“…สัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า เทียบระหว่างเดือน พ.ย. และ ธ.ค. รวมทั้งตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สธ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด พิจารณาชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางมาจากทุกประเทศ และพิจารณาปรับใช้มาตรการกักตัวในระบบ AQ หรือ Sandbox นาน 7-10 วันแทน…”
โควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 ที่ประเทศบอตสวานา และองค์การอนามัยโลกได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ Variants of Concerns (VOCs) เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ถัดมาจากจากสายพันธุ์เดลต้า เบต้า อัลฟ่า และแกมม่า
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 19 ธ.ค.2564 เปิดเผยว่า ขณะนี้โอไมครอนลามไปทั่วโลกอย่างน้อย 89 ประเทศแล้ว และ 36 รัฐในสหรัฐอเมริกา โดยสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่พบในปัจจุบัน มีอยู่ด้วย 3 สายพันธุ์ คือ BA.1, BA.2 และ BA.3 ในภาพรวมการระบาดหลักทั่วโลกยังเป็น BA.1 เพราะจากฐานข้อมูลการตรวจหาสายพันธุ์ทั่วโลก ตรวจพบสายพันธุ์ BA.1 จำนวน 6,496 ราย BA.2 จำนวน 18 ราย และ BA.3 จำนวน 5 ราย
ส่วนความสามารถในการแพร่ระบาดของโอไมครอนนั้น ข้อมูลล่าสุดจากผลการวิจัยจาก University of Leuven พบว่าโอไมครอนมีความสามารถแพร่เชื้อไปสู่อีกคนได้ 8.54 เท่า ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์เดลต้าที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดอยู่ที่ 2.5 เท่า และเดลต้ามีความสามารถ 6.5 เท่า
ยกตัวอย่างเช่น สายพันธุ์โอไมครอน ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปได้ 8.54 คน สายพันธุ์เดลต้า ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปได้ 6.5 คน และสายพันธุ์อู่ฮั่น ผู้ติดเชื้อ 1 คน แพร่เชื้อไปได้ 2.5 คน
นอกจากจะแพร่ได้ไวแล้ว องค์การอนามัยโลกอัปเดตข้อมูลของโอไมครอนเพิ่มเติมว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการระบาดได้น้อยลง แต่โอไมครอนจะไม่กระทบกับ T-Cell reponse และ memory B cell ซึ่งสำคัญต่อการป้องกันเชื้อ นอกจากนี้ยังพบว่าวัคซีนบูสเตอร์โดสไม่ว่าจะชนิด mRNA หรือไวรัลเวกเตอร์ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้นเพียงพอต่อการสู้กับสายพันธุ์โอไมครอน
สำหรับสถานการณ์โอไมครอนภายในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่มี Index case ในประเทศไทย โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อที่สงสัยว่าเป็นโอมิครอนแล้วทั้งหมด 63 ราย
ล่าสุดตรวจยืนยันด้วยวิธีจีโนม (Whole Genome Sequencing - WGS) แล้ว 20 ราย อย่างไรก็ตามการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) ของประเทศไทยค่อนข้างแม่นยำว่าเป็นเชื้อโอไมครอน
นทท.ติดเชื้อ 1 ใน 4 เป็นสายพันธุ์โอไมครอน
สัดส่วนของสายพันธุ์โอไมครอนขณะนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในการตรวจจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังวันที่ 11-19 ธ.ค.2564 ทั้งหมด 1,595 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,541 ราย คิดเป็น 96.61%เป็นสายพันธุ์อัลฟา 1 ราย คิดเป็น 0.06% เป็นสายพันธุ์เบต้า 1 ราย คิดเป็น 0.06% และเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 52 ราย คิดเป็น 3.26% ซึ่งสัดส่วนโอมิครอนเพิ่มขึ้นจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ 1%
โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อ 1ใน 4 เป็นสายพันธุ์โอไมครอน หรือคิดเป็นประมาณ 25% ดังนั้นโครงการ Test & Go จะมีการพิจารณาทบทวนใหม่และจะกลับมาใช้มาตรการกักตัวอีกครั้ง เพื่อป้องกันผู้ป่วยหลุดออกไป เมื่ออยู่ในระยะฟักตัว
อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่าจากข้อมูลที่มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์มีประสิทธิผลค่อนข้างดี จึงอยากให้ผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนให้เข้ามารับวัคซีน ส่วนผู้ฉีดวัคซีน 2 เข็มเกินระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้เข้ามาฉีดบูสเตอร์โดส หรือวัคซีนเข็ม 3 เพื่อลดการติดเชื้อรุนแรง
"ขณะนี้กรมวิทย์ฯ อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อ ซึ่งเชื้อก็เริ่มขึ้นมาพอสมควร โดยจะนำมาทดลองในผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ของบ้านเรา เป็นการทดลองเชื้อโอมิครอนเป็นๆ ว่าสามารถป้องกันเชื้อได้มากน้อยเท่าไร คาดว่าช่วงปีใหม่น่าจะได้ผลการเทส" นพ.ศุภกิจ กล่าว
เจอโอไมครอนในไทยรายแรก เป็นภรรยานักบินวัย 49 ปี
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลกว่า แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งสามารถแพร่โรคได้เร็ว มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่เคยฉีดวัคซีนนานกว่า 6 เดือนแล้ว
สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศ เป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี ติดเชื้อมาจากสามีชาวโคลัมเบีย อายุ 62 ปี อาชีพนักบิน เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย โดยทั้งคู่มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว
ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรค พบว่า สามีของผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศรายแรก เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Sandbox ในวันที่ 26 พ.ย.2564 ก่อนมีการประกาศห้ามประเทศไนจีเรียเดินทางเข้าประเทศไทย ผลตรวจเบื้องต้น RT-PCR ไม่พบการติดเชื้อ หลังจากนั้นก็อยู่ในระบบ sandbox ที่สามารถเดินทางออกนอกโรงแรมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับ
สามีผู้ป่วยรายดังกล่าวนั้น มีประวัติเดินทาง เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไปตรวจตาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่พบเจอผู้อื่น มีประวัติไปซื้อของร้านค้าใกล้โรงแรม ทานข้าวเที่ยงที่ห้าง โดยสวมหน้าตลอดเวลา
ต่อมาวันที่ 30 พ.ย.2564 อยู่ในโรงแรม และวันที่ 1 ธ.ค.2564 เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 ที่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเริ่มมีไข้ตัวร้อน จึงตรวจ ATK แต่มีผลตรวจเป็นลบ ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.2564 จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง โดยผลตรวจไวรัสอื่นให้ผลลบทั้งหมด ผลเอ็กซเรย์ปอดปกติ และเมื่ออยู่ในระบบ Sandbox ครบ 7 วันตามโปรแกรมของการกักตัวที่โรงแรมก็ไปส่งที่ห้าง
หลังจากนั้น ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวก็กลับบ้านที่ จ.ปทุมธานี อยู่กับภรรยา ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค.2564 เริ่มมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ อ่อนเพลียมากขึ้น ตรวจ ATK ผลยังเป็นลบอยู่ ก่อนที่วันที่ 7 ธ.ค.2564 อาการเริ่มเหนื่อยมากขึ้นแต่ยังมีสติ เดินทางได้จึงไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปรากฏพบผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก
ทำให้ภรรยาที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัวที่บ้าน และเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 ไปตรวจ RT-PCR เป็นบวก วันเดียวกันนั้นผลของสามีออกมาว่าเป็นโอไมครอน จึงมีการตรวจหาโอไมครอนในภรรยาด้วย หลังจากนั้นจึงพบว่าเป็นโอไมครอนเช่นเดียวกัน และมีการยืนยันว่าเป็นโอไมครอนทั้งคู่
“ภรรยารายนี้น่าจะเป็นคนแรกของเมืองไทยที่ติดเชื้อจากสามีที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเป็นการติดเชื้อโอไมครอนในประเทศรายแรก ส่วนผู้สัมผัสบนเครื่องบินของสามี ไม่มี เนื่องจากนั้งห่างกันตามมาตรการ อย่างไรก็ตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของภรรยารายนี้คือ คนขับแท็กซี่ไปส่งโรงพยาบาล แต่การตรวจ RT-PCR ให้ผลลบ และอยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน และตรวจยืนยันครั้งที่ 2 คาดว่าผลออกพรุ่งนี้"นพ.จักรรัฐ กล่าว
ส่วนอาการของสามีขณะที่อยู่โรงพยาบาลมีอาการเชื้อลงปอด อาการหนักขึ้น แต่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้ล่าสุดอาการดีขึ้นแล้ว ส่วนภรรยาได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว และไม่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตามยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทย
2 คลัสเตอร์แสวงบุญ ติดโอไมครอนรวม 21 ราย
นอกจากนี้ นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีคลัสเตอร์ของผู้ที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย จากทั้งหมด 133 ราย โดย 1 รายพบเชื้อโอไมครอน ส่วนอีก 2 รายพบเชื้อเดลต้า ในขณะเดียวกันมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 4 ราย และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำอีก 126 ราย อยู่ระหว่างติดตามอาการจนครบ 14 วัน ในวันที่ 27 ธ.ค.2564 โดยผลการตรวจ RT-PCR ครั้งแรกผลเป็นลบทั้งหมด
ในขณะเดียวกันมีคลัสเตอร์จากผู้ที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเดินทางเข้าประเทศคนละวันกับคลัสเตอร์ก่อนหน้านี้ พบผู้ติดเชื้อที่สงสัยว่าเป็นโอมิครอน 18 ราย จากทั้งหมด 31 ราย และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 15 ราย ซึ่ง 6 ราย มีผลตรวจเอ็กซ์เรย์ผิดปกติ
สรุปได้ว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า เทียบระหว่างเดือน พ.ย. และ ธ.ค. รวมทั้งตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สธ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศปก.ศบค.) พิจารณาชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางมาจากทุกประเทศ และพิจารณาปรับใช้มาตรการกักตัวในระบบ AQ หรือ Sandbox นาน 7-10 วันแทน
5 แนวทางรับมือเทศกาลปีใหม่
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ นพ.จักรรัฐ กล่าวขอความร่วมมือทุกคนว่า เพื่อลดการระบาดของโรค และชะลอการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ ขอให้ทุกคนและทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน ดูแลตนเอง โดยให้คำแนะนำ ดังนี้
-
ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้เข้ารับวัคซีนโควิดโดยด่วน รวมทั้งการฉีดบูสเตอร์โดสตามเกณฑ์
-
คนไทยที่มีแผนเดินทางไปต่างประเทศ ช่วงนี้ขอให้ชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ หากจำเป็นต้องเดินทาง ให้ป้องกันตนเองขณะเดินทาง และขณะพำนักในต่างประเทศ อย่างเคร่งครัด เน้นปฏิบัติตนตามมาตรการ Universal Prevention
-
คนไทยเดินทางมาจากต่างประเทศและกักตัวที่บ้าน ให้รีบไปโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้ง และกักตัวจนครบ 14 วัน
-
สถานประกอบการ หน่วยงาน ที่จะจัดงานรื่นเริงช่วงปีใหม่ ให้ดำนินการตามแนวทาง Covid Free Setting และตรวจหาเชื้ออีกครั้งด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนกลับมาทำงานหลังปีใหม่ รวมทั้งเฝ้าระวัง พนักงานทุกคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วย
-
แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ หากพบสถานบริการ สถานประกอบการ ร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราภายในร้าน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้บริการประชาชนรับตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและเพิ่มจุดให้บริการ ณ สถานีขนส่งในจังหวัดที่มีผู้เดินทางจำนวนมากด้วย