คำถามคือว่าวัคซีนในโดสที่สี่นั้นจะมีความจำเป็นก่อนถึงฤดูใบไม้ร่วงในครั้งถัดไปหรือไม่ เราน่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนในช่วงเดือน ก.พ.หรือเดือน มี.ค. ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาวะของโรคระบาดนั้นจะวิวัฒนาการไปอย่างไรกันแน่ หรือก็คือหมายความว่าถ้าเราเห็นว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปสามโดสแล้ว นั่นก็จะเป็นจุดที่สำคัญว่าเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในโดสสี่ก่อนฤดูใบไม้ร่วงในครั้งถัดไปใช่หรือไม่
สืบเนื่องจากประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายแสดงความกังวลอยู่ในขณะนี้ จนนำไปสู่แนวคิดเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในโดสที่สี่ และโดสหลัง ๆ ตามมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
อันนำมาซึ่งคำถามหลายประเด็น คือ การฉีดวัคซีนบูสเตอร์หลังจากโดสที่สามไปแล้ว ต้องทิ้งระยะเวลาไว้นานเท่าไร ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยก็ได้เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่าประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มสี่นั้นจะต้องมีการพิจารณาให้ชัดเจนในช่วงเดือน ม.ค. 2565 นี้
จากกรณีดังกล่าวนั้น สำนักข่าว CTVNews ของแคนาดา ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องนี้เอาไว้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นรายแรกที่ประเทศแคนาดาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวนั้นพุ่งสูงขึ้นมากทั่วประเทศ
ในวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อถึงร้อยละ 80 ในรัฐออนแทริโอนั้นเป็นผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน จึงทำให้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติของแคนาดา ได้ออกคำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์กับชาวแคนาดาที่มีอายุ 50 ปี จนถึงมากกว่า และฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างเร่งด่วน
ประเด็นที่ชาวแคนาดา กำลังตั้งคำถามก็คือว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนในโดสที่สี่เพื่อป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
นพ.ไบรอัน คอนเวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและผู้อํานวยการทางการแพทย์ของศูนย์โรคติดเชื้อแวนคูเวอร์ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงว่าประเด็นว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สี่ในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามเขากล่าวต่อว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์กันในลักษณะรายปีเพื่อที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนรายปีดังกล่าวนั้นน่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (23 ก.ย.-21 ธ.ค.) ซึ่งจะตรงกับสิ่งที่เรียกว่าฤดูไข้หวัดใหญ่
ผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ยืนยันว่าต้องมีการฉีดวัคซีนโดสสี่เพื่อรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (อ้างอิงวิดีโอจาก CBS News)
“ผมคิดว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นี้ในระยะสั้นหรือระยะกลาง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะได้เห็นจริงๆก็คือว่าน่าจะเป็นภาพของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดหญ่ และสถานการณ์โควิดนั้นก็น่าจะอยู่ในภาวะซึ่งจะสามารถจัดการได้” นพ.คอนเวย์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CTVNews ของประเทศแคนาดา
นพ.คอนเวย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยดังกล่าวนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นา ก็ได้รายงานไปว่าวัคซีนของพวกเขานั้นมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงในช่วงระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน หลังจากที่ได้มีการฉีด แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้นจะประสบความสำเร็จแค่ไหนเมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ และความสำเร็จดังกล่าวนั้นจะอยุ่ได้นานแค่ไหน
“นี่เป็นเป้าหมายที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตอนนี้เราตระหนักแล้วว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะเข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงไปมากเมื่อระยะเวลาผ่านไปก็เป็นไปได้” นพ.คอนเวย์กล่าว
ขณะที่ความไม่แน่นอนบางอย่างที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นเกิดช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ที่จะมีความแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐบริติชโคลัมเบียนั้นมีการระบุว่ากลุ่มผู้ใหญ่จะได้รับการฉีดบูสเตอร์ ภายในระยะเวลา 6-8 เดือน หลังจากที่ได้ฉีดวัคซีนสองโดสแรกไปแล้ว ขณะเดียวกันในรัฐออนแทริโอ ก็พบว่ามีการลดช่วงเวลาการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ขึ้นต่ำให้เหลือแค่ประมาณ 3 เดือน หรือ 84 วันหลังจากการฉีดวัคซีนในสองโดสแรก
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ หลังจากที่กลุ่มประชากรได้รับวัคซีนในโดสสามแล้ว ผู้เชี่ยวชาญนั้นจึงสามารถประเมินได้ว่าวัคซีนในโดสสามนั้นจะมีประสิทธิภาพต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพียงได้ แล้วจึงตัดสินใจได้ว่าการฉีดวัคซีนโดสสี่จะเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่ โดย นพ.คอนเวย์กล่าวว่าตัวเขานั้นคาดการณ์ว่าอย่างไรก็ต้องมีการฉีดบูสเตอร์อีกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
“คำถามคือว่าวัคซีนในโดสที่สี่นั้นจะมีความจำเป็นก่อนถึงฤดูใบไม้ร่วงในครั้งถัดไปหรือไม่ เราน่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนในช่วงเดือน ก.พ.หรือเดือน มี.ค. ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาวะของโรคระบาดนั้นจะวิวัฒนาการไปอย่างไรกันแน่ หรือก็คือหมายความว่าถ้าเราเห็นว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปสามโดสแล้ว นั่นก็จะเป็นจุดที่สำคัญว่าเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในโดสสี่ก่อนฤดูใบไม้ร่วงในครั้งถัดไปใช่หรือไม่” นพ.คอนเวย์กล่าว
@เราจะได้เห็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควบคู่ไปกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช่ไหรือไม่?
ข้อมูลจาก นพ.คอนเวย์ ยืนยันว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้นั้น มีความคล้ายคลึงกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ โดยการระบาดนั้นจะมีลักษณะเป็นระลอกไป ก่อนที่จะกลายมาเป็นไวรัสเฉพาะถิ่น ซึ่งเขาได้ระบุต่อไปถึงความคล้ายคลึงกันของไวรัสโควิดและไข้หวัดใหญ่ก็คือวิธีกรที่ไวรัสเหล่านี้ส่งผ่านกันนั้นมาจากการสัมผัสของแต่ละบุคคล จะปล่อยอนุภาคที่มีไวรัสออกมาผ่านการไอหรือจาม
“ความคล้ายคลึงกันในเรื่องของฤดูกาลการระบาด และรูปแบบการแพร่เชื้อนั้นเป็นสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่าไวรัสเหล่านี้สุดท้ายก็จะกลายเป็นไวรัสประจำถิ่น ซึ่งต้องอาศัยการฉีดวัคซีนในรายปีไป”นพ.คอนเวย์กล่าว
ขณะที่บริษัทโมเดอร์นานั้นจะมีแนวคิดล้ำหน้าไปแล้วในประเด็นเรื่องของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ประจำปี โดยบริษัทเพิ่งจะประกาศไปไม่นานนี้ว่าทางบริษัทได้มีความร่วมมือกับบริษัทโนวาแวกซ์เพื่อจะพัฒนาวัคซีนในขั้นทดลอง และวัคซีนที่ว่านี้จะเป็นวัคซีนแบบโดสเดียวที่จะรวมเอาทั้งวัคซีนบูสเตอร์ของไวรัสโควิด-19 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในขั้นทดลองไว้ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้นั้นทางบริษัทก็ได้นำเอาวัคซีนแบบโดสเดียวดังกล่าวไปทดลองในกระบวนการทางคลินิกแล้ว
“บริษัทเหล่านี้นั้นก็ได้ตัดสินใจแล้วเช่นกันว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 กันทุกปี ซึ่งบริษัทยาขนาดใหญ่คงไม่ได้ลงทุนในเรื่องของเงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สักอย่างโดยเปล่าประโยชน์ เว้นเสียแต่ว่าจะมีตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นั้น” นพ.คอนเวย์กล่าว
รายงานข่าวบริษัทโมเดอร์นาพัฒนาวัคซีนเข็มเดียวที่รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนบูสเตอร์ของโควิด-19 ไว้ด้วยกัน (อ้างอิงวิดีโอจาก ANC News)
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาล่าสุดที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ British Medical Journal นักวิจัยพบข้อมูลว่า มันมีความปลอดภัยที่จะจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในโดสสองและวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกัน ตราบใดที่ฉีดในแขนคนละข้างกัน และการศึกษายังได้ระบุว่าไม่มีผลกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันในทั้งสองวัคซีน อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวนั้นยังเป็นการศึกษาที่ยังไม่เป็นทางการและยังไม่ได้มีกระบวนการทบทวนแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันว่ายังคงต้องใช้เวลามากกว่านี้เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.แอนโทนี่ ฟาวซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาก็ได้กล่าวว่าตัวเขายังไม่ได้ตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ประจำปีในอนาคต เนื่องจากว่ามันยังเร็วไปสำหรับเรื่องนี้
“มันยากที่จะบอกมาก คุณไม่รู้เลยจนกระทั่งคุณได้ติดตามมันไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนแล้ว” นพ.ฟาวซี่กล่าวกับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์
นพ.แอนโทนี่ ฟาวซี่ ให้สัมภาษณ์ประเด็นไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC News)
ด้าน นพ.แมทธิว มิลเลอร์ รองศาสตราจารย์ที่ภาควิชาชีวเคมีและชีวการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ได้กล่าวว่า คำถามเหล่านี้นั้นยังคงต้องอาศัยกระบวนการการสืบสวนอย่างเข้มข้นจนกว่าจะได้คำตอบ
“ในด้านหนึ่งมันคือการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบยึดโยงจากข้อมูลภูมิคุ้มกันว่าอยู่ได้นานเท่าไร แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าไวรัสพัฒนาไปไกลเท่าไรด้วย” นพ.มิลเลอรกล่าว
ขณะที่ นพ.คอนเวย์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งที่ทุกคนควรทำ ณ เวลานี้ก็คือไปฉีดวัคซีนโดสสามให้เร็วที่สุดถ้าหากเข้าข่ายว่าจะได้รับสิทธ์นั้นและคอยหมั่นติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
เรียบเรียงจาก:https://www.ctvnews.ca/health/coronavirus/covid-19-booster-shots-will-you-need-more-than-one-1.5710225