“…จากเดิมที่เราเคยแบ่งหนี้ออกเป็น 2 ก้อน แต่เมื่อมารวมกันแล้ว ธนาคารมีหลักประกันเป็นบ้าน แปลว่าหากเราผิดชำระหนี้ก้อนใดก้อนหนึ่งก็ตาม จะเสียบ้านได้ มาตรการนี้สามารถช่วยลดรายจ่ายในแง่ของดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาของรายได้ ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญจากการระบาดที่ใน 100 ปี จะมีครั้ง…”
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยออกมาตรการมาแล้ว 3 ระยะ
ระยะแรกเริ่มต้นเมื่อเดือน เม.ย.2563 ธปท.ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการให้พักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย และออกมาตรการลดอัตราผ่อนชำระจาก 10% ให้เหลือ 5% จนถึงปี 2564 และ 8%ในปี 2565 ก่อนจะปรับให้กลับมาเป็น 10% ในปี 2566
ต่อมาในระยะที่ 2 เริ่มเดือน ก.ค.2563 ให้พักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราผ่อนชำระเหมือนระยะที่ 1 พร้อมกำหนดให้ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็น 16% สินเชื่อส่วนบุคคลเป็น 25% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็น 24%
และระยะที่ 3 เริ่มเมื่อ 17 พ.ค.2564 พร้อมกำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2564 ให้พักชำระเงินต้น มีมาตรการคืนรถ กรณีลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และมาตรการรวมหนี้สินเชื่อทุกประเภทในธนาคารเดียวกัน
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คิด ทำให้หลายคนประสบปัญหากับภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกวัน จากการก่อหนี้หลายประเภททั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้บัตรกดเงินสด ซึ่งทั้งหมดคิดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน สร้างความกังวลใจให้กับลูกหนี้อย่างมาก
เป็นเหตุให้ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ธปท. ออก ‘มาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์’ (Debt consolidation) หรือมาตรการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นจากหลายธนาคารเข้าไว้ด้วยกัน ให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แก้ปัญหาระยะยาว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 พ.ย.2564-31 ธ.ค.2566
สำหรับมาตรการใหม่นี้ จะใช้ประโยชน์จากการมีบ้านที่ต้องผ่อนเข้ามาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ตามประกาศของ ธปท.ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจะไม่เปลี่ยนแปลงหลังการรวมหนี้ ส่วนหนี้รายย่อยจะมีอัตราน้อยกว่าหรือเท่ากับสินเชื่อบ้าน +2% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไปอย่างมีนัย
และที่สำคัญหากเข้าร่วมโครงการนี้ลูกหนี้จะไม่เสียประวัติเครดิตด้วย เพราะถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่กลายเป็นหนี้เสีย
นอกจากนี้ยังมีการทำรีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินควบคู่ไปด้วย และคาดว่าสถาบันการเงินจะมีการทยอยออกมาตรการในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า มาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์นับเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้มีอิสระในการเลือกทางที่ดีที่สุดให้กับตนเอง และสถาบันการเงินมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าลูกหนี้คนนี้จะสามารถให้รวมหนี้ได้หรือไม่
ถือเป็นมาตรการที่ดีในทางหลักวิชาการ เพราะมีสถิติหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน พบว่าในการผิดชำระหนี้เป็นระยะเวลา 1-3 เดือน แบ่งออกเป็น การผิดชำระหนี้บ้านจะอยู่ที่ 5% หนี้รถยนต์ 10.5% หนี้บัตรเครดิต 7.3% และหนี้ส่วนบุคคลอื่นๆ 5.6% แสดงให้เห็นว่าสินเชื่อบ้านเป็นความเสี่ยงที่มีการผิดชำระน้อยถือสุด เป็นความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น ดังนั้นแล้วมาตรการรวมหนี้ จึงเป็นรวมหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดรวมกับหนี้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า จะทำให้ความเสี่ยงลดลง
แต่ในทางนโยบายเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง จึงมักมีผู้ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการน้อย และเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาหนี้ไม่มาก
“เพราะจากเดิมที่เราเคยแบ่งหนี้ออกเป็น 2 ก้อน แต่เมื่อมารวมกันแล้ว ธนาคารมีหลักประกันเป็นบ้าน แปลว่าหากเราผิดชำระหนี้ก้อนใดก้อนหนึ่งก็ตาม จะเสียบ้านได้ มาตรการนี้สามารถช่วยลดรายจ่ายในแง่ของดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาของรายได้ ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญจากการระบาดที่ใน 100 ปี จะมีครั้ง” นายนณริฏ กล่าว
ดังนั้น ธปท.อาจต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้กลับเข้ามา เพราะหากยังไม่มีรายได้ เขาจะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเสียหลักประกันไป หรืออาจหามาตรการอื่นเขามาเสริม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนัก ซึ่งเป็นกลุ่มคนหมู่มากในวิกฤตโควิด
มาตรการรวมหนี้จูงใจธนาคารร่วมมือ ธปท.
การรวมหนี้ข้ามแบงก์ ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยได้จำนวนมากจนอาจเหลือไม่ถึง 10% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเดิมจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ราว 16-25% ต่อปี ลดลงมาถึง 2 เท่า ตรงนี้ดูเหมือนจะเป็นความเสี่ยงของธนาคาร
แต่นายนณริฏ อธิบายว่า แม้ธนาคารจะได้รับอัตราดอกเบี้ยลดลงหลายเท่า แต่การได้รับบ้านที่เข้ามาเป็นหลักประกัน กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระ ทำให้สถาบันการเงินมองว่าความเสี่ยงของหน่วยงานน้อยลง ไม่เหมือนกับกรณีไม่มีการรวมหนี้ หากผิดนัดชำระบัตรเครดิต ธนาคารจะไม่ได้รับอะไร ตรงนี้อาจจูงใจให้ธนาคารเข้าร่วมมาตรการรวมหนี้ของ ธปท.ได้
อย่างไรก็ตามธนาคารอาจต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอีกมุมหนึ่งว่า การที่ลูกหนี้มีเหตุผลในการกู้ที่เป็นเป็นอิสระมากขึ้น เปรียบเสมือนการให้ลูกหนี้ 1 ล้านบาท แล้วลูกหนี้สามารถนำไปใช้อะไรก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถคุมได้ว่าลูกหนี้จะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง และยังมีเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะกลับมาดีขึ้นเหมือนช่วงก่อนการระบาดจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือในปี 2566 ตรงนี้อาจนำไปสู่การตั้งเกณฑ์คัดกรองลูกหนี้
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย
อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์และวิทยากรด้านการเงินส่วนบุคคล
ลูกหนี้ได้สภาพคล่อง-ธนาคารเสี่ยงลดลง
ด้าน อัจฉรา โยมสินธุ์ นักวิจัยศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) อาจารย์และวิทยากรด้านการเงินส่วนบุคคล กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการวมหนี้ข้ามแบงก์ถือว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นทั้งต่อตัวลูกหนี้และธนาคาร
แต่จะต้องรอดูต่อไปว่าโปรโมชันหรือแพ็กเกจที่ธนาคารจะออกมานั้นจะน่าสนใจเพียงใดในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า โดยส่วนตัวมองว่า ธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อบ้านใหญ่ๆ จะให้ความสนใจเป็นอย่างมากทีเดียว
การรวมหนี้ข้ามแบงก์ ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องทางการเงินและมีความสามารถในการจ่ายหนี้ดีขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ลูกหนี้ในช่วงวิกฤตโควิดที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงินให้สามารถมีกิน มีใช้ ได้อย่างปกติ ไม่ได้ต้องการก่อหนี้เพิ่ม เพราะเขามีหนี้ครัวเรือนสูงมากแล้ว
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ให้ธนาคารได้รับอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ธนาคารก็ได้รับความเสี่ยงลดลงเช่นเดียวกัน เพราะมีบ้านเอาไว้เป็นหลักประกันแล้ว และธนาคารเมื่อลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะมีแนวโน้มลูกหนี้เข้ามาจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นด้วยจากมาตรการนี้
ทั้งนี้หากเราพิจารณาผลประกอบการของธนาคารช่วงครึ่งปี 2564 ที่ผ่านมาด้วย จะเห็นว่ารายได้และกำไรของธนาคารยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 กำไรยังอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท ถือว่าธนาคารค่อนข้างรับมือกับสถานการณ์การระบาดได้ดี ดังนั้นมาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์ จะสามารถปฏิบัติและช่วยเหลือทั้งลูกหนี้และธนาคารได้จริง
ห่วงธนาคารคัดกรองลูกหนี้เข้ม พลาดโอกาสปรับโครงสร้างหนี้
มาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์ เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินคัดกรองลูกหนี้ได้ ดังนั้นข้อกังวลใจที่จะพบกับมาตรการนี้ คือ การที่ลูกหนี้อยากเข้าร่วมโครงการ แต่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ อาจจะเพราะประวัติการชำระไม่ดี หรือวงเงินหลักประกันที่มีนั้นน้อยเกินไป รวมถึงเมื่อรวมหนี้แล้วแต่เงินก็ยังไม่เพียงพอที่เคลียร์หนี้ทั้งหมด ตรงนี้ลูกหนี้จะพลาดโอกาสการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตนเอง
ที่สำคัญเมื่อลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการรวมหนี้แล้ว จะต้องมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้เกินกำลัง และพยายามรักษาสมดุลทางการเงินให้ดีด้วย จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ดีขึ้น
อัจฉรา กล่าวถึงทางอุดช่องโหว่ปัญหาการตั้งเกณฑ์ของธนาคารรองรับมาตรการรวมหนี้ว่า ธนาคารที่เป็นคนใกล้ชิดกับลูกหนี้อาจดูข้อมูล ดูประวัติ และพิจารณาดูแนวโน้มของลูกหนี้ให้ละเอียดขึ้น การตั้งเกณฑ์จะต้องรอบคอบแต่ไม่ใช่เข้มงวด
ยกตัวอย่าง บางคนประสบความสำเร็จจากธุรกิจออนไลน์ มีรายได้จำนวนมากจากการสตรีมเกม ซึ่งรายได้แบบนี้ส่วนใหญ่ธนาคารมักมองว่าไม่มั่นคง และมักไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้นธนาคารอาจต้องก้าวทันโลกยุคใหม่มากขึ้น
พร้อมฝากลูกหนี้ว่า ขอให้ใช้โอกาสนี้ทบทวนสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะมีหนี้มากหรือน้อยต้องจัดการ อยากให้ลูกหนี้ตั้งเป้าหมายเป็นคนไร้หนี้ เข้าร่วมขอปรับโครงสร้างหนี้ และวางแผนการจัดการหนี้อย่างจริงจังแล้วเราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ลดอัตราดอกเบี้ยจริง แต่ยังถือว่าสูงในวิกฤตโควิด
ขณะที่ นายนนประวิท บัวหนู กรรมการชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อ ให้มุมมองด้วยว่า มาตรการนี้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจจะเหมาะสมกับคนที่มีทรัพย์สินติดจำนองอยู่มากกว่า การรวมหนี้อาจทำให้เขามีเวลาผ่อนหนี้นาน แต่ถ้าแก้ปัญหาผิดวิธีหรือไม่ถูกทาง อาจโดนยึดบ้านขายทอดตลาดได้
“แม้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ตามอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน +2% ต่อปี ตรงนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัย แต่บางกรณีเมื่อคำนวณแล้วอาจมีผลลัพธ์อัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 7% ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าก็ยังเป็นอัตราที่สูงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ที่สำคัญต้องปรับตามสภาวะเศรษฐกิจต่อไป หากกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเหลือ 5% โอกาสหมดหนี้ของประชาชนอาจเร็วกว่านี้” นายนนประวิท กล่าว
ชี้สถาบันการเงินไม่ร่วมมือ ธปท. สะท้อนการแก้หนี้ที่ผ่านมาเป็นไปได้ยาก
นายนนทประวิท กล่าวถึงจำนวนผู้ติดต่อเข้ามาร้องเรียนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเข้ามามีลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อโทรหรือส่งอีเมลเข้ามาเฉลี่ยวันละ 6-7 รายเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดมาก เนื่องจากสถานประกอบการมีรายรับน้อยลง ทำให้ต้องลดเงินเดือนพนักงาน ไม่ขึ้นเงินเดือนบ้าง หรือไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาอย่างโอทีก็มี ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะติดต่อเข้ามาเพื่อร้องเรียนว่านโยบายของ ธปท.กับสถาบันการเงินไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเท่าใด
“มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาก็จริง แต่ส่วนใหญ่ที่ลูกหนี้โทรหรือส่งอีเมลมาร้องเรียนเพราะบางสถาบันการเงินอ้างว่าไม่รู้ถึงมาตรการนี้บ้าง หรือไม่ได้ร่วมมือกับแบงก์ชาติบ้าง ทำให้การแก้หนี้เป็นไปได้ยาก บางคนที่สมาชิกภายในบ้านเสียชีวิตไปจากโควิด เขาก็ขาดเสาหลัก เดือดร้อนกันจำนวนมาก” นายนนประวิท กล่าว
นายนนประวิท กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ระยะเวลาของมาตรการรวมหนี้ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ไปจนถึง 2566 นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ควรมีมาตรการอื่นเข้ามารองรับด้วยระหว่างนั้น เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการสิ้นปีนี้ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีหรือไม่อยากเสี่ยงกับการรวมหนี้สินเชื่อบ้าน
มาตรการรวมหนี้ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่จะสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินตั้งเกณฑ์คัดกรองลูกหนี้ที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในวงกว้าง ขณะเดียวกันลูกหนี้จะต้องพิจารณาความพร้อมของตัวเองให้ดีและมีวินัยทางการเงิน เพราะหากผิดนัดชำระ นั่นหมายความว่าเราอาจจะต้องสูญเสียบ้านที่เป็นปัจจัยสำคัญได้