"...มีนักธุรกิจเอกชนผู้หนึ่ง เข้าไปเจรจาซื้อลดหนี้ของบริษัทเอกชนดังกล่าวจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยใช้เงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ โดยในการดำเนินการซื้อลดหนี้ดังกล่าวนี้ นายดุสิตและนางเยาวลักษณ์ ได้ร่วมกันพิจารณาสินเชื่อและเบิกจ่ายเงินกู้ให้กับบริษัท เพื่อดำเนินการซื้อลดหนี้ของบริษัทเอกชนดังกล่าวจากสถาบันการเงินเกินกว่าควรจะจ่ายจริง..."
จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุกคนละ 4 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายดุสิต เต็งนิยม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายสินเชื่อภาคใต้และนครหลวงตะวันออก และนางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด โดยมิชอบ วงเงิน 8,360 ล้านบาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
น่าสนใจว่าข้อมูลที่มาที่ไปเกี่ยวกับคดีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลคดีทุจริตสำนักงาน ป.ป.ช. พบข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้
ผู้ถูกกล่าวหา
คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 8 ราย คือ 1. นายดุสิต เต็งนิยมรองกรรมการผู้จัดการสายสินเชื่อภาคใต้และนครหลวงตะวันออกธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน )2. นางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้บริหาร ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์สินเชื่อโครงการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)3. นางสว่าง มั่นคงเจริญ4. นายธงชัย จิระอลงกรณ์ผู้บริหารบริษัท วิริยะอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด5. นางสุวพร ทองธิว6. บริษัทมาสเตอร์เวิร์ค เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด7. นางสาวสายสวาท ธนศักดิ์เจริญ 8. นางสาวนงค์นุช วัฒนสุนทรกุลผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทมาสเตอร์เวิร์ค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
ข้อกล่าวหา
ร่วมกันพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่ บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัดโดยไม่ชอบด้วยคำสั่งของธนาคารกรุงไทยฯ และมติคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยฯ ต้องจ่ายเงินสินเชื่อเกินกว่าที่ควรจ่ายจริง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ชี้มูลความผิด 3 ส่วน คือ 1. นายดุสิต เต็งนิยม, นางเยาวลักษณ์ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ทางวินัย ตามข้อ 12.13,12.1.7 และ 12.1.8 แห่งระเบียบการพนักงานแก้ไขปรับปรุง โดยคำสั่งธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ธ.(ว) 67/2549 สั่ง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549
2. นายดุสิต เต็งนิยม, นางเยาวลักษณ์ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ยังมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11
3. นายสว่าง มั่นคงเจริญ,นายธงชัย จิรอลงกรณ์, นางสุวพร ทองธิว,บริษัท มาสเตอร์เวิร์ค เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด, นางสาวสายสวาท ธนศักดิ์เจริญ,นางสาวนงค์นุช วัฒนสุนทรกุล มีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 86
สำหรับนายวิกรม ลีนะบรรจง ซึ่งได้ให้ถ้อยคำในฐานะพยานที่ขัดแย้งกับพยานบุคคลอื่น ๆ นั้นในชั้นนี้ พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จึงยังไม่สมควรที่จะดำเนินคดีกับนายวิกรม ลีนะบรรจง ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอ
เนื้อคดี
ขณะที่ นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกฯ ขณะนั้น แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีนี้เป็นทางการ ระบุว่า จากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ ฟังได้ว่า บริษัทเอกชนรายหนึ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารกรุงไทย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 บริษัทดังกล่าวกลายเป็นลูกหนี้ผิดนัด ธนาคารฯ จึงได้โอนหนี้ผิดนัดของบริษัทให้แก่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งตามนโยบายรัฐบาล
ต่อมานายดุสิตและนางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานทรัพยากรบุคลและองค์กร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสและผู้บริหาร ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์สินเชื่อโครงการ ธนาคารกรุงไทย ได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนดังกล่าว ในการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อแก้ไขหนี้ของบริษัทตามแผนฟื้นฟูกิจการเดิม
หลังจากนั้นได้มีนักธุรกิจเอกชนผู้หนึ่ง เข้าไปเจรจาซื้อลดหนี้ของบริษัทเอกชนดังกล่าวจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยใช้เงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ โดยในการดำเนินการซื้อลดหนี้ดังกล่าวนี้ นายดุสิตและนางเยาวลักษณ์ ได้ร่วมกันพิจารณาสินเชื่อและเบิกจ่ายเงินกู้ให้กับบริษัท เพื่อดำเนินการซื้อลดหนี้ของบริษัทเอกชนดังกล่าวจากสถาบันการเงินเกินกว่าควรจะจ่ายจริง
ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่า การกระทำของนายดุสิตและนางเยาวลักษณ์ มีมูลความผิดทางวินัย และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.11
การกระทำของนักธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นนายหน้าติดต่อเข้าร่วมเจรจาต่อรองซื้อลดหนี้ มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานกระทำความผิด ป.ป.ช.ให้ส่งรายงานเอกสาร ความเห็นไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับนางเยาวลักษณ์ และบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายดุสิต และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้
สำหรับกรณีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจยื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อปี 2548 เป็นการปล่อยกู้ซื้อลดหนี้บริษัทธนบุรีประกอบยนต์
ธปท.กล่าวโทษนายดุสิตและนางเยาวลักษณ์ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานองค์กรของรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ และกล่าวโทษ นางสว่าง มั่นคงเจริญ ,นายธงชัย จิระอลงกรณ์ ,นางสุวพร ทองซื่อ บริษัท มาสเตอร์เอนเตอร์ไพรซ์ จำกัด น.ส.สายสวาท ธนศักดิ์เจริญ และ น.ส.นงนุช วิวัฒน์สุนทรกุล ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำผิด
ธปท.ระบุว่าเป็นให้สินเชื่อโดยมิชอบฝ่าฝืนคำสั่ง ธปท. ในการให้สินเชื่อแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ฟินันซ่า เพื่อซื้อลดหนี้บริษัทธนบุรีประกอบยนต์ จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พบว่า เป็นการพิจารณาให้สินเชื่อโดยมิชอบ วงเงินกู้สูงกว่ามูลค่าที่จะนำไปซื้อลดหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ ทำให้มีผู้ได้ประโยชน์จากยอดเงินที่เกินกว่ามูลค่าหนี้ประมาณ 600 ล้านบาท
ธนาคารกรุงไทยได้มอบให้ บงล.ฟินันซ่า เป็นตัวแทนเจรจาซื้อลดหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ จากธนาคารกรุงเทพ มูลค่าประมาณ 2,250 ล้านบาท บงล.ฟินันซ่ามอบหมายให้นางสว่าง มั่นคงเจริญ ผู้ถือหุ้นของบริษัท ธนบุรีประกอบยนต์ เป็นผู้ไปเจรจากับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ให้กับนางสว่าง ต่อมานางสว่าง ได้รายงานต่อ บงล.ฟินันซ่า ว่า มูลค่าหนี้ของบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ทั้งหมดประมาณ 2,800 ล้านบาท และบงล.ฟินันซ่าได้ขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 2,800 ล้านบาท เพื่อขอซื้อลดหนี้จากธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทยก็อนุมัติเงินกู้ตามที่ขอมา
ผลการดำเนินการ
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และ 97 แล้วแต่กรณี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.51
วันที่ 24 ก.ย.51 ธนาคากรุงไทยลงโทษทางวินัยเลิกจ้างนายดุสิต เต็งนิยมและให้นางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ออกจากการเป็นพนักงานธนาคารฯ
วันที่ 5 มิ.ย.52 อัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์
วันที่ 14 ก.ค.52 ตั้งคณะทำงานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.
วันที่ 19 ส.ค.54 ประชุมคณะร่วมอัยการและป.ป.ช. ครั้งสุดท้าย ก่อนที่ป.ป.ช. จะยื่นฟ้องคดีนี้เอง
ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2558 มีมติเห็นชอบร่างคำฟ้อง และหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานคดีดำเนินคดีกับนายดุสิต เต็งนิยม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายสินเชื่อภาคใต้และนครหลวงตะวันออก และนางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด โดยมิชอบ วงเงิน 8,360 ล้านบาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อต. 2/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อต. 6/2561 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายดุสิต เต็งนิยม ที่ 1 กับพวก 2 คน จำเลยได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก คนละ 3 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อท.412/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 4468/2563 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสอง ไม่มีความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกอุทธรณ์ของโจทก์
จากนั้นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โจทก์ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 121/2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุกคนละ 4 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ดังกล่าว
ทั้งหมดนี้ เป็นปูมหลังคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะสืบค้นมาได้
ส่วนรายละเอียดผลคดีเป็นทางการเป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกครั้ง
อนึ่ง สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นรวมถึงบริษัทเอกชน ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ไม่ได้ปรากฎชื่ออยู่ในคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ตัดสินลงโทษ นายดุสิต เต็งนิยม และนางเยาวลักษณ์ ลิขิตวัฒนานุรักษ์ ด้วยแต่อย่างใด