“..นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีการจับกุมดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง โดยสงบ ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 1,337 คน ในจำนวน 553 คดีแล้ว มีการดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับประชาชนในปี 2564 มากกว่า 140 คดี และแนวโน้มการดำเนินคดีที่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีคดีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีคำสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง..”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เผยแพร่รายงานรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี 2564
จัดทำขึ้นเพื่อทบทวน ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับการเคารพ (Respect) การปกป้องคุ้มครอง (Pretext) และการทำให้เกิดขึ้นจริง (Fulfill) ในสังคมไทย
ในรอบปี 2564 ประเทศไทยประสพปัญหาการถดถอยด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติ การถดถอยนับเป็นจุดด้อยที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขให้ประเทศไทยก้าวข้ามจุดด้อยเหล่านั้นไปให้ได้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอารยะ ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ขจัดการสร้างความเกลียดชังเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน
สำหรับปัญหาที่ไทยประสพ 10 ประเด็นด้อย มีรายละเอียด ดังนี้
-
การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงกรุงเทพมหานคร มีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว และห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มต่างๆ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดดังกล่าว แต่กระแสการชุมนุมของประชาชนในนามกลุ่มต่างๆ ก็ยังมีการจัดชุมนุมขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ในรอบปี 2564 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยการใช้กฎหมายหลายฉบับ และการปราบปรามและสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรง ทั้งจากแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมทางการเมือง เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง และไม่ได้สัดส่วนกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และขัดต่อหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms) และ ประมวลระเบียบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials)
นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีการจับกุมดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง โดยสงบ ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 1,337 คน ในจำนวน 553 คดีแล้ว มีการดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับประชาชนในปี 2564 มากกว่า 140 คดี และแนวโน้มการดำเนินคดีที่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีคดีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีคำสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง
-
การหลีกเลี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในสาระสำคัญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นผลพวงของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมา คสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2560 โดย กรธ. ถูกสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งจนถูกใจ คสช. ก่อนนำร่างฯออกให้ประชาชนลงประชามติ แม้จะผ่านประชามติ แต่ก็ยังมีข้อครหาว่าเป็นประชามติที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม เพราะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จับกุม คุมขัง และดำเนินคดีกับอีกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจน คสช.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ตนพอใจ
ในปี 2564 มีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกลงมติคว่ำกลางสภาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างพิจารณาในวาระที่ 3 ครั้งที่ 2 มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่อีก 13 ฉบับ ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขรายประเด็น แต่มีเพียงร่างเดียวที่มีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของร่างผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ในวาระที่ 3 และครั้งที่ 3 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน เป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น คือ (1) ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว (2) ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ การตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ (3) ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ (4) ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร โดยเนื้อหาทั้งหมดของร่างนี้เป็นการปลดโซ่ตรวนจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และจะป้องกันการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตด้วย โดยเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ 2564 ผลการลงประชามติ ถูกคว่ำตั้งแต่วาระแรก
จึงเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นไปได้ยากมาก ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายประเด็นหากไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการล้วนไม่ได้รับความเห็นชอบ จาก สว. ประหนึ่งว่า สว. คือผู้พิทักษ์รัฐบาลถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและ สส.ฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นเป็นประจักษ์หลายครั้งผ่านการประชุมสภาที่ผ่านมา
-
ความล่าช้าของการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
เกือบ 5 ปีที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่สามารถทำให้การปฏิรูปตำรวจประสบความสำเร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข การหยิบยกเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจเข้าสู่การพิจารณา ส่วนที่มีความคืบหน้าบ้างก็คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเพียงปรับเปลี่ยนองค์กรตำรวจเท่านั้น ที่ไม่ใช้การปฏิรูปตำรวจทั้งมวล ยังไม่มีการพิจารณาอีกหลายประเด็นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 248 (ง) และมาตรา 259 ซึ่งกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญครอบคลุมถึงการปรับเปลี่ยนงานสอบสวนที่ต้องเปิดทางให้อัยการ นิติวิทยาศาสตร์ เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน และยังไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ
ความล่าช้าในการปฏิรูปเฉพาะด้าน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ คนไทยและต่างชาติที่พำนักในไทยต้องทนทุกข์ทรมาน เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ รายวัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตอีกรายหนึ่ง สร้างความสั่นคลอนต่อวงการตำรวจครั้งใหญ่ จึงไม่มีใครปฏิเสธอีกแล้วว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทำการปฏิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วนได้แล้ว
-
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญลดทอนคุณค่าของการอุปโภคสิทธิเสรีภาพ
ในรอบปี 2564 มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่ถือว่าเป็นลดทอนคุณค่าของการอุปโภคสิทธิเสรีภาพของประชาชน (enjoyment of rights) และส่งผลเป็นการจำกัดการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ ดังนี้
- คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ที่ว่าการปราศรัยของอานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อนั้น เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยนักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาสังคมต่างมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เป็นการปิดปากมิให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง คำวินิจฉัยนี้ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้น
- คำวินิจฉัยที่ 20/2564 ที่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อแนะนำให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสมต่อไป
การตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาให้เป็นการตีความที่เกิดประโยชน์หรือเป็นผลบวกในการอุปโภคสิทธิ (enjoyment of rights) ของบุคคลทุกคนและกลุ่มบุคคลมากกว่าการตีความไปในทางจำกัดหรือกีดกันการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมข้อ 13 ที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความเสมอภาคระหว่างเพศมีการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มนุษย์หรือบุคคลมีมากกว่าเพศหญิงและชาย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ควรยึดหลักการในการตีความให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้โดยง่ายและได้รับประโยชน์ในการอุปโภคสิทธิ (enjoyment of rights) มากกว่าการตีความไปในทางจำกัดสิทธิหรือกีดกันการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่ในประเทศ
-
การซ้อมทรมานของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ผลพวงของพระราชบัญญัติฯที่ขาดหาย
คดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 6 นาย กระทำการซ้อมทรมาน ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ใช้ถุงดำครอบหัวจนขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่มีการแจ้งกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ว่า ผู้ต้องหาที่เสียชีวิตเสพยาเสพติดเกินขนาด แพทย์นิติเวช ทำบันทึกสาเหตุการตาย ในหนังสือรับรองการตาย ระบุว่า ‘สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน’ มีคลิปเหตุการณ์ซ้อมทรมานผู้ต้องหาภายในห้องทำงานของตำรวจเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เห็นพฤติกรรมของกลุ่มตำรวจที่ร่วมกระทำความผิด ยืนยันให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าการซ้อมทรมานของตำรวจและมีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันปกปิดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวหากันลอย ๆ สังคมเห็นชัดถึงการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชีวิตผู้คนอยู่ในเงื้อมมือของตำรวจมากเกินไป จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยโดยเร่งด่วน
กรณีดังกล่าวได้เพิ่มกระแสกดดันจากคนในสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และจากการรณรงค์ต่อเนื่องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้รัฐบาลต้องเร่งนำเอา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เสนอไว้แล้ว ขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติวาระที่ 1 ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง โดยก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าวชุดหนึ่งที่มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ เข้าไปด้วย ถ้าหากผ่านขั้นตอนทั้งสามวาระนี้แล้ว ก็จะนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นว่า การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย ในประเทศไทยมีอีกมากมาย เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ล้าหลัง จนต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นแห่งปี เพราะยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดในคดีก่อนหน้านี้ มาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียว ผู้ที่หายสาบสูญและญาติยังคงตามหา ต้องติดตามคดีอย่างโดดเดี่ยว ผู้ที่ถูกทรมานโดยตำรวจและทหารยังเป็นการปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม รวมทั้งความพยายามของกรรมาธิการบางคนที่ไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมสมบูรณ์นั้นมีแต่จะทำให้ประชาชนไทยและชาวต่างชาติอีกจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และเสียชื่อเสียงประเทศชาติ
-
การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิม กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการออกไปรับจ้างแรงงาน หลังเกลี่ยกล่อมให้ย้ายจากถิ่นฐานเดิม และพบว่าที่ดินใหม่ที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้บางส่วนกลับไปยังพื้นที่เดิม ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังกวาดต้อนอีกครั้ง พร้อมกับการเผาที่พักและยุ้งข้าวของชาวบ้าน รวมถึงการอุ้มหายบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยง และการลอบสังหารผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน กระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้อข้าวและอาหาร ในเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านจำนวน 36 ครอบครัวจึงตัดสินใจกลับไปยังผืนดินเดิมเพื่อทำไร่หมุนเวียน ต่อมาพวกเขาได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกถางป่า จำนวน 30 ราย
การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลายเป็นประเด็นในสังคมไทย ตอบรับต่อกระแส ‘#saveบางกลอย ชาติพันธุ์ก็คือคน’ ของภาคีเซฟบางกลอย มีผลให้ชาวบ้านได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในวันที่ออกจากเรือนจำชาวบ้านได้เดินทางมาชุมชนที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลร่วมกับ P-MOVE เป็นผลให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา แต่การทำงานของคณะกรรมการกลับถูกขัดขวางทุกวิถีทางจากฝ่ายกรมอุทยานเพื่อไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้กลับไปยังแผ่นดินเกิด พร้อมกับการขอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
การกระทำของรัฐต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอยคือการละเมิดสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในแผ่นดินเกิด สิทธิที่จะดำรงวิถีชีวิต สืบทอดวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเป็นธรรม และยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาเพียงกลับไปยังที่ที่เป็นบ้านของพวกเขาเท่านั้น
-
การไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ
การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งจนทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 เป็น Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ต้องจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์ ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย และลงโทษผู้กระทำผิดน้อยลง
แม้จะมีรายงานเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ายังคงมีการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมหลายประเภท แต่รัฐบาลกลับรายงานตัวเลขต่ำกว่าขอบเขตของปัญหา และบริการของรัฐที่จัดเตรียมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็ยังไม่เพียงพอ เหยื่อการค้ามนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงของรัฐก็ถูกจำกัดการเดินทางและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังคงประสบปัญหาไม่สามารถคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของรัฐยังคงมีปัญหาในการดูแลผู้เสียหายในด้านการเยียวยาจิตใจ ขาดล่ามแปลภาษาเพื่อใช้สื่อสารกับผู้เสียหาย
หากรัฐบาลไทยยังคงไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มว่าในปีต่อไปประเทศไทยจะถูกลดระดับให้ต่ำสุดลงไปอีกเป็น Tier 3 ซึ่งเคยถูกจัดให้อยู่ระดับนี้มาแล้วในปี 2557 และ 2558 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ยังต้องใช้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบมาก อีกทั้งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำมากในระดับนานาชาติ
-
ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence)
ข้อมูลของ ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า ความรุนแรงในครอบครัว ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวนมากกว่าทุกปีคือ 2,177 ราย เพิ่มมากกว่าปี 2563 ซึ่งมี 1,866 ราย (ไม่รวมผู้ที่ร้องเรียนไปยังองค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรสตรี บ้านพักฉุกเฉินต่าง ๆ ในประเทศไทย และไม่รวมครอบครัวที่ไม่มีการร้องเรียน) ความรุนแรง 81 % ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของสตรีอย่างมาก
รูปแบบความรุนแรง 64 % เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 32 % เป็นความรุนแรงทางจิตใจ และ 4 % เป็นความรุนแรงทางเพศ จากผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด -19 ขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี 2563 พบสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 4 ปัจจัย ได้แก่
-
คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำ ความรุนแรงมากขึ้น
-
เกิดความเครียดสะสมในครอบครัวจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
-
การเว้นระยะห่างทางสังคม จากญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก
-
ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิด อีกทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ไม่เต็มที่
การที่เจ้าหน้าที่รัฐและคนในชุมชนไม่เข้าแทรกแซงยุติความรุนแรงแต่เริ่มแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับเรื่องร้องเรียน ไม่รับแจ้งความ หรือลงไปช่วยเหลือ ตักเตือน จึงทำให้ความรุนแรงกลายเป็นปัญหาความรุนแรงที่เกินจะเยียวยา ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยต้องเสียสุขภาพจิต ชุมชนอ่อนแอ หลายคนถูกกระทำจนร่างกายพิการ เสียชีวิต หรือเป็นที่มาของความท้อแท้ ไร้ที่พึ่ง หาทางออกไม่ได้ คิดฆ่าตัวตาย โดยปีนี้มีข่าวการฆ่าตัวตายมากจนน่าตกใจ
-
ร่างกฎหมายการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. .....
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....ที่ยกร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยศึกษาจากกฎหมายของประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อิหร่าน เคนยา และกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการปกครองโดยระบบอำนาจนิยม หรือมิได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นแนวทางในการจัดทำและเสนอหลักการของร่างกฎหมาย เป็นการขัดหลักรัฐธรรมนูญของไทยและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในหลายหลักการ
การออกกฎหมายดังกล่าว มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งแต่มาตรา 26 ซึ่งระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอุปสรรค และกีดกัน สิทธิของประชาชนในการร่วมตัวกันของปัจเจกบุคคลกลุ่ม บุคคลและองค์กรของสังคม เนื่องจากมีการตั้ง กติกาว่าต้องมา จดทะเบียนเท่านั้น มีการบังคับว่าต้องมีการจดแจ้งถ้าไม่ทำมีโทษอาญา
-
รัฐบาลไทยไม่ยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากลตามพันธะสัญญากับนานาชาติ
ปี 2564 มีความสำคัญเพราะเป็นปีที่ไทยได้ส่งรายงานทบทวนรอบที่ 3 ของกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน (รอบแรก เมื่อปี 2555 และรอบที่ 2 เมื่อปี 2559) โดยรอบนี้ รายงานจากไทย นอกจากของรัฐบาลแล้ว ยังมีรายงานร่วมจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 ฉบับ และจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) อีก 1 ฉบับ โดยไทยได้รับข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงถึง 278 ข้อ ซึ่งไทยรับเพียง 194 ข้อ และปัดว่าจะไปให้คำตอบที่เหลือ 84 ข้อในการประชุมครั้งที่ 49 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในเดือนมีนาคม 2565
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยที่ประชาคมนานาชาติชี้ย้ำออกมาและแสดงความกังวลนั้น ยืนยันสิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย รวมทั้งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ชี้ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิต่อเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมโดยสันติ การใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การคุกคามและคุมขังโดยพลการนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิต สภาพเรือนจำที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล การทรมานและการบังคับสูญหาย และสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย
ในการทบทวนรอบที่ 3 นี้ รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะของนานาชาติที่เรียกร้องไทยให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับสำคัญเพื่อให้มีหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น และยังปฏิเสธแทบทั้งหมดตลอดสิบปีที่ผ่านมาต่อการขอมาเยือนของผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติเพื่อติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งที่รับปากว่าจะให้เข้ามา การทบทวนรอบแรก ยอมรับให้เข้ามาเพียง 2 ครั้ง
การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ขึ้นไปอยู่ในระดับอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว แสดงถึงภาวะถดถอยทั้งที่มีเวลาปรับปรุงจากรอบก่อนมาถึง 5 ปีเต็ม
ทั้งหมดนี้คือ ภาพสะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2564 ที่ควรนำไปสู่การถอดบทเรียนและการประเมินตนเองของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการเคารพสิทธิมนุษยชนในปีต่อไป