“..การจะดำเนินการให้เปิดประเทศสำเร็จลุล่วงได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องมีการควบคุม กำกับ มาตรการอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค ให้การติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และระบบ สาธารณสุขรองรับได้ คงบรรยายกาศของการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย..”
วิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งระบบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ไทยจึงได้ตัดสินใจเปิดประเทศเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับสังคม รวมถึงคนในชุมชน แต่ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศต้องคำนึงถึงการป้องกันควบคุมโรค และความปลอดภัยของประชาชนร่วมด้วย รัฐบาลจึงได้มีนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มต้นนำร่องโดย พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการ ภูเก็ต แซด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา
แต่สถานการณ์ล่าสุด ทั่วโลกกำลังเผชิญกับเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ที่กำลังถูกจับตาและเฝ้าระวัง เนื่องจากสามารถแพร่ะกระจายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และวัคซีนที่มีอยู่ไม่อาจจะหยุดยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ ส่งผลให้บางประเทศได้ประกาศล็อกดาวน์ ปิดประเทศอีกครั้งเพื่อป้องกันและสกัดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ อาทิ เนเธอแลนด์
สำหรับประเทศไทย การเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ แผนรองรับนโยบายเปิดประเทศ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้การเปิดประเทศมีความปลอดภัย สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
การเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
- หลักเกณฑ์การพิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว
ประกอบด้วยการพิจารณา ลักษณะพื้นที่ ความพร้อมด้านสถานการณ์ และความพร้อมด้านบริหารจัดการ ดังนี้
จังหวัดนำร่อง
-
ลักษณะพื้นที่ สามารถเดินทางจากท่าอากาศยานฯ โดยสะดวกใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง (กรณีไม่มีท่าอากาศยานฯ หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำในประเทศ) เป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมช่องทางเข้าออก หรือ เป็นเกาะ
-
ความพร้อมด้านสถานการณ์ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 50% และในกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80 % (อาจใช้เกณฑ์ระดับพื้นที่) ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยเพียงพอ อัตรา ครองเตียงผู้ป่วยเหลืองแดงไม่เกิน 80 % (ใช้ระดับจังหวัดเพราะมีการส่งต่อตามศักยภาพ) และมีการเฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5 – 10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน (ใช้ค่าเฉลี่ย 1 สัปดาห์) ใช้เป็น เกณฑ์ประกอบการพิจารณา อาจใช้ลักษณะการระบาด และแนวโน้มสถานการณ์ ร่วมด้วย
-
ความพร้อมด้านบริหารจัดการ หน่วยงานมีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนการดำเนินการ แผนและทรัพยากร และทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบ กำกับติดตาม มีศูนย์บัญชาการและมีการประเมินตนเองตามแบบประเมินทุกสัปดาห์ 2-3 ครั้ง ก่อนดำเนินการ
พื้นที่นำร่อง
-
ลักษณะพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมช่องทางเข้าออกได้หรือเป็นเกาะ
-
ความพร้อมด้านสถานการณ์ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 70% และในกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80 % และมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5 – 10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน (ใช้ค่าเฉลี่ย 1 สัปดาห์) ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา อาจใช้ลักษณะ การระบาด และแนวโน้มสถานการณ์ ร่วมด้วย
-
ความพร้อมด้านบริหารจัดการ หน่วยงานมีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีแผนการดำเนินการ แผนและทรัพยากร และทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบ กำกับติดตาม และเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด
กิจกรรม/กิจการรองรับนักท่องเที่ยว
-
ลักษณะพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting และ Bubble and Seale ได้
-
ความพร้อมด้านสถานการณ์ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีน อย่างน้อย 80% และมีการ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจกรรม/กิจการ ช่วง 14 วันที่ผ่านมา
-
ความพร้อมด้านบริหารจัดการ มีระบบกำกับติดตามนักท่องเที่ยว มีผู้รับผิดชอบในการ ดำเนินงาน และกำกับติดตาม และเชื่อมโยงกับระบบของพื้นที่
ปัจจุบัน พื้นที่เฝ้าระวังสูงพื้นที่นําร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) มีทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่
-
กรุงเทพมหานคร
-
จังหวัดกาญจนบุรี
-
จังหวัดกระบี่
-
จังหวัดชลบุรี
-
จังหวัดนนทบุรี
-
จังหวัดปทุมธานี
-
จังหวัดพังงา
-
จังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่ดำเนินการในบางพื้นที่อีก 18 จังหวัด ประกอบด้วย
-
จังหวัดขอนแก่น (เฉพาะอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอเปื่อยน้อย อำเภอพล อำเภอภูเวียง อำเภอเวียงเก่า และอำเภออุบลรัตน์)
-
จังหวัดจันทบุรี (เฉพาะอำเภอเมืองจันทบุรี และอำเภอท่าใหม่)
-
จังหวัดเชียงราย (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเวียงป่าเป้า)
-
จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภจอทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แตง และอำเภอแม่ริม)
-
จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง)
-
จังหวัดนครราชสีมา (เฉพาะอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอโชคชัย อำเภอปากช่อง อำเภอพิมาย อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอสี่คิ้ว)
-
จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
-
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะเทศบาลเมืองหัวหิน เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
-
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เฉพาะอำเภอพระนครศรีอยุธยา)
-
จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ)
-
จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม)
-
จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด)
-
จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน)
-
จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
-
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย)
-
จังหวัดสุรินทร์ (เฉพาะอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอท่าตูม)
-
จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม)
-
จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุมภวา อำเภอนายง อำเภอบ้านดุง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอหนองหาน)
การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับนโยบายเปิดประเทศ
- ด้านการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค
การเฝ้าระวังโรค (Case และ Cluster) การตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชิงรุก (กลุ่มเสี่ยงต่างๆ) การดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว แผนเตรียมรับ สถานการณ์สำหรับสถานพยาบาลและชุมชน กรณีระบาด และแผนการปรับมาตรการ ชะลอ หรือยุติโครงการ ให้สอดคล้องสถานการณ์ ด้วยมาตรการ VUCA ดังนี้
-
-
- V: Vaccine ฉีดครบ ลดป่วยหนัก โดยประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 8 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 99,761,523 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 50,527,954 ราย คิดเป็น 70.1% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 44,332,226 ราย คิดเป็น 61.5% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 4,901,343 ราย คิดเป็น 6.8%
- U: Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลจากโควิด
- C: COVID Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
- A: ATK (Antigen Test Kit) พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้ชิดคนติดเชื้อ หรือมีอาการทางเดินหายใจ
-
- ด้านการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ (ทีมสอบสวนโรค อุปกรณ์ป้องกันตัว การกักกันโรค การรักษาพยาบาล/ส่งต่อและศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์)
มาตรฐาน SHA+ โดยสถาน ประกอบการ มีระบบควบคุมกำกับในที่พัก และกำหนดผู้รับผิดชอบ เช่น COVID Manager และตามมาตรการ COVID Free Setting ทีมสอบสวนโรค และแนวทางจำกัดการระบาด (Bubble and seal, Ring Vaccination) ระบบรักษาพยาบาลและส่งต่อ รวมทั้งแผนจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการ จุดตรวจ RT-PCR เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด และจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์ เมื่อเปิดการท่องเที่ยวในพื้นที่
- ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ลดความเสี่ยงตามสถานการณ์โรค (ให้เหมาะสมกับสัญชาติ/ ภาษา/วัฒนธรรม)
แผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวปลอดภัย ปลอดโรค เพื่อสื่อสารกับประชาชน และจัดทำประชาพิจารณ์เรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยว สื่อสาร ประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนเดินทางเข้าประเทศ เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงกรณีที่มี การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด เช่น การกักกัน การปิดเมือง
แผนรองรับนโยบายเปิดประเทศ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้การเปิดประเทศมีความปลอดภัย เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ควบคู่ไปกับการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยมีเป้าประสงค์ ดังนี้
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่น (Trust Building)
ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามหลักการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีตัวชี้วัด คือ ประชาชนร่วมมือร่วมใจกลับมาใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรม/กิจการ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคฯ ตาม milestone กำหนด
- สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security)
ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ และมีความปลอดภัยจากการเสียชีวิตเนื่องจากโรคโควิด 19 รวมถึงการรักษาระดับความมั่นคงด้านสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง
โดยมีตัวชี้วัด คือ
-
ประชาชนในราชอาณาจักรไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ 70% ภายในปี 2564
-
ทุกจังหวัดสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้สงบได้ตามแนวทางที่กำหนด
-
ทุกจังหวัดมีผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงที่ครองเตียงระดับ 2 และระดับ 3 ของโรงพยาบาลไม่เกิน 60 - 80%
- ฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Economic Recovering)
เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว โดยมีอัตราเติบโตของ GDP เป็นไปตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีตัวชี้วัด คือ อัตราเติบโต GDP เพิ่มขึ้น
- เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม (Socio - Cultural Restoration)
ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และควบคุมโรค DMHTTA ต่อไป โดยมีตัวชี้วัด คือ ประชาชนมีความรู้สุขภาพเรื่องโควิด-19 80% และปฏิบัติตามมาตรการUniversal Prevention ได้ตามเกณฑ์กำหนด
กลยุทธ์
- การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (Smart Reopening)
มีเป้าหมายเพื่อให้ ผู้เดินทางที่เข้ามาในราชอาณาจักรได้รับการตรวจสอบและคัดกรองโรคและกักกันตามระบบและมาตรฐาน ตามเกณฑ์ 100% และจำนวนผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่กำหนด โดยไม่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่
โดยการดำเนินการปรับมาตรการสำหรับผู้เข้าราชอาณาจักรเพื่อรองรับเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (Smart entry)
- การมุ่งเน้นเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคบูรณาการในกลุ่มเสี่ยง/เปราะบาง พื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และกิจการเสี่ยง (Smart Control)
มีเป้าหมายเพื่อให้อัตราป่วยตายของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งประเทศ และจำนวน Cluster ขนาดใหญ่ในกลุ่มเปราะบางลดลง
โดยดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การปรับระบบเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง 11 กลุ่ม ให้สอดคล้องสถานการณ์
มาตรการที่ 2 การค้นหาเชิงรุก โดยทีมบูรณาการเคลื่อนที่ในชุมชน (CCRT SRRT หน่วยเคลื่อนที่)
มาตรการที่ 3 การดำเนินการป้องกันโรคในรูปแบบ Bubble and Seal สำหรับสถานประกอบกิจการแคมป์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ 4 การจัดระบบป้องกันควบคุมโรค สำหรับการเดินทาง และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย (Smart Control and Living with COVID) ตามมาตรการ COVID-Free Settings ในสถานที่ต่างๆ (รวมการใช้ ATK) (ตลาด ชุมชนแออัด หอพักแออัด สถานที่พักในรูปแบบต่างๆ สถานที่ชุมชน ที่สาธารณะ โดยเฉพาะที่มีการรวมกลุ่ม และแออัด สถานที่ ทำงาน สำนักงานฯ ระบบขนส่งสาธารณะ)
- การยกระดับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Smart Health Preparedness)
มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนอาศัยในประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 70% ประชากรกลุ่มเสี่ยง/เปราะบาง ได้รับวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 80% และทุกจังหวัดมีศักยภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขตอบโต้โควิดได้อย่างเพียงพอและทันการณ์
โดยดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของประชากร และจัดหาให้เพียงพอ
มาตรการที่ 2 การปรับแนวทาง และเตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนควบคุมโรคทุกระดับให้สอดคล้องกับสถานการณ์
มาตรการที่ 3 การปรับ และเตรียมรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์
มาตรการที่ 4 การเตรียมพร้อมทรัพยากรในการรองรับการดูแลรักษา
มาตรการที่ 5 การปรับระบบกักกันโรค เป็นการคุมไว้สังเกตทุกประเภท
มาตรการที่ 6 การเตรียมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
มาตรการที่ 7 การส่งเสริมมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล : Infection prevention and control (IPC)
มาตรการที่ 8 การฟื้นฟูการจัดบริการโรคอื่นๆ (Restore Non-Covid medical service)
- การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารความเสี่ยง ( Smart Information Technology and Communication)
มีเป้าหมายเพื่อให้ มีฐานข้อมูล และระบบนิเวศน์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโควิด-19 แบบบูรณาการ มีระบบข้อมูลที่เอื้อต่อการกำกับติดตามการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโควิด-19 และประชาชนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ได้รับข้อมูลเรื่องโควิด-19 ที่ถูกต้องครบถ้วน สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค Universal Prevention ต่อไป
โดยดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การบูรณาการแอปพลิเคชันในการดำเนินงาน และกำกับติดตาม เพื่อการควบคุมโรค
มาตรการที่ 2 การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศโควิด-19 แบบบูรณาการมีความเชื่อมโยง ทันเวลา เพื่อสามารถนำไปวางแผน และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการที่ 3 การปรับระบบการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อสร้างความเข้าใจความเชื่อมั่น และ เกิดการการรอบรู้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนและสังคม
- การสร้างกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ (Smart Mechanism and Participation)
มีเป้าหมายเพื่อให้ ประเทศไทยมีกลไกจัดการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและยั่งยืน
โดยดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมในการจัดการระดับประเทศ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีศูนย์บูรณาการภายใต้กรอบพระราชกำหนด ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
มาตรการที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในการจัดการระดับจังหวัด / กทม. / อำเภอ
มาตรการที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการจัดการตนเองเพื่อรองรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการรักษาพยาบาลในชุมชน
มาตรการที่ 4 การสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล (Smart Citizen) ทั้งการทำ Universal Prevention การเฝ้าระวังอาการการตรวจ ATK ด้วยตนเอง การเข้าใจ และเข้าถึงวัคซีน
ทั้งหมดนี้คือ แผนการรองรับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ทั้งนี้การจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องมีการควบคุม กำกับ มาตรการอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค ให้การติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และระบบ สาธารณสุขรองรับได้ คงบรรยายกาศของการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย