ำบาตรได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอัลจาซีราของประเทศกาตาร์ ได้จัดทำรายงานพิเศษเรื่องอัญมณีกับแหล่งรายได้ของเผด็จการเมียนมา ที่มีสาระสำคัญว่าเหล่าผู้ค้าอัญมณีทั่วโลกนั้นต้องช่วยกันเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้มีอัญมณีจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมาได้
มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
สำนักข่าวอัลจาซีร่า ระบุว่า เครือข่ายการต่อต้านการทุจริตได้มีการประกาศคำเตือนให้กลุ่มผู้ค้าอัญมณีทั่วโลกนั้นได้เฝ้าระแวดระวังความเป็นไปได้ที่บทบาทของพวกเขานั้นจะกลายเป็นการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา ซึ่งอุตสาหกรรมด้านการค้าอัญมณีมูลค่าสูงของประเทศกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกลุ่มผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา
องค์กร Global Witness ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอระดับโลกจากประเทศอังกฤษที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระบุว่ากองทัพเมียนมา ซึ่งยึดอำนาจมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาได้เข้าควบคุมอุตสาหกรรมอัญมณีมูลค่าสูงกว่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มีข้อมูลระบุด้วยว่า ในภาคส่วนการค้าทับทิม,แซฟไฟร์ และอัญมณีอื่นๆของประเทศเมียนมานั้น มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 346 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11,606,570,000 บาท)-415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,921,175,000 บาท) ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2557-2560 แต่ถ้าหากรวบรวมตัวเลขไปถึงการค้าอัญญมณีอันผิดกฎหมายในเมียนมานั้นจะพบว่าภาคส่วนอุตสาหกรรมอัญมณีของเมียนมาจะมีมูลค่าโดยเฉลี่ยในช่วงสี่ปีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณปีละ 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (58,041,500,000 บาท)-2.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (69,448,500,000 บาท)
Global Witness ออกคำเตือนผู้ค้าอัญมณีเฝ้าระวังอัญมณีจากเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Global Witness)
เมื่อพิจารณาถึงการที่ทหารเข้าไปควบคุมภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศ รวมไปถึงประเด็นที่นานาชาติได้ออกมาตรการลงโทษต่อกลุ่มบริษัทข้ามชาติอันเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาและเชื่อมโยงไปถึงการค้าอัญมณี Global Witness ระบุชัดเจนว่าทุกบริษัทนั้นต้องมีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้รับเงินทุจจากความขัดแย้ง การทุจริต หรือการกดขี่ในประเทศเมียนมา
ในรายงานขององค์กรซึ่งมีที่มาจากการสัมภาณ์ผู้ถูกสัมภาษณ์จำนวนมากกว่า 150 ราย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ,สมาชิกชุมชน,ตัวแทนภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ระบุว่าการทำเหมืองอัญมณีทุกรายการในประเทศเมียนมาในเวลานี้ทั้งหมดถือว่าผิดกฎหมายเนื่องจากว่าใบอนุญาตทั้งหมดที่ออกโดยรัฐบาลพลเรือนได้หมดอายุไปแล้วในช่วงปี 2563 หรือ 1 ปีก่อนการรัฐประหาร
ขณะที่กองทัพเองก็ไม่ได้มีการประกาศต่อสาธารณชนว่าได้มีการออกใบอนุญาตใหม่ แต่หลังจากการยึดอำนาจ พบว่ามีการพุ่งขึ้นของการทำเหมืองอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้นทั่วประเทศเมียนมา
องค์กร Global Witness ระบุว่า มีคนงานนับหมื่นคนที่แห่กันไปทำเหมืองในเมืองโม่โกะ อันเป็นเมืองที่อยู่ตอนกลางของเขตมัณฑะเลย์ และยังพบว่าคนงานกลุ่มดังกล่าวได้จ่ายเงินสินบนให้กับกองทัพเมียนมาด้วยเช่นกัน
การทำเหมือนอย่างไม่เป็นทางการนี้เกิดขึ้นเป็นฉากหลังควบคู่ไปกับสถานการณ์ “ความไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง” ในประเทศเมียนมา ซึ่งรวมไปถึงในเมืองโม่โกะด้วย โดยกองทัพเมียนมานั้นถูกกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติด้วยการสังหารผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารนับหลายร้อยคน ควบคู่ไปกับการโจมตีพลเรือนในพื้นที่ชายแดน
แต่ถึงกระนั้น การค้าขาย,การประมูล และตลาดค้าปลีกสำหรับอัญมณีก็ยังคงเปิดกิจการ มีการซื้อและขายทัมทิมและหินมีค่าต่าง ๆ จากประเทศเมียนมาต่อไป
เหมืองที่เมืองโม่โกะ ในปี 2557
@“เงินทุนสนับสนุนความโหดร้าย”
ในรายงานพิเศษฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่ามีกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นคือการนำเอาอัญมณีจากเมียนมาขายให้กับเหล่าผู้ค้าอัญมณีและท้ายที่สุดก็คือการขายให้กับเหล่าลูกค้าที่ไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาได้ให้เงินสนับสนุนกับการกระทำที่โหดร้ายในเมียนมาหรือไม่
องค์กร Global Witness ได้พูดคุยกับหนึ่งใน 20 ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ยินยอมที่จะให้ข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งก็คือบริษัท ไฟ ดี เจมส์ จำกัด และบริษัทแห่งนี้ก็สามารถที่จะระบุเหมืองที่เป็นต้นกำเนิดของทับทิมในเมียนมาได้ ขณะที่แหล่งต้นกำเนิดของทับทิมดังกล่าวก็มาจากเหมืองแห่งหนึ่งชื่อว่าชเวพีอาย Shwe Pyi Aye และเหมืองนี้ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) มาตั้งแต่ปี 2538 โดยบริษัทแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสองบริษัทข้ามชาติหลัก ๆ ที่ถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา และบริษัทยังถูกลงโทษจากทั้งประเทศสหรัฐฯ,สหราชอาณาจักร,สหภาพยุโรปและแคนาดา
ตัวแทนบริษัท ไฟ ดี ได้กล่าวกับ Global Witness ว่า ไม่มีทางเลยที่จะระบุได้อย่างเจาะจงว่าเมื่อใดที่ทับทิมนั้นถูกขุดขึ้นมา ซึ่งทับทิมที่ถูกขุดขึ้นมาดังกล่าวนั้นก็จะมีการนำไปขายต่อให้กับบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศอังกฤษและในประเทศสหรัฐฯอย่างเช่น Harry Winston, Graff, และบริษัท Sotheby’s and Christie’s
สำนักข่าวอัลจาซีรา ได้ติดต่อไปยังบริษัท ไฟ ดี เพิ่มเติม ได้ข้อมูลจากฝ่ายกฎหมายว่า บริษัทนั้นไม่ได้มีทับทิมที่มาจากเหมืองชเวพีอายในช่วงเวลาที่บริษัทเข้าควบกิจการเหมือง และคอลเล็คชั่นของบริษัททั้งหมดนั้นก็มาจากช่วงเวลาก่อนปี 2538
ฝ่ายกฎหมายกล่าวด้วยว่าบริษัท ไฟ ดี ได้ดำเนินกิจการมานานกว่า 100 ปีแล้ว และได้รับอัญมณีจำนวนหนึ่งในช่วงเวลาที่บริษัทได้เคยดำเนินกิจการในประเทศเมียนมา
แต่ว่าบริษัทก็ไม่ได้มีการซื้ออัญมณีจากเหมืองหรือว่าจากรัฐบาลเมียนมาแล้วในช่วงนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการลงโทษบริษัทของกองทัพเมียนมาที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการค้าอัญมณี ซึ่งมาตรการการลงโทษดังกล่าวนั้นได้เคยถูกยกเลิกการใช้ไปในช่วงปี 2559 เมื่อประเทศเมียนมาได้มีรัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตามได้มีการนำเอามาตรการลงโทษกลับมาใช้ใหม่ในปีนี้ หลังจากที่เกิดการรัฐประหารขึ้น
ฝ่ายกฎหมายบริษัท ไฟ ดี กล่าวยืนยันด้วยว่า บริษัทนั้นไม่ได้มีการละเมิดมาตรการลงโทษประเทศเมียนมาในข้อใดเลย และก็ไม่ได้ส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายอัญมณีชาวไทยรายอื่น ๆ เองก็ได้ยืนยันต่อสาธาณะเช่นกันว่า พวกเขาหยุดการจัดหาทับทิมจากเมียนมาและจะดำเนินมาตรการนี้ต่อไป ซึ่งข้อมูลจาก Global Witness ระบุว่าหนึ่งในบริษัทได้กล่าวกับทีมสืบสวนของ Global Witness ที่แฝงตัวเป็นลูกค้าเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ว่าพวกเขาจะคงมาตรการการนี้ต่อไป
สหภาพยุโรปคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีรา)
@การตรวจสอบที่ต้องเข้มข้นมากขึ้น
Global Witness ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่าองค์กรนั้นได้มีการติดต่อกับผู้ค้าอัญมณีอีกกว่า 30 ราย,สถานที่ประมูล และตลาดขายปลีกที่ขายอัญมณีทั้งในยุโรป,สหรัฐอเมริกา และในเอเชีย
“เราพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการการตรวจสอบสถานะที่เพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานของอัญมณีนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้เงินทุนไปในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผลก็คือว่าบริษัทเหล่านี้นั้นอาจจะมีการไปสนับสนุนกองทัพเมียนมา ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่สุดในโลกได้ และการให้เงินทุนที่ว่ามานั้นก็จะช่วยรักษาอำนาจให้กับกองทัพเมียนมาดำเนินการกดขี่ประชาชนต่อไปเรื่อยๆ” องค์กรระบุ
นายปีเตอร์ คูซิค ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯซึ่งเคยมีประสบการณ์ทำงานในเมียนมาตั้งแต่ปี 2550 และยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการประเมินภาคส่วนอัญมณีในเมืองโม่โกะกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีร่า ว่า สิ่งที่ Global Witness ตรวจสอบพบเจอนั้นอยู่ในสายงานเดียวกับเขา
"ประเทศเมียนมานั้นตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรในหลายวาระมาก ทั้งในปี 2551 ยกเลิกการคว่ำบาตรไปในปี 2559 แล้วก็มาคว่ำบาตรกันใหม่ในเดือน ก.พ. ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่จะต้องพิจารณาว่าอัญมณีมีแหล่งที่มาในช่วงเวลหลังจากการรัฐประหารในเดือน ก.พ. หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีทางที่จะตรวจสอบได้เลยว่าทับทิมนั้นถูกขุดในปี 2560 หรือว่าในปี 2564 กันแน่" นายคูชิคระบุ
“ไม่มีทางที่จะทำเรื่องเหล่านี้ได้จริง ๆ เป็นเรื่องยากลำบากหรือแทบที่จะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะระบุแหล่งใบอนุญาต ดังนั้นวิธีการที่ใช้กันใหม่ ๆ นั้นก็เหมือนกับวิธีแบบเก่าซึ่งก็คือหยุดการจัดหาทับทิมใด ๆ ก็ตามที่มาจากเมียนมา เพื่อจะตัดแหล่งรายได้ของรัฐบาลทหาร”นายคูชิคย้ำ
นายคูชิคกล่าวด้วยว่า นโยบายการลงโทษนั้นเป็นความรับผิดชอบอันเข้มงวด หมายความว่าถ้าหากบริษัทของสหรัฐฯแห่งใดก็ตามได้อัญมณีซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรการลงโทษ ก็จะถือว่าบริษัทนั้นมีพฤติการณ์ละเมิด แม้ว่าบริษัทจะไม่รู้แหล่งที่มาก็ตาม
“ถ้าผมไปที่ประเทศไทย ซื้ออัญมณีมาเต็มกระเป๋าถือ และผู้ขายบอกว่ามันไม่ได้มาจากประเทศเมียนมา 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่แท้จริงแล้วมันมาจากเมียนมา ผมก็จะยังมีปัญหาแน่นอน แต่ประเด็นนี้นั้นมันก็จะต้องมีเรื่องที่ชั่งน้ำหนักอีกในแง่ของว่าจะใช้กลไกใด นับตั้งแต่การเขียนจดหมายเตือนไปจนถึงการสืบสวนทางคดีอาญา ถ้าหากมีการละเมิดโดยเจตนา”นายคูชิคกล่าว
ขณะที่ Global Witness ระบุว่า มีแค่ 3 บริษัทเท่านั้นได้แก่ Tiffany & Co, Signet Jewellers และ Boodles ที่ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าพวกเขาได้หยุดจัดหาอัญมณีจากเมียนมาแล้ว นับตั้งแต่การรัฐประหาร ส่วนบริษัท Cartier and Gubelin ก็ได้ชี้แจงกับกลุ่มเช่นเดียวกัน ส่วนบริษัท Harry Winston ได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่าบริษัทจะหยุดการนำเข้าอัญมณีจากเมียนมา
“บริษัทนั้นมีพันธะที่จะรับผิดชอบต่อการจัดหาอัญมณีจากแหล่งผลิต อย่างมีจริยธรรม โดยบริษัท House of Harry Winston นั้นจะไม่มีการจัดหาอัญมณีซึ่งมีต้นทางมาจากผู้จัดหาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเมียนมา โดยจะไม่คำนึงว่าอัญมณีดังกล่าวนั้นจะมีวันที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เมื่อใดก็ตาม” บริษัท Harry Winston ระบุ
สำนักข่าวอัลจาซีรา ยังได้ติดต่อไปยังบริษัท Sotheby’s and Christie’s เพื่อขอความเห็นในกรณีดังกล่าวนี้ แต่ก็ยังไม่มีการตอบกลับใด ๆ กลับมา
เรียบเรียงจาก: https://www.aljazeera.com/news/2021/12/21/luxury-jewellers-risk-funding-military-abuses-in-myanmar-report
ทั้งนี้จากประเด็นเรื่องอัญมณีดังกล่าว ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน เม.ย.สำนักข่าวอิศรา เคยสัมภาษณ์นายนายเคนเนดี้ โฮ ประธานสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเซีย (AIGS) ได้รับการยืนยันว่า แหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของเผด็จการทหารเมียนมานั้นน่าจะเป็นหยกมากกว่า และส่วนใหญ่หยกก็จะถูกขายไปให้กับประเทศจีน ซึ่งไม่ได้มีการคว่ำบาตรเมียนมาแต่อย่างใด
นายเคนเนดี้ ยังยืนยันกับสำนักข่าวอิศราด้วยว่า "ถ้าหากแบนเมียนมาเลยนั้น จะมีผลกระทบกับรายเล็กมากกว่ากองทัพเมียนมา ก็เพราะว่าที่เมียนมานั้นมีเหมืองเล็ก ๆ ที่ปิดไปแล้ว และชาวบ้านตัวเล็ก ๆ เข้าไปลักลอบขุดกัน ซึ่งรายได้ก็ไม่มาก ถ้าไปแบนช่องทางที่เขาจะได้นำพลอยออกมาขายตามพรมแดนอีก ท้ายที่สุดคนพวกนี้เขาก็จะเดือดร้อนมากกว่า แต่จะไม่กระทบกับกองทัพซึ่งเป็นรายใหญ่ที่มีตลาดไปยังประเทศจีน "